เมื่อธุรกิจ 63 ปี อยู่กลางสมรภูมิ Transform! พิสูจน์ความท้าทาย “SAMART” กับภาพ Corporate Brand ยุค 4.0

  • 236
  •  
  •  
  •  
  •  

samart

ราวๆ 13-14 ปีที่ผ่านมา ในยุคที่มือถือทำหน้าที่เป็นเพียงอุปกรณ์สื่อสาร ยังไม่สำคัญกับการดำเนินชีวิตของผู้คนเสมือนเป็นจมูกที่สอง! ขาดมือถือแล้วหายใจไม่ออกเช่นทุกวันนี้ “กลุ่มบริษัทสามารถ” เคยสร้างตำนาน “ยุคทองเฮ้าส์แบรนด์” ด้วยการส่ง i-mobile มาปฏิวัติมือถือยุค 2G ให้พ้นจากหน้าจอขาว-ดำ เป็นจอสีใส่ได้สองซิม แถมยังฟังวิทยุดูทีวีได้ในราคาหั่นครึ่งจากมือถืออินเตอร์แบรนด์ กลายเป็นเหตุผลที่ไม่น่าแปลกใจว่าทำไมวันนั้น i-mobile จึงครองแชมป์ตลาดเฮ้าส์แบรนด์ได้นาน ก่อนจะปิดฉากไปเมื่อปีที่ผ่านมา

แต่นั่นไม่ใช่ประเด็น! เพราะสิ่งที่เราอยากสื่อสารกับคุณในวันนี้ คือก้าวใหม่ของ “กลุ่มสามารถ” กับเป้าหมายในการตอกย้ำภาพ Corporate Brand ที่ดำเนินมาตลอด 63 ปี (ไม่ใช่ Consumer Brand ตามที่หลายคนเคยมองเมื่อยุค i-mobile เฟื่องฟู) สู่ภาพ Corporate Brand ยุคใหม่

จุดเริ่มต้นของกลุ่มสามารถ คือ ธุรกิจครอบครัวที่เริ่มต้นสร้างความสำเร็จจาก “เสาอากาศทีวี” และ “จานรับสัญญาณดาวเทียม” ก่อนจะไต่เต้าสู่ธุรกิจด้านเทคโนโลยีการสื่อสาร และเติบโตแตกกิ่งใบสู่การมีบริษัทในเครือถึง 40 บริษัท พนักงานกว่า 5,000 คน ในฐานะบริษัทของคนไทย

“วันนี้ภาพของเราอาจเปลี่ยนไปบ้างก็ไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะดำเนินธุรกิจมายาวนาน 63 ปี ในอดีตพูดถึงกลุ่มสามารถ คนอาจมองเป็นภาพฮาร์ดแวร์ต่างๆ หรือนึกถึงภาพมือถือเฮ้าส์แบรนด์บ้าง แต่วันนี้เราคือ Solutions and Services”

คุณวัฒน์ชัย วิไลลักษณ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท สามารถคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เริ่มต้นเล่าภาพรวมธุรกิจในวันที่ดำเนินมาถึง 63 ปีให้เราฟัง ก่อนจะอธิบายเพิ่มเติมถึงเป้าหมายและภาพลักษณ์ของกลุ่มสามารถยุคใหม่ ว่า…

IMG_2696

IMG_2637

มุ่งสู่ “ดิจิทัล” ไร้ Consumer Product ขายบนชั้นวาง

อย่างที่บอกว่าเมื่อก่อน ภาพของกลุ่มสามารถยังมีฮาร์ดแวร์อยู่มาก แต่ตอนนี้เราเป็นโซลูชั่นและเซอร์วิสเยอะขึ้น โดยเฉพาะช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมาซึ่งเป็นยุคที่ธุรกิจมือถือของเราเริ่มหายไป ยิ่งสะท้อนชัดเจนว่า Consumer Product ของเรากลายเป็นการ Integrate เข้ากับระบบ ซึ่งจะทำให้ภาพของกลุ่มสามารถเปลี่ยนแปลงไปอีกมากภายใน 2-3 ปีนี้ จากรูปแบบธุรกิจที่เปลี่ยนไป ไม่ใช่แค่ธุรกิจเดิมที่เราเคยทำมาแต่หมายถึงการเป็นดิจิทัลใหม่ๆ ที่มาพร้อมเทรนด์เทคโนโลยี ฮาร์ดแวร์ขายพ่วงระบบ ไม่ใช่แค่สินค้าตอบโจทย์ผู้บริโภคที่วางขายอยู่บนชั้นวางแล้วจบไป

“การที่เราเคยประสบความสำเร็จกับ i-mobile ในอดีตไม่ได้การันตีอนาคต ต้องยอมรับว่าทุกวันนี้ธุรกิจมือถือแข่งขันสูงมาก ทั้งการ Subsidize เครื่องจากโอเปอเรเตอร์ การที่ค่ายต่างๆ เปิดตัวรุ่นใหม่อยู่ตลอด ทำให้เราเลือกยุติธุรกิจ i-mobile เมื่อปีที่ผ่านมาถือเป็นช่วงที่เหมาะสม เพื่อมองหาและเริ่มธุรกิจใหม่ๆ ที่มีการเปลี่ยนแปลงต่ำและเป็นธุรกิจที่เราเชี่ยวชาญ ช่วยสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขันให้บริษัท โดยตั้งแต่ช่วงครึ่งหลังของปีนี้ก็จะเริ่มเห็นการทยอยเปิดตัวธุรกิจอีกหลายประเภท ขณะเดียวกันก็จะมีอีกหลายธุรกิจที่เริ่มมีรายได้เข้ามาในช่วง 1-2 เดือนจากนี้ด้วย”

IMG_2666

ปรับผังธุรกิจใหม่เป็น 4 สาย กระจายสร้างรายได้จากเทคโนโลยี

ปัจจุบัน กลุ่มสามารถดำเนินธุรกิจโดยแบ่งเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่

1. ICT Solution and Service โดยบริษัท SAMART TELCOMS

2. Digital โดยบริษัท SAMART Digital

3. Utilities and Transportations โดย SAMART U-TRANS ซึ่งแบ่งเป็นสาย Transportations คือ SAMART Transolutions และ CATS และสาย Utilities คือ KPP และ Teda

4. Technology Related Services โดยบริษัท ONE TO ONE, VISION และ SAMART Engineering

เป้าหมายทางธุรกิจของกลุ่มสามารถในตอนนี้คือ การมองหาธุรกิจที่สามารถสร้างรายได้แบบ Sustainable และเป็นรายได้ประจำ เชื่อว่าทุกบริษัทก็คาดหวังเช่นนี้จากการดำเนินธุรกิจ ซึ่งกลุ่มธุรกิจที่สามารถทำรายได้สูงสุดให้กลุ่มสามารถ คือ ธุรกิจ ICT Solution and Service และธุรกิจกลุ่ม Utilities โดยบริษัทคาดว่าในปี 2020 จะมีรายได้ที่มาจากทรัพย์สิน (Recurring Income) ไม่ต่ำกว่า 50-60% เพิ่มจากปัจจุบันมีอยู่ราว 30-40% เพื่อทำให้ธุรกิจสามารถอยู่ได้อย่างมั่นคงในระยะยาว สอดคล้องกับภาพ Corporate Brand ของกลุ่มสามารถ ในฐานะบริษัทที่มีความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีและการสื่อสาร ส่วนบริการกลุ่มคอนซูเมอร์ก็ยังคงมีอยู่แต่จะปรับรูปแบบเป็นเซอร์วิสไม่ใช่ Consumer Product

info-SAMART

จับตาดาวรุ่ง “CATS” ธุรกิจศูนย์ควบคุมการจราจรทางอากาศในกัมพูชา

เป็นหนึ่งตัวอย่างธุรกิจที่กลุ่มสามารถดำเนินงานในต่างประเทศ ในชื่อ CATS (Cambodia Air Traffic Control by SAMART) ซึ่งเป็นธุรกิจที่ได้รับสัมปทานระยะยาว 39 ปี (ตั้งแต่ปี 2001) ในประเทศกัมพูชา ดำเนินธุรกิจที่ปรึกษาในการออกแบบระบบและจัดตั้งศูนย์บริการข้อมูล Customer Contact Center ซึ่งขณะนี้อยู่ในระหว่างเตรียมข้อมูลเพื่อยื่นตลาดหลักทรัพย์ในช่วงสิ้นปีนี้อีกด้วย

“CATS เป็นธุรกิจที่เติบโตขึ้นทุกปีๆ ละ 10% และทำรายได้ราว 60 ล้านเหรียญต่อปี เนื่องจากมีจำนวนเที่ยวบินนับแสนเที่ยวบินต่อปีที่บินผ่านน่านฟ้ากัมพูชา (100,000 เที่ยวบิน ณ ปี 2017) พร้อมกับแนวโน้มที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากกระแสท่องเที่ยวต่างประเทศ ทำให้ CATS เป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่เป็นหน้าเป็นตาของกลุ่มสามารถ”

อย่างไรก็ตาม กัมพูชาไม่ใช่ตลาดใหม่ที่กลุ่มสามารถเพิ่งเข้าไปดำเนินธุรกิจ หากแต่เป็นประเทศที่คุ้นเคยและเริ่มต้นธุรกิจมาตั้งแต่ปี 1991 ด้วยการก่อตั้งบริษัท แคมโบเดีย สามารถ คอมมิวนิเคชั่น จำกัด เพื่อดำเนินการวางระบบเครือข่ายโทรศัพท์ ให้บริการสื่อสารโทรคมนาคม และให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบ NMT 900 ทั้งยังจัดจำหน่ายอุปกรณ์สื่อสารอิเล็กทรอนิกส์และบริการต่างๆ ของกลุ่มบริษัทสามารถในประเทศกัมพูชาอีกด้วย

IMG_2675

คน-ทักษะ-วัฒนธรรมองค์กร วิกฤตยุค Digital Transformation

สิ่งที่เป็นความท้าทายในยุค Digital Transformation ของกลุ่มสามารถ คือ เรื่องคน วัฒนธรรมองค์กร ทักษะ และการยอมรับเทคโนโลยี ภายใต้การดำเนินงานที่ยาวนานตลอด 63 ปี แม้จะมีการปรับเปลี่ยนมาโดยตลอดก็ยังไม่พอ!

“เพราะการทำธุรกิจในปัจจุบันเกิดขึ้นง่าย แค่สร้างเว็บไซต์ ทำแอปพลิเคชัน ก็เป็นธุรกิจได้แล้วและมีการแข่งขันสูงด้วย แต่เราเป็นองค์กรใหญ่ มีต้นทุนสูงกว่ารายเล็ก ความท้าทายคือจะควบคุมต้นทุนอย่างไรให้เกิดประสิทธิภาพ กระบวนการที่เกิดขึ้นจึงมีตั้งแต่ลดค่าใช้จ่าย ควบคุม หรือแม้แต่เลือกทำงานที่ให้ความคุ้มค่ามากที่สุด โครงการไหนที่ทำแล้วจะสร้างรายได้ระยะยาวให้องค์กร สิ่งต่างๆ เหล่านี้คือเรื่องที่เราต้องมองให้เห็นและทำให้ได้ เพราะโจทย์ธุรกิจวันนี้ไม่ใช่แค่การขายของแล้วจบ ยังมีเรื่องบริการหลังการขาย การเซอร์วิสที่เราต้องเข้าใจและเข้าถึงลูกค้าให้ได้ เพื่อสร้างจุดเด่นทางธุรกิจและดันตัวเองให้ผู้ในกลุ่มผู้นำที่ยากต่อการแข่งขัน”

ขณะเดียวกัน บริษัทก็ต้องรักษาจุดเด่นเดิมที่มีเอาไว้ ซึ่งจุดเด่นของกลุ่มสามารถ คือ ความเชี่ยวชาญทางเทคโนโลยีและฐานลูกค้าที่มั่นคง พร้อมๆ กับการต่อยอดนวัตกรรม การขยายพาร์ทเนอร์ ทุกส่วนต้องดำเนินไปอย่างสอดคล้องกัน

IMG_2689

เดินหน้า Provide เทคโนโลยี จับเทรนด์ธุรกิจมุ่ง Transform

ทุกวันนี้ ธุรกิจเดิมในกลุ่มคอนซูเมอร์ก็ไม่ได้ยกเลิกทั้งหมดแต่อยู่ในสายธุรกิจ Digital อาทิ Bug 1113 ก็ยังให้บริการอยู่, แอป edt guide กิน ดื่ม เที่ยว, แอป TripPointz จัดการเรื่องท่องเที่ยว หรือแม้แต่ isport ก็ดำเนินงานในลักษณะธุรกิจกีฬายุคดิจิทัล เป็นต้น ทำให้เห็นจุดเด่นอย่างชัดเจนว่าเป็น Core Competencies ของกลุ่มสามารถ หรือแม้แต่เทคโนโลยีที่เรามีเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าองค์กรและหน่วยงานภาครัฐที่จะปรับตัวสู่ยุค 4.0 เราก็มีอินฟราสตรัคเจอร์ที่พร้อมโพรวายให้ ทั้งการนำไปใช้งานในองค์กร การสร้างโอกาสทางธุรกิจ หรือแม้แต่การสร้างแพลตฟอร์มให้เข้าถึงข้อมูลและเราเป็นผู้จัดเก็บค่าธรรมเนียม

หวัง…ปีหน้าเป็นปีทอง!

“ในปีหน้าจะเป็นปีที่ได้เห็นอะไรใหม่ๆ จากกลุ่มสามารถอีกมาก จากที่ปีนี้มี 4-5 เมกะโปรเจค ซึ่งส่วนใหญ่เป็นโครงการภาครัฐที่อยู่ระหว่างรอพิจารณาและรอผลดำเนินงาน เรายอมรับว่าการ Transform นั้นทำไม่ได้ครบทุกเรื่อง แต่เราพยายามเดินหน้าและสร้างการยอมรับต่อไป พร้อมกับการลงทุนใหม่ๆ ในธุรกิจที่มองเห็นโอกาสและความพร้อม บอกได้ว่าวันนี้กลุ่มบริษัทสามารถไม่ใช่แค่บริษัทดิจิทัล เราคือเทคโนโลยี คือโซลูชั่น หมายความว่าโปรดักส์ที่ไปพร้อมกับเซอร์วิส แต่ไม่ใช่ว่ากลุ่มสามารถจะไม่มีคอนซูเมอร์โปรดักส์อีกแล้ว เพราะวันหนึ่งที่เราพร้อม เราอาจจะลอนจ์อีกครั้งก็ได้…”

 


  • 236
  •  
  •  
  •  
  •  
Ms.นกยูง
เมื่อโลกไม่เคยหยุดหมุน เราก็ไม่ควรหยุดเรียนรู้... ชวนคุณมาทำความรู้จักหลากหลายเรื่องราว ทั้งสาระและสีสันบนโลกดิจิทัลไปพร้อมกัน