ต้องยอมรับว่า ช่วงที่ผ่านมาเงินดิจิทัล (Cryptocurrency) โดยเฉพาะสกุลเงินบิตคอยน์ (Bitcoin) กำลังเติบโตและเป็นที่จับตามองของนักลงทุน ยิ่งไปกว่านั้นการเติบโตของบิตคอยน์ยังส่งผลให้เงินดิจิทัลสกุลเงินอื่นๆ อย่าง Ethereum ได้รับอานิสงส์จนมีมูลค่าเพิ่มขึ้นตามบิตคอยน์ ทั้งนี้เกิดมาจากการที่ Elon Mudk ประกาศให้สามารถใช้เงินดิจิทัลในการซื้อขายรถยนต์ไฟฟ้า Tesla ได้ ซึ่งเป็นการตอกย้ำถึงความมั่นใจในการลงทุนเงินดิจิทัลมากขึ้น
ส่งผลให้เกิดการ “ขุด” หรือที่มักจะเรียกว่าขุดเหมืองเงินดิจิทัล ซึ่งนักขุดจำเป็นจะต้องมีคอมพิวเตอร์ที่มีประสิทธิภาพสูงเพื่อแย่งชิงโอกาสในการขุด และนักขุดส่วนใหญ่มักจะใช้คอมพิวเตอร์มากกว่า 1 ตัวขึ้นไปในการขุดเพื่อสร้างโอกาสที่มากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศจีนที่มีนักขุดเงินดิจิทัลเป็นจำนวนมาก อาจเรียกได้ว่าเป็นประเทศที่มีนักขุดเงินดิจิทัลมากที่สุดในโลก
แต่ล่าสุด Elon Musk ได้ประกาศยุติการซื้อขายรถยนต์ไฟฟ้า Tesla ด้วยเงินดิจิทัลแล้ว โดย Elon Musk ให้เหตุผลว่า Tesla ถูกสร้างขึ้นมาภายใต้แนวคิด ในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ช่วยลดการปลดปล่อยก๊าซ ที่เป็นต้นเหตุทำให้เกิดภาวะโลกร้อน (Global Warming) แต่การขุดบิตคอยน์ในประเทศจีนที่มีปริมาณมากเป็นหนึ่งในตัวการที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อน ซึ่งขัดต่อแนวคิดของรถยนต์ไฟฟ้า Tesla ส่งผลให้มูลค่าบิตคอยน์ลดลง 12% ทันที
โดย Elon Musk อธิบายว่า นักขุดเงินดิจิทัลจำเป็นต้องใช้คอมพิวเตอร์ประสิทธิภาพสูง ซึ่งมีอัตราการใช้พลังงานไฟฟ้ามากกว่าคอมพิวเตอร์ปกติ และมีการใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ประสิทธิภาพสูงเป็นจำนวนมากต่อนักขุด และเป็นที่ทราบกันดีว่าพลังงานไฟฟ้าในประเทศจีนส่วนใหญ่ถูกผลิตขึ้นมาจากการใช้ “ถ่านหิน” เป็นแหล่งพลังงาน ซึ่งถ่านหินก่อให้เกิดมลพิษเป็นจำนวนมาก และเป็นต้นเหตุที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อน (Global Warming)
ขณะที่ Jack Dorsey ประธานกรรมการบริหารของ Twitter ชี้ว่า อย่างไรก็ตามเงินดิจิทัลก็ยังถือเป็นกุญแจสำคัญของอนาคต ซึ่งการพัฒนาเงินดิจิทัลจำเป็นต้องควบคู่ไปกับการพัฒนาโครงสร้างด้านพลังงาน เช่นในไอซ์แลนด์และนอร์เวย์ ที่มีการใช้พลังงานไฟฟ้าหลักจากพลังงานหมุนเวียน 100% (มาจากพลังงานน้ำและพลังงานความร้อนใต้พิภพ) ซึ่งจะช่วยให้การขุดเงินดิจิทัลสามารถทำได้โดยปราศจากการปลดปล่อยมลพิษ
สำหรับประเทศไทยเอง การผลิตพลังงานไฟฟ้าส่วนใหญ่เกิดจากการใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นหลัก ดังนั้นการปลดปล่อยมลพิษจึงอยู่ในระดับต่ำ เมื่อเทียบกับการใช้ถ่านหินในการผลิตกระแสไฟฟ้า ซึ่งพลังงานหมุนเวียนในประเทศไทยที่ได้รับความนิยมมากที่สุดคือ พลังงานแสงอาทิตย์ แต่เนื่องจากมีต้นทุนที่สูง (โดยเฉพาะการใช้พื้นที่ปริมาณมากเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าให้สอดรับกับความต้องการ) ส่งผลให้ราคาค่าไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนมีอัตราสูงกว่าค่าไฟฟ้าที่ผลิตจากก๊าซธรรมชาติ
Source: BBC