กรุงศรี โชว์แผนธุรกิจ 3 ปี เดินหน้าเป็นผู้นำด้านความยั่งยืน ก้าวสู่ธนาคารระดับภูมิภาค ลงทุน 45,000 ล้านยกระดับ Core Banking

  • 211
  •  
  •  
  •  
  •  

“ความยั่งยืน” ยังคงเป็นกลยุทธ์ที่ทำสำคัญที่สุดสำหรับธุรกิจการเงินการธนาคารในยุคปัจจุบัน เห็นได้จากการประกาศแผนธุรกิจของ กรุงศรี (ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) และบริษัทในเครือ) ในเครือของมิตซูบิชิ ยูเอฟเจ ไฟแนนเชียล กรุ๊ป (MUFG) หนึ่งในกลุ่มสถาบันการเงินที่ใหญ่ที่สุดระดับโลก ประกาศแผนธุรกิจระยะกลางฉบับใหม่ (Medium-Term Business Plan: MTBP) ระยะเวลา 3 ปี ครอบคลุมปี 2024-2026 โดยตั้งเป้าไปที่เรื่อง “ความยั่งยืน” อย่างจริงจังมากยิ่งขึ้นไม่ว่าจะเป็นการประกาศเป้าหมาย Net Zero ในการดำเนินธุรกิจภายใน ภายในปี 2030 รวมไปถึงตั้งเป้า Net Zero ด้วยบริการทางการเงินในปี 2050 เป็นต้น

คุณเคนอิจิ ยามาโตะ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)

คุณเคนอิจิ ยามาโตะ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) เริ่มต้นด้วยการสรุปความสำเร็จของความร่วมมือระหว่างกรุงศรี และ MUFG ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาที่เดินทางตามแผน MTBP มาแล้ว 3 ฉบับใช้หลัก Customer-Centric  พัฒนาขีดความสามารถด้านดิจิทัล มีนวัตกรรมใหม่ๆ ขยายเครือข่ายธุรกิจในอาเซียน ขยายศักยภาพด้าน ESG บุกเบิกผลิตภัฑณ์ทางการเงินที่เชื่อมโยงกับความยั่งยืนของประเทศไทย รวมไปถึงการก่อตั้งบริษัทร่วมทุน “กรุงศรี ฟินโนเวตที่ให้การสนับสนุนการดำเนินธุรกิจของกลุ่มสตาร์ทอัพและบริษัทด้านเทคโนโลยี

ผลสำเร็จในช่วง 10 ปีแรกสะท้อนผ่านตัวเลขผลการดำเนินงานโดย กรุงศรีสามารถทำรายได้สุทธิกว่า 30,000 ล้านบาท จากเดิมอยู่ที่ 11,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นสามเท่า อัตราส่วนผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (ROE) ครองตำแหน่งผู้นำในอุตสาหกรรม ทั้งยังคงความเป็นผู้นำด้านคุณภาพสินทรัพย์มาโดยตลอดอีกด้วยคุณยามาโตะ ระบุ

สำหรับแผนธุรกิจระยะกลางฉบับที่ 4 ที่ตั้งเป้าสู่การเป็น “ธนาคารชั้นนำแห่งภูมิภาคที่ให้ความสำคัญเรื่องความยั่งยืน” นั้นกรุงศรีโฟกัสด้วยกัน 3 เรื่องคือ

1.ขับเคลื่อนสู่การเป็นธนาคารเพื่อความยั่งยืน

ความยั่งยืนเป็นสิ่งที่ผู้เล่นในอุตสาหกรรมธนาคารให้ความสำคัญมากที่สุดในยุคนี้ และสำหรับกรุงศรีมีแผนที่จะเดินหน้าสู่ความยั่งยืน 2 เรื่องด้วยกันคือ

    • ตั้งเป้า Net Zero สำหรับการดำเนินธุรกิจภายในภายในปี 2030เช่นการสร้างวัฒนธรรมองค์กร การใช้พลังงานสะอาด เดินหน้าสู่การเป็นองค์กรไร้ขยะ สนับสนุนกระบวนการทำงานด้วยระบบดิจิทัลเพื่อลดขยะลง ซึ่งปัจจุบันธนาคาร ดำเนินการลดขยะจากการดำเนินธุรกิจในองค์กรไปแล้วแล้วมากกว่า 1.48 ล้านกิโลกรัม เทียบเท่ากับการปล่อยก๊าซ CO2 4,394 ล้านตัน หรือเท่ากับการปลูกต้นไม้ 488,264 ต้น

    • ตั้งเป้า Net Zero ด้วยบริการทางการเงินใน 2050เป็นทิศทางการเดินหน้าองค์กรและผลักดันสังคมสู่ความยั่งยืนด้วย Green Finance เครื่องมือสำคัญที่ทรงพลังอย่างยิ่ง โดยกรุงศรี ตั้งเป้าที่จะเพิ่มการสนับสนุนทางการเงินให้โครงการเพื่อสังคมและความยั่งยืน 100,000 ล้านบาท ในปี 2033 รวมไปถึงการออกตราสารหนี้ Green Bond, Blue Bond คงตำแหน่งผู้นำด้าน Sustainability Finance ในประเทศไทยช่วยลูกค้าเก็บข้อมูลและแสดงผลการปล่อยก๊าซคาร์บอน เครื่องมือสำคัญในการเดินสู่เป้าหมาย Net Zero รวมไปถึงมีบทบาทสำคัญในการจัดการ Thailand Taxonomy หรือการสร้างมาตรฐานกติกาด้านการเงินและภาษีจำแนกประเภทกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่สอดคล้องกับความเข้มของค่าคาร์บอนเป็นต้น

2. เชื่อมโยงอาเซียนผ่านศักยภาพของกรุงศรี และ MUFG 

เครือข่ายของกรุงศรี และ MUFG ในปัจจุบันครอบคลุม 9 ใน 10 ประเทศในอาเซียน โดยกรุงศรีมีบริษัทในเครือ กระจายอยู่ใน 5 ประเทศอย่าง อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม กัมพูชา และ สปป.ลาว ที่ให้บริการลูกค้าแล้วกว่า 17 ล้านราย โดยล่าสุดปี 2023 ที่ผ่านมา MUFG ก็เพิ่งเข้าซื้อบริษัท Home Credit บริษัทสินเชื่อเพื่อผู้บริโภคยักษ์ใหญ่ในฟิลิปปินส์และอินโดนีเซีย สร้างเครื่อข่ายลูกค้าอีกหลายสิบล้านรายเลยทีเดียว

คุณยามาโตะ ระบุว่าหลังจากนี้ กรุงศรีมุ่งมั่นเดินหน้าใช้ประโยชน์จากเครือข่าย MUFG เพื่อขับเคลื่อนการเติบโตและเชื่อมโยงความต้องการของลูกค้าทั้งในประเทศไทยและภูมิภาค ด้วยแพลทฟอร์มจับคู่ธุรกิจแบบครบวงจรอย่าง “Krungsri Business Link” และบริการ “Krungsri ASEAN Link” ที่จะช่วยเชื่อมโยงลูกค้าธุรกิจชาวไทยกับพันธมิตรทางธุรกิจที่เชื่อถือได้เข้าด้วยกันผ่านเครือข่ายของธนาคารที่มีอยู่ในอาเซียนและญี่ปุ่น

3.สร้างการเติบโตให้ธุรกิจหลักของธนาคาร

คุณยามาโตะ พูดถึงการพัฒนาธุรกิจหลัก (Core Banking) ว่า กรุงศรีมุ่งมั่นที่จะสร้างความแข็งแกร่งและรักษาตำแหน่งผู้นำในธุรกิจหลักของธนาคาร เพื่อให้เติบโตได้อย่างยั่งยืน โดยจะเน้นไปที่เรื่อง Digital Data  Ecosystem และการสร้างพันธมิตรเป็นแกนสำคัญในการดำเนินงาน สำหรับกลุ่มธุรกิจลูกค้ารายย่อยและลูกค้าบุคคล กรุงศรียังคงเดินหน้ากลยุทธ์ One Retail โดยการใช้ดาต้าเพื่อตอบโจทย์ลูกค้าเป็นหลัก สำหรับกลุ่มลูกค้าธุรกิจ กรุงศรีจะขยายขีดความสามารถด้านธุรกรรมการเงินทั้งในและต่างประเทศในรูปแบบ Banking as a Service โดยพัฒนาร่วมกับพันธมิตรจากทั้งในไทยและต่างประเทศ และสำหรับในด้าน IT และดิจิทัล กรุงศรีจะเดินหน้าลงทุนในดิจิทัลแพลตฟอร์มและเทคโนโลยีที่ยึดความต้องการลูกค้าเป็นหลัก รวมถึงการใช้ AI และ Machine Learning เพื่อยกระดับผลิตภัณฑ์และการให้บริการกับลูกค้าในทุกกลุ่ม ผ่านทุก Touchpoint ทั้งสาขา ออนไลน์ โมบายแอป และ Call Center

นอกจากนี้ผู้บริหารกรุงศรียังเกิดเผยด้วยว่าในอีก 3 ปีข้างหน้านี้จะมีการลงทุนพัฒนาแพลทฟอร์มต่างๆเพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดีที่สุดให้กับลูกค้าด้วยเงินลงทุนปีละ 15,000 ล้านบาท รวม 3 ปี 45,000 ล้านบาทเพื่อยกระดับ core banking ภายใต้โปรเจ็กต์ Jupitor ที่เชื่อมโยงเข้ากับหลายโครงการของกรุงศรีที่ทำมาอย่างต่อเนื่องด้วย

สำหรับเป้าหมายในปี 2024 นี้ กรุงศรีคาดว่าเงินให้สินเชื่อจะเติบโตที่ 3-5% และตั้งเป้าหมายของส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิ  (NIM) อยู่ที่ 3.8-4.1% ธนาคารคาดว่าอัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL Ratio) อยู่ที่ราว 2.50-2.75% ขณะที่อัตราส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้ (cost-to-income ratio) จะอยู่ในระดับ mid-40%


  • 211
  •  
  •  
  •  
  •