กรุงศรีและไอบีเอ็มประกาศความสำเร็จ นำร่องใช้บล็อกเชนเสริมศักยภาพ การทำธุรกรรมระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง (Related Party Transaction)

  •  
  •  
  •  
  •  
  •  

Krungsri IBM-01
กรุงศรี (ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) และ ไอบีเอ็ม ประกาศความสำเร็จของโครงการนำร่องใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนเพื่อบริหารจัดการกระบวนการจัดเก็บเอกสารการให้บริการต่างๆ ระหว่างธนาคารและบริษัทในเครือ ตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทาง ทำให้ข้อมูลมีความปลอดภัย การทำธุรกรรมมีความโปร่งใส ทั้งยังช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและลดระยะเวลาในการดำเนินงาน

ในฐานะธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่อันดับ 5 ของประเทศในด้านสินทรัพย์ สินเชื่อ และเงินฝาก กรุงศรีให้บริการทางการเงินที่หลากหลายทั้งการบริหารความมั่งคั่ง บัตรเครดิต ประกันภัย บริหารจัดการกองทุน ซื้อขายหลักทรัพย์ สินเชื่อยานยนต์ ธุรกิจเช่าซื้อ สินเชื่อเพื่อผู้มีรายได้น้อย และการผ่อนชำระสินค้า ดังนั้นในแต่ละวันจึงมีเอกสารการให้บริการระหว่างธนาคารและบริษัทในเครือจำนวนมากที่ส่งต่อไปมาระหว่างกัน กรุงศรีจึงได้ทำการปรับปรุงประสิทธิภาพของกระบวนการการทำธุรกรรมระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง (Related Party Transaction หรือ RPT) ภายในองค์กร ด้วยการนำเทคโนโลยีบล็อกเชนเข้ามาใช้กับกระบวนการจัดเก็บเอกสารการให้บริการระหว่างธนาคารและบริษัทในเครือ

นางวรนุช เดชะไกศยะ ประธานกลุ่มสนับสนุนธุรกิจด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและปฏิบัติการ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “โครงการบริหารจัดการเอกสารนี้เป็นโครงการนำร่อง โดยการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนในกระบวนการเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการปฏิบัติงานภายในขององค์กร เพื่อส่งมอบความสะดวกให้กับลูกค้า ซึ่งได้ดำเนินการทดสอบตั้งแต่เมื่อปีที่แล้ว ผลลัพธ์ที่ได้เป็นที่น่าพอใจอย่างยิ่ง โดยมีเป้าหมายคือปรับปรุงกระบวนการจัดเก็บเอกสารให้เป็นรูปแบบดิจิทัล รวมทั้งจัดเก็บเอกสารและข้อมูลการอนุมัติไว้อยู่บนฐานข้อมูลเทคโนโลยีบล็อกเชน พร้อมทั้งขยายแพลตฟอร์มนี้ให้สามารถใช้งานได้ทั้งภายในธนาคารและบริษัทในเครือ”

การทำงานร่วมกับทีมไอบีเอ็ม คลาวด์ การาจ (IBM Cloud Garage) ซึ่งเป็นทีมที่มีความเชี่ยวชาญในเทคโนโลยีและธุรกิจ รวมถึงการใช้เทคโนโลยีไฮเปอร์เล็ดเจอร์ แฟบริค (Hyperledger Fabric) และบริการบล็อกเชนบนไอบีเอ็มคลาวด์ (IBM Cloud) ทำให้ธนาคารใช้เวลาพัฒนาแนวคิดจากเริ่มต้นสู่การดำเนินงานจริงภายในเวลาเพียง 3 เดือน นอกจากนี้ยังได้มีการนำไฮเปอร์เล็ดเจอร์ คอมโพเซอร์ (Hyperledger Composer) มาใช้เป็นเครื่องมือเพื่อเร่งให้การพัฒนาแอพพลิเคชันบล็อกเชนเป็นไปได้อย่างรวดเร็ว

ในระหว่างการดำเนินโครงการนำร่องกระบวนการจัดการเอกสารการให้บริการระหว่างธนาคารและบริษัทในเครือด้วยเทคโนโลยีบล็อกเชนทำให้กรุงศรีสามารถลดกระบวนการและระยะเวลาในการดำเนินงาน โดยนวัตกรรมดังกล่าวทำให้การแลกเปลี่ยนและส่งต่อข้อมูลระหว่างกันมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ช่วยลดปริมาณคำถามที่เกิดขึ้นระหว่างกระบวนการ และยังช่วยลดข้อบกพร่องของงานเอกสารทั้งในแง่ความผิดพลาดและความไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ของข้อมูล

ด้วยคุณสมบัติของบล็อกเชนที่ไม่สามารถเข้าไปเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อมูลได้และมีการเข้ารหัส ทำให้มั่นใจได้ว่าข้อมูลสำคัญต่างๆ จะมีความปลอดภัย สามารถส่งต่อข้อมูลระหว่างกันได้รวดเร็วขึ้น ยิ่งไปกว่านั้นเทคโนโลยีบล็อกเชนยังช่วยให้ทั้งฝ่ายตรวจสอบและควบคุมได้รับข้อมูลอย่างรวดเร็ว สามารถแทรกแซงและดำเนินการตรวจสอบได้ จึงเป็นการเพิ่มความโปร่งใสมากยิ่งขึ้น

“กรุงศรีคาดหวังว่าโครงการนี้จะช่วยยกระดับประสิทธิภาพกระบวนการทำงานภายในทั้งหมดของกรุงศรี นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงงานเอกสารในปัจจุบันให้อยู่ในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ โดยอาศัยความก้าวหน้าของเทคโนโลยีบล็อกเชน นั่นหมายถึงกระบวนการทุกขั้นตอนจะมีความโปร่งใส รัดกุม และปลอดภัยมากยิ่งขึ้น ขณะที่ธนาคารเองสามารถลดต้นทุนในการบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้กรุงศรีสามารถส่งมอบบริการในด้านต่างๆ โดยเฉพาะในส่วนที่เป็นงานเอกสารให้มีประสิทธิภาพและรวดเร็วยิ่งขึ้น” นางวรนุช กล่าวเพิ่มเติม

“ไอบีเอ็มพัฒนาเทคโนโลยีล้ำสมัยเพื่อขยายขีดความสามารถให้กับองค์กรธุรกิจตลอดจนการสร้างข้อได้เปรียบในการแข่งขันให้กับลูกค้า และเราเชื่อว่าบล็อกเชนเป็นหนึ่งในเทคโนโลยีเหล่านั้น ซึ่งไม่เพียงแต่จะช่วยเสริมประสิทธิภาพในการทำธุรกรรมต่างๆ แต่จะยังมีบทบาทสำคัญต่อวิวัฒนาการใหม่ของหลากหลายอุตสาหกรรมในอนาคต” นางพรรณสิรี อมาตยกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไอบีเอ็ม ประเทศไทย จำกัด กล่าว

“ความสำเร็จของโครงการนำร่องในการบริหารจัดการเอกสารด้วยเทคโนโลยีบล็อกเชนของกรุงศรีนั้นแสดงให้เห็นถึงความเป็นผู้นำของอุตสาหกรรมการเงินในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีใหม่เพื่อเสริมศักยภาพของธุรกิจ ไอบีเอ็มรู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ร่วมมือกับกรุงศรีในการพัฒนาประสิทธิภาพและสร้างความไว้วางใจมากยิ่งขึ้นในกระบวนการบริหารจัดการเอกสาร ซึ่งนับเป็นก้าวย่างที่ของสำคัญของนวัตกรรมการเงินในประเทศไทย” นางพรรณสิรี กล่าวเพิ่มเติม


  •  
  •  
  •  
  •  
  •