อินเทล สนับสนุนภาครัฐ ภาควิชาการ และผลักดันวงการธุรกิจนำเทคโนโลยี IoT สู่การสร้าง “เมืองอัจฉริยะ”

  •  
  •  
  •  
  •  
  •  

N Forum 02-higlight

บริษัท อินเทล ไมโครอิเล็กทรอนิกส์ (ประเทศไทย) จำกัด ร่วมกับ บริษัท เนชั่น บรอดคาสติ้ง คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) จัดงานเสวนา N Forum ภายใต้หัวข้อ “Thailand Smart City” เพื่อร่วมสร้างความเข้าใจและระดมแนวคิดของการสร้างเมืองอัจฉริยะ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัล ตลอดจนการเตรียมความพร้อมให้กับประชาชนในการดำเนินชีวิตรูปแบบใหม่ การเสวนาครั้งนี้ได้รับเกียรติจากผู้แทนจากทั้งภาครัฐฯ และเอกชนเข้าร่วมเสวนา ณ โรงแรมเซ็นเตอร์พอยท์ แกรนด์ สุขุมวิท เทอมินัล 21

เมืองอัจฉริยะเป็นแนวคิดในการบริหารเมืองด้วยระบบเทคโนโลยีอย่างชาญฉลาด เพื่อสร้างการให้บริการและจัดการเมืองในรูปแบบใหม่ เพิ่มขีดความสามารถของการบริการต่างๆ การจัดการทรัพยากร และการบริหารระบบโครงสร้างพื้นฐานจากภาครัฐ รวมทั้งสร้างโอกาสในการทำธุรกิจ ซึ่งจะนำไปสู่การยกระดับคุณภาพชีวิตของประชากรที่อาศัยอยู่ในเมืองนั้นๆ โดยอาศัยเทคโนโลยีในการสร้างสรรค์ระบบการจัดการที่มีประสิทธิภาพ สามารถเชื่อมต่อและรับส่งข้อมูลระหว่างกันได้ในเวลาอันรวดเร็ว รวมทั้งลดต้นทุนและประหยัดทรัพยากรได้

ในปี 2568 มีการคาดการณ์ว่า 37 เมืองในโลกจะมีจำนวนประชากรเพิ่มขึ้นมากกว่า 10 ล้านคนต่อเมือง ซึ่งเป็นเมืองในประเทศทวีปเอเชียถึง 22 เมือง และจะมีการใช้ทรัพยากรที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตามจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้น ซึ่งการบริหารจัดการเมืองอย่างชาญฉลาดจะสามารถช่วยป้องกันปัญหาต่างๆที่อาจเกิดขึ้น รวมทั้งเพิ่มศักยภาพของเมืองต่างๆ เพื่อการดำรงชีวิตของประชากรได้

N Forum 03

สำหรับประเทศไทย เมืองท้องถิ่นอย่างตำบลแสนสุข เป็นหนึ่งเมืองตัวอย่างของก้าวเข้าสู่การเป็นเมืองอัจฉริยะ และได้นำร่องการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชากรและนักท่องเที่ยวจากการเป็นเมืองอัจฉริยะ โดยณรงค์ชัย คุณปลื้ม นายกเทศมนตรีตำบลแสนสุข จังหวัดชลบุรี กล่าวว่า “ในฐานะผู้บริหารเมือง เรามองเห็นโอกาสในการขับเคลื่อนให้ตำบลแสนสุขเป็นเมืองอัจฉริยะ โดยอาศัยความร่วมมือจากหลายภาคส่วนเช่น มหาวิทยาลัยบูรพาและบริษัทอินเทล เพื่อนำความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี มาช่วยในการบริหารจัดการเมืองให้ชาญฉลาดและเกิดประโยชน์กับประชาชนอย่างแท้จริง ปัจจุบันตำบลแสนสุขได้นำเทคโนโลยีเข้ามาจัดการเมืองอัจฉริยะ ในรูปแบบของการดูแลผู้สูงอายุท้องถิ่นด้วยป้ายแทคติดสัญญาณเซ็นเซอร์ เพื่อตรวจจับการเคลื่อนไหวของผู้สูงอายุ เพื่อลดปัญหาการเกิดอุบัติเหตุหรือผลัดหลง นอกจากนี้ ตำบลแสนสุขเป็นเมืองท่องเที่ยว เราจึงต้องการยกระดับให้เป็นเมือง Smart Tourism เพื่ออำนวยความสะดวกแก่นักท่องเที่ยว และเพิ่มศักยภาพแก่ผู้ให้บริการท้องถิ่นผ่านเทคโนโลยีการจัดการของเมืองอัจฉริยะ”

นักวิชาการผู้พัฒนาระบบขับเคลื่อนการเติบโตให้แก่เมืองอัจฉริยะ มีมุมมองว่าเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพจะสร้างความยั่งยืนให้แก่การยกระดับคุณภาพชีวิตของประชากรในเมืองอัจฉริยะได้ “เมืองอัจฉริยะ จะทำให้เจ้าหน้าที่ภาครัฐและประชาชนรับรู้ถึงความเคลื่อนไหวของการจัดการทรัพยากรรอบตัว ซึ่งนำไปสู่การจัดการที่เป็นระบบและมีประสิทธิภาพ โดยฝ่ายบริหารทั้งในระดับจังหวัดและท้องถิ่นจะเป็นแรงผลักดันสำคัญในการขับเคลื่อนการสร้างเมืองอัจฉริยะได้อย่างชัดเจนและขยายผลอย่างรวดเร็ว ทั้งนี้การลงทุนกับเทคโนโลยีเป็นเรื่องจำเป็น และสามารถตอบโจทย์ที่เป็นประโยชน์ในระยะยาว รวมทั้งการวางแผนที่ชัดเจนจะนำพาไปสู่การสร้างเมืองอัจฉริยะอย่างมีประสิทธิผล” รศ. ดร. เอกชัย สุมาลี ผู้ช่วยอธิการบดี และ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยนครอัจฉริยะ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง กล่าว

การมีเมืองอัจฉริยะนั้น นอกจากจะสามารถช่วยประหยัดทรัพยากรและงบประมาณในองค์รวม ป้องกันและลดอัตราการเกิดภัยพิบัติหรือเหตุร้ายต่างๆ ได้แล้ว ยังสามารถเพิ่มความปลอดภัยและความสะดวกสบายในการใช้ชีวิตของประชากรได้ ซึ่งแต่ละเมืองนั้นมีศักยภาพที่จะเป็นเมืองอัจฉริยะได้ หากแต่ต้องดูความต้องการของประชากรในพื้นที่เป็นหลัก เพื่อประสิทธิผลอันสูงสุดในการสร้างเมืองอัจฉริยะ

N Forum 01
(จากซ้าย) รศ. ดร. เอกชัย สุมาลี ผู้ช่วยอธิการบดี และ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยนครอัจฉริยะ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง, คุณสนธิญา หนูจีนเส้ง กรรมการผู้จัดการ บริษัท อินเทล ไมโครอิเล็กทรอนิกส์ (ประเทศไทย) จำกัด, คุณณรงค์ชัย คุณปลื้ม นายกเทศมนตรีตำบลแสนสุข จังหวัดชลบุรี และ คุณทรงกลด บางยี่ขัน บรรณาธิการ นิตยสารอะเดย์

ทรงกลด บางยี่ขัน บรรณาธิการ นิตยสารอะเดย์ ตัวแทนภาคประชาชนที่ใช้ชีวิตในเมืองใหญ่อย่างกรุงเทพมหานคร กล่าวถึงเมืองอัจฉริยะในมุมมองของตนว่า “การปรับตัวให้เข้ากับเทคโนโลยี จะช่วยให้การใช้ชีวิตในเมืองอัจฉริยะนั้นเป็นไปอย่างง่ายดาย เทคโนโลยีที่นำมาใช้ต้องเน้นการออกแบบที่ง่ายต่อการใช้งานสำหรับคนทุกกลุ่ม และเพิ่มโอกาสให้ประชาชนสามารถเข้าถึงการบริการต่างๆได้อย่างครอบคลุมมากยิ่งขึ้น รวมทั้งยกระดับชีวิตสำหรับผู้อาศัยในเมืองทุกระดับรายได้ และสถานะทางสังคม หนึ่งในปัญหาของคนกรุงเทพคือความหนาแน่นของการจราจร หากกรุงเทพฯมีระบบขนส่งมวลชนและระบบการจัดการจราจรอัจฉริยะ จะช่วยให้การเดินทางเป็นไปอย่างสะดวกสบาย การใช้เวลาบนท้องถนนลดลง และปลอดภัยมากขึ้น”

สนธิญา หนูจีนเส้ง กรรมการผู้จัดการ บริษัท อินเทล ไมโครอิเล็กทรอนิกส์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า“องค์ประกอบสำคัญในการขับเคลื่อนเมืองอัจฉริยะ คือ เสียงจากประชาชนที่บ่งชี้ถึงความต้องการที่อยากให้เมืองอัจฉริยะเข้ามาลดปัญหาและอำนวยความสะดวกในการดำเนินชีวิต และมีระบบรองรับเทคโนโลยีที่สามารถต่อยอดไปได้อย่างต่อเนื่องโดยไม่สะดุด ที่สามารถประยุกต์ใช้กับระบบเชื่อมต่อในอนาคต เพื่อประโยชน์สูงสุดของประชากร อีกทั้งมีการส่งเสริมและสร้างโอกาสให้แก่ธุรกิจใหม่ๆ อินเทลจึงได้ขับเคลื่อนเทคโนโลยีอินเตอร์เน็ต ออฟ ธิงส์ (Internet of Things) ที่เป็นหัวใจหลักในการสร้างเมืองอัจฉริยะในหลายๆประเทศ รวมทั้งในประเทศไทย และหวังว่างานเสวนาครั้งนี้ จะเป็นแรงผลักดันให้เกิดการตื่นตัวต่อการสร้างเมืองอัจฉริยะ ที่สอดรับกับนโยบายเศรษฐกิจดิจิทัลที่ทางรัฐบาลได้วางไว้ ทั้งนี้อินเทลพร้อมที่จะนำเสนอเทคโนโลยีต่างๆเพื่อสนับสนุนระบบของการสร้างเมืองอัจฉริยะอย่างต่อเนื่อง”


  •  
  •  
  •  
  •  
  •