ชวนวิเคราะห์ ecosystem ของ SABUY Money Wallet หลังขยายความร่วมมือกับพัมธมิตรใหม่ THAIVAN

  • 182
  •  
  •  
  •  
  •  

หากย้อนกลับไปในช่วงก่อนหน้านี้ให้เห็นความเคลื่อนไหวของบริษัท FinTech อย่าง สบาย เทคโนโลยี (SABUY) ที่เรียกว่าเป็นการพลิกโฉมธุรกิจเติมเงินที่หลายคนรู้จักมาก่อนหน้านี้อย่างตู้เติมเงิน “เติมสบายพลัส” หรือแม้แต่ตู้กดน้ำอัตโนมัติภายใต้ชื่อ “เวนดิ้งพลัส” ซึ่งเรียกได้ว่าธุรกิจทั้ง 2 สามารถสร้างการเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งพัฒนารูปแบบการให้บริการสู่ธุรกิจศูนย์อาหารและ POS ซึ่ง SABUY ดำเนินธุรกิจในฐานะผู้ให้บริการ (Service)

แต่ทันทีที่ สบาย เทคโนโลยี เข้าสู่ธุรกิจ e-Money ภายใต้บริษัท SABUY Money ความเปลี่ยนแปลงก็เริ่มเห็นได้อย่างชัดเจน ด้วยการจับมือเป็นพันธมิตรกับ Buzzebees ผู้ให้บริการ Loyalty Program ผ่านรูปแบบของ CRM และยิ่งเป็นที่ฮือฮาอย่างมากเมื่อ SABUY จับมือเป็นพันธมิตรกับคู่แข่งทางธุรกิจอย่าง “ตู้บุญเติม” ในการขยายจุดให้บริการเติมเงิน และการจับมือเป็นพันธมิตรกับธนาคารอย่าง CIMB Thai ในการให้บริการโอนเงินระหว่างประเทศ

มาถึงตรงนี้จะเห็นได้ว่า SABUY ก้าวเข้าสู่ธุรกิจ FinTech อย่างเต็มตัว ที่สามารถกล่าวเช่นนั้นได้ เพราะเมื่อถอดรหัสความร่วมมือเป็นพันธมิตรในแต่ละครั้งของ SABUY จะเริ่มมองเห็นรูปแบบการเชื่อมต่อการให้บริการในรูปแบบ ecosystem เช่นกันเพื่อนต่อกับ Buzzebees ซึ่งจะช่วยให้ผู้ใช้งานยิ่งใช้มากยิ่งได้ประโยชน์มาก การเชื่อมต่อกับตู้บุญเติมช่วยขยายพื้นที่ในการให้บริการ แล้วยังช่วยให้สามารถทำธุรกรรมทางการเงินได้สะดวกมากขึ้น ขณะที่การร่วมมือกับธนาคาร CIMB Thai ช่วยให้สามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย ที่มีความจำเป็นต้องทำธุรกรรมทางการเงินระหว่างประเทศ

 

ความร่วมมือกับพันธมิตรรายใหม่ขยายระบบ ecosystem

ล่าสุด SABUY ได้เปิดตัวพันธมิตรทางธุรกิจรายใหม่ บริษัท ไทยแวน เซอร์วิส จำกัด (THAIVAN) ซึ่งเป็นบริษัทในเครือ KOVAN จากประเทศเกาหลีใต้ โดยเป็นผู้ให้บริการระบบดิจิตอลเน็ตเวิร์ค ในระบบการชำระเงิน e-Payment และระบบ Loyalty Program ทั้งในรูปแบบของเครื่อง POS และ EDC โดยความร่วมมือกันระหว่าง THAIVAN และ SABUY จะช่วยเสริม ecosystem ของแต่ละฝ่ายได้อย่างลงตัว

โดย THAIVAN จะมีการเพิ่มบริการรับชำระด้วย SBM (SABUY Money Wallet) รวมไปถึงระบบ Loyalty Program จาก SABUY Exchange ในรูปของ SABUY Cash เข้าไปในระบบ THAIVAN EDC ช่วยให้ผู้ใช้งาน SABUY Money มีช่องทางในการชำระเงินเพื่อซื้อสินค้าและบริการเพิ่มมากขึ้น ขณะเดียวกันยังช่วยให้ THAIVAN สามารถครอบคลุมการรับชำระด้วย e-Wallet ได้หลากหลายสกุลในตลาด

ซึ่งข้อดีในการร่วมมือกันครั้งนี้ จะช่วยให้ร้านค้ามีอุปกรณ์ EDC เพียงเครื่องเดียวที่สามารถรับชำระเงินได้ทุกสกุล e-Wallet และบัตรเครดิต แทนที่จะต้องมีอุปกรณ์ EDC จำนวนมากเพื่อรองรับเฉพาะสกุล e-Wallet เพียงรายเดียวในรูปแบบ One Stop Shopping ยิ่งไปกว่านั้นตัวอุปกรณ์ EDC ยังมีคุณสมบัติในการอ่านบัตรประชาชนเพื่อใช้ในการยืนยันตัวตนบนระบบดิจิทัล (eKYC) ช่วยให้ร้านค้าที่อยู่ในระบบ ecosystem ของ SABUY เข้าถึงเครื่อง EDC ของ THAIVAN

โดยในช่วงแรกมีการตั้งเป้าใช้อุปกรณ์ EDC เกือบ 10,000 เครื่อง ซึ่งมีการเตรียมแผนวางอุปกรณ์ดังกล่าวในจุดที่มีนักท่องเที่ยว ร้านค้าเชนต่างๆ เช่น ร้านกาแฟ เพื่อรองรับการใช้ร Loyalty Program รวมไปถึงในภาคขนส่งอย่างรถแท็กซี่ ที่จะช่วยให้ผู้โดยสารสามารถชำระค่าเดินทางผ่านระบบ e-Payment ที่สำคัญร้านค้าที่ใช้ระบบ THAIVAN จะเป็นอีกหนึ่งช่องทางที่รองรับบริการโอนเงินภายในประเทศ และยังสามารถโอนเงินระหว่างประเทศที่จะเริ่มเปิดให้บริการในช่วงไตรมาส 2 ของปีนี้

 

แนวโน้ม SABUY ยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง

โดย คุณชูเกียรติ รุจนพรพจี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สบาย เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) หรือ SABUY ชี้ว่า SABUY มีรายได้จากการขายและให้บริการ สำหรับงวด 12 เดือน สิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2563 กว่า 1,228.35 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 170.43 ล้านบาทหรือคิดเป็น 16.11% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา มีกำไรขั้นต้น 628 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาคิดเป็น 22.37% และมีกำไรสุทธิ 102.06 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาอยู่ที่ 57.98 ล้านบาท คิดเป็น 76.03% ซึ่งสอดคล้องกับกำไรขั้นต้นที่ปรับเพิ่มสูงขึ้น

ประกอบกับการบริหารจัดการต้นทุนในส่วนของค่าใช้จ่ายในการบริหาร ทำให้สามารถสร้างผลประกอบการได้ดี และรายได้ที่เพิ่มขึ้นมาจากการขายสินค้าผ่านตู้จำหน่ายสินค้าอัตโนมัติ โดยตู้จำหน่ายสินค้าอัตโนมัติของบริษัทฯ ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2563 มีจำนวน 5,876 ตู้ แม้ว่าบริษัทจะได้รับผลกระทบจากวิกฤติการแพร่ระบาด COVID-19 ที่ส่งผลให้ยอกจำหน่ายผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มชะลอตัว

แต่ก็ได้นำสินค้าที่มีความเหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบันเข้ามาจำหน่ายผ่านตู้จำหน่ายสินค้าอัตโนมัติแทน นอกจากนี้ยังคงสามารถสร้างรายได้จากการให้บริการฝากเงินและโอนเงิน (Banking Agent) ที่เพิ่มมากขึ้น ซึ่งเป็นผลมาจากพฤติกรรมของผู้ใช้งานที่ลดการทำธุรกรรมทางการเงินผ่านสาขาและตู้ ATM ของธนาคาร รวมถึงรายได้ค่าบริการสื่อโฆษณาบนตู้จำหน่ายสินค้าอัตโนมัติ ซึ่งสอดคล้องกับปริมาณการให้บริการและจำนวนตู้จำหน่ายสินค้าอัตโนมัติที่เพิ่มขึ้น

โดยคณะกรรมการมีมติเสนอให้จ่ายปันผลจำนวน 0.03 บาทต่อหุ้นจากกำไรในส่วนที่ได้รับการยกเว้นภาษี ซึ่งในวันที่ 28 เมษายน 2564 จะมีการกำหนดรายชื่อผู้มีสิทธิได้ร้บปันผล (Record Date) และจะจ่ายปันผลในวันที่ 14 พฤษภาคม 2564 อีกทั้งยังเตรียมออกใบสำคัญแสดงสิทธิให้กับผู้ถือหุ้นในอัตราส่วน 10 หุ้นต่อ 1 วอร์แรนต์ กำหนดวันที่ไม่ได้รับสิทธิซื้อใบสำคัญแสดงสิทธิ ในวันที่ 27 เมษายน 2564 ในอัตราการใช้สิทธิ (ใบสำคัญแสดงสิทธิ : หุ้น) 1:1 ในราคาการใช้สิทธิ (บาทต่อหุ้น) 3.25 บาท

 

อนาคตและแนวโน้มของ SABUY สู่ Super App

ส ำหรับแนวโน้มธุรกิจในปี 2564 คุณชูเกียรติมองว่า รายได้รวมของ SABUY จะยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่องในอัตรา 25% โดยปัจจัยหลักยังคงมาจากธุรกิจตู้เติมเงิน ธุรกิจตู้ขายสินค้าอัตโนมัติ ธุรกิจศูนย์อาหารและ POS และธุรกิจใหม่ e-Money โดยวางแผนตั้งงบการลงทุนในปีนี้ไว้ที่ 800 ล้านบาท

เป็นที่น่าจับตาต่อไปว่า ในอนาคต SABUY จะจับมือกับพันธมิตรในด้านใดบ้าง เพื่อเติมเต็ม ecosystem ให้สามารถควบคุมการใช้จ่ายและบริการในหลากหลายรูปแบบ เห็นได้ชัดอย่างการชำระเงินเพื่อการเดินทางบนรถแท็กซี่ ซึ่งหากสามารถทำให้เกิดการชำระเงินผ่าน e-Wallet จนเป็นเรื่องปกติ ไม่แน่ว่าในอนาคตการใช้บริการวินมอเตอร์ไซค์ อาจจะเป็นรายต่อไปก็เป็นได้

เมื่อมองภาพรวมทั้งหมดแล้วจะเห็นได้ว่า ระบบ SBM (SABUY Money Wallet) สามารถครอบคลุมการให้บริการแทบทุกรูปแบบ ตั้งแต่การซื้อสินค้าและบริการ ทั้งในระบบออฟไลน์และระบบออนไลน์ ไปจนถึงการทำธุรกรรมทางการเงินทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ นั่นหมายความว่าในอนาคตเมื่อ SABUY สร้าง ecosystem ที่สมบูรณ์แบบได้เมื่อไหร่ ประเทศไทยก็จะมี Super App ที่เป็นสัญชาติไทยเกิดขึ้นมาอย่างแน่นอน

และคาดว่าเวลานั้น อาจจะเกิดขึ้นเร็วๆ นี้อีกไม่กี่ปีก็เป็นได้…


  • 182
  •  
  •  
  •  
  •  
Gigolo
เมื่อเทคโนโลยีอยู่ใกล้กับชีวิตทุกคน มารู้เท่าทันเทคโนโลยีเพื่อใช้มัน แต่อย่าให้เทคโนโลยีมันใช้เรา