ในยุคที่ “แบงก์” ต้องปรับตัวเข้าหาผู้บริโภค ทำให้เราได้เห็นความเปลี่ยนแปลงมากมายจากภาคการเงินการธนาคาร ที่พยายามพัฒนาและปรับเพื่อตอบสนองพฤติกรรม ความต้องการของผู้บริโภคยุคดิจิทัล แม้จะมีภาพสาขาถูกปิด เพราะธนาคารหันมาให้ความสำคัญกับการทำธุรกรรมออนไลน์ ซึ่งกล่าวได้เต็มปากเต็มคำว่า “เทรนด์นี้เกิดขึ้นกับทุกแบงก์” แต่ไม่ว่าจุดเริ่มต้นของการ “เปลี่ยนแปลง” จะเกิดขึ้นจาก…การมาของเทคโนโลยี การพลิกโฉมเพื่อหนีภาวะ Disrupt ทางธุรกิจ หรือการมองหาโอกาสใหม่เพื่อเดินเกมรุกก่อนคู่แข่ง แต่สิ่งสำคัญในการ “สร้างความสำเร็จอย่างยั่งยืน” ให้ธุรกิจ ผู้ให้บริการจำเป็นต้อง “เสิร์ฟ” มากกว่าสิ่งที่ลูกค้าต้องการ พร้อมฝ่าฟันความท้าทายใหญ่ นั่นคือ การเข้าไปอยู่ในใจผู้คน! จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจที่เราจะเห็นธนาคารลุกขึ้น “เขย่า” เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลง เพราะทุกคนต่างรู้ดีว่าสังเวียนธุรกิจในยุคดิจิทัล ใครทำได้ “เร็วกว่า” และ “ดีกว่า” นั่นคือหนทางสู่ความสำเร็จ แนวคิดเช่นนี้…เหมือนว่า KBank จะเข้าใจเกมเป็นอย่างดี เราจึงได้เห็นภาพ “ธนาคารกสิกรไทย” ลุกขึ้นมาเปิดสงครามแบงก์กิ้งผ่านศึกกระดานใหม่กับกลยุทธ์ที่เรียกว่า New Branch Concept รูปแบบใหม่ของสาขา ด้วยวัตถุประสงค์ 3 ประการ เพื่อ…เพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการ สร้างความสัมพันธ์แก่ลูกค้า และเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน ควบคู่กับตอบสนองความต้องการของลูกค้า ทั้งบริการธุรกรรม การเริ่มต้นธุรกิจ การเข้าถึงหัวใจของผู้คนในชุมชน เรียกว่าครบทุกความต้องการของทุกไลฟ์สไตล์ ภายใต้แนวคิด “I’m Possible”
จุดเริ่มต้นไม่ต้องมองไกล แค่เข้าใจ “ชุมชน-สังคม”
จริง ๆ แล้ว การขยับตัวของบรรดาธนาคารในยุคนี้ คำว่า “ดิจิทัล” อาจทำให้หลายแบงก์มุ่งให้ความสำคัญไปที่เครื่องมืออำนวยความสะดวกแก่ลูกค้า โดยไม่ได้คิดหรือพิจารณาให้ดีว่า การเริ่มต้นโดยให้ความสำคัญกับสิ่งรอบตัวนั้น คือ ปัจจัยนำไปสู่ความสำเร็จอย่างแท้จริง เรื่องนี้ไม่ต้องยกตัวอย่างไกล เพราะสถานการณ์ที่ KBank เปิดกระดานและเลือกเดินเกมในตอนนี้ เป็นตัวแปรสะท้อนความสำเร็จได้ค่อนข้างชัดเจน ด้วยแนวคิดในการพัฒนาสาขารูปแบบใหม่เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้า การเปลี่ยนแปลงที่เราเห็น คือ ผลลัพธ์ของ “ความพยายาม” ที่ KBank ต้องการสื่อสารกับผู้บริโภคว่า “จากนี้ กสิกรไทย จะไม่ใช่ธนาคารรูปแบบเดิม” สาขาของ KBank จะไม่ได้เป็นเพียงสถานที่สำหรับทำธุรกรรมแบบเดิม ๆ แต่จะกลายเป็น “พื้นที่เพื่อทุกคน” ขอยกตัวอย่างถึง K Park (เค ปาร์ค) ซึ่งหากเรียกขานด้วยแนวคิดเดิม สถานที่แห่งนี้คือสาขาหนึ่งของ KBank แต่ภายใต้แนวคิดใหม่ K Park คือ พื้นที่นอกกรอบที่สามารถตอบสนองไลฟ์สไตล์ของผู้คนในชุมชน หรือจะเรียกว่า “ธนาคารของชุมชน” ก็คงไม่ผิด เพราะนอกจากการตอบโจทย์เรื่องทางการเงิน K Park ยังสามารถเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของผู้คนในชุมชนได้เป็นอย่างดี มีการหมุนเวียนจัดกิจกรรมต่าง ๆ ทั้งความบันเทิง กิจกรรมตามเทศกาล หรือแม้แต่การอบรมมอบความรู้แง่มุมต่าง ๆ แก่ผู้คนในชุมชน ที่ต้องเน้นคำว่าชุมชนก็เพราะหลาย ๆ กิจกรรม K Park ได้เปิดโอกาสให้ประชาชนทั่วไปที่ไม่ใช่ลูกค้า KBank สามารถเข้าร่วมอย่างเท่าเทียม
ถอด 4 แนวคิด มิติใหม่ของสาขาธนาคาร
ก่อนจะเล่ารายละเอียดมากกว่านี้ ต้องทำความเข้าใจกับแนวคิด New Branch Concept ของ KBank เสียก่อน ว่ามีทั้งสิ้น 4 รูปแบบ ได้แก่ K Park (เค ปาร์ค), KOS (เคโอเอส), New KBank Branch หรือ Hybrid Branch (ไฮบริด บรันช์) และ New K LOBBY (นิว เค ล็อบบี้) โดยแต่ละรูปแบบถูกพัฒนาภายใต้วัตถุประสงค์ในการเป็นมากกว่าธนาคาร จึงเต็มไปด้วยกิจกรรมและบริการหลากหลายประเภท เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าและประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่โดยรอบ นอกจากนี้ KBank ยังได้ร่วมมือกับสถานศึกษาระดับมหาวิทยาลัยสร้างพื้นที่การเรียนรู้ร่วมกันในแบบ Co-learning Space ที่เรียกว่า KOMMONS (คอมมอนส์) อีกด้วย
K Park : ไลฟ์สไตล์คอมมูนิตี้ของชุมชน
ตามที่เกริ่นไปแล้วในช่วงแรกว่า K Park ดำเนินงานในลักษณะกึ่งแบงก์! เหมือนเป็นคอมมูนิตี้แห่งหนึ่งภายในชุมชนมากกว่าเป็นสาขาของธนาคารในรูปลักษณ์เดิม ไม่ทำให้รู้สึกว่าเราจะเข้าธนาคารสาขาได้ต่อเมื่อต้องการทำธุรกรรมเท่านั้น แต่แนวคิดของ K Park กลายเป็นธนาคารชุมชนที่คนในพื้นที่หรือผู้ที่ผ่านไป สามารถเข้าไปใช้ชีวิตได้สบาย ๆ ทั้งวัน! โดยจะเน้นพื้นที่รอบนอกเมือง เนื่องจากเห็นศักยภาพในการเติบโตของรอบนอกเมืองมีการขยายตัวของหมู่บ้านรวมถึงโรงเรียนมากขึ้น K Park สาขาแรกตั้งอยู่ภายในสถานีบริการน้ำมัน ปตท. สาขาหทัยราษฎร์ 33มีการจัดแบ่งพื้นที่เป็นโซนการเงินสำหรับทำธุรกรรม และ Co-working Space พร้อมทั้ง Kids Zone อยู่ในสถานที่เดียวกัน แต่ยังไม่หมดเท่านั้น KBank ยังได้จับมือกับพันธมิตรธุรกิจเพื่อให้เกิดความหลากหลายในสาขา เพราะภายในพื้นที่ดังกล่าวยังมีบริการเพื่อตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ผู้คนในชุมชน อาทิ คาเฟ่ อเมซอน, เอสซีจี เอ็กซ์เพรส, อัมรินทร์ พริ้นท์ติ้ง เพื่อให้ผู้ใช้บริการภายใน K Park สามารถนำพัสดุไปรษณีย์มาส่งผ่านเคาน์เตอร์บริการเอสซีจี เอ็กซ์เพรส หรือดาวน์โหลดนิตยสารอิเล็กทรอนิกส์ในเครืออัมรินทร์ พริ้นท์ติ้ง มานั่งอ่าน พร้อมกับใช้บริการพื้นที่ส่วนกลางที่สามารถนั่งเล่นพักผ่อนโดยนำเครื่องดื่มและขนมจากคาเฟ่อเมซอนเข้ามารับประทานได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ส่วนความพิเศษในการเป็นสาขาที่ไม่รับเงินสดนั้น มาจากความพิเศษของ K Park ที่เปิดให้ทำธุรกรรมการเงินในรูปแบบดิจิทัลเท่านั้น เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ใช้บริการ แต่ยังมีบริการ K Lobby ตู้ ATM รูปแบบใหม่ที่เปิดให้บริการฝาก-ถอนสูงสุด 200,000 บาทต่อครั้ง ตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งถือเป็นตู้แรกของประเทศ แตกต่างจากตู้ ATM แบบเดิมที่สามารถใช้บริการถอนเงินไม่เกิน 20,000 บาทต่อครั้ง และฝากไม่เกิน 100,000 บาทเท่านั้น นอกจากความพิเศษที่เราไม่เคยเห็นจากสาขาอื่นของธนาคารแล้ว K Park แห่งนี้ยังเปิดให้บริการทุกวันตั้งแต่เวลา 08.30-20.00 น. เพื่อรับกับความต้องการใช้งานของผู้คนภายในพื้นที่ (บริการธุรกรรมการเงินสามารถใช้งาน เวลา 10.30-18.00 น.) ซึ่งความสำเร็จ ความนิยม และการกลายเป็นพื้นที่ส่วนรวมของย่านดังกล่าว ทำให้ KBank วางแผนขยายแนวคิดดังกล่าวไปยังชุมชนอื่นเพิ่มเติมอีก3 สาขา ได้แก่ สาขาถนนสายไหม 56 สาขานาจอมเทียน(ปตท.แยกหาดจอมเทียน) และสาขาตลาดเซฟวัน นครราชสีมา
KOS : พื้นที่สู่ความสำเร็จ เพื่อผู้ค้าออนไลน์
เพราะวัตถุประสงค์ของ KOS หรือ K ONLINESHOP SPACE แห่งนี้ ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อตอบโจทย์พ่อค้าแม่ขายออนไลน์และผู้เริ่มต้นทำธุรกิจ โดยไม่จำเป็นต้องเป็นลูกค้าธนาคารกสิกรไทยก็สามารถเข้าใช้บริการภายใน KOS หรือขอคำปรึกษาและร่วมสัมมนาได้ฟรี ทำให้ทำเลที่ตั้งของ KOS อยู่ภายในศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ เพื่อความสะดวกต่อการเดินทางและเข้าใช้บริการ ภายในถูกออกแบบให้มีความทันสมัย เป็นมิตร เข้าถึงง่าย และสะดวกต่อการปรับเปลี่ยนเพื่อใช้งาน ผ่านรูปแบบการเป็น Retail และ Showroom Space ไม่มีขอบเขต ไม่มีประตูกั้น และสื่อถึงความเป็นดิจิทัลด้วย Feature Shopfront ซึ่งใช้วัสดุและแสงให้เกิดมิติซับซ้อนน่าจดจำ ปัจจุบันมีการคาดการณ์ว่า KBank มีลูกค้ากลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจออนไลน์กว่า 300,000 ราย ซึ่ง Pain Point หลักของผู้ประกอบการเหล่านี้คือขาดทักษะการทำตลาดออนไลน์ มีข้อจำกัดในการบริหารจัดการ และขาดเงินทุนหมุนเวียน ทำให้ KOS เกิดขึ้นเพื่อช่วยแก้ปัญหาเหล่านี้ ภายใต้วัตถุประสงค์ในการเป็นแหล่งให้ความรู้ เพิ่มทักษะการทำตลาด ให้คำปรึกษาในการจัดการธุรกิจ และเชื่อมโยงเครือข่ายผู้ประกอบการออนไลน์เข้าด้วยกัน
New KBank Branch (Hybrid Branch) : เติมความไฮเทค เพิ่มประสิทธิภาพบริการ
ถือเป็นสาขาที่พัฒนาขึ้นเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการแก่ลูกค้า ผ่านการให้บริการโดยพนักงาน อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องมืออัตโนมัติ เพื่อให้บริการลูกค้าได้สะดวกและราบรื่นขึ้น รวมถึงการส่งเสริมให้ทำธุรกรรมผ่านออนไลน์ เพื่อลดเวลาและต้นทุนการให้บริการ โดยสาขาแรกที่ถูกปรับให้เป็นแนวคิดแบบ Hybrid Branch คือ ที่ชั้น 1 สาขาศูนย์การค้าฟอร์จูนทาวน์ ซึ่งจะมีพื้นที่ให้บริการ 2 ส่วน คือ K-Lobby ซึ่งพนักงานจะให้คำแนะนำในการใช้บริการผ่านเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ภายในสาขา ซึ่งจะเปิดให้บริการตลอดเวลาทำการของสถานที่นั้น ๆ และ Branch พื้นที่ให้บริการธุรกรรมและให้คำปรึกษาแก่ลูกค้าโดยพนักงานผู้เชี่ยวชาญ
New K LOBBY (Machine Branch) : บริการด้วยเครื่องอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อความสะดวก รวดเร็ว
เป็นสาขารูปแบบใหม่ของ KBank ที่ให้บริการด้วยเครื่องอิเล็กทรอนิกส์เป็นหลัก เน้นการทำธุรกรรมพื้นฐานอย่างฝาก ถอน เปิดบัญชีหาข้อมูลผลิตภัณฑ์ทางการเงินต่างๆของธนาคาร โดยลูกค้าจะต้องเป็นผู้ดำเนินการด้วยตนเอง แต่หากต้องการความช่วยเหลือจากพนักงานสามารถติดต่อได้ผ่าน VDO Conference และโทรศัพท์สายตรง โดยเมื่อยกหูโทรศัพท์จะมีพนักงานรับสายในทันที ซึ่ง New K LOBBY จะเปิดให้บริการสาขาแรกที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์บางเขนในเดือนกุมภาพันธ์นี้ และ KBank ยังวางแผนเปิด New K LOBBY เพิ่มอีก 20 แห่งภายในปีนี้เนื่องจากสามารถเข้าถึงพื้นที่ต่างๆได้ง่าย ใช้พื้นที่ไม่ใหญ่มากและต้นทุนในการเปิดสาขาไม่สูงนัก
KOMMONS : สนับสนุน Co-Learning Space เพื่อเยาวชนไทย
นอกจากสาขารูปแบบใหม่ทั้ง 4 รูปแบบที่กล่าวมา ธนาคารกสิกรไทยยังได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยชั้นนำในประเทศสร้างพื้นที่การเรียนรู้ร่วมกัน หรือ Co-learning Space ที่เรียกว่า KOMMONS By KBank เพื่อเจาะกลุ่มนักศึกษาผ่าน กิจกรรมต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัย เพื่อสนับสนุนให้เกิดการเรียนรู้ร่วมกันและเพิ่มศักยภาพการเรียนรู้ผ่านเทคโนโลยี ขณะเดียวกันก็สามารถกระตุ้นให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ผ่านพื้นที่ดังกล่าวและกิจกรรมต่าง ๆ โดยปัจจุบัน KOMMONS เปิดให้บริการใน 2 มหาวิทยาลัย คือ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิต และมหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์ และอยู่ในระหว่างการดำเนินงานก่อสร้างอีก 2 ที่ ได้แก่ มหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตสารสนเทศเพชรบุรี และมหาวิทยาลัยนเรศวร
ก้าวข้ามความท้าทาย สู่การเติบโตอย่างยั่งยืน
แม้ว่าแนวคิดสาขาใหม่ของ KBank จะสร้างภาพจำใหม่ของธนาคารสาขาได้ แต่ขณะเดียวกันก็ถือเป็นความท้าทายที่น่าจับตา เนื่องจากเป็นการพลิกโฉมสาขาและภาพลักษณ์ของธนาคารสู่มิติใหม่อย่างสิ้นเชิง อย่างไรก็ตาม ภายใต้การเริ่มต้นของ New Branch Concept ก็เกิดผลลัพธ์ให้พิสูจน์ความสำเร็จได้แล้ว ว่าภายใต้บริการใหม่ที่ KBank พยายามสอดแทรกให้ตรงกับวัตถุประสงค์ของสาขาใหม่แต่ละรูปแบบนั้น สามารถประสบความสำเร็จได้มากเพียงใด ยกตัวอย่างกิจกรรมของแต่ละสาขา อาทิ กิจกรรมของ K Park กับการประกวดภาพระบายสี “ครอบครัวของฉัน”, เวิร์คช้อปสร้างธุรกิจให้ปังในยุค 4.0, กิจกรรมประดิษฐ์กระทง, หรือแม้แต่กิจกรรม DIY การ์ดปีใหม่ เป็นต้น ความสำเร็จของแต่ละสาขา ถูกสะท้อนออกมาด้วยยอดการใช้งานที่เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน เช่น จำนวนผู้เข้าใช้งาน K Park มากกว่า 3,000 คน ซึ่งเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และจำนวนสมาชิก LINE@ ที่เพิ่มขึ้นถึง 1,000 คน จากเป้าหมาย 500 คน ภายในระยะเวลาไม่ถึงครึ่งปีที่เริ่มดำเนินการ หรือจำนวนผู้เข้าร่วมงานสัมมนากับ KOS ที่เพิ่มขึ้นจาก 597 คน ผู้เข้ารับคำปรึกษา 610 คน รวมแล้ว 1,207 คน หลังจากเปิดบริการได้เพียง 4 เดือน หรือผู้ใช้บริการผ่าน KOMMONS เฉลี่ย 160-250 คนต่อวัน เป็นต้น ซึ่งแน่นอนว่า…เมื่อการเริ่มต้นได้ผลตอบรับเป็นอย่างดี ก้าวต่อไปเราคงได้เห็น KBank ขยายสาขาอย่างแน่นอน
ความสำเร็จถ่ายทอดจาก Inside สู่ Outside
ทุกการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นของ KBank แน่นอนว่าไม่สามารถเริ่มต้นได้แค่กระบวนการภายนอก แต่ทุกสิ่งเริ่มต้นตั้งแต่ภายในองค์กร ด้วยการปรับลักษณะงานของพนักงานด้วยกลยุทธ์ที่เรียกว่า One Team รวมการทำงานของทุกฝ่ายในสาขาโดยไม่แบ่งแยก ภายใต้เป้าหมายเดียวกัน คือ “ประโยชน์ของธนาคาร” ไม่ว่าจะทำงานในตำแหน่งใด โดยการทำงานแบบ One Team จะให้ความสำคัญกับการยึดลูกค้าเป็นศูนย์กลาง และเพิ่มประสิทธิภาพในงานบริการของพนักงานเพื่อสร้างความสัมพันธ์อันดีแก่ลูกค้า เอาเป็นว่า…ทั้งหมดนี้ไม่ใช่แค่การเปลี่ยน แต่ถือเป็นความท้าทายของ KBank ที่น่าจับตา ว่าภาพจำใหม่ของธนาคารแห่งนี้จะสามารถกลายเป็น “ส่วนหนึ่งในชีวิตผู้คน” ได้มากเพียงใด