แม้ว่าเราจะรับรู้และคุ้นเคยกับช่องทางจัดหางานผ่านออนไลน์ซึ่งมีอยู่เป็นจำนวนมาก แต่วันนี้ คนไทยกำลังจะมีแพลตฟอร์มใหม่ในชื่อ LINE JOBS เข้ามาให้บริการจัดหางานออนไลน์ ภายใต้ร่ม LINE ประเทศไทย
ตลาดแรงงานมูลค่ามหาศาล! แต่ช่องทางหางานออนไลน์ยังไม่เอื้อ
คุณอริยะ พนมยงค์ กรรมการผู้จัดการ LINE ประเทศไทย เล่าถึงผลสำรวจมูลค่าตลาดแรงงานทั่วโลกว่า จากผลสำรวจของ Forbes 2017 ระบุว่าตลาดแรงงานทั่วโลกมีมูลค่าถึง 200,000 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 6.3 ล้านล้านบาท) แม้จะมีช่องทางการจัดหางานออนไลน์แล้ว แต่พบว่ายังมีอุปสรรคทั้งผู้จ้างงานและผู้สมัครงาน อาทิ ความล่าช้า ราคาสูง ต้องลงทะเบียนและกรอกข้อมูลจำนวนมาก ทำให้ยอดผู้หางานผ่านเว็บไซต์มีจำนวนไม่เกิน 2 ล้านคน สะท้อนถึงจำนวนผู้สมัครงานที่ยังอยู่บนโลกออฟไลน์อีกมาก
แรงงานกลุ่มธุรกิจบริการ Turnover สูงลิ่ว 300%
“ประเทศไทยมีแรงงานในตลาดรวม 38.2 ล้านคน ซึ่งอยู่ในสถานะลูกจ้าง 14.4 ล้านคน แบ่งเป็น White Collar (พนักงานออฟฟิศ) 2.1 ล้านคน Service (งานบริการ) 5.5 ล้านคน และ Blue Collar (ผู้ใช้แรงงาน พนักงานโรงงาน) 6.8 ล้านคน ซึ่งกลุ่มแรงงานบริการนั้นมีอัตราการลาออกสูงถึง 30-300% ต่อปี กลายเป็นหนึ่งใน Pain Point ของผู้จ้างงานที่ต้องจัดหาลูกจ้างอยู่ตลอด”
ปั้น LINE JOBS เน้นอุด Pain Point ธุรกิจบริการ
คุณพีรพล สง่าเมือง หัวหน้าฝ่ายบริการใหม่ LINE ประเทศไทย เล่าว่า บริการ LINE JOBS เปิดให้บริการครั้งแรกเมื่อปีที่ผ่านมาในประเทศอินโดนีเซีย ไทยเป็นประเทศที่สอง
“แม้ LINEJOBS จะเปิดตัวในอินโดนีเซียมาแล้ว แต่อย่างที่รู้ว่าบริการของ LINE นั้นถูกออกแบบให้เหมาะสมกับการให้บริการแต่ละประเทศ ไม่ใช่การสร้างเซอร์วิสขึ้นมาแล้วนำไปให้บริการในทุกประเทศ และจากจำนวนผู้ใช้งาน LINE ประเทศไทย 42 ล้านราย ทำให้เรามองว่า LINE JOBS จะเข้ามาตอบโจทย์ตลาดแรงงานกลุ่มบริการซึ่งมีความน่าสนใจและมี Pain Point ชัดเจนว่าบริการของเราสามารถตอบโจทย์ได้”
LINE JOBS ทดลองให้บริการมาแล้ว 4 เดือน มีตำแหน่งงานมากกว่า 30,000 ตำแหน่ง จากผู้จ้างงานราว 50 บริษัท และมีผู้ติดตามในระบบกว่า 550,000 คน มีผู้ส่งใบสมัครงานเข้ามาแล้วกว่า 100,000 ใบสมัคร และมีผู้ถูกเรียกสัมภาษณ์งานกว่า 10,000 คน อย่างไรก็ตาม เราคาดว่าสัดส่วนผู้จ้างงานและผู้สมัครงานใน LINE JOBS จะเติบโตไม่ต่ำกว่า 10 เท่าตัวภายในสิ้นปีนี้ ภายใต้เป้าหมายระยะแรกที่ LINE JOBS นำเสนอบริการเพื่อแก้ Pain Point ดังกล่าวให้ได้
ใช้ Machine Learning ช่วยจับคู่ผู้จ้าง-ผู้สมัคร
สำหรับระบบของ LINE JOBS เป็นการพัฒนาโดยทีม Scout Out พาร์ทเนอร์ของ LINE ทั้งยังนำเทคโนโลยี Machine Learning เข้ามาใช้งาน ทำให้ผู้จ้างงานและผู้สมัครงานเชื่อมโยงถึงกันอย่างมีประสิทธิภาพ ผ่าน 3 เงื่อนไข คือ ตำแหน่งที่ตั้ง ทักษะหรือประสบการณ์ และสายงานที่สนใจ ทั้งยังแก้ไขปัญหาที่ผู้สมัครงานกังวลว่าข้อมูลจะถูกส่งถึงผู้จ้างงานหรือไม่ ด้วยระบบแสดงสถานะการเปิดอ่านข้อมูล พร้อมระบบแจ้งติดต่อจากผู้จ้างงาน ขณะเดียวกันก็มีการจัดลำดับด้วยฟิลเตอร์ให้ผู้จ้างงานได้พบกับผู้สมัครที่มีคุณสมบัติตรงตามความต้องการอีกด้วย ทำให้ผู้จ้างงานไม่ต้องเสียเวลากับการหาพนักงานผ่านรูปแบบเดิมที่กลุ่มธุรกิจบริการนิยมใช้ เช่น การแจกแผ่นพับ การติดโปสเตอร์ประกาศรับสมัครงานหน้าร้าน เป็นต้น
Data Privacy คือหัวใจของ LINE
“ส่วนประเด็นการรั่วไหลของข้อมูลผู้ใช้บริการต่างๆ บนโลกออนไลน์นั้น LINE ยืนยันว่าเรื่อง Data Privacy เป็นสิ่งสำคัญที่เรายึดถือเป็นแนวทางเดียวทั่วโลก ซึ่งจะเห็นได้จากการที่ประวัติสนทนาบนแอปจะหายไปเมื่อคุณย้าย LINE ไปยังเครื่องใหม่ ขณะเดียวกันความปลอดภัยบน LINE JOBS ก็จะแจ้งเตือนอยู่เสมอว่าคุณกำลังจะกรอกข้อมูลอะไรเพื่อเปิดเผยให้ผู้จ้างงานได้เห็น ขอยืนยันว่าเรื่องความปลอดภัยข้อมูลเป็นสิ่งที่ LINE ดูแลอย่างเข้มงวด”
สำหรับผู้จ้างงานที่สนใจประกาศรับสมัครงานผ่าน LINE JOBS สามารถเข้าชมเว็บไซต์ LINE JOBS ส่วนผู้สมัครงานสามารถเพิ่มออฟฟิเชี่ยลแอคเคาท์ LINE JOBS เป็นเพื่อนใน LINE ด้วยการค้นหาไอดี @linejobsth หรือคลิกที่นี่