
กลายเป็นกระแสฮือฮาในแวดวงธุรกิจ เมื่อมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวของศาลแพ่งมีนบุรี โดยระบุชัดว่า “ห้ามมิให้เนสท์เล่ ซึ่งเป็นเจ้าของแบรนด์เนสกาแฟแต่เพียงผู้เดียว ดำเนินการผลิต ว่าจ้างผลิต จำหน่ายและนำเข้าผลิตภัณฑ์กาแฟสำเร็จรูป โดยใช้เครื่องหมายการค้า Nescafe ในประเทศไทย” ซึ่งคำสั่งดังกล่าวหมายถึงให้เนสท์เล่หยุดทุกสายการผลิตของแบรนด์เนสกาแฟ พร้อมทั้งระงับการวางจำหน่ายในสินค้าล็อตใหม่ทันที
ต่อมามีการชี้แจงจากเนสท์เล่ คำสั่งดังกล่าว เนสท์เล่ยังไม่มีโอกาสเสนอข้อเท็จจริงต่อศาล ก่อนที่ศาลจะมีคำสั่งดังกล่าว ทั้งนี้เนสท์เล่ให้ความเคารพต่อกฎหมายและได้ปฏิบัติตามคำสั่งศาลฉบับนี้ ซึ่งทางเนสท์เล่ยังได้ระบุว่า เนสท์เล่จะดำเนินการแก้ไขสถานการณ์นี้และเตรียมยื่นคำร้องคัดค้านเพื่อขอให้เพิกถอนคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวดังกล่าวต่อศาล พร้อมยื่นข้อมูลมราครบถ้วนแก่ศาลแพ่งมีนบุรีเพื่อการพิจารณาคำร้อง
แน่นอนว่าเรื่องนี้ไม่ได้อยู่ๆ เกิดขึ้นมาแบบทันทีนาทีด่วน หากแต่เกิดจากปัญหาที่สะสมของแบรนด์เนสท์เล่และกลุ่มมหากิจศิริ ที่อาจเรียกได้ว่าเป็นคู่ค้ากันมายาวนานกว่า 50 ปี คบกันมาขนาดนี้เรียกได้ว่าเป็นเพื่อนรัก แต่อะไรคือชนวนเหตุแห่งความขัดแย้งจนนำไปสู่เหตุการณ์เพื่อรักหักเหลี่ยมโหด เราจะพาทุกคนย้อนเวลาไปรู้จักความสัมพันธ์ของทั้งคู่
จุดเริ่มต้นของความเป็นเพื่อนสู่การเติบโต
เนสกาแฟ (Nescafe) ถือเป็นแบรนด์กาแฟสำเร็จรูปอันดับต้นๆ ที่อยู่คู่คนไทยมาอย่างยาวนาน โดยจุดเริ่มต้นของแบรนด์เนสกาแฟในประเทศไทยเริ่มมาจากปี 2516 ด้วยการที่เนสท์เล่เข้าร่วมทุนกับ บริษัท กาแฟผงไทย จำกัด ในสัดส่วน 50:50 ก่อนที่ในปี 2532 จะมีการเปลี่ยนชื่อมาเป็น บริษัท ควอลิตี้ คอฟฟี่ โปรดักท์ส จำกัด หรือ QCP โดยมีหน้าที่ในการผลิตกาแฟสำเร็จรูปแบรนด์เนสกาแฟ ถือเป็นปฐมบทของมหากาพย์ในครั้งนี้
การร่วมทุนครั้งนี้ มีการแบ่งแยกการดูแลอย่างชัดเจน โดย QCP จะมีหน้าที่การการผลิตเพียงอย่างเดียว ขณะที่ เนสท์เล่ในฐานะเจ้าของแบรนด์สามารถดำเนินการทั้งด้านการบริหารงาน การจัดจำหน่าย รวมทั้งการทำการตลาดผลิตภัณฑ์เนสกาแฟ ด้วยการทำตลาดในประเทศไทยมาอย่างยาวนาน และด้วยรสชาติที่เป็นเอกลักษณ์ทำให้เนสกาแฟได้รับความนิยมอย่างรวดเร็ว และกลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของคนไทย ไม่ว่าจะชงดื่มเองที่บ้าน ร้านอาหารหรือตามออฟฟิศ
ในแง่การร่วมทุนตระกูลมหากิจศิริเองถือเป็นกลุ่มทุนใหญ่ที่มีความเชี่ยวชาญในการทำธุรกิจในประเทศไทย ประกอบกับชื่อเสียงและผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายของเนสท์เล่ ทำให้การร่วมมือครั้งนี้ช่วยสร้างความแข็งแกร่งให้กับทั้งสองฝ่าย ช่วยให้เนสท์เล่สามารถผลิตสินค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพในประเทศไทย ลดต้นทุนการนำเข้า และเข้าถึงตลาดได้ลึกยิ่งขึ้น ขณะเดียวกัน ตระกูลมหากิจศิริก็ได้เป็นพันธมิตรกับแบรนด์ระดับโลกอย่างเนสท์เล่ ช่วยสร้างความเติบโตให้กับธุรกิจของตรักูล
จุดแตกหักสู่เหตุการณ์ฟ้องร้องในวันนี้
ความร่วมมือของทั้งสองฝ่ายร่วมมือกันอย่างมีประสิทธิภาพ ชนิดที่สามารถรายได้กว่า 1.7 หมื่นล้านบาท ซึ่งจากข้อมูลของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ระบุรายได้รวมในปี 2566 อยู่ที่ 1.71 หมื่นล้านบาท ที่สำคัญหากดูรายได้และกำไรย้อนหลังจะเห็นว่า กำไรสุทธิอยู่ในระดับ 3 พันล้านตลอด ถือว่าเป็นธุรกิจที่สามารถสร้างรายได้น่าประทับใจ โดยรายได้รวมและกำไรสุทธิในแต่ละปี ประกอบด้วย
- ปี 2562 มีรายได้รวม 15,177,522,579 บาท คิดเป็นกำไรสุทธิ 3,389,320,984 บาท
- ปี 2563 มีรายได้รวม 15,772,707,161 บาท เพิ่มขึ้น 3.92% คิดเป็นกำไรสุทธิ 3,683,329,299 บาท
- ปี 2564 มีรายได้รวม 15,459,985,265 บาท ลดลง 1.98% คิดเป็นกำไรสุทธิ 3,704,923,224 บาท
- ปี 2565 มีรายได้รวม 17,115,353,376 บาท เพิ่มขึ้น 10.70% คิดเป็นกำไรสุทธิ 3,403,207,473 บาท
- ปี 2566 มีรายได้รวม 17,183,968,165 บาท เพิ่มขึ้น 0.40% คิดเป็นกำไรสุทธิ 3,067,997,614 บาท
เรื่องราวความขัดแย้งและจุดแตกหักสำคัญต้องบอกว่า แม้จะไม่มีที่มาที่ไปที่ชัดเจน แต่ทุกอย่างเริ่มต้นในปี 2564 โดยระหว่างนั้นมีการต่อสู้กันไปมาระหว่างเนสท์เล่และตระกูลมหากิจศิริ โดยสรุปออกมาได้ดังนี้
- ในปี 2564 เนสท์เล่ตัดสินใจบอกเลิกสัญญากับ QCP โดยได้แจ้งต่อศาลอนุญาโตตุลาการ และระหว่างช่วงเวลาการดำเนินการยุติสัญญาให้ทั้งสองฝ่ายเจรจาหารือในการดำเนินการ
- ในปี 2566 ตระกูลมหากิจศิริยื่นฟ้องต่อศาลแพ่งกรุงเทพใต้ ด้วยข้อกล่าวหาที่เนสท์เล่คิดค่าธรรมเนียมเกินจริงไปถึง 3,000 กว่าล้านบาท
- 31 ธันวาคม 2567 ถือเป็นวันสิ้นสุดสัญญาตามที่ศาลอนุญาโตตุลาการกำหนด และให้ถือว่าการยุติสัญญามีผลสมบูรณ์ทางกฎหมาย
- 3 เมษายน 2568 นายเฉลิมชัย มหากิจศิริ หนึ่งในผู้ถือหุ้นในบริษัท QCP ได้ยื่นต่อศาลแพ่งมีนบุรีเพื่อให้มีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว โดยศาลแพ่งมีนบุรีได้ออกคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว ห้ามมิให้เนสท์เล่ ผลิต ว่าจ้างผลิต จำหน่าย และนำเข้าผลิตภัณฑ์กาแฟสำเร็จรูป โดยใช้เครื่องหมายการค้า Nescafé ในประเทศไทย
- 9 เมษายน 2568 เนสท์เล่ได้ออกแถลงการณ์ชี้แจงพร้อมดำเนินการตามกฎหมาย และเตรียมยื่นคำร้องคัดค้านเพื่อขอให้เพิกถอนคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวดังกล่าวต่อศาล พร้อมยื่นข้อมูลมราครบถ้วนแก่ศาลแพ่งมีนบุรีเพื่อการพิจารณาคำร้อง
แม้จะยังไม่มีความชัดเจนใดๆ เกิดขึ้น แต่ก็ต้องตามติดกันต่อไปว่าผลจะออกมาในรูปแบบใด เพราะหากผลออกมาในแง่ของการยกเลิกคำสั่งศาลคุ้มครองชั่วคราวก่อนหน้านี้ ทุกอย่างก็จะกลับเข้าสู่ระบบเดิมที่ทางตระกูลมหากิจศิริอาจต้องไปหาวิธีการต่อสู้ใหม่ แต่หากไม่มีการเปลี่ยนแปลงโดยยังคงคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว อาจจะเกิดผลกระทบที่สามารถคาดการณ์ได้เบื้องต้น
คาดการณ์ผลกระทบที่จะเกิดขึ้น หากยังไม่ได้ข้อยุติ
การต่อสู้กันในครั้งนี้ของเนสท์เล่และตระกูลมหากิจศิริอาจยืดเยื้ออีกยาวนาน แต่สิ่งที่จะสร้างผลกระทบให้กับแวดวงธุรกิจคือคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว สิ่งที่จะเห็นถึงผลกระทบกับเนสท์เล่ได้อย่างชัดเจน คือ การสูญเสียรายได้จากการขายผลิตภัณฑ์เนสกาแฟในประเทศไทย ที่ถือเป็นตลาดที่สำคัญแห่งหนึ่งของเนสท์เล่ โดยปัจจุบันผลิตภัณฑ์ที่วางขายอยู่จะเป็นสินค้าที่ผลิตมาก่อนหน้านี้ และหากล็อตสินค้าในสต็อกหมดลงก็จะเกิดสินค้าขาดตลาด
นอกจากนี้ สิ่งที่จะกระทบรุนแรงยิ่งกว่ายอดขายคือเรื่องของภาพลักษณ์และความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่มีต่อแบรนด์ โดยเฉพาะผู้ประกอบการร้านค้าที่มีเมนูของเนสกาแฟ และผู้บริโภคที่นิยมรสชาติและกลิ่นที่เป็นเอกลักษณ์ของเนสกาแฟ แน่นอนว่าผู้ประกอบการและผู้บริโภคมีทางออกให้เลือกทั้งการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมความชอบ รวมไปถึงการมองหาสินค้าทางเลือกหรือสินค้าทดแทนอื่นๆ
นั่นคือการเปิดประตูให้คู่แข่งของเนสกาแฟที่รอวันเจาะเข้าถึงผู้บริโภคมีโอกาสในการสร้างประสบการณ์ใหม่ๆ ให้กับผู้บริโภค รวมไปถึงฐานลูกค้าของเนสกาแฟที่ส่วนใหญ่ยังมี Loyalty แต่ก็น่าจะมีไม่น้อยที่จะเกิดการ Switching Brand และนั่นหมายถึงการทุ่มงบประมาณการตลาดและระยะเวลาเพื่อเรียกศรัทธาของแบรนด์กลับคืนมา
อีกหนึ่งกลุ่มที่ไม่กล่าวถึงไม่ได้คือเกษตรกรผู้ปลูกเมล็ดกาแฟ ซึ่งผลกระทบคือปริมาณการรับซื้อเมล็ดกาแฟที่ลดลง เนื่องจากต้องยุติกระบวนการผลิตลงชั่วคราว และอาจส่งผลให้ราคาเมล็ดกาแฟผันผวนกระทบต่อรายได้ของเกษตรกรโดยตรง ไม่เพียงเท่านี้แต่ยังอาจกระทบไปถึงผู้บริโภคนอกประเทศไทย เนื่องจากประเทศไทยเป็นฐานการผลิตเนสกาแฟเพื่อส่งออกไปยังต่างประเทศ นั่นจะทำให้กระบวนการผลิตเกิดหยุดชะงักและจะกระทบต่อตลาดต่างประเทศด้วย
สิ่งหนึ่งที่น่าจับตาต่อไปคือแผนการลงทุนของเนสท์เล่ในประเทศไทย ที่ก่อนหน้านี้มีการลงทุนรวมกว่า 22,800 ล้านบาท เพื่อขยายสายการผลิตสินค้าต่างๆ ซึ่งรวมถึงผลิตภัณฑ์กาแฟเนสกาแฟด้วย โดยจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและขยายกำลังการผลิตกาแฟ รวมถึงการสนับสนุนเกษตรกรผู้ปลูกกาแฟชาวไทย นอกจากนี้ยังได้ลงทุน 450 ล้านบาทในการพัฒนาเทคโนโลยีที่โรงงานในจังหวัดฉะเชิงเทราเพื่อผลิตกาแฟสำเร็จรูปพรีเมียมใหม่
ซึ่งนั่นเท่ากับว่าเนสท์เล่พร้อมสำหรับการผลิตตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำภายใต้เนสท์เล่ หรือนี่คือชนวนเหตุที่ทำให้เกิดมหากาพย์เพื่อนรักหักเหลี่ยมโหดครั้งนี้ขึ้นมาL