สืบเนื่องจากสภาพเศรษฐกิจที่ยังเรียกได้ว่า ยังไม่กลับมาฟื้นตัวอย่างเต็มที่ ซึ่งเป็นผลมาจากแรงกดดันหลายปัจจัย โดยเฉพาะหนี้สินที่มีความเสี่ยงในช่วงเวลานี้ ส่งผลให้หลายสถาบันการเงินเสริมความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อเช่าซื้อรถ ซึ่งเป็นปัจจัยหลักในการขับเคลื่อนตลาดรถยนต์ให้เติบโต แต่ก็ยังมีจุดแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ยาวหลังสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้
ตลาดกระบะ 1 ตัน หดตัวลงมากสุด
รายงานตลาดรถยนต์เดือนกรกฏาคม 2566 โดยตลาดรวมมีปริมาณการขายรถยนต์ทุกประเภทอยู่ที่ 58,419 คัน ลดลง 8.8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ถึงแม้ว่าเฉพาะตลาดรถยนต์นั่งจะมีอัตราเติบโตที่ 17.3% ที่ยอดขาย 22,511 คัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเซกเมนท์รถยนต์นั่งขนาดเล็กที่มียอดขาย 16,308 คัน เติบโตสูงถึง 18.1% แต่ก็ยังไม่สามารถต้านทานการลดลงของตลาดรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ที่ชะลอตัวต่อเนื่องที่ 19.9% ด้วยยอดขาย 35,908 คัน
เมื่อลงในรายละเอียดของตลาดรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ พบว่า ตลาดรถกระบะ 1 ตัน เป็นตลาดมีการชะลอตัวสูงถึง 26.6% ด้วยยอดขายเพียง 24,982 คัน ซึ่งเป็นผลมาจากความเข้มงวดของสถาบันการเงินในการปล่อยสินเชื่อเช่าซื้อ เนื่องจากเกิดความกังวลอัตราหนี้เสียที่เป็นผลต่อเนื่องที่เกิดจากภาวะเงินเฟ้อช่วงที่ผ่านมา รวมถึงการประกาศหนี้สินครัวเรือนที่ยังคงอยู๋ในอัตราสูง ส่งผลให้ภาคธุรกิจและภาคประชาชนชะลอการสินใจซื้อ โดยเฉพาะในภาคธุรกิจขนส่ง
ได้รัฐบาลปัจจัยบวกตลาดรถยนต์
แม้จะมีความไม่มั่นใจทั้งภาคสถาบันการเงิน ภาคธุรกิจและภาคประชาชนในการตัดสินใจซื้อรถยนต์ แต่ก็ยังมีปัจจัยบวกด้านอื่นที่เข้ามาหนุน อย่างความชัดเจนในการจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งส่งผลดีต่อภาพรวมของเศรษฐกิจในประเทศ รวมถึงยังสร้างความเชื่อมั่นต่อนักลงทุน และจะส่งผลเชิงจิตวิทยาในการใช้จ่าย ก่อให้เกิดการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจ โดยคาดว่าตลาดรถยนต์น่าจะได้รับอานิสงส์ในช่วงเดือนสิงหาคมนี้
ไม่เพียงเท่านี้ยังมีปัจจัยเสริมอื่นๆ ที่เข้ามาช่วยหนุนตลาดรถยนต์ในประเทศ อย่างแคมเปญการตลาดในช่วงมหกรรมงาน Bangkok International Grand Motor Sale 2023 ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 25 สิงหาคม – 3 กันยายนนี้ ที่นอกจากช่วยกระตุ้นยอดขายรถยนต์ภายในงานแล้ว ยังมีข้อเสนอพิเศษไปยังโชว์รูมผู้แทนจำหน่ายทั่วประเทศ รวมถึงยังเป็นโอกาสที่ผู้บริโภคจะมีโปรโมชั่นที่ช่วยให้เป็นเจ้าของรถยนต์ได้ง่ายขึ้น
แม้จะมีปัจจัยบวกเข้ามาหนุน แต่ปัจจัยลบที่ยังคงส่งผลต่อเนื่อง อย่างความผันผวนทางเศรษฐกิจที่มีผลต่อภาวะหนี้สินครัวเรือน ยังคงอยู่และยังคงส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของสถาบันการเงิน ในการออกมามาตรการความเข้มงวดของการปล่อยสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์
TOYOTA ยังครองแชมป์ผู้นำตลาด
เมื่อมาดูภาพรวมการจำหน่ายรถยนต์ในช่วง 7 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-ก.ค. 2566) พบว่า ภาพรวมตลาดรถยนต์มีปริมาณการขายอยู่ที่ 464,550 คัน ลดลง 5.5% โดย TOYOTA สามารถขายได้ 157,280 คัน ลดลง 3.1% ครองส่วนแบ่งตลาดที่ 33.9% โดยมี ISUZU ตามมาในอันดับที่ 2 ด้วยส่วนแบ่งการตลาดที่ 21.1% และ HONDA ในอันดับ 3 ด้วยส่วนแบ่งการตลาดที่ 11.6%
สถิติการจำหน่ายรถยนต์ เดือนมกราคม – กรกฏาคม 2566
ยอดขายรถยนต์ตลาดรวม | 464,550 คัน | ลดลง 5.5% |
TOYOTA | 157,280 คัน | ลงลง 3.1% |
ISUZU | 98,016 คัน | ลดลง 22.3% |
HONDA | 53,685 คัน | เพิ่มขึ้น 13.2% |
ตลาดรถยนต์นั่ง | 170,598 คัน | เพิ่มขึ้น 10.0% |
TOYOTA | 59,089 คัน | เพิ่มขึ้น 34.3% |
HONDA | 35,347 คัน | เพิ่มขึ้น 3.3% |
MITSUBISHI | 10,664 คัน | ลดลง 17.8% |
ตลาดรถเพื่อการพาณิชย์ | 293,952 คัน | ลดลง 12.6% |
TOYOTA | 98,191 คัน | ลดลง 17.0% |
ISUZU | 98,016 คัน | ลดลง 22.3% |
FORD | 22,871 คัน | เพิ่มขึ้น 23.6% |
ตลาดรถกระบะขนาด 1 ตัน | 207,934 คัน | ลดลง 20.6% |
ISUZU | 88,861 คัน | ลดลง 23.6% |
TOYOTA | 80,632 คัน | ลดลง 20.9% |
FORD | 22,871 คัน | เพิ่มขึ้น 23.6% |
ตลาดรถกระบะ Pure Pick up | 169,994 คัน | ลดลง 25.5% |
ISUZU | 75,231 คัน | ลดลง 28.8% |
TOYOTA | 67,094 คัน | ลดลง 23.0% |
FORD | 15,667 คัน | เพิ่มขึ้น 0.7% |
ขณะที่การจำหน่ายรถยนต์ภาพรวมตลอดทั้งเดือนกรกฎาคม 2566 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา พบว่า TOYOTA ยังครองตำแหน่งแชมป์ผู้นำตลาดด้วยยอดขายสูงถึง 20,421 คัน เพิ่มขึ้น 0.7% โดยมีส่วนแบ่งการตลาดที่ 35.0% ขณะที่ ISUZU มาเป็นอันดับ 2 ด้วยยอดขาย 11, 735 คัน ครองส่วนแบ่งที่ 20.1% และ HONDA ตามมาที่ยอดขาย 7,551 คัน เพิ่มขึ้น 4.1% ครองส่วนแบ่งที่ 12.9%
สถิติการจำหน่ายรถยนต์ เดือนกรกฏาคม 2566
ยอดขายรถยนต์ตลาดรวม | 58,419 คัน | ลดลง 8.8% |
TOYOTA | 20,421 คัน | เพิ่มขึ้น 0.7% |
ISUZU | 11,735 คัน | ลดลง 27.9% |
HONDA | 7,551 คัน | เพิ่มขึ้น 4.1% |
ตลาดรถยนต์นั่ง | 22,511 คัน | เพิ่มขึ้น 17.3% |
TOYOTA | 8,048 คัน | เพิ่มขึ้น 57.9% |
HONDA | 4,922 คัน | เพิ่มขึ้น 6.2% |
MITSUBISHI | 1,086 คัน | ลดลง 39.3% |
ตลาดรถเพื่อการพาณิชย์ | 35,908 คัน | ลดลง 19.9% |
TOYOTA | 12,373 คัน | ลดลง 18.5% |
ISUZU | 11,735 คัน | ลดลง 27.9% |
FORD | 2,754 คัน | ลดลง 23.7% |
ตลาดรถกระบะขนาด 1 ตัน | 24,982 คัน | ลดลง 26.6% |
ISUZU | 10,228 คัน | ลดลง 31.0% |
TOYOTA | 10,088 คัน | ลดลง 20.3% |
FORD | 2,754 คัน | เพิ่มขึ้น 23.7% |
ตลาดรถกระบะ Pure Pick up | 20,309 คัน | ลดลง 31.9% |
ISUZU | 8,551 คัน | ลดลง 35.5% |
TOYOTA | 8,312 คัน | ลดลง 26.7% |
FORD | 1,820 คัน | เพิ่มขึ้น 37.4% |
ถึงอย่างนั้น ค่ายรถอย่าง HONDA กลับไม่ได้รับผลกระทบใดๆ จากสถานการณ์ดังกล่าว เนื่องจากเป็นค่ายรถยนต์ที่ไม่มีรถกระบะวางจำหน่าย อีกส่วนหนึ่งยังเกิดจากการที่ HONDA มีการเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่ โดยเฉพาะในกลุ่ม Hybrid ที่ได้รับความสนใจจากตลาดอย่างมาก นั่นจึงทำให้ต้องจับตาในช่วงครึ่งปีหลังจากนี้ ซึ่งเป็นฤดูกาลของตลาดรถยนต์ รวมถึงช่วงครึ่งปีหลังยังมีมหกรรมงานด้านรถยนต์ที่เป็นตัวกระตุ้นตลาดให้กลับมาคึกคักได้อีกครั้ง
ข้อมูล: TOYOTA