หากให้คุณนึกไวๆ ถึง 3 แบรนด์แรกของ Low-cost Airlines ในไทย เราเชื่อว่าหลายคนคงมี ‘นกแอร์’ ติดอยู่ในอันดับอย่างแน่นอน นกแอร์ หรือ Nok Airlines เป็นสายการบินราคาประหยัดของคนไทย ที่เปิดดำเนินการครั้งแรกเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2547 และเริ่มทำการบินครั้งแรกเดือนกรกฎาคมในปีเดียวกัน เป็นระยะเวลากว่า 13 ปี ที่นกเหลืองตัวใหญ่โบยบินอยู่เหนือน่านฟ้าไทยและเอเชีย
หากคุณมีโอกาสเดินทางกับนกแอร์บ่อยๆ จะสังเกตได้ว่าในช่วง 2-3 ปีหลังมานี้นกแอร์โดดเด่นมากในเรื่องการพัฒนาแบรนด์คาแรคเตอร์ ซึ่งเป็นกลยุทธ์สำคัญในการสู้อย่างสตรองในวันที่สมรภูมิสายการบินราคาประหยัดเดือดระอุ และล่าสุดหลังเห็นปรากฏการณ์ทางโซเซียลมีเดียที่มีคนพูดถึงขวดน้ำดื่มนกชื่นใจที่ให้บริการฟรีบนสายการบินนกแอร์ ที่นอกจากจะดีไซน์สวยจนกลายเป็นของสะสมให้กับนักเดินทางแล้ว สิ่งที่บางคนอาจจะมองว่าก็แค่ขวดน้ำ แต่ในความจริงแล้วเบื้องหลังขวดน้ำกระทัดรัดนั้นมีกลยุทธ์ที่ซ่อนอยู่ หากไม่นับในเรื่องของจำนวน User Generated Content ของนกแอร์ที่เพิ่มขึ้นภายหลังจากการเริ่มให้บริการน้ำดื่มนกชื่นใจตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมา ยังรวมไปถึง Brand Experience ที่ตั้งใจส่งต่อให้กับผู้โดยสารทุกเที่ยวบินของนกแอร์อีกด้วย
วันนี้ Marketing Oops! เลยขอพาคุณมาทำความรู้จักกับทีม Ancillary Revenue ซึ่งมี จรัสพรรณ ศรีสวัสดิ์, Vice President-Ancillary Revenue (คนกลาง) บุศรา รัศมีถาวร, New Business Development Director (คนซ้าย) และ กุลสรณ์ ล้อมวงค์ไพศาล, Ancillary Revenue Manager (คนขวา) แห่งสายการบินนกแอร์ ผู้อยู่เบื้องหลังไอเดียสนุกๆ ในครั้งนี้
จรัสพรรณ: พูดถึงแผนก Ancillary Revenue หลายคนอาจจะงงนิดนึงว่า แผนกนี้ทำอะไร แผนกเราคือส่วนที่สร้างรายได้เสริมจากช่องทางอื่นๆ นอกเหนือจากการขายตั๋วเครื่องบิน รวมไปถึงการลดต้นทุน และพัฒนาบริการต่างๆ ที่มีอยู่ ให้มีศักยภาพสูงสุดด้วยต้นทุนที่เท่าเดิมถือเป็นอีกด้านหนึ่งที่มีความสำคัญกับบริษัท เพราะในตลาด Low-cost Airlines ‘ราคาตั๋ว’ เป็นหนึ่งในจุดที่แต่ละสายการบินจะแข่งขันกัน เพราะฉะนั้นในส่วนของ Ancillary Revenue จะเป็นส่วนที่ช่วยเพิ่มรายได้อีกช่องทางหนึ่งบริษัท และช่วยสร้าง image ให้กับแบรนด์ ซึ่งแม้ว่าชื่อมันคือ ‘รายได้’ แต่ในสิ่งที่ผู้บริหารนกแอร์และทีมมองถึงบทบาทและหน้าที่ของแผนก Ancillary Revenue ของเราคือ เราไม่ได้ทำเพื่อสร้างรายได้เป็นหลักอย่างเดียว แต่เรามองถึงการสร้างความพึงพอใจและเสริมประสบการณ์ให้ผู้โดยสาร รวมถึงสร้าง Value ให้กับแบรนด์ด้วย ดังนั้นในความเป็น Low-cost Airlinesบทบาทของ Ancillary Revenue จึงมีส่วนสำคัญมากค่ะ
วิธีคิดในการทำงานของแผนก Ancillary Revenue จะแยกเป็น 3 ส่วน คือ ก่อนที่ผู้โดยสารจะขึ้นเครื่อง ระหว่างอยู่บนเครื่อง และหลังลงจากเครื่อง ส่วนของก่อนขึ้นเครื่อง เราก็จะดูว่ามีอะไรที่ผู้โดยสารต้องการเพิ่มเติมนอกเหนือจากการซื้อตั๋วเดินทางบ้าง อย่างเช่นประกันภัยการเดินทาง เลือกที่นั่ง จองที่พัก เช่ารถ ต่อเรือเฟอร์รี่ หรือระหว่างอยู่บนเครื่อง ก็จะเป็นการบริการด้านสินค้าที่ระลึก อาหารและของว่าง ทีนี้พอเครื่องลงปุ๊ปจะเป็นส่วนที่ 3 หากผู้โดยสารไม่มีรถเรามีบริการเสริมเป็นบริการเช่ารถ ‘Nok Car’ ซึ่งเป็นกลุ่มพาร์ทเนอร์ของเรา หรือจะต่อรถต่อเรือหลังลงเครื่อง เรามีบริการชื่อว่า ‘Fly’n’Ride และ Fly’n’Ferry’ สมมติอยากไปเกาะเต่า เราก็มีบริการพาไปส่งให้ถึงที่หลังลงจากเครื่อง แล้วตอนนี้มีบริการใหม่คือ ‘Nok Holidays’ จะเป็นเรื่องของตั๋วเครื่องบินรวมกับที่พัก ซึ่งเราทำมาเพื่อจะตอบโจทย์การให้บริการแบบ One Stop Service คือถ้าคุณจะเดินทาง มานกแอร์ที่เดียวจบ
‘นก’ แบรนด์คาแรคเตอร์ชัด
จรัสพรรณ: ถ้าพูดกันในแง่ Awareness คิดว่าสูงมากทีเดียว เพราะคาแรคเตอร์แบรนด์เราชัดเจน จดจำง่าย และเป็น Low-cost Airlines ของคนไทยโดยแท้จริง
ก่อนที่จะมาทำงานกับ Nok Air ส่วนตัวเราชอบคาแรคเตอร์ของเค้าอยู่แล้ว เพราะคาแรคเตอร์เค้าเด่น และชัดเจน ตั้งแต่ชื่อ ที่ใช้คำว่า ‘นก’ และตัวเครื่องบินเองก็มีการเพ้นท์เป็นลวดลายที่เห็นแล้วรู้เลยว่านี่คือเครื่องของนกแอร์ แอร์โฮสเตสของเราก็มีกิมมิคใช้คำว่า ‘นก’ นำหน้าชื่อเล่น เป็นสิ่งที่บอกได้ชัดเจนว่า สายการบินนกแอร์ของเราให้ความสำคัญกับ
การสร้างความจดจำ ทั้งแง่แบรนดิ้งและคาแรคเตอร์ ไม่ว่าจะเป็นการรายละเอียดตั้งแต่การออกแบบ หรือการบริการเราก็ต้อนรับกันแบบคนไทยที่อบอุ่น ยิ้มแย้ม เป็นกันเอง เพื่อสร้างความประทับใจให้กับผู้โดยสาร
บุศรา: แม้แต่ชื่อ ‘นก’ และสีเหลืองของแบรนด์ ก็เป็นสิ่งที่สื่อถึงคาแรคเตอร์ของความเป็นมิตร สดใส ร่าเริง สามารถเข้าถึงได้ง่าย แม้แต่ดีไซน์เครื่องบินอย่างที่พี่เต็มบอก… เออมันจับต้องได้ง่าย ซึ่งเรารู้สึกว่าคาแรคเตอร์ตรงนี้เราชัดเจนกว่าสายการบินอื่น
“ถ้าพูดกันในแง่ Awareness คิดว่าสูงมากทีเดียว เพราะคาแรคเตอร์แบรนด์เราชัดเจน จดจำง่าย และเป็น Low-cost Airlines ของคนไทยโดยแท้จริง”
น้ำดื่มขวดเล็กสร้างความประทับใจได้ยิ่งใหญ่
บุศรา: ก่อนหน้านี้เราให้บริการน้ำดื่มนกชื่นใจที่เป็นถ้วยแบบเปิดฝาฟอยด์ แล้วเราก็ได้รับคอมเมนท์มาเยอะว่าพอเปิดฝาแล้วน้ำมันกระฉอก เลยตัดสินใจเปลี่ยนมาเป็นแบบขวดที่มีฝาปิดแทน แล้วก็ต่อเนื่องมาถึงปริมาณของน้ำ ที่เราเพิ่มจาก 100 ml. มาเป็น 150 ml. ซึ่งเป็นขนาดกำลังเหมาะสำหรับผู้โดยสาร ในระยะเส้นทางการบินของนกแอร์ซึ่งเป็นระยะสั้น
ไม่ใช่แค่การใส่ใจในเรื่องของน้ำหกเพียงอย่างเดียว รูปทรงสี่เหลี่ยมก็มีที่มาที่ไป คือการโหลดของขึ้นเครื่องบินนี่มีปัจจัยเยอะมาก น้ำหนักของอุปกรณ์ทุกชิ้นมีเรื่องของต้นทุนค่าน้ำมัน มีชั้นวางของที่จำกัดเรื่องของพื้นที่ และเราต้องคิดคำนึงถึงการทำงานที่สะดวกหน้างานของน้องๆ บนเครื่อง จึงเป็นที่มาของขวดน้ำทรงสี่เหลี่ยม ขนาด 150 ml. ที่สามารถใส่ลงรถเข็นบนเครื่องได้พอดี และเพียงพอกับจำนวนผู้โดยสารในแต่ละเที่ยวบิน
แต่เราก็ไม่ได้คิดแค่ว่าจะทำน้ำดื่มแจกเท่านั้น เรามองไปถึงการสร้าง Brand experience ให้ผู้โดยสารอีกด้วย โอเคว่าพอเราเป็น ‘นก’ มันจะเป็นนกอะไรก็ได้ มันคือ any kind of นก เราจึงเลือกใช้นกชนิดต่างๆ ที่มีความหมายหรือสัญลักษณ์เฉพาะตัวมาใช้ในการออกแบบ และเปลี่ยน design ใหม่ทุกเดือน อย่างช่วงปีใหม่ เราใช้ ‘นกอินทรี’ ความหมายของนกอินทรีนั้นคือสัญลักษณ์ของความรุ่งโรจน์และความสำเร็จ เหมือนเป็นการอวยพรปีใหม่ให้ผู้โดยสารของนกแอร์ ให้เป็นการเริ่มต้นปีใหม่ที่ดี หรือลาย ‘นกฟลามิงโก’ ของกุมภาพันธ์ เดือนแห่งความรัก ซึ่งฟลามิงโกเป็นสัญลักษณ์แห่งความมั่นคงในความรัก
นี่คือที่มาที่ไปของน้ำดื่มนกชื่นใจ มันเกิดขึ้นจากรากฐานความคิดตั้งแต่ Functional เลยว่า ขวดต้องเปิดปิดง่าย และน้ำไม่หก ต้องพกพาง่าย Shape ต้องเป็นขวดสี่เหลี่ยมเหมาะกับพื้นที่และการขนย้าย แล้วเราก็เติม Emotional ลงไปเป็นดีไซน์ของนกที่เปลี่ยนทุกเดือน ซึ่งเราแจกฟรีบนเครื่องให้ผู้โดยสารทุกท่าน นอกจากจะเป็นการสร้างความประทับใจและประสบการณ์ที่ดีให้ผู้โดยสารแล้ว มันยังเป็นการสร้างความเซอร์ไพรซ์ และให้ผู้โดยสารรอลุ้นด้วยว่าเดือนนี้จะเป็นนกอะไร
“…เราก็ไม่ได้คิดแค่ว่าจะทำน้ำดื่มแจกเท่านั้น เรามองไปถึงการสร้าง Brand experience ให้ผู้โดยสารอีกด้วย”
จรัสพรรณ: สิ่งที่เป็นผลพวงตามมาคือขยะบนเครื่องบินตอนนี้น้อยลงมาก คนแทบจะไม่ทิ้งขวดเลย จากเมื่อก่อนที่เป็นถ้วยแล้วคนทิ้งกันหมด แต่ตอนนี้เค้าจะเก็บขวดลงเครื่องไปด้วย เพราะบางคนก็เอาไปเก็บสะสม เอาไปเป็นของฝาก บางคนก็เอาไปเติมน้ำไว้พกดื่มเวลาเดินทางเพราะไซส์มันเหมาะ มีคนเอาไป Reuse หลายแบบมาก เพราะดีไซน์มันสวย
บุศรา: ใช่ค่ะ พอเราทำมันให้เป็นของมีดีไซน์ที่หมดแล้วหมดเลย มันเลยกลายเป็นของสะสมที่มีคนอยากได้ อยากเก็บให้ครบทุกลาย ทุกเดือน เราเช็คตามโซเชียลมีเดียเลยได้รู้ว่าผู้โดยสารที่เดินทางกับเราเค้าเริ่มสะสมขวดน้ำนกชื่นใจกัน ไปถึงการสร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้โดยสารที่ไม่รู้จักกันมาก่อน แล้วมีการขอแลกแบบที่ตัวเองยังไม่มีกันในโซเชียล ซึ่งมันเกินคาดเรามาก และเราก็ดีใจว่าสิ่งที่เราตั้งใจคิดมามันมีฟีดแบคดีกว่าที่คาดไว้แบบนี้เชียวเหรอ ที่เซอร์ไพรส์ที่สุดคือ มีผู้โดยสารทำวิดีโออัพโหลดผ่าน YouTube ขอบคุณ CEO เราที่ทำของน่ารักแบบนี้ขึ้นมา มันเกินกว่าที่คาดหวังเอาไว้มากๆ เลยคิดว่าเราต้องทำให้มันดียิ่งๆ ขึ้นไป
“สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาคือขยะบนเครื่องบินตอนนี้น้อยลงมาก คนแทบจะไม่ทิ้งขวดเลย จากเมื่อก่อนที่เป็นถ้วยแล้วคนทิ้งกันหมด”
บุศรา: ในแง่ของการออกแบบลายขวดน้ำดื่มนกชื่นใจ เราอยากให้มันหลากหลาย คือคำว่าศิลปะมันไม่จำเป็นต้องเกิดจากโปรแกรมดีไซน์ในคอมพิวเตอร์อย่างเดียว ศิลปะมันจะต่อเนื่องไปถึงภาพถ่ายก็ได้ รูปแบบในการวาดภาพต่างๆ รวมถึงสีที่ใช้ มันจะเป็นสีเทียน สีไม้ สีน้ำ หรือสีน้ำมันก็ได้หมด อย่างช่วงหน้าฝนเราใส่กิมมิคโดยทำขวดเป็นลายพรางทหาร และทำนกซ่อนอยู่ในลายพราง ต้องไปหากันเอาเองว่านกอยู่ตรงไหน และดีไซเนอร์ที่เราเลือกในแต่ละเดือนก็จะไม่ซ้ำกันเลย เราจะเลือกดีไซเนอร์หน้าใหม่ๆ ที่มีคาแรคเตอร์น่าสนใจ พอทำมาเรื่อยๆ ก็กลายเป็นว่าตอนหลังมีดีไซเนอร์เสนอเข้ามาเองเลยว่าอยากดีไซน์ขวดน้ำนกชื่นใจกับเรา ซึ่งเราเองก็จะไม่ไปเปลี่ยนแปลงตัวตน หรือความถนัดของดีไซเนอร์ ใครถนัดที่จะสร้างงานออกมาแบบไหนเราก็เปิดกว้าง และเราก็จะมีสื่อของนกแอร์ ที่จะบอกชื่อและช่องทางที่สามารถไปติดตามผลงานของดีไซเนอร์แต่ละคนกันต่อได้ เราคิดว่านอกจากลายสวยๆบนขวดน้ำจะสร้างความประทับใจให้ผู้โดยสารแล้ว มันยังเป็นพื้นที่ที่มีคุณค่ามากสำหรับนักออกแบบ ทั้งเดือนจะมีคนเห็นผลงานของเค้าหลักแสนคน ซึ่งมันเป็นเหมือนพื้นที่ในการโปรโมทผลงานและต่อยอดไปสู่โอกาสอื่นๆ ให้เค้าอีกด้วย
“คำว่าศิลปะมันไม่จำเป็นต้องเกิดจากโปรแกรมดีไซน์ในคอมพิวเตอร์อย่างเดียว ศิลปะมันจะต่อเนื่องไปถึงภาพถ่ายก็ได้ รูปแบบในการวาดภาพต่างๆ รวมถึงสีที่ใช้ มันจะเป็นสีเทียน สีไม้ สีน้ำ หรือสีน้ำมันก็ได้หมด”
Emotional และ Functional สู่การออกแบบคอนเซ็ปต์สินค้าที่ขายหมดแล้วหมดเลย
จรัสพรรณ: นอกจากส่วนของน้ำดื่มนกชื่นใจที่เราแจกฟรี ก็จะมีอีกส่วนคือ ‘Nok Shop’ ที่เราพัฒนาต่อเนื่องกันมาเกือบ 2 ปีแล้ว คือเราเลือกผลิตของที่คุณภาพดีควบคู่ไปกับดีไซน์สวยงาม แล้วก็ปล่อยสินค้าออกมาเป็น Seasonal Collection โดยที่ของในแคตตาล็อคจะตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์คนได้อย่างหลากหลาย มีทั้งของที่เป็น Gadget เสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย อุปกรณ์ที่ใช้ระหว่างเดินทาง และสินค้าสำหรับเด็ก แล้วในแต่ละเล่มก็จะมีสินค้า Limited Edition ที่จะมีรูปแบบการดีไซน์ตามตีมในแต่ละซีซั่น ซึ่งจะผลิตมาไม่มาก หมดแล้วคือหมดเลย
“เราจะทำแคตตาล็อคสินค้าออกมาเป็นซีซั่น เปลี่ยนทุก 4-6 เดือน แต่ละตีมก็จะมีของที่ออกแบบมาไม่ซ้ำกัน”
โดยคอนเซ็ปต์ทั้งหมดเราเริ่มเมื่อปลายปี 2015 ตอนนี้แคตตาล็อคนกแอร์ก็เข้าสู่เล่มที่ 5 แล้วค่ะ อย่างล่าสุดในช่วงหน้าฝนเราก็ดีไซน์ออกมาเป็น ‘ตีมลายทหาร’ โดยที่เราไม่ได้โฟกัสภาพของความเข้มแข็งแบบทหาร แต่เป็นตีมลายทหารที่บวกกับคาแรคเตอร์ความเป็นนกแอร์ มันก็จะออกมาในสไตล์สดใส ร่าเริง เป็น Uniqueness ที่ทำให้แคตตาล็อคและสินค้าของเราไม่ซ้ำใคร และด้วยความที่นกแอร์เป็นสายการบินของคนไทย เราไม่ลืมที่จะร่วมสร้างสรรค์และส่งต่อความดีคืนสู่สังคมของเรา
ถ้าผู้โดยสารที่ได้ใช้บริการนกแอร์และคุ้นๆ ถึงตีมลายทหารของเราแล้ว จะเห็นได้ว่า รายได้ส่วนหนึ่งจากการขายสินค้าชุด Limited Edition นี้ จะนำไปมอบเป็นขวัญและกำลังใจให้แก่ทหารที่ประจำการอยู่ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อแทนคำขอบคุณจากคนไทยทั่วประเทศอีกด้วย
อย่างที่บอกว่าในส่วนการทำงานของเรา ไม่ได้มุ่งหารายได้อย่างเดียวแต่เราเน้นไปที่การสร้างแบรนด์และสร้างประสบการ์ณที่ดีให้ผู้โดยสารด้วย การทำงานส่วนหนึ่งของเรามันเหมือนเป็นการทำ Marketing ประมาณนึงเลยค่ะ คือถ้าเราขายแพงกว่านี้กำไรเราก็เพิ่มขึ้น แต่เราขายสินค้าคุณภาพดีในราคาถูกเพื่อให้คนรู้สึกซื้อง่าย และเข้าถึงแบรนด์เราได้ง่ายขึ้น ซึ่งเวลาที่เค้าซื้อสินค้านกแอร์ไปใช้ เค้าก็เป็นหนึ่งชาแนลที่สามารถสร้าง Awareness แทนเราได้เหมือนกัน
“เหมือนเป็นการทำ Marketing ประมาณนึงเลยค่ะ คือถ้าเราขายแพงกว่านี้กำไรเราก็เพิ่มขึ้น แต่เราขายสินค้าคุณภาพดีในราคาถูกเพื่อให้คนรู้สึกซื้อง่าย และเข้าถึงแบรนด์เราได้ง่ายขึ้น”
บุศรา: อย่างที่บอกว่าเราจะเลือกสินค้าที่เหมาะกับไลฟ์สไตล์ของผู้โดยสาร อย่าง Thumb drive นี่เราเลยดีไซน์ให้มันเก๋น่าใช้ โดยทำเป็นรูปเครื่องบินของนกแอร์ ที่มีหลายแบบให้เก็บสะสมได้ด้วย ซึ่งก็ขายดีมาก ลงปุ๊ปหมด หมดจริงๆ เพราะมันน่ารัก คุณภาพดี และราคาไม่ได้แพง
การดีไซน์ Merchandise ของเราก็มีต้นทางความคิดไม่ต่างกันกับที่เราทำ ‘น้ำดื่มนกชื่นใจ’ เพราะว่าเราโฟกัสทั้งในแง่ Emotional และ Functional คือเราเลือกประเภทของสินค้าตามโจทย์ที่ผู้โดยสารต้องการก่อน ดีไซน์เราก็เน้นให้มันสวยงามน่าใช้ที่สุด ไม่ได้เน้นโลโก้เบ้อเร่อที่คนเห็นแล้วก็ไม่อยากใช้ ตอนเราเริ่มทำ เราก็คิดแต่แรกแล้วว่าเราจะทำของที่เราเองก็อยากจะใส่ อยากจะใช้ ในชีวิตประจำวันเองด้วย
“เราเลือกประเภทของสินค้าตามโจทย์ที่ผู้โดยสารต้องการก่อน ดีไซน์เราก็เน้นให้มันสวยงามน่าใช้ที่สุด ไม่ได้เน้นโลโก้เบ้อเร่อที่คนเห็นแล้วก็ไม่อยากใช้”
จรัสพรรณ: ในส่วนที่เป็น On-Board service นอกจากน้ำดื่มนกชื่นใจที่แจกฟรี มี Nok Shop แล้ว ล่าสุดกับโปรเจ็คน้องใหม่ของทีมก็คือการปรับรูปโฉมของ “นกชวนชิม” ที่พึ่งจะ Soft-Launch เริ่มให้บริการเสิร์ฟอาหารอุ่นร้อนบนเครื่อง พร้อมกับเพิ่มความหลากหลายของอาหารว่างเครื่องดื่มร้อนและเครื่องดื่มเย็น แล้วด้วยความที่เราเป็นสายการบินของคนไทย เราก็จะพยายามสนับสนุนสินค้าของคนไทยให้ได้มากที่สุด โดยล่าสุด อีกสินค้าที่พึ่งเพิ่มขึ้นมาคือเครื่องดื่มของ ‘ดอยคำ’
บุศรา: วิธี Soft-Launch ของเราก็คือ ตอนนี้เราจะเอาอาหารร้อนขึ้นเครื่องไปด้วย แล้วน้องๆ ลูกเรือก็จะแนะนำผู้โดยสารว่าตอนนี้มีเมนูอะไรขายอยู่บ้าง แล้วก็สามารถสั่งกับลูกเรือได้เลยค่ะ แต่จำนวนที่นำขึ้นไปก็จะมีไม่เยอะนัก แต่ถ้าเปิดเต็มตัวแล้ว ผู้โดยสารสามารถสั่งจองอาหารได้ล่วงหน้าพร้อมการจองตั๋วเลยค่ะ ซึ่งแม้เราจะแค่ Soft-Launch แต่ก็ได้เสียงตอบรับที่ดีมาก เพราะอาหารแต่ละเมนูรสชาติมันดีจริงๆ
จรัสพรรณ:วิธีเลือกเมนูอาหารของเรานอกเหนือจากรสชาติที่อร่อยแล้ว เราก็คำนึงถึงเรื่องความสะอาดด้วยเช่นกัน ทุกร้านที่เราสนใจเราจะไปดูถึงครัวว่าความสะอาดเป็นอย่างไร ถูกสุขลักษณะแค่ไหน ไม่ใช่แค่สถานที่ แต่วัตถุดิบและภาชนะต่างๆด้วย ตรงนี้สำคัญมาก วิธีเลือกเมนูอาหารคือเราจะมา Brainstorm และช่วยกันเลือก ว่าเราจะเอาเมนูไหนขึ้นเครื่องบ้าง จากนั้นเราก็จะเลือกร้านที่อร่อย และสะอาดถูกสุขลักษณะ ซึ่งก็ผ่านการชิมกันมาเยอะมาก (หัวเราะ)
“แล้วด้วยความที่เราเป็นสายการบินของคนไทย เราก็จะพยายามสนับสนุนสินค้าของคนไทยให้ได้มากที่สุด โดยล่าสุด อีกสินค้าที่พึ่งเพิ่มขึ้นมาคือเครื่องดื่มของ ‘ดอยคำ’”
จรัสพรรณ: เวลาที่เรา Brainstorm งานกัน พลังจะเยอะมาก จัดเต็มไอเดียพุ่งกันปรี๊ดปร๊าดสุดๆ ความท้าทายในส่วนการทำงานของเราคือ ทำยังไงให้ไอเดียที่เราคิดกันมามันเกิดขึ้นจริงได้ และตอบโจทย์ความต้องการของทุกฝ่ายได้ ทั้งผู้โดยสาร น้องๆ พนักงานบนเครื่อง ทุกแผนกที่เกี่ยวข้องจะสามารถทำสิ่งนี้ให้เกิดขึ้นจริงโดยไม่มีปัญหาหน้างานได้อย่างไร รวมถึงต้องสร้างรายได้ให้บริษัท และเพิ่ม Value ให้กับแบรนด์อีกด้วย
บุศรา: คือเราจะต้องคิดให้ครบทุกด้าน เวลาทำงานจริง ไอเดียที่เราคิดมามันต้องไม่ไปสร้างปัญหาหรือความยุ่งยากให้ผู้โดยสาร และโดยเฉพาะพนักงานที่อยู่หน้างาน พอเราทำได้ดีแล้ว จะมีความคาดหวังเกิดขึ้นจากผู้โดยสาร รอบหน้าเราก็ต้องรักษามาตรฐานและทำให้มันดียิ่งขึ้นไปอีก และเราต้องมีการรีเช็คและปรับเปลี่ยนต่อเนื่องว่ายังมีรอยรั่วตรงไหน ตรงไหนยังเพิ่มได้อีก ต้อง keep energy ในการสร้างสรรค์อย่างต่อเนื่องค่ะ
เต็มอิ่มกับเคล็ดลับในการสร้างแบรนด์ ‘สไตล์นกแอร์’ ที่แม้จะเป็นสายการบินราคาประหยัด แต่เทหมดหน้าตักกับการสร้างความประทับใจและประสบการณ์ที่ดีให้ผู้บริโภค ออกแบบการบริการที่เอื้ออำนวยให้กับทั้งพนักงานและผู้โดยสาร เป็นกรณีศึกษาที่ดีในการทำเซอร์วิสให้ลูกค้า ใส่ใจในดีเทลเพื่อสร้างสิ่งที่ตอบโจทย์ และรีเทิร์นกับมาเป็นรายได้ให้บริษัท เหนือสิ่งอื่นใดคือ Value ที่เกิดขึ้นจากการคิดอย่างสร้างสรรค์และทุ่มเทปฏิบัติ จะเพิ่มมูลค่าให้กับแบรนด์ได้อย่างยั่งยืน
Copyright © MarketingO0ps!