“โลก” เรียกได้ว่ามีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วที่สุด จากที่เคยเขียนจดหมายส่งข้ามวันข้ามคืน ปัจจุบันใช้เวลาเพียงไม่กี่วินาทีก็สามารถคุยกับคนที่อยู่อีกซีกโลกได้ หรือในอดีตการเดินทางข้ามจังหวัดต้องใช้เวลาเป็นวัน แต่ปัจจุบันใน 1 วันสามารถเดินทางข้ามทวีปได้อย่างง่ายดาย ยังไม่รวมถึงภูมิประเทศที่เปลี่ยนแปลงไปตามความเจริญที่เกิดขึ้น ซึ่งส่วนหนึ่งเกิดจากจำนวนประชากรโลกที่เพิ่มขึ้น รวมทั้งรูปแบบการใช้ชีวิตที่เปลี่ยนไป
ขณะที่ผลของโลกที่เปลี่ยนแปลงไป จำนวนประชากรเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อการลดลงของทรัพยากรธรรมชาติ อีกทั้งระบบเศรษฐกิจยังเป็นลักษณะเส้นตรง (Linear Economy) ซึ่งเป็นระบบธุรกิจดั้งเดิมที่เมื่อใช้ทรัพยากรมาผลิตแล้วเหลือและไม่สามารถใช้ต่อได้ก็นำไปทิ้ง (Take – Make – Dispose) ส่งผลให้เกิดปัญหาขยะจำนวนมากและทรัพยากรที่ร่อยหรอลงอย่างรวดเร็ว ในขณะที่ แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) จะเน้นให้ความสำคัญกับการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ โดยใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดและนำสินค้าที่ใช้แล้วกลับเข้าสู่กระบวนการผลิตได้อีก (Make – Use – Return)
อันที่จริงแล้วแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ไม่ใช่เรื่องใหม่อะไร เพราะเริ่มมีการใช้ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนในหลายประเทศ เนื่องจากหลายพื้นที่ของโลกกำลังเผชิญวิกฤตการณ์ด้านทรัพยากรธรรมชาติและพลังงาน
สหภาพยุโรปจึงมีการนำแผนการพัฒนาเศรษฐกิจหมุนเวียนมาใช้ในกลุ่มประเทศสมาชิก และแพร่หลายไปยังประเทศอื่นๆ ที่เป็นคู่ค้ากับสหภาพยุโรป ไม่เว้นแม้แต่ประเทศไทยที่เริ่มให้ความสำคัญกับระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน และถือเป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญที่ประเทศไทยจะเริ่มต้นระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ไปด้วยกัน ในงาน “SD Symposium 2018” เมื่อหัวใจของ Circular Economy หมุนเวียนอย่างยั่งยืน คือ ความร่วมมือกัน
เศรษฐกิจหมุนเวียนในมุม SCG ร่วมมือกันเพื่อความยั่งยืน
ด้าน คุณรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี มองว่า เพราะจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้นในปัจจุบัน ส่งผลให้คาดว่าในปี ค.ศ.2030 ความต้องการใช้ทรัพยากรของโลกจะสูงถึง 3 เท่าของปริมาณทรัพยากรที่มีอยู่ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการเติบโตของภูมิภาคอาเซียน ความต้องการบริโภคจึงสูงขึ้นพอๆ กับความต้องการผลิตสินค้าเพื่อสร้างรายได้ ขณะที่ปริมาณทรัพยากรที่ลดลงจนเรียกได้ว่าหายากมากขึ้น
นอกจากเรื่องของทรัพยากรที่ลดลงแล้ว ความต้องการสูงยังก่อให้เกิดขยะจำนวนมาก ซึ่งมีการพบว่าคนไทย 1 คนจะสร้างขยะเฉลี่ยถึงวันละ 1.1 กิโลกรัม โดยมากกว่า 60% ล้วนแต่เป็นขยะที่สามารถนำกลับไปใช้เป็นทรัพยากรใหม่ได้ ขณะที่ปัจจุบันสามารถนำขยะกลับมาใช้เป็นทรัพยากรใหม่ได้เพียง 31% เท่านั้น ส่งผลให้คนไทยเสียโอกาสในการนำขยะกลับมาเป็นทรัพยากรใหม่เพื่อก่อให้เกิดประโยชน์
เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) จะสามารถช่วยแก้ไขปัญหาได้ เนื่องจากเป็นแนวคิดในการใช้ทรัพยากรเท่าที่จำเป็นอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ลดการเหลือทิ้งตั้งแต่การผลิตไปจนถึงสินค้าหมดอายุ แต่การจะทำให้แนวคิดดังกล่าวสมบูรณ์และยั่งยืน จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ซึ่งงาน “SD Symposium 2018” ถือเป็นจุดเริ่มต้นความร่วมมือของ SCG และทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นองค์กรชั้นนำระดับโลก ภาครัฐ ภาคประชาสังคม ผู้ประกอบการ SME สตาร์ทอัพ ชุมชน ร่วมแลกเปลี่ยนมุมมองและจุดประกายเพื่อช่วยกันขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) เพื่อสร้างการเติบโตอย่างสมดุลของธุรกิจ คุณภาพชีวิตลูกค้าและอนาคตโลกที่ยั่งยืน
3 กลยุทธ์หลักของ SCG ลด ทดแทน นำกลับมาใช้ใหม่
การนำแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนมาประยุกต์ใช้ในอสซีจี จะประกอบไปด้วย 3 กลยุทธ์หลักๆ โดยกลยุทธ์แรกคือเรื่องของการลดการใช้ทรัพยากร (Reduced Material Use หรือ Durability) ง่ายๆ ก็คือการลดใช้ทรัพยากรในกระบวนการผลิต เช่น กระดาษลูกฟูก (Green Carton) ที่ใช้วัตถุดิบลดลง 25% แต่สามารถนำมาทำบรรจุภัณฑ์ที่ยังคงความแข็งแรงเท่าเดิม
กลยุทธ์ต่อมาคือ การพัฒนานวัตกรรมเพื่อใช้แทนสินค้าหรือวัตถุดิบเดิม (Upgrade & Replace) ด้วยสินค้าหรือวัตถุดิบชนิดใหม่ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ทำให้ใช้ทรัพยากรน้อยลงหรือนำไปรีไซเคิลได้มากขึ้น เช่น เม็ดพลาสติกพอลิเอทิลีนจากเทคโนโลยีใหม่ของ SCG ที่ช่วยนำพลาสติกรีไซเคิลมาผสมได้เพิ่มขึ้นถึง 2 เท่า และปูนโครงสร้างเอสซีจีสูตร Hybrid ที่ใช้ทดแทนปูนโครงสร้างสูตรเดิม ทำให้ใช้วัตถุดิบหินปูนที่ต้องเผาน้อยลง
และการเพิ่มความสามารถในการหมุนเวียนสินค้าที่ใช้งานแล้วกลับมาใช้ใหม่ (Reuse & Recycle) อย่างเช่น โรงอัดกระดาษเพื่อรวบรวมเศษกระดาษกลับมารีไซเคิล หรือการนำขวดแก้วที่ใช้แล้วมาทดแทนทรายธรรมชาติในการผลิตฉนวนกันความร้อน การพัฒนาสินค้า CIERRATM ซึ่งเป็น Functional Material ที่ช่วยปรับคุณสมบัติพลาสติกให้สามารถใช้พลาสติกเพียงชนิดเดียว แต่ให้คุณสมบัติที่หลากหลายกับบรรจุภัณฑ์แทนการใช้วัสดุหลายชนิด ซึ่งยากต่อการนำไปรีไซเคิล และ การนำขยะพลาสติกในทะเลและชุมชนมาเป็นส่วนประกอบสำหรับทำบ้านปลาเพื่ออนุรักษ์ระบบนิเวศทางทะเล เป็นต้น
Tech for Circular Economy เทคโนโลยีช่วยให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียน
นอกจากเรื่องของแนวคิดหลักปฏิบัติแล้ว ภายในงานสัมมนายังพบว่า เทคโนโลยีก็มีส่วนสำคัญอย่างมากในการช่วยให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียน โดย คุณจาชชัว แพส กรรมการผู้จัดการ AddVenturesby SCG มองว่า ระบบเศรษฐกิจแบบหมุนเวียน (Circular Economy) ให้ความสำคัญกับการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งมีโมเดล 5 แบบหลักๆ ในกระบวนการผลิต ประกอบด้วย Circular Supplies การใช้พลังงานทดแทนและการจัดหาทรัพยากรจากกระบวนการรีไซเคิล, Resource Recovery การนำพลังงานและนำวัตถุดิบจากของเสียมาสู่กระบวนการผลิต, Product Life-extension การนำนวัตกรรมและการออกแบบสินค้ามายืดอายุการใช้งาน, Sharing Platform เชื่อมต่อกับผู้ใช้จำนวนมากเพื่อประสิทธิภาพในการใช้งาน และ Product as a Service การเปลี่ยนโมเดลธุรกิจไปสู่การให้บริการ
ทั้ง 5 โมเดลสามารถเชื่อมโยงกับยุค Digital Transformation อย่างเช่นการเกิดขึ้นของ Startup คือหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่จะช่วยขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจแบบหมุนเวียนผ่านทั้ง 5 โมเดล แม้สตาร์ทอัพแต่ละรายอาจยังสร้างผลกระทบได้ในวงจำกัด แต่หากทุกฝ่ายช่วยกันผลักดันให้เกิดสตาร์ทอัพที่ช่วยตอบโจทย์ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนมากขึ้น
ขณะที่ คุณสิทธิศักดิ์ วงศ์สมนึก ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ร่วมก่อตั้ง GIZTIX สตาร์ทอัพด้านการบริการขนส่ง ผ่านระบบตลาดขนส่งออนไลน์ ปัจจุบันบริการด้านโลจิสติกส์เป็นระบบที่มีโมเดลธุรกิจแบบ Sharing Platform ที่ประกอบขึ้นมาจาก ระบบโลจิสติกส์ มาร์เก็ตเพลส บริการจองโลจิสติกส์ บริการติดตามรถบรรทุก ทำให้การใช้รถบรรทุกเกิดประสิทธิภาพสูงในแต่ละรอบการขนส่ง ถือเป็นหนึ่งในระบบเศรษฐกิจแบบหมุนเวียน
ส่วน ดร. มหิศร ว่องผาติ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ร่วมก่อตั้ง HG Robotics ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญในการพัฒนาหุ่นยนต์และระบบหุ่นยนต์อัตโนมัติ รวมถึงหุ่นยนต์เพื่อภาคธุรกิจการเกษตร มองระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนว่า หุ่นยนต์อาจจะเป็นสิ่งที่นำไปรีไซเคิลได้ยาก แต่หุ่นยนต์ถือเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยให้เกิดประสิทธิภาพมากขึ้นในกระบวนการต่างๆ เช่น การผลิต ทำให้ใช้ทรัพยากรได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมถึงทำให้เกิดการ Reuse ในรูปแบบอื่นๆ เช่น การใช้ machine learning ทำให้ไม่ต้องมีกระบวนการใช้บางอย่างซ้ำ
SCG ยังคาดหวังเป็นอย่างยิ่งว่า การจัดงาน “SD Symposium 2018” ในครั้งนี้จะเสมือนเป็น Click Start ของการสร้างการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชนและภาคประชาชน รวมถึงสร้างแรงบันดาลใจในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้หันมาใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด เช่น ลดการใช้ การนำของกลับมาใช้ซ้ำ เพราะทุกคนล้วนมีส่วนสำคัญในการผลักดันเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ให้เกิดขึ้นจริง