เปิดอาณาจักร MK Group สู่การขยายตัวครั้งใหญ่ด้วย 6 ธุรกิจใหม่

  • 38
  •  
  •  
  •  
  •  

เวลานึกถึงเมนูพิเศษอาจจะมีหลายแบรนด์ให้เลือก แต่ถ้าเป็นเมนูสุกี้หลายคนคงมีชื่อ “MK” อยู่ในหัวแน่นอน โดยเฉพาะความโดดเด่นของเป็ดย่างที่ขึ้นชื่อลือชาและน้ำจิ้มสุกี้ที่เรียกว่าไม่เหมือนใครคือจุดเด่นของ MK แต่ช่วงที่ MK ดูเหมือนจะเงียบหายไปบ้าง ซึ่งส่วนหนึ่งเกิดจากการแข่งขันที่รุนแรง และสภาพเศรษฐกิจที่ทำให้กำลังซื้อลดลง

 

เปิดอาณาจักร MK 

ย้อนกลับไปกว่า 32 ปี MK เริ่มเข้าสู่ตลาดในฐานะร้านอาหารสุกี้ยากี้ ด้วยทุนจดทะเบียน 1 ล้านบาท แต่จริงๆ แล้ว MK เกิดขึ้นมาก่อนหน้านี้ โดยเป็นการซื้อกิจการต่อมาจากนักธุรกิจชาวฮ่องกงที่ชื่อ มาคอง คิงยี (Makong King Yee) และเป็นที่มาของชื่อ “MK” โดยเริ่มต้นด้วยร้านอาหารขนาดเล็กในพื้นที่สยามสแควร์

จนกระทั่งในเมื่อธุรกิจห้างสรรพสินค้าเติบโตอย่างมากช่วงปี พ.ศ.2527 ทำให้ร้าน MK เริ่มเข้าสู่ห้างฯ โดยเปิดสาขาแรกในห้างที่เซ็นทรัลลาดพร้าว และในปี พ.ศ.2539 มีการปรับปรุงครั้งใหญ่ทั้งการออกแบบร้าน รวมไปถึงการเปลี่ยนหม้อต้มให้กลายเป็นระบบไฟฟ้า

ในเวลาต่อมา MK เริ่มมีการขยายธุรกิจออกไปสู่กลุ่มธุรกิจอาหารมากขึ้น โดยแบ่งออกเป็น

– ร้านอาหารญี่ปุ่น Yayoi

– ร้านอาหารญี่ปุ่น HAKATA

– ร้านอาหารญี่ปุ่น Miyazaki

– ร้านอาหารแหลมเจริญซีฟู้ด

– ร้าน ณ สยาม

– ร้านอาหาร เลอสยาม

– ร้าน Le Petit

– Bizzy Box

โดยปัจจุบันร้านอาหารหลักๆ ของ MK Group จะเน้นไปที่ร้าน MK Restaurant มีจำนวนสาขา 450 สาขา ส่วนร้านอาหารญี่ปุ่นมี่จำนวน 200 สาขา และร้านอาหารแหลมเจริญซีฟู้ดมีจำนวน 45 สาขา

 

แนวโน้มเติบโตสู่การขยายธุรกิจ

หากลงลึกไปดูรายละเอียดการลงทุนของ MK Group จากข้อมูลงบการเงิน จะเห็นได้ว่า แนวโน้มรายได้ในส่วนของกำไรและขาดทุนจะเห็นได้ว่าเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2564 มีกำไรสุทธิอยู่ที่ 131 ล้านบาท ขณะที่ในปี 2565 มีกำไรสุทธิอยู่ที่ 1,439 ล้านบาท และในปี 2566 มีกำไรสุทธิอยู่ที่ 1,682 ล้านบาท

โดยสัดส่วนรายได้ส่วนใหญ่ยังมาจากธุรกิจของ MK Restaurants เป็นหลักที่สัดส่วน 75% ขณะทื่ร้านอาหารญี่ปุ่น YAYOI มีกำไรในสัดส่วน 18% และร้านอาหารแหลมเจริญซีฟู้ดมีสัดส่วนอยู่ที่ 6%

ด้วยสัดส่วนของรายได้และกำไรที่เพิ่มขึ้น จึงไม่แปลกที่ MK กำลังเตรียมที่จะขยายธุรกิจ โดยเฉพาะการเล็งเป้าหมายไปสู่ตลาดต่างประเทศ รวมไปถึงการพัฒนาสินค้าที่เป็นเอกลักษณ์ของ MK อย่างน้ำจิ้มสุกี้ที่มีการออกผลิตภัณฑ์แบบขวด

เตรียมขยายธุรกิจสู่ตลาดต่างประเทศ

ในช่วงปี 2024 เป็นปีที่เรียกได้ว่า MK Group สามารถกลับมาเดินเกมกลยุทธ์การตลาดได้อย่างเต็มที่ โดย คุณฤทธิ์ ธีระโกเมน ประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร MK Group ชี้ว่า แม้ว่าช่วงไตรมาสแรกของปีนี้เศรษฐกิจจะไม่ดีมาก เป็นผลมาจากความสามารถในการซื้อของประชาชนลดลง ส่วนหนึ่งมาจากหนี้สินครัวเรือนที่เพิ่มขึ้น และการแข่งขันที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก

ถึงอย่างนั้น ปีนี้ MK Group ยังคงเดินหน้าขยายธุรกิจไปยังหน่วยธุรกิจใหม่ที่ครอบคลุมตั้งแต่ B2B การค้าปลีก ไปจนถึงการส่งออก โดย MK Group ได้ขยายธุรกิจการขายน้ำจิ้มและผลิตภัณฑ์อื่นๆ ไปยังตลาดต่างประเทศ เช่น อเมริกา ญี่ปุ่น มาเลเซีย และสิงคโปร์ ปัจจุบัน MK Group กำลังทำแฟรนไชส์ในต่างประเทศ โดยเริ่มจากการขายน้ำจิ้มสุกี้ ซึ่งได้รับความนิยมมากในตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มผู้บริโภคชาวไทยที่อาศัยอยู่ต่างประเทศ

โดยเฉพาะการสร้างการรับรู้ให้ผู้บริโภคเข้าใจน้ำจิ้มสุกี้ของ MK ไม่เพียงแต่ใช้กับสุกี้เท่านั้น แต่ยังสามารถใช้กับอาหารอื่นๆ ได้ เช่น ไส้กรอก ซึ่งส่วนหนึ่งน้ำจิ้มสุกี้ของ MK สามารถใช้ทดแทนซอสพริกหรือซอสจิ้มไก่ได้ โดยเป้าหมายคือการเป็นซอสคู่ครัวประจำอยู่ในบ้าน และสามารถใช้ได้ในชีวิตประจำวันทุกช่วงเวลา ขณะที่แผนขยายสาขาก็ยังมีแต่จะเป็นรูปแบบเฟรนไชส์

 

เปิด 6 ไฮไลต์รุกธุรกิจใหม่ดึงนักนังลงทุน

สำหรับครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกที่ MK Group เข้าร่วมงาน THAIFEX – Anuga Asia 2024 โดยเป้าหมายสำคัญเพื่อให้นักลงทุนที่สนใจในธุรกิจ MK Group สามารถเข้ามาพูดคุยและเจรจา โดยคุณฤทธิ์เสริมว่า ทาง MK Group ก็ต้องเลือกเฟรนไชส์ที่ตั้งใจทำจริง เพราะเน้นเรื่องความปลอดภัยและสุขภาพเป็นหลัก

โดย 6 ไฮไลต์ธุรกิจใหม่ที่สำคัญ ประกอบไปด้วย

– Franchise: การเปิดรับคู่ค้าขยายแฟรนไชส์แบรนด์ร้านอาหารไทยสู่ต่างประเทศ โดยเฉพาะแฟรนไชส์ “แหลมเจริญ ซีฟู้ดส์” กับเมนูอาหารซีฟู้ดส์สไตล์ไทย และ “MK Restaurants” แบรนด์สุกี้อันดับ 1 ของไทย

– MK Wellness: เป็นแบรนด์ผลิตภัณฑ์ทางเลือกเพื่อสุขภาพ พร้อมทั้งสนับสนุนเกษตรกรไทย เพื่อสนองความต้องการของผู้บริโภคที่มองหาผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพที่มีคุณภาพ

– M-Senko Logistics: บริการด้านโลจิสติกส์แบบครบวงจรสำหรับธุรกิจทุกประเภท ช่วยให้ธุรกิจสามารถจัดการและส่งมอบสินค้าด้วยประสิทธิภาพสูงสุด

– MK Food Service: สำหรับลูกค้าองค์กรที่มองหาบริการอาหารพร้อมทาน เหมาะสำหรับลูกค้าองค์กรขนาดใหญ่อย่าง สายการบิน โรงพยาบาล โรงเรียน เป็นต้น

– OEM / ODM Service: บริการให้คำปรึกษาและบริการการผลิตอาหารครบวงจร ภายใต้บริษัท IFS ตั้งแต่การออกแบบผลิตภัณฑ์ การผลิต การวิเคราะห์ ทดสอบคุณภาพ และการจดแจ้งทะเบียนอาหาร

– น้ำจิ้มสุกี้ MK แบบขวด: ที่ชูจุดเด่นไม่ใส่ผงชูรส สี และสารกันเสีย สามารถเก็บได้นาน 1 ปี ปัจจุบันมีวางจำหน่ายทั้งหน้าร้าน MK, ซูเปอร์มาร์เก็ตและร้านสะดวกซื้อ โดยมีแผนส่งออกไปสู่เกาหลีใต้ อังกฤษ แคนาดาและสหรัฐฯ

คุณฤทธิ์ยังเสริมว่า ด้วยประสบการณ์และความเชี่ยวชาญในธุรกิจอาหารมากว่า 63 ปี พร้อมก้าวไปอีกขั้นในการส่งมอบโซลูชันด้านอาหารครบวงจร ด้วยการขยายธุรกิจและเปิดโอกาสใหม่ๆ ให้กับพันธมิตร คู่ค้า และผู้ประกอบการทุกขนาด

 

Refresh ครั้งใหญ่จับกลุ่ม New Gen

นอกจากการขยายธุรกิจไปตลาดต่างประเทศอย่าง “แหลมเจริญ ซีฟู้ด” โดยเฉพาะในมาเลเซียที่มีสาขาเพิ่มขึ้นถึง 8 สาขา ทำให้การขยายธุรกิจซีฟู้ดของ MK Group มีโอกาสเติบโตสูง โดยเฉพาะในประเทศที่ซีฟู้ดแบบไทยๆ ยังไม่มีคู่แข่งมาก เช่น อเมริกา ญี่ปุ่น และสิงคโปร์ การ Refresh แบรนด์ก็เป็นอีกสิ่งที่ MK Group กำลังไปในทิศทางนั้น โดยเฉพาะการจับกลุ่มเป้าหมายที่เป็นวัยรุ่น

หนึ่งในนั้นคือการปรับทีมบริหารให้เป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่โดยมีคนรุ่นเก่าช่วยดูแล นอกจากนี้ MK Group ยังมีการปรับปรุงเมนูเพื่อดึงดูดกลุ่มลูกค้าวัยรุ่น ตัวอย่างเช่น การเพิ่มเมนูใหม่ๆ ที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคยุคใหม่ เช่น น้ำจิ้มสุกี้ที่สามารถใช้กับอาหารหลากหลายชนิด และการปรับปรุงน้ำซุปให้มีหลากหลายรสชาติ เช่น น้ำซุปต้มยำและน้ำซุปสไตล์ญี่ปุ่น

นอกจากนี้ยังมีการทดลองรูปแบบ Buffet ที่วัยรุ่นชอบ แม้จะขัดกับหลักการด้านสุขภาพ เพราะ Buffet เป็นการทานที่มากเกินไป ที่สำคัญ MK Group ยังได้ลงทุนในการรีโนเวทร้าน MK สาขาต่างๆ เพื่อให้มีความทันสมัยและตรงกับความต้องการของลูกค้าใหม่ๆ รวมถึงการนำแบรนด์ใหม่ๆ เข้ามาในตลาด เช่น แบรนด์อาหารไทยที่มีความเป็นเอกลักษณ์ และขนมที่เป็นที่นิยมในหมู่วัยรุ่น การลงทุนนี้มีเป้าหมายเพื่อขยายธุรกิจและเพิ่มรายได้ในระยะยาว


  • 38
  •  
  •  
  •  
  •  
Gigolo
เมื่อเทคโนโลยีอยู่ใกล้กับชีวิตทุกคน มารู้เท่าทันเทคโนโลยีเพื่อใช้มัน แต่อย่าให้เทคโนโลยีมันใช้เรา