Nike สหรัฐปรับเงื่อนไขการซื้อไม่รับคืน–ยกเลิกออร์เดอร์หากนำไปขายต่อหรือใช้ Bot หวังกวาดล้างตลาดรีเซล

  • 7
  •  
  •  
  •  
  •  

เครดิตสำหรับบทความข่าว: pio3 / Shutterstock.com

ตลาดรีเซล Sneaker ที่ตกเป็นเป้าวิพากษ์วิจารณ์จากผู้บริโภคมาอย่างต่อเนื่องจะถูกจัดการลงได้สำเร็จหรือไม่ หลังจากล่าสุด Nike ผู้ผลิตสินค้ากีฬายักษ์ใหญ่ออกมาตรการที่หวังจะนำมาใช้แก้ปัญหาพ่อค้าแม่ค้าหัวใสที่ซื้อ Sneaker รุ่นใหม่ที่ได้รับความนิยมไปเป็นจำนวนมากๆและนำไปขายต่อด้วยการบวกกำไรเป็นกอบเป็นกำ ขณะที่ผู้บริโภคต้องหันไปซื้อสินค้าราคาสูงกว่าราคาหน้าร้านหลายเท่า

The Wall Street Journal เป็นสื่อเจ้าแรกๆที่รายงานการปรับเงื่อนไขการซื้อขายแบบ E-commerce ของ Nike สหรัฐอเมริกาโดย Nike ประกาศสงวนสิทธิ์ในการเก็บค่าธรรมเนียมการคืนสินค้า, จำกัดจำนวนการซื้อ , ปฏิเสธการคืนสินค้า ปฏิเสธการเข้าถึงร้านค้าของ Nike หรือแม้แต่การปิดบัญชีหากพบว่าเป็น Reseller หรือผู้ที่ต้องการซื้อสินค้าเพื่อนำไปขายต่อเอากำไร

นอกจากนี้ Nike มีการแก้ไขข้อความที่เดิมระบุว่าจะสามารถยกเลิกออร์เดอร์หรือปฏิเสธการคืนสินค้ากับ “ออร์เดอร์ที่มีความเป็นไปได้ว่าใช้วิธีการฉ้อฉล” เป็นการระบุอย่างชัดเจนว่า “Nike สามารถยกเลิกออร์เดอร์ได้หากระบบความปลอดภัยของเราตรวจพบความเป็นไปได้ในการฉ้อฉล พบว่ามีการใช้ซอฟท์แวร์หรือเทคโนโลยีสั่งซื้ออัตโนมัติ” และสงวนสิทธิ์ “ยกเลิกออร์เดอร์ได้หากมีการคืนสินค้ามากเกินไป หรือเกินกว่าจำนวนจำกัดการซื้อ” เป็นต้น

การปรับเงื่อนไขดังกล่าวนับเป็นการพุ่งเป้าไปที่บรรดาพ่อค้าแม่ค้าที่นำสินค้าไปขายต่อที่อาศัยช่องว่าคืนสินค้าที่ขายไม่หมดกับทาง Nike ตามระยะเวลาที่กำหนด นอกจากนี้ยังเป็นการพุ่งเป้าไปที่บรรดา Reseller สายไฮเทคที่ใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์หรือ Bot ในการสร้างแอคเคาต์และเข้าไปซื้อรองเท้ารุ่นดังๆที่ออกวางขายตามเว็บไซต์ต่างๆพร้อมๆกัน

กรณีการใช้ Bot ในการซื้อ Sneaker ของ Nike เคยเป็นข่าวดังมาแล้วในสหรัฐจนส่งผลให้ Ann Hebert ผู้จัดการทั่วไปของ Nike ประจำภูมิภาคอเมริกาเหนือต้องประกาศลงจากตำแหน่ง หลังจากลูกชายวัย 19 ปีของเธอใช้ Bot เข้าไปกว้านซื้อ Sneaker ของ Nike ทางเว็บไซต์ออนไลน์เพื่อนำไปขายต่อเอากำไรเป็นจำนวนมาก

ย่างก้าวนี้ของ Nike มีขึ้นหลังจาก Nike เกาหลีใต้ชาติที่มีตลาดรีเซล Sneaker ขนาดใหญ่ ประกาศมาตรการต่างๆเพื่อจัดการกับตลาดรีเซลที่รวมไปถึงการสงวนสิทธิยกเลิกออร์เดอร์หากพบว่าเป็นการซื้อไปขายต่อ ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาเช่นกัน

อย่างไรก็ตามมาตรการดังกล่าวยังคงมีข้อสงสัยว่า Nike จะใช้วิธีการใดในการบังคับใช้มาตรการดังกล่าวให้ได้ผลและกวาดล้างตลาดรีเซลส์ให้หมดไป   แต่ก็นับว่าเป็นการแสดงความชัดเจนในการจัดการกับตลาดรีเซลส์มากขึ้น  หลังจากกลยุทธ์ผลิตสินค้าจำนวนจำกัดที่สร้างความต้องการสินค้าให้เกิดมากขึ้นทำให้ตลาดรีเซลส์ Sneaker เฟื่องฟูต่อเนื่องมานานหลายปี ในขณะเดียวกันบรรดาผู้บริโภคที่ต้องการสินค้าจริงๆกลับต้องเสียเงินซื้อสินค้ามากกว่าราคาหน้าร้านหลายเท่า


  • 7
  •  
  •  
  •  
  •