ในช่วง2-3ปีมานี้ผู้อ่านได้ทันสังเกตกันไหมว่า LINE มีฟีเจอร์ใหม่ๆออกมามากมายหนึ่งในนั้นที่เราจะหยิบมาพูดคือ LINE TV ที่เพิ่งจัดงานแถลงถึงความสำเร็จและการจับมือเป็นพันธมิตรกับยักษ์ใหญ่แห่งวงการบันเทิงไปเมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 58 ซึ่งก็เป็นเวลาไล่เลี่ยกันกับ ที่ สปริงนิวส์ ประกาศปลดฟ้าผ่านักข่าวและช่างภาพในช่องเกือบ 40 คน และมีแผนจะปลดเพิ่มอีกรวมกว่า 100 คน ทั้ง 2 เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในเวลาเดียวกันทำให้เราอดคิดไม่ได้ถึงอนาคตของทีวีไทยเมื่อกลุ่มคนดูย้ายมาอยู่บนสื่อออนไลน์กันมากขึ้น
LINE เป็นแบรนด์ที่แข็งแกร่งมากในไทย จากสถิติในไทยมีผู้ใช้งาน Mobile 40 ล้านคนและ 33 ล้านคนในกลุ่มนี้ใช้งานแอพ LINE เพราะฉะนั้นการเปิดตลาดใหม่ในอะไรสักอย่างของ LINE จะเป็นการเปิดที่ต้องจับตามอง ด้วยฐานผู้ใช้จำนวนมากเช่นนี้พูดได้เต็มปากว่านี่เป็นแพลตฟอร์มที่มีพาวเวอร์มากพอจะสร้าง impact ให้ผู้ประกอบการเจ้าใหญ่ๆในประเทศได้ แบรนด์ต่างๆจะวิ่งตามผู้บริโภคมาติดๆนั่นหมายถึงเม็ดเงินจากค่าโฆษณากำลังมุ่งเข้าหาสื่อออนไลน์เราไม่แปลกใจที่นิตยสารหลายเล่มปิดตัวลง และทีวีดิจิทัลก็ยังไม่อาจมองเห็นอนาคตเพราะพฤติกรรมของผู้บริโภคตอนนี้เปลี่ยนไปจากเดิมอย่างสิ้นเชิง
การสร้างแพลตฟอร์มออนไลน์ขึ้นมาดูดผู้บริโภคให้เข้ามาเป็น user loyalty ไม่ใช่เรื่องง่ายแต่ใจความหลักก็ไม่ยากเกินคาดเดา ต้องการจะเจาะผู้บริโภคกลุ่มไหนก็โฟกัสไปที่กลุ่มนั้นการวิจัยผู้บริโภคเป็นไม้เด็ดที่สร้างความสำเร็จให้แบรนด์ดังทั่วโลกมาแล้วนักต่อนัก LINE ไม่ได้มองแค่ว่ากลุ่มเป้าหมายของเขาเป็นใครแต่ลงลึกว่าผู้บริโภคใช้ชีวิตแบบไหนผู้บริโภคต้องการอะไร และ LINE จะสร้างคุณค่าและประสบการณ์อะไรให้ผู้บริโภคได้บ้าง พูดง่ายๆคือ LINE ฟังเสียงผู้บริโภคนั่นเอง
“(ดู)ย้อนหลัง” คำเสิร์ชต่อท้ายสุดฮิต
ทุกวันนี้คนไม่กังวลที่จะพลาดรายการทีวีเรื่องโปรดกันอีกแล้วเพราะสามารถดูย้อนหลังผ่านช่องทางออนไลน์ได้ทุกเมื่อและการเชื่อมต่อไลฟ์สไตล์เข้ากับโลกออนไลน์ไม่ได้จำกัดอยู่แค่เฉพาะวัยรุ่นอีกต่อไปเชื่อว่าผู้ใหญ่ที่บ้านของหลายๆคนสามารถเข้าถึงและใช้สมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ตกันได้อย่างไม่ยากลำบาก หากมันคือเครื่องมือที่ทำให้เขาติดต่อคนในครอบครัวหรือเพื่อนๆได้ง่ายขึ้น ให้ความบันเทิงและความรู้ได้อย่างที่ใจต้องการ นั่นอาจทำให้ผู้บริโภคที่เคยเหนียวแน่นกับสื่อออฟไลน์อย่างทีวีหรือสิ่งพิมพ์พาตัวเองหันเข้าหาโลกออนไลน์ได้ไม่ยาก เพราะในยุคนี้แพลตฟอร์มต่างๆบนออนไลน์ก็พยายามที่จะสร้างรูปแบบให้ผู้บริโภคใช้งานได้ง่ายที่สุด และการรวมสื่อออฟไลน์ทั้งหลายมาอยูบนแท็บเล็ตหรือสมาร์ทโฟนเครื่องเดียวมันคือความสะดวก และมันสามารถตอบโจทย์การใช้ชีวิตของคนได้ นี่คือสิ่งที่ LINE TV เข้าใจ
ความยิ่งใหญ่ของ prime-time บนสื่อทีวีจะตัวเล็กลงเพราะสื่อออนไลน์ตัดข้อจำกัดเรื่องเวลาออกไป ปัจจุบันหากคนดูจะพลาดซีรีส์เรื่องโปรดสักตอนก็ไม่ใช่ปัญหาใหญ่ เพราะเสิร์ชดูย้อนหลังได้อย่างง่ายดาย เผลอๆวิดีโอย้อนหลังอัพโหลดขึ้นออนไลน์หลังจบจากจอโทรทัศน์เพียงไม่กี่ชั่วโมงผู้บริโภคเปลี่ยนไปแล้ว ผู้ประกอบการที่ทำการบ้านและวิ่งตามทันผู้บริโภคก็อยู่ได้ แต่การวิ่งนำผู้บริโภคจะทำให้อยู่ได้นานและอยู่อย่างแข็งแกร่ง เพราะฉะนั้นการวิจัยผู้บริโภคจึงเป็นเรื่องสำคัญมาก ซึ่ง LINE จับจุดนี้ได้ การเกิดขึ้นของ LINE TV จึงมาจากความต้องการของผู้บริโภค
Content Production Multi-platform
การผลิตรายการไม่ใช่เรื่องยากเด็กนักเรียนก็สามารถทำได้ แต่การผลิตรายการให้คนเป็นล้านๆดูแม้จะทุนหนาแต่ถ้าไม่อยากให้เงินที่ลงทุนจมหายไปก็ต้องมาโฟกัสที่ คอนเทนต์ การผลิต และ multi-platform ให้ความสำคัญแบบลงลึกกับกระบวนการคิดและการวิจัยผู้บริโภค กลุ่มเป้าหมายของเราเป็นใคร พวกเขาอยู่กับสื่ออะไร คอนเทนต์แบบไหนจะตอบโจทย์โดนใจกลุ่มเป้าหมาย ที่สำคัญคืออย่าดูถูกคนดู ดูถูกอย่างไร? เช่น CG (computer graphic) ในละครเรื่องหนึ่งที่ทำออกมาได้อย่างไร้ความบรรจงเกินให้อภัย หรือละครที่สร้างซ้ำแล้วซ้ำอีกตลอดชั่วอายุคนของเรา หรือรายการที่ไม่ว่าจะผ่านไปกี่ปีก็ยังคงคอนเทนต์และรูปแบบเดิมๆไว้ อย่าลืมว่าคนดูมีทางเลือกมากมาย
แต่ในช่วงหลังมานี้เราได้เห็นหลายช่องให้ความสำคัญกับคอนเทนต์รายการกันมากขึ้น ยอมรับว่ามีช่องคุณภาพหลายช่องเกิดขึ้นแต่หากเรามีคอนเทนต์ที่ดีแต่ไร้ช่องทางในการนำเสนอ คอนเทนต์ดีๆของเราก็คงจะไปถึงคนดูได้ยาก หลายช่องจึงพยายามสร้าง multi-platform ของตัวเอง ทำออนไลน์ควบคู่ไปกับออฟไลน์ ออนไลน์ในที่นี้ไม่ใช่เพียงการอัพโหลดรายการขึ้นบนเว็บไซต์หรือแอพแต่มีการใช้สื่อโซเชียลมีเดียเข้ามาเป็นช่องทางการสื่อสารกับผู้บริโภค ปัจจุบันมีประชากรไทยอยู่บนโซเชียลมีเดียที่ทรงพลังอย่าง Facebook มากถึง 34 ล้านคนและ 32 ล้านคนจากทั้งหมดเล่น Facebook ผ่าน mobile (data from Facebook Thailand) เช่นกันที่ผู้ใช้ LINE ในไทยก็มีมากถึง 33 ล้านคนจากจำนวนผู้ใช้ mobile ทั้งหมด 40 ล้านคน เหล่านี้คือช่องทางสื่อสารที่เข้าถึงผู้บริโภคได้ไวและง่ายที่สุด
สื่ออยู่ได้ด้วยโฆษณา และโฆษณาวิ่งตามผู้บริโภค
รายได้หลักจากช่องทีวีมาจากโฆษณาถ้าโฆษณาวิ่งตามผู้บริโภค สื่อไหนที่ผู้บริโภคใช้งานน้อยลงก็เป็นธรรมดาที่โฆษณาจะไม่ซื้อ เราไม่ได้บอกว่าคนเลิกดูทีวีแล้ว แต่ผลวิจัยจาก LINE Thailand ชี้ชัดว่าในปัจจุบัน คนดูรายการต่างๆผ่านสื่อออนไลน์มากถึง 89% ซึ่งเป็นสัดส่วนที่สูงมาก เราเชื่อว่าหลายคนที่มีสมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ตก็จะเริ่มเปิดทีวีน้อยลง อีกทั้งฟีดแบคของโฆษณาบนสื่อออนไลน์นั้นสามารถวัดผลออกมาเป็นตัวเลขได้อย่างชัดเจน และล่าสุดที่ Neilsen จับมือกับ Google ให้บริการ Digital Ad Rating ก็เสมือนเป็นการขีดไฮท์ไลท์ย้ำให้ชัดๆว่าโฆษณาตามผู้บริโภคมาอยู่บนสื่อออนไลน์อย่างเต็มตัวแล้ว
ช่องทางรายได้ และ กลุ่มเป้าหมายของ LINE TV
สำหรับ Line TV เมื่อได้เข้าไปครั้งแรกเรานึกถึง Youtube ก่อนเลย แต่พอได้ลองใช้งานเว็บไซต์ไปเรื่อยๆจึงเข้าใจว่า Line TV คือแพลตฟอร์มหนึ่งที่ให้บริการความบันเทิงในรูปแบบรายการพูดง่ายๆว่าเหมือนช่องๆหนึ่งในทีวีแต่อยู่ในรูปแบบออนไลน์สามารถเข้าได้จากทั้งเว็บไซต์และแอพลิเคชั่นและมีรายการซีรีย์จากค่ายต่างๆมาลงให้ได้ดูย้อนหลังถ้าเปรียบเทียบกับ Youtube ก็เหมือนการที่เจ้าของคอนเทนต์ไปเป็น official account อยู่ใน Youtube และเผยแพร่คอนเทนต์ในชาแนลของตัวเองรายได้ที่เจ้าของคอนเทนต์จะได้รับมาจากโฆษณาก่อนวิดีโอเล่น (pre-roll ad) ซึ่งถ้าเรากดข้ามโฆษณาหรือ skip ad เจ้าของคอนเทนต์จะสูญเสียรายได้ในส่วนนั้นไปนั่นคือรูปแบบของ Youtube ในส่วนของ Line TV จะมีรายได้เป็นหลักจากช่องรายการต่างๆที่เข้ามาเป็นพาร์ทเนอร์เพื่อใช้แพลตฟอร์มของ Line ในการเผยแพร่รายการ การเข้ามาของรายได้ก็จะคล้ายกันคือผ่านทางโฆษณาก่อนวิดีโอเล่นกับสติกเกอร์ Line สำหรับคอมเม้นในคลิป แต่รูปแบบการนำเสนอของ Line จะต่างจาก Youtube ตรงที่ Line มีการผลิตคอนเทนต์เองด้วยโดยจับมือกับพันธมิตรค่ายใหญ่สร้างซีรีย์และรายการของตัวเองที่ออนแอร์เฉพาะใน Line TV อย่างซีรีส์ “STAY ซากะ…ฉันจะคิดถึงเธอ” (เก้า สุภัสรา กับ ซันนี่ สุวรรณเมธานนท์) ที่ได้พันธมิตรผู้สร้างหนังไทยอย่าง GTH มาสร้างสรรค์ให้ ซึ่งก็ประสบความสำเร็จเกินคาดจน LINE จับมือกับ GTH อีกครั้งเพื่อร่วมผลิตซีรีส์แนวโรแมนติกคอมเมดี้ “แก๊สโซฮัก…รักเต็มถัง”
GMM Tai Hub, GMM Channel, GMM TV, เดอะวันเอ็นเตอร์ไพรส์, อสมท และวู้ดดี้เวิล์ด คือกลุ่ม content providers ทั้งหมดใน LINE TV ชัดเจนว่ากลุ่มเป้าหมายของ LINE TV คือกลุ่มวัยรุ่น และกลุ่มคนทำงาน ซึ่งนับตั้งแต่ให้บริการมา 1 ปียอดวิวของ LINE TV เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยไตรมาสที่ 3 ของปีนี้มีอัตราการเพิ่มของยอดวิวสูงถึง 118% เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมาโดยผู้ชม LINE TV กว่า 60% มีอายุระหว่าง 18-22 ปีและผู้ชมส่วนใหญ่ดู LINE TV เฉลี่ย 1.5 ชั่วโมงต่อวัน
*อ้างอิงข้อมูลเชิงสถิติจาก LINE Thailand และ Facebook Thailand
Copyright © MarketingOops.com