กระแสฮอตฮิตในสังคมอเมริกันขณะนี้กำลังวิจารณ์อุตสาหกรรมบันเทิงระดับโลก Hollywood ซึ่งไม่สามารถดัน Rising star หนุ่มเลือดใหม่ขึ้นมาประดับวงการได้เสียที ซึ่งทำให้ธุรกิจหนังเมืองลุงแซมสูญเสียรายได้และกลุ่มนักดูภาพยนตร์สาวๆ ขาประจำที่หลงใหลมัดกล้ามแน่นๆ และรอยยิ้มละลายใจของหนุ่มน้อยในภาพยนตร์
สื่อมะกันตั้งคำถาม “ดาราฉันไปไหน?”
รายการวาไรตี้ชื่อดัง Good Morning America ติดตามความเคลื่อนไหวข่าวนี้ติดต่อกันถึง 2-3 วันโดยตั้งคำถามว่า “พวกดาราหนุ่มเลือดใหม่ของเราไปไหนกันเสียหมด?” และเปิดให้ชาวอเมริกันโฟนอินเข้ามาวิพากษ์วิจารณ์กันสนุกปาก อย่างไรก็ตาม คอนเมนเตอร์ส่วนใหญ่เห็นตรงกันว่าดาราหนุ่มในยุคนี้ก็ใช่ว่าจะยากไร้ความสามารถ เช่น Daniel Radcliffe (พ่อมดสุดติสต์จากแฮรีพอตเตอร์), Robert Pattinson (หนุ่มตาแดงที่ใช้ไวเทนนิ่งเป็นกระปุกจากแวมไพร์ทไวไลต์) หรือจะเป็น Ryan Gosling (หนุ่มหวานน้ำตาเรียกพี่จาก The Notebook รักเธอหมดใจ ขีดไว้ให้โลกจารึก) แต่ต้องยอมรับจริงๆ ว่า หนุ่มยุคใหม่ไม่มีใครเทียบชั้นตำนานมีชีวิตอย่าง Tom Cruise (ต้นตำรับพี่เตี้ยเก่งทุกทาง เช่น Mission Impossible ทั้งซีรี่ย์) หรือ Johny depp (นี่ก็หนุ่มเซอร์เก่งทุกทางอีกคน) ได้สักคน ซึ่งไม่ว่าจะแสดงหนังเรื่องไหน ผู้ชมก็จะปิดตาไม่ดูชื่อหนัง ไม่ดูเรื่องย่อ ขอให้ฉันได้เสียตังค์เข้าไปกรี๊ดในโรงแค่นั้นเป็นพอ
แน่นอนว่าคุณอาจเถียงว่า Hollywood ยังมีดาราหนุ่มน่าฟัดอีกเป็นกระบุง ทั้ง Brad Pitt (เจ้าของลูกโลกทองคำมีผลงานมากมาย) Will Smith (หนุ่มผิวสีสุดฮอตแจ้งเกิดจาก MIB), Tom Hanks (เล่นหนังดังมากมายเช่น Forrest Gump) และ Leonardo Dicaprio (หนุ่มขี้เหงาชื่อชวนคนไทยเงิบ แจค ดอร์สัน จาก Titanic) แต่ใครจะกล้าพูดได้ว่าพวกเขาเหล่านี้เป็น “เลือดใหม่” ของวงการบันเทิงฮอลลีวูด?
ดาราหนุ่มเลือดใหม่ Robert Pattinson ที่โด่งดังจากซีรี่ย์ แวมไพร์ ทไวไลต์ แต่กลับไม่ค่อยมีใครติดตามผลงานหนังเรื่องอื่นๆ
ความคาดหวังเปลี่ยน
Brett Ratner โปรดิวเซอร์และผู้กำกับชื่อดังของฮอลลีวูดเผยความในใจต่อปรากฏการณ์ที่ไม่มีดาราหนุ่มอายุต่ำกว่า 40 ปีดังค้างฟ้าขึ้นมาในช่วงนี้ โดยวิเคราะห์ว่าเป็นเพราะหนังปัจจุบันไม่ต้องการให้ดารามานำเนื้อเรื่องอีกแล้ว
“สมัยก่อน ผมโตมากับความตื่นเต้นที่จะได้ดูหนังของ Tom Cruise ช่วงปิดเทอมยาว แต่ยุคนี้ต้องยอมรับว่าคนมาดูอย่างอื่นที่ไม่ใช่ดารา มาดูสเปเชียล เอฟเฟค มาดูเนื้อเรื่อง มาดูไอเดียของคนเขียนบท ดาราไม่ได้เป็นศูนย์กลางหนังอีกต่อไปแล้ว”
Tom Cruise ดาราแม่เหล็กในตำนาน แม้แต่ปัจจุบันคนรุ่นใหม่ก็ยังกล่าวขวัญ
คอนเซปต์คือศูนย์กลาง
ปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ดาวรุ่งหนุ่มดวงใหม่ยากจะเกิดมาจากลักษณะภาพยนตร์ของ Hollywood ในช่วงที่ผ่านๆ มาซึ่งมักจะดันเรื่องแนว action-adventure ขึ้นมาสร้างกระแสในตลาดโลก โดยไม่ค่อยให้โอกาสดาราใช้เสน่ห์ของตัวเองดึงดูดคนดู
“หนังประเภท action-adventure มักจะถอดทิ้งความเป็นตัวเองของนักแสดง เช่น Iron man หรือ Spiderman เพราะพวกเขาสวมบทเป็นคนอื่น เป็นซูเปอร์ฮีโร่ที่ไม่มีอยู่จริงซึ่งมีภาระกิจปกป้องโลกมนุษย์จากเอเลี่ยนหรือพวกก่อการร้าย” Toby Miller นักเขียนเจ้าของหนังสือ Global Hollywood2 ซึ่งวิจารณ์แวดวงหนัง Hollywood
อีกเหตุผลหนึ่งคือ การเข้ามาของโลกออนไลน์ที่ทำให้แฟนคลับสามารถแสดงความเห็นชื่นชอบหรือต่อต้านดาราได้อย่างออกนอกหน้า อย่างกรณีที่ Hollywood เลือก Charlie Hunnam นักแสดงหนุ่มบริติชมารับบทตัวเอกในหนังอิโรติกเขย่าขวัญ Fifty Shades of Grey การตัดสินใจนี้สร้างกระแสต่อต้านมากมายถึงขั้นมีแฟนคลับตั้งเพจวิจารณ์กันอย่างเลือดเย็น สุดท้ายผู้กำกับเลยสั่งปลดดาราหนุ่มกลางอากาศ สร้างบทเรียนให้ Hollywood ว่าการเลือกนักแสดงต้องดูที่ความสามารถ ไม่ใช่หน้าตาแต่อย่างเดียว
กลุ่ม Avengers จากหนังชื่อเดียวกัน ซึ่งเป็นหนังซูเปอร์ฮีโร่ที่มีดารามากันเป็นกระบุง
แล้วจริงแท้หนุ่มๆ อยู่ไหนกัน?
สเกลหนังของฮอลลีวู้ดปัจจุบันขยายไปเป็นธุรกิจระดับโลกอย่างแท้จริง นั้นหมายความว่าดาราที่ Hollywood จะเลือกมาต้องถูกใจโลก ไม่ใช่ดาราฟันขาว มีซิกแพคสไตล์อเมริกันดรีมอย่างที่เคยเลือกมา
“นักแสดงที่ถูกต้องตามแบบฉบับเดิม สัญชาติอเมริกัน ผิวขาว เป็นฝรั่งตาน้ำขาว ไม่ได้การันตีความดังเสมอไปแล้ว” James Floyd ดาราบริติชนักแสดงมือรางวัลจาก My Brother the Devil ให้ความเห็นและว่าต่อว่า นักแสดงที่มีความเป็นนานาชาติสูง ไม่ใช่ฝรั่ง และพูดภาษาอื่นๆ ได้นอกเหนือจากอังกฤษถือว่าเป็นกำไร
ขณะที่อีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ดารายุคใหม่ไม่ค่อยเกิด คือการที่ผู้บริหารสตูดิโอปัจจุบันเปลี่ยนตัวกันบ่อยมาก ทำให้ไม่ค่อยมีการผลักดันดาราของตัวเองอย่างต่อเนื่องอย่างที่เคยทำกันในอดีต
James Floyd (ซ้าย) ดาราลูกครึ่งบริติช-อินเดียนซึ่งน่าจะเป็นความหวังใหม่ของ Hollywood แต่กลับไม่มีผู้กำกับคนไหนเลือกเขาไปแสดงหนัง
เผยเทคนิคสำหรับหนุ่มอยากดัง
กลยุทธ์สำหรับดาราหนุ่มที่อยาก “เกิด” คือการเล่นหนังที่ไม่ใช่ภาคต่อ มาจากบทประพันธ์ หรือเป็นแนวซูเปอร์ฮีโร่ เพราะจะเป็นโอกาสให้ผู้ชมเห็นฝีมือที่แท้จริงของดารา ไม่ใช่ภาพซ้อนทับของตัวละครที่ตัวเองจินตนาการ
David D’Arcy นักวิจารณ์ภาพยนตร์ระบุว่า อุปสรรคใหญ่ที่สุดคือวงการบันเทิงปัจจุบันเปลี่ยนตามกระแสโลกที่หมุนเร็ว ทั้งสื่อมวลชน ทั้งนักวิจารณ์ต่างเปลี่ยนความสนใจได้เร็วเพียงข้ามคืน ขณะที่ Hollywood ก็เอาแต่เพลย์เซฟด้วยการดังหนังตระกูลซูเปอร์ฮีโร่หรือแอคชั่นออกมา ซึ่งบดบังความสามารถของผู้แสดงส่วนใหญ่ ดารายุคใหม่จึงต้องเลือกบทที่คิดว่าตัวเองจะ “เกิด” มากกว่าการเล่นหนังเก็บชั่วโมงบินไปเรื่อยๆ