เปิดแผนกลยุทธ์ KBank เจาะตลาดเวียดนามยึดหัวหาดคนรุ่นใหม่ กระบวนท่าแรกก่อนขยายไปสู่ประเทศอื่น

  • 376
  •  
  •  
  •  
  •  

 

ดูเหมือนว่าสิ่งที่ ธนาคารกสิกร หรือ KBank วางเป้าหมายไว้ในการเป็น “Bank of Regional” จะเข้าใกล้ความเป็นจริงมากขึ้น เมื่อมองดูในกลุ่มประเทศ CLMV จะพบว่า KBank สามารถรุกคืบธุรกิจเข้าไปได้แทบในทุกประเทศ (แม้ว่าสถานการณ์ในพม่าจะทำให้ต้องยุติการดำเนินการลงชั่วคราว) โดยเฉพาะประเทศเวียดนามที่ถือเป็นประเทศ Priority และเป็นต้นแบบของการนำโมเดลกลยุทธ์รูปแบบใหม่ในการบุกตลาดต่างประเทศ

หากลองมองย้อนกลับไปในหน้าประวัติศาสตร์จะพบว่า ในอดีตยุโรปคือศูนย์กลางเศรษฐกิจใหญ่ของโลก ก่อนจะขยายตลาดไปสู่สหรัฐอเมริกา ส่งผลให้เศรษฐกิจโลกไปกระจุกตัวอยู่ในฝั่งยุโรปและสหรัฐอเมริกา แต่ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ ศูนย์กลางเศรษฐกิจของโลกขยับย้ายฝั่งมาอยู่ในภูมิภาคเอเชีย โดยเฉพาะการหลั่งไหลของเงินลงทุนทั่วโลกทยอยย้ายเข้ามาในฝั่งเอเชียเพิ่มมากขึ้น

ปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เศรษฐกิจโลกย้ายฝั่งมาทางเอเชีย คือ การเติบโตของเศรษฐกิจจีนอย่างก้าวกระโดดในช่วงระยะเวลาไม่นาน ส่งผลให้ศูนย์กลางเศรษฐกิจของโลกย้ายมาอยู่ที่ฝั่งเอเชียตะวันออก ขณะที่ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็ได้รับอานิสงส์กลายเป็นภูมิภาคที่นักลงทุนส่วนใหญ่เลือกเข้ามาลงทุน และส่งผลให้เศรษฐกิจในภาพรวมของภูมิภาคนี้เติบโตขึ้นอย่างก้าวกระโดด โดยเฉพาะการพัฒนาด้านเทคโนโลยีที่ก้าวไปสู่ระดับ Unicorn จำนวนมาก

 

บุกเวียดนามสู่การเป็น Bank of Regional

หลังจากก่อนหน้านี้ KBank บุกทัพใหญ่ไปที่ตลาดประเทศจีน และสร้างฐานการพัฒนาเทคโนโลยีที่สำคัญไว้ที่ประเทศจีนอย่าง K-Tech โดยมีหน้าที่หลักในการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ที่สามารถนำมาสู่การให้บริการของคนไทยและลูกค้าในต่างประเทศของภูมิภาคนี้ ที่สำคัญ KBank ยังได้บุกไปในต่างประเทศที่มีศักยภาพในการเติบโตอย่าง ลาว, กัมพูชา, พม่าและเวียดนาม

โดยเฉพาะที่เวียดนามซึ่งถือเป็น Priority ที่สำคัญ ซึ่ง คุณขัตติยา อินทรวิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย ชี้ว่า

“เวียดนามมีแนวโน้มการเติบโตที่รวดเร็วที่สุดในอาเซียน เนื่องจากเป็นประเทศที่ยังมีศักยภาพในการดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากทั่วโลก ที่ผ่านมาเวียดนามแทบไม่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติโรคระบาด และยังมีสัดส่วนหนี้สาธารณะต่ำกว่า 60% ของ GDP โดยคาดว่าในปี 2573 เวียดนามจะกลายเป็นประเทศอุตสาหกรรมใหม่ที่มีรายได้ปานกลางถึงค่อนข้างสูง และจะกลายเป็นประเทศพัฒนาแล้วในปี 2588”

ส่วนหนึ่งนั้นเป็นเพราะรัฐบาลเวียดนามมีการส่งเสริมเป้าหมายในการเป็นศูนย์กลางด้านเทคโนโลยีแห่งใหม่ของเอเชีย ซึ่งปัจจุบันเวียดนามมีประชากรรวมกว่า 100 ล้านคน โดยมีอายุเฉลี่ยอยู่ในวัยทำงาน ในขณะที่อัตราการเติบโตของเวียดนามเฉลี่ยอยู่ที่ 7% ในอีก 3 ปีข้างหน้า และตลาดยังสามารถรองรับพฤติกรรมการทางดิจิทัลอีกมาก โดยมากกว่า 50% ของชาวเวียดนามเริ่มหันมาซื้อสินค้าออนไลน์เพิ่มขึ้น

 

เดินหน้าโมเดลกลยุทธ์พร้อมกัน 3 Play

ด้าน คุณพิพิธ เอนกนิธิ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย เห็นว่า

“สำหรับการบุกตลาดต่างประเทศของ KBank จะใช้วิธีการบุกผ่านกลยุทธ์ 3 Play ทั้งในเรื่องของ กลยุทธ์การรุกขยายสินเชื่อให้กับลูกค้าธุรกิจ (Aggressive Play) โดยเป็นกลยุทธ์ที่ส่งมอบสินเชื่อให้กับกลุ่มนักลงทุน ทั้งที่นักลงทุนท้องถิ่นและนักลงทุนชาวต่างชาติ ขณะที่กลยุทธ์ต่อมาคือ กลยุทธ์การร่วมมือกับลูกค้าพันธมิตรที่มีศักยภาพในการเติบโต (Mass Acquisition Play) ซึ่งเป็นการมองหาธุรกิจที่มีแนวโน้มเติบโต”

โดย KBank จะเข้าไปร่วมมือกับธุรกิจพันธมิตรในการให้บริการธุรกรรมทางการเงินด้านดิจิทัล และต่อยอดไปสู่การเชื่อมต่อการทำธุรกรรมในระดับภูมิภาคด้วยการเป็น Regional Payment Platform หรือพูดง่ายๆ ธุรกิจไหนที่มีศักยภาพในการเติบโตและสามารถนำระบบเทคโนโลยีการชำระเงินผ่านรูปแบบดิจิทัลไปใช้ร่วมกับธุรกิจได้ KBank จะเข้าไปสนับสนุนด้านการลงทุนทันที

และ กลยุทธ์ในด้านการพัฒนาบริการทางการเงินในรูปแบบใหม่ (Disruptive Play) ซึ่งจะช่วยให้ผู้ที่ไม่สามารถเข้าถึงบริการทางการเงินหรือเป็นบุคคลที่ไม่สามารถตรวจสอบสถานะทางการเงินได้ สามารถเข้าถึงบริการทางการเงินได้ โดย KBank จะให้บริการสินเชื่อดิจิทัลผ่านการตรวจสอบโดยใช้วิธีดู Credit Score โดยดูผ่าน Cash Flow ของรายนั้นๆ เป็นหลัก และสามารถต่อยอดสู่ธุรกิจ Banking as a Service (BaaS) ซึ่งที่เวียดนามจะเป็นครั้งแรกที่ KBank นำทั้ง 3 กลยุทธ์มาใช้พร้อมกัน และจะกลายเป็นมาตรฐานโมเดลกลยุทธ์ในการรุกเข้าตลาดต่างประเทศต่อไป โดยเฉพาะประเทศที่มีศักยภาพอย่าง อินโดนีเซีย

 

ครั้งแรกเปิดตัว K PLUS Vietnam

หลังจากที่ประเทศไทยประสบความสำเร็จอย่างสูง ในการให้บริการแอปฯ K PLUS เห็นได้จากยอดผู้ใช้งานแอปฯ K PLUS เกินกว่า 18.6 ล้านราย โดยมียอดธุรกรรมการเงิน (Transaction) กว่า 7,700 ล้านบาทต่อปี ขณะที่ยอดธุรกรรมรวมทั้งสิ้น 29,000 ล้านบาทต่อปี คาดว่าสิ้นปีนี้ K PLUS จะมีลูกค้ารวมทั้งสิ้น 20 ล้านราย ขณะที่ K PLUS SHOP มีร้านค้าใช้บริการกว่า 4 ล้านร้านค้า

ธนาคารกสิกรไทยถือเป็นธนาคารต่างชาติแห่งแรกในเวียดนามที่ได้นำ Digital Product Solution เข้ามาให้บริการเต็มรูปแบบและให้บริการลูกค้าในทุก Segment ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มธุรกิจท้องถิ่นหรือกลุ่มธุรกิจต่างชาติที่เข้าไปลงทุนในเวียดนาม โดยเฉพาะในกลุ่มธุรกิจ Trading, ธุรกิจบริการ, ธุรกิจโครงสร้างพื้นฐาน, ธุรกิจอุตสาหกรรมและลูกค้าบุคคล รวมไปถึงธุรกิจขนาดเล็กผ่านผลิตภัณฑ์ทางการเงินสินเชื่อบุคคลและระบบการรับชำระเงิน

สำหรับ K PLUS Vietnam จะเป็นการใช้ระบบพื้นฐานที่มาจาก K PLUS ในประเทศไทยเป็นหลัก และต่อยอดสู่การให้บริการลูกค้าชาวเวียดนาม นอกจากนี้ยังมีการออกผลิตภัณฑ์สินเชื่อดิจิทัลไม่ว่าจะเป็น KBank Biz Loan ที่ให้สินเชื่อแก่ร้านค้าธุรกิจขนาดเล็ก โดยเน้นการเข้าถึงลูกค้าผ่านพันธมิตรและแพลตฟอร์มท้องถิ่น ผ่านการลงทุนของ K-Vision ซึ่งเป็นบริษัทในด้านการลงทุนของธนาคารกสิกร รวมไปถึงการสร้างทีม KBTG Vietnam เข้ามาพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อให้บริการทั้งในเวียดนามและประเทศในภูมิภาครวมถึงประเทศไทย

 

ไม่ได้หวังผู้นำตลาด แต่หวังอยู่ในใจชาวเวียดนาม

คุณพิพิธ ยังชี้ว่า การที่ KBank บุกตลาดเวียดนาม ไม่ได้ต้องการเป็นผู้นำในตลาดการเงินของประเทศเวียดนาม จากประสบการณ์ที่ผ่านมาบอกว่า ไม่มีบริษัทต่างชาติรายใดที่เข้าไปทำธุรกิจด้านการเงินในประเทศนั้นๆ แล้วจะสามารถก้าวขึ้นไปสู่ตำแหน่งผู้นำของตลาดได้ เนื่องจากธุรกิจการเงินถือเป็นความมั่นคงของชาติและไม่มีประเทศใดที่จะยอมให้ธุรกิจต่างชาติเป็นผู้นำตลาดทางการเงิน

“ธุรกิจการเงิน คือ เรื่องความมั่นคงของชาติ เป็นธุรกิจที่มีผลกระทบต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศนั้นๆ หากมีการขยายตัวธุรกิจทางการเงินที่มากเกินไป อาจส่งผลให้สภาพเศรษฐกิจเติบโตอย่างร้อนแรง ซึ่งจะทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้อโดยปริยาย เหมือนที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ในปัจจุบัน แต่ถ้ามีการลงทุนทางการเงินที่น้อยจนเกินไป ก็จะส่งผลให้สภาพเศรษฐกิจโดยรวมถดถอย ซึ่งจะทำให้เกิดภาวะเงินฝืดเคืองได้”

ดังนั้น KBank จึงหวังเพียงเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยเพิ่มอำนาจด้านการเงินให้กับลูกค้าในประเทศนั้นๆ และจะช่วยสร้างอำนาจด้านการเงินให้กับลูกค้าได้อย่างไร้รอยต่อและสามารถใช้งานข้ามประเทศได้ ที่สำคัญ KBank ยังคงตั้งเป้าหมายในการให้บริการลูกค้าชาวไทยเป็นหลัก เพื่อให้เศรษฐกิจของไทยสามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืนและมั่นคง

การรุกตลาดครั้งนี้ เป็นการตอกย้ำยุทธศาสตร์การเป็นธนาคารยุคใหม่ของภูมิภาค AEC+3 อย่างสมบูรณ์แบบ ด้วยวิธีการแบบ Challenger Bank ที่เน้นความคล่องตัวสูงและเข้าถึงผู้บริโภคด้วยเทคโนโลยี โดยตั้งเป้าหมายจำนวนลูกค้าชาวเวียดนามที่ใช้บริการไว้ที่ 1.2 ล้านรายและสามารถปล่อยสินเชื่อรวมได้กว่า 20,000 ล้านบาท โดยเป้าหมายต่อไปของ KBank ที่จะนำทั้ง 3 กลยุทธ์ไปใช้พร้อมกันคือ ประเทศอินโดนีเซีย ที่เรียกได้ว่ามีศักยภาพไม่แพ้ประเทศเวียดนาม


  • 376
  •  
  •  
  •  
  •  
Gigolo
เมื่อเทคโนโลยีอยู่ใกล้กับชีวิตทุกคน มารู้เท่าทันเทคโนโลยีเพื่อใช้มัน แต่อย่าให้เทคโนโลยีมันใช้เรา