หลังสถานการณ์ไม่นานมานี้ที่เกิดปัญหาทางเทคนิคทางการเงิน เมื่อระบบออนไลน์ล่มๆ ส่งผลต่อความเชื่อมั่นในการทำธุรกรรมการเงินผ่านดิจิทัล ประกอบกับคู่แข่งที่นับวันจะมียอดการใช้งานธุรกรรมการเงินเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะการกดเงินแบบไม่ใช่บัตรจนเรียกได้ว่า แทบจะเป็นฟังก์ชั่นแบบมาตรฐานที่แอปฯ การเงินของทุกธนาคารจะต้องมี นอกจากนี้แอปฯ การเงินเหล่านั้นยังต้องสามารถรวมทุกอย่างเข้าได้ด้วยแอปฯ เดียว
เรากำลังหมายถึงการเปิดตัวแอปพลิเคชั่น K Plus โฉมใหม่จาก KBank ที่แทบจะเรียกได้ว่าเปลี่ยนโฉมไปจากรูปแบบเดิมอย่างสิ้นเชิง โดย KBank เชื่อว่านี่คือการ “เปลี่ยนเพื่อรู้ใจขึ้น” แน่นอนว่าการเปลี่ยนครั้งนี้จำเป็นจะต้องเปลี่ยนโลโก้และหน้าตาใหม่ ซึ่งจุดเด่นที่สำคัญคือการเน้นให้แอปพลิเคชั่น K Plus สามารถตอบสนองไลฟ์สไตล์แบบรายบุคคล
แล้วถ้าทำเพียงแค่นี้ จะเรียกว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงเพื่อรู้ใจขึ้นได้อย่างไร นั่นจึงทำให้ K Plus จำเป็นจะต้องมีระบบที่สามารถเข้าถึงพฤติกรรมต่างๆ ของผู้ใช้งาน นั่นคือเทคโนโลยี AI ซึ่งมีชื่อเก๋ไก๋ที่ถูกเรียกว่า “เกด (KADE)” ซึ่งระบบ AI นี้จะเรียนรู้ถึงพฤติกรรมการทำธุรกรรมทางการเงินของลูกค้าแต่ละราย นอกจากนี้ยังรวมไปถึงความสนใจในแต่ละเรื่องที่ผู้ใช้งานนิยม เพื่อให้แอปพลิเคชั่นสามารถตอบสนองความต้องการของผู้ใช้งานได้ตรงใจ
สงครามระลอกใหม่การเงิน
เมื่อ K Plus ยอมแก้จุดอ่อน
หากเราย้อนกลับไปดูสงครามเทคโนโลยีทางการเงิน จะเห็นได้ว่าสงครามระลอกแรกเกิดจากการที่แบงค์ใหญ่หันมาให้ความสนใจกับการทำแอปพลิเคชั่นทางการเงินบนสมาร์ทโฟน เพื่อที่จะให้ผู้ใช้บริการสามารถใช้งาน QR Code ในการใช้จ่ายสินค้าต่างๆ ได้อย่างสะดวกสบาย รวมไปถึงทางฝั่งร้านค้าที่สามารถรับชำระเงินผ่านแอปพลิเคชั่นบนเทคโนโลยี QR Code โดยทั้ง 2 ค่ายใหญ่อย่าง ธนาคารกสิกรไทย (KBank) และธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) ต่างขับเคี่ยวและทำกันได้ออกมาดีทั้งคู่
จนกระทั่งมาถึงสงครามระลอกที่ 2 เมื่อธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) ตัดสินใจยกเลิกค่าธรรมเนียมธุรกรรมต่างๆ บนแอปพลิเคชั่น Easy Net นั่นจึงส่งผลให้ทุกธนาคารหันมายกเลิกค่าธรรมเนียมธุรกรรมบนแอปพลิเคชั่นของตัวเอง และดูเหมือนว่า รูปแบบการกดเงินโดยไม่ใช้บัตร ATM ได้รับความสนใจเพิ่มขึ้น โดยสามารถกดเงินผ่านแอพพลิเคชั่นของธนาคารบนสมาร์ทโฟน
ซึ่งข้อดีของการกดเงินโดยไม่ใช้บัตร ATM ช่วยให้มั่นใจได้ว่า บัตร ATM จะไม่ถูกขโมยทั้งในรูปแบบปกติและในรูปแบบดิจิทัล นอกจากนี้ยังช่วยป้องกันไม่ให้ผู้อื่นเห็นจำนวนเงินที่เหลืออยู่ในบัญชี ยิ่งไปกว่านั้นยังช่วยให้สามารถใช้เงินสดได้แม้จะลืมบัตร ATM ไว้ที่บ้านก็ตาม ซึ่งทั้งหมดนี้แอพพลิเคชั่น K Plus กลายเป็นแอปพลิเคชั่นเดียว ที่ยังไม่มีรูปแบบการกดเงินโดยไม่ใช้บัตร
และหากใครเคยใช้รูปแบบการกดเงินโดยไม่ใช้บัตร ATM ของแบงค์ใหญ่อย่างไทยพาณิชย์ (SCB) ก็คงจะทราบว่า แม้จะสะดวกเรื่องการไม่ใช้บัตร ATM แต่ก็ยังมีความยุ่งยากในการต้องขอรหัสกดเงินชั่วคราว (OTP- One Time Password) ที่จะต้องผูกกับเบอร์มือถือ ก่อนที่ขั้นตอนบนตู้ ATM จะต้องใส่ทั้งเบอร์มือถือและรหัสกดเงินชั่วคราว โดยเข้าใจว่านั่นคือ ระบบความปลอดภัยของการกดเงินสดโดยไม่ใช้บัตร ATM
นั่นจึงทำให้ KBank มีการปรับเปลี่ยนและพัฒนาแอพพลิเคชั่น K Plus โดยเฉพาะการเพิ่มรูปแบบกดเงินโดยไม่ใช้บัตร ATM ซึ่งความพิเศษของระบบนี้คือทุกอย่างจะทำเสร็จบนแอปพลิเคชั่น ที่เหลือเพียงแค่ ไปที่ตู้ ATM เรื่องการกดเงินโดยไม่ใช้บัตรจากนั้นสแกน QR Code ก็สามารถรับเงินได้ตามจำนวนที่ต้องการ หากเทียบระยะเวลาการกดเงินสดโดยไม่ใช่บัตร ATM ของทั้ง 2 แบงค์ใหญ่ ต้องยอมรับว่าการกดเงินโดยไม่ใช้บัตร ATM ของ K Plus สามารถทำได้รวดเร็วกว่าและสะดวกกว่า
การสื่อสารระลอกใหม่ของ K Plus
เหมือนคนทั่วไปคุยกับคนทั่วไป
การสื่อสารของ KBank ก็เช่นกันที่มีรูปแบบเปลี่ยนแปลงไป จากเดิมที่เป็นการสื่อสารในรูปแบบธนาคารคุยกับลูกค้า แม้จะก้าวเข้าสู่โลกดิจิตอล แต่ KBank ก็ยังสื่อสารในลักษณะธนาคารกับลูกค้า แตกต่างจากคู่แข่งรายใหญ่อย่างธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) ที่นำอดีตผู้บริหารบริษัททางด้านโทรคมนาคมมาอยู่ในส่วนงานดิจิทัลของธนาคาร นั่นจึงทำให้สามารถสื่อสารออกมาในรูปของคนทั่วไปที่มีความรู้ด้านเทคโนโลยีกับคนทั่วไปที่ต้องการรู้เรื่องเทคโนโลยี
ซึ่งการสื่อสารถือว่าเป็นเรื่องสำคัญ การสื่อสารในรูปแบบธนาคารกับคนทั่วไป จะช่วยสร้างความรู้สึกห่างเหิน รวมไปถึงยังสร้างความรู้สึกถึงเรื่องราวของวิชาการตัวเลขมากเกินความจำเป็น ในขณะที่หลักของการใช้เทคโนโลยีด้านการเงิน คือ ง่าย สะดวก รวดเร็วและปลอดภัย และหากพูดกันตามเนื้อผ้า ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) สามารถสื่อสารเรื่องเทคโนโลยีด้านการเงินได้เข้าใจมากกว่า
แต่การเปิดตัว K Plus ใหม่ในครั้งนี้ ต้องบอกว่า KBank ตัดสินใจปรับเปลี่ยนครั้งใหญ่ ด้วยการสื่อสารที่เข้าใจง่ายขึ้น ลงลึกในเรื่องของเทคโนโลยีมากขึ้น มองเห็นภาพความสะดวก ความง่าย ความรวดเร็วและความปลอดภัยได้ชัดขึ้น แต่ทว่านี่คือการปรับเปลี่ยนแบบ “หักดิบ” แม้จะมีวิชาการสื่อสารดีเยี่ยมเพียงใดก็ตาม “ความเคยชิน” ก็จะทำให้เกิดความไม่สะดวกสบายในการใช้งานหรือเกิดความสับสนในช่วงแรก นั่นคือโจทย์สำคัญที่ KBank จะต้องค่อยๆ สื่อสารและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้งานของผู้บริโภค
ไม้เด็ด ไม้ตาย ดีดคู่แข่งทุกค่ายกระเจิดกระเจิง
กับเทคโนโลยี AI ที่จะเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิต
ต้องยอมรับว่า KBank อัพเกรดแอปพลิเคชั่นช้ากว่าธนาคารอื่นๆ ซึ่งหากจะต้องการกลับขึ้นมาเป็นแอปพลิเคชั่นด้านการเงินอันดับหนึ่งอีกครั้ง KBank จะต้องสร้างความแตกต่าง (Differentiate) ที่โดดเด่นกว่าคู่แข่ง ซึ่ง KBank เลือกใช้เทคโนโลยี AI ในการสร้างความแตกต่างให้กับแอปพลิเคชั่นทางการเงิน แถมตั้งชื่อให้โดดเด่นอย่าง เกด (KADE) โดยชื่อเกดย่อมาจาก K Plus AI-Driven Experience
AI เกด ถือเป็นหัวใจสำคัญในพัฒนาศักยภาพของ K Plus ซึ่งเกดจะเป็นระบบหลังบ้าน ด้วยการเรียนรู้พฤติกรรมของลูกค้าแต่ละคน รู้จัก รู้ใจคนใช้งานมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้เกดสามารถนำเสนอประสบการณ์ที่ตรงใจกับลูกค้าเป็นรายคนได้ เช่น ฟังก์ชัน K PLUS Today สามารถแจ้งเตือนธุรกรรมการเงินที่สำคัญที่ลูกค้าใช้เป็นประจำ และแนะนำผลิตภัณฑ์หรือโปรโมชั่นที่ตรงกับไลฟ์สไตล์ของลูกค้า
นอกจากนี้ภายในแอปพลิเคชั่นยังมีการใช้เทคโนโลยีแมชชีน เลนดิ้ง (Machine Lending) ที่ทำให้ธนาคารสามารถนำข้อมูลมาวิเคราะห์และนำเสนอสินเชื่อส่วนบุคคล (K-Personal Loan) และสินเชื่อธุรกิจ ที่เหมาะสมกับความสามารถในการกู้และตรงกับความต้องการของลูกค้าผ่านแอปฯ K Plus และในอนาคตยังสามารถแนะนำการใช้จ่ายและการลงทุนที่จะเพิ่มศักยภาพทางการเงินและโอกาสทางธุรกิจให้กับลูกค้า
นอกจากนี้ K Plus ยังมีโครงสร้างเทคโนโลยี Open Platform ที่พร้อมรองรับการเชื่อมต่อกับช่องทางบริการและพันธมิตรในธุรกิจต่างๆ เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานที่ต่อเนื่องและต่อยอดไปจนถึงการนำเสนอบริการใหม่ๆ
เป้าหมายของแอปพลิเคชั่น K Plus
เพิ่ม – ขยาย – พัฒนาธุรกรรมการเงิน
โดย นายพัชร สมะลาภา กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า แอปพลิเคชั่น K Plus ใช้งานมาแล้วกว่า 5 ปี ปัจจุบันมีลูกค้าใช้งาน K Plus มากกว่า 61% ของลูกค้าธนาคารทั้งหมด 15 ล้านราย มีอัตราการเติบโตอย่างรวดเร็วทั้งจำนวนลูกค้าและปริมาณธุรกรรม ธนาคารจึงพัฒนาศักยภาพของ K Plus ใหม่ พร้อมกับนำเสนอฟังก์ชันด้านไลฟ์สไตล์ที่เข้ากับความต้องการของผู้ใช้งานเป็นรายบุคคล และจะช่วยขยายฐานลูกค้าใหม่ของธนาคารให้เพิ่มเป็นปีละ 2 ล้านบัญชี และทำให้ธนาคารมีฐานลูกค้ารวมเป็น 20 ล้านราย
โดย KBank ตั้งเป้าแอปพลิเคชั่น K Plus ให้สามารถขยายเติบโตถึง 3 ด้านด้วยกัน ทั้งด้านการเพิ่มสัดส่วนการใช้งานด้านไลฟ์สไตล์อีก 5%-10% ภายใน 1 ปี ซึ่งปัจจุบันฟังก์ชันที่นิยมใช้มากที่สุดคือโอน-เติม-จ่าย คิดเป็น 125 ล้านรายการต่อเดือน, ด้านการพัฒนาสู่ช่องทางเข้าถึงผลิตภัณฑ์ทางการเงินอื่นๆ ของธนาคารกสิกรไทยปละช่วยเพิ่มโอกาสเข้าถึงแหล่งทุนขนาดเล็ก (Micro Finance) ให้กับลูกค้าทั่วไปและผู้ประกอบการรายย่อย และด้านการเพิ่มฐานลูกค้าธนาคารให้แตะระดับ 20 ล้านรายภายใน 3 ปี
จับตาสงครามระลอกใหม่ผ่าน AI
และการหนีเทคโนโลยี Blockchain
คงต้องจับตาดูกันต่อไปว่า ธนาคารคู่แข่งเจ้าใหญ่อย่างธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) จะออกมาแก้เกมอย่างไร เมื่อเทคโนโลยี AI ดูเหมือนจะกลายเป็นสมรภูมิครั้งใหม่ที่จะพัฒนาให้แอปพลิเคชั่นการเงิน ไม่ใช่เพียงแค่โอน จ่าย เติม ถอน แต่แอปพลิเคชั่นทางการเงินกำลังจะกลายเป็น One Stop Service ศูนย์รวมบริการทางการเงิน ที่ผสานทั้งบัตรเครดิตและสินเชื่อ รวมไปถึงบัญชีเงินฝากไว้ในแอปพลิเคชั่นเดียวกัน
ไม่เพียงเท่านี้ ไม่แน่ว่าในอนาคตแอปพลิเคชั่นการเงินเหล่านี้ อาจจะพัฒนาไปสู่การเป็น e-Marketplace ย่อยๆ เมื่อแอปพลิเคชั่นเหล่านี้สามารถเปิดฟังก์ชั่นร้านค้า เพื่อให้ลูกค้าของธนาคารใช้เป็นช่องทางในการซื้อขายออนไลน์ที่สะดวกมากยิ่งขึ้น
และอีกหนึ่งบทบาทที่แอปพลิเคชั่นการเงินในอนาคตจะต้องมี คือ ระบบสินเชื่อที่ AI จะเข้ามาช่วยเหลือในการประเมินความเสี่ยง ไม่ว่าจะเป็นสินเชื่อรายย่อยหรือสินเชื่อเพื่อธุรกิจ และนี่อาจจะเป็นชนวนสำคัญในการก้าวไปสู่สมรภูมิที่ใหญ่ขึ้น เมื่อทั่วโลกกำลังพูดถึงเทคโนโลยี Blockchain การทำธุรกรรมโดยไม่ผ่านคนกลาง ซึ่งน่าจะเป็นสิ่งที่ธนาคารหวั่นเกรงเพราะหากทุกคนสามารถใช้ Blockchain ในการซื้อขายได้ ธนาคารที่เป็นลักษณะคนกลางในการซื้อขาย ก็คงจะได้รับผลกระทบโดยตรงและอาจถูกลดบทบาทลงไป
นี่คือความท้าทายของสงครามการเงินออนไลน์ยุคดิจิทัล…
ที่ต้องติดตาม