จากสถานการณ์ COVID-19 ที่เกิดขึ้นทำให้หลายธุรกิจได้รับผลกระทบทันที จนส่งผลให้เกิดมาตรการ Social Distancing และทำให้ภาครัฐมีการประกาศมาตรการที่ทำให้หลายบริษัทต้องหยุดกิจการลงเป็นการชั่วคราว หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่หลายคนจะได้รับผลกระทบโดยเฉพาะเรื่องของรายได้ ทั้งที่ยังคงมีภาระหนี้สินที่ต้องแบกรับไว้เป็นจำนวนหนึ่ง
กรุงศรีฯ คอนซูมเมอร์ ผู้ให้บริการด้านบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล ออกมาขานรับนโยบายธนาคารแห่งประเทศไทย โดยได้ออก 3 มาตรการพิเศษเร่งด่วน ทั้งลดยอดชำระขั้นต่ำต่อเดือน, พักชำระเงินต้นและดอกเบี้ย 2 เดือนและปรับลดอัตราดอกเบี้ยเป็นกรณีพิเศษ เพื่อช่วยลดภาระและช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของลูกค้าบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19
นายฐากร ปิยะพันธ์ ประธานกรรมการ กรุงศรี คอนซูมเมอร์ ผู้ให้บริการด้านบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล ทั้งบัตรเครดิตกรุงศรี, บัตรกรุงศรีเฟิร์สช้อยส์, บัตรเครดิตเซ็นทรัล เดอะวัน และบัตรเครดิตเทสโก้ โลตัส วีซ่า ชี้ว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ในปัจจุบัน กรุงศรี คอนซูมเมอร์รู้สึกห่วงใยและต้องการจะช่วยลดภาระของลูกค้าที่ได้รับผลกระทบ
จึงได้ริเริ่มโครงการ “เราจะก้าวผ่านไปด้วยกัน กับกรุงศรี คอนซูมเมอร์” โดยออก 3 มาตรการพิเศษเร่งด่วน เพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้กับลูกค้า ทั้งการลดยอดชำระขั้นต่ำต่อเดือนและการพักชำระเงินต้นและดอกเบี้ยนาน 2 เดือนสำหรับลูกค้าทุกรายโดยมิต้องแจ้งความจำนง รวมถึงการให้ความช่วยเหลือแก่ลูกค้าเฉพาะกลุ่ม โดยเน้นกลุ่มธุรกิจที่ได้รับผลกระทบทางตรง เช่น ธุรกิจท่องเที่ยว โรงแรม การบินและบริการอื่นที่เกี่ยวข้อง
รวมถึงลูกค้าที่ได้รับผลกระทบทางอ้อม ด้วยการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเป็นกรณีพิเศษเหลือ 12% สำหรับบัตรเครดิต และ 22% สำหรับสินเชื่อส่วนบุคคล โดยลูกค้าต้องลงทะเบียนเพื่อขอรับพิจารณาความช่วยเหลือดังกล่าวผ่านแอปพลิเคชัน UCHOOSE ซึ่งจะได้รับการพิจารณาเป็นรายกรณี
สำหรับรายละเอียดมาตรการช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 ของกรุงศรี คอนซูมเมอร์ มีรายละเอียดดังนี้
มาตรการที่ 1 : ลดยอดชำระขั้นต่ำต่อเดือน
– ผลิตภัณฑ์บัตรเครดิต
– จากเดิมคิดอัตรายอดชำระขั้นต่ำ 10% เหลือ 5% ตามรอบบัญชีตั้งแต่ 1 เมษายน 2563 ถึง 31 ธันวาคม 2564 สำหรับลูกค้าทุกราย โดยมิต้องติดต่อแจ้งความจำนง
– ผลิตภัณฑ์สินเชื่อส่วนบุคคล
– จากเดิมคิดอัตรายอดชำระขั้นต่ำ 5% เหลือ 3% ตามรอบบัญชีตั้งแต่ 18 มีนาคม 2563 ถึง 31 ธันวาคม 2564 สำหรับลูกค้าทุกราย โดยมิต้องติดต่อแจ้งความจำนง
มาตรการที่ 2 : พักชำระเงินต้นและดอกเบี้ย 2 เดือน
โดยให้กับลูกค้าบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลทุกรายโดยมิต้องแจ้งความจำนงเป็นระยะเวลา 2 รอบบัญชี สำหรับลูกค้าทุกรายที่มีวันครบกำหนดชำระตั้งแต่ 13 เมษายน 2563 ถึง 14 มิถุนายน 2563
โดยดอกเบี้ยยังคงคำนวณตามอัตราปกติแบบลดต้นลดดอก ทั้งนี้สถานะบัญชีของลูกค้าในช่วงระยะเวลาดังกล่าวจะไม่เปลี่ยนแปลง ***โดยระหว่างพักชำระหนี้ ดอกเบี้ยยังคงเดินหน้าต่อ***
มาตรการที่ 3 : ปรับลดดอกเบี้ยเป็นกรณีพิเศษ เริ่มต้นเพียง 12%
สำหรับลูกค้าในกลุ่มธุรกิจที่ได้รับผลกระทบ โดยลูกค้าต้องลงทะเบียนแจ้งความจำนงและจะได้รับการพิจารณาเป็นรายกรณี
– ผลิตภัณฑ์บัตรเครดิต
– รับอัตราดอกเบี้ยพิเศษเหลือ 12% และลดภาระการชำระคืนด้วยการขยายการเวลาผ่อนชำระนานสูงสุด 48 เดือน
– ผลิตภัณฑ์สินเชื่อส่วนบุคคล
– รับอัตราดอกเบี้ยพิเศษจาก 28% เหลือ 22% และลดการผ่อนชำระขั้นต่ำเหลือเพียง 3% ถึง 31 ธันวาคม 2564
ซึ่งมาตรการดังกล่าว สำหรับลูกค้าในกลุ่มธุรกิจที่ได้รับผลกระทบโดยตรง เช่น ธุรกิจท่องเที่ยวหรือธุรกิจที่ไม่สามารถเปิดให้บริการได้ตามประกาศของทางราชการ โดยลูกค้าต้องมีบัญชีสินเชื่อกับบริษัทก่อนเดือนมีนาคม 2563 ทั้งนี้ลูกค้าจะถูกปรับลดวงเงินสินเชื่อฯ ให้คงเหลือเท่ากับยอดสินเชื่อคงค้างที่เข้าร่วมโครงการ สำหรับลูกค้าที่ไม่ต้องการมาตรการช่วยเหลือดังกล่าว สามารถดำเนินการชำระหนี้ตามรอบบิลปกติได้
ลูกค้าสามารถลงทะเบียนรับพิจารณาความช่วยเหลือดังกล่าวผ่านแอปพลิเคชัน UCHOOSE ตั้งแต่วันที่ 15 เมษายน 2563 – 30 มิถุนายน 2563 นี้ โดยบริษัทจะทำการปรับลดอัตราดอกเบี้ยพิเศษ ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2563 เป็นต้นไป
นอกจากนี้กรุงศรี คอนซูเมอร์มีการเตรียมกระแสเงินสดไว้ราว 4-5 หมื่นล้านบาทเฉพาะมาตรการที่ 3 จากช่วงปกติมีการชำระหนี้คืนอยู่ที่ประมาณ 3-4 หมื่นล้านบาทต่อเดือน โดยกระแสเงินสดเตรียมไว้สำหรับระยะเวลา 2 เดือนบนสมมติฐานที่ลูกค้าได้รับผลกระทบทุกคนและไม่มีใครชำระหนี้เข้ามา คาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมโครงการตามมาตรการที่ 3 ราว 8 แสน-1.2 ล้านคน
จากการคาดการณ์การใช้บัตรเครดิตและสินเชื่อเงินสดช่วงไตรมาส 2 ว่า การใช้บัตรเครดิตเมื่อเทียบปีที่ผ่านมาจะลดลงถึง 50% ขณะที่สินเชื่อเงินสดเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมาจะลดลงถึง 30% โดยมีการคาดการณ์ว่าปี 2020 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมาการใช้บัตรเครดิตลดลง 35%-40% และคาดการณ์กรณีที่สถานการณ์เลวร้ายที่สุดการใช้บัตรเครดิตจะลดลงถึง 50%
ขณะที่การใช้จ่ายบัตรเครดิตในหมวดสายการบินลดลง 90% ในหมวดโรงแรมลดลง 80% ในหมวดโรงหนังลดลง 100% ในหมวดร้านอาหารลดลง 70% เนื่องจากยังสามารถให้บริการผ่าน Delivery ได้ โดยในหมวดที่มีการใช้บัตรเครดิตเติบโตจะเป็นกลุ่มออนไลน์โต 40% กลุ่มโทรคมนาคมโต 36% กลุ่มร้านสะดวกซื้อโต 30% กลุ่มร้านขายยาโต 30% เช่น Boost Watson กลุ่มซูเปอร์มาร์เก็ตโต 20% และกลุ่มโรงพยาบาลโต 10%
โดยคุณฐากรยังชี้ว่า หลังจากนี้ธุรกิจบัตรเครดิตและสินเชื่อเงินสดจะไม่เหมือนเดิม เนื่องจากสถานการณ์ COVID-19 ทำให้มีคนตกงานเป็นจำนวนมาก ทำให้ธนาคารไม่สามารถอนุมัติสินเชื่อกับกลุ่มคนเหล่านั้นได้ อีกทั้งการออกสินเชื่อให้กับกลุ่มนักศึกษาจบใหม่จะชะลอตัวเนื่องจากการสมัครงานที่ยากขึ้น ขณะที่ผู้บริโภคเองฏ้จะระงับการสมัครบัตรใหม่
สำหรับโครงสร้างหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) มีการปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยในส่วนของบัตรเครดิตมีหนี้ NPL อยู่ที่ 1.6%-1.7% เทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมาซึ่งมีอัตราอยู่ที่ 1.05% และในส่วนของสินเชื่อเงินสดมีหนี้ NPL อยู่ที่ 3.4% เทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมาซึ่งมีอัตราอยู่ที่ 2.5% นอกจากนี้คุณฐากรยังทิ้งท้ายไว้ว่า
“กำเงินสด ลดค่าใช้จ่าย ใช้เฉพาะที่จำเป็น”