GrabTaxi จากแผนประกวดธุรกิจ สู่ของจริงในภูมิภาคอาเซียน

  • 6
  •  
  •  
  •  
  •  

cover grab

หากยังพอจำกันได้ จะมีช่วงหนึ่งที่กระแสดราม่าแท็กซี่โหมกระพืออย่างหนักในโลกโซเชียล ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นปัญหาที่เกิดจากแท็กซี่ปฏิเสธผู้โดยสาร รับแต่นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ หรือมิจฉาชีพที่แฝงมาในคราบคนขับแท็กซี่ เหล่านี้เป็นเหตุการณ์จริงที่เกิดขึ้นทุกวัน แต่การถูกแท็กซี่ปฏิเสธน่าจะเป็นปัญหาชวนปวดหัวที่เกิดขึ้นกับคนใช้บริการแท็กซี่กันมาแล้วทั้งสิ้น ซึ่งอาจจะหลีกเลี่ยงได้ยากสำหรับบางคนที่จำเป็นต้องใช้บริการแท็กซี่จริงๆ

แต่ในช่วงหนึ่งถึงสองปีให้หลังนี้ ชีวิตการเดินทางของคนเมืองที่ต้องใช้บริการแท็กซี่สะดวกขึ้นกว่าแต่ก่อน สมาร์ทโฟนในมือไม่เพียงแค่ให้ความบันเทิงหรือเพียงแค่ติดต่อสื่อสาร แต่ยังอำนวยความสะดวกในการเรียกรถแท็กซี่ด้วยแอพพลิเคชั่น ไม่ว่าจะเป็น Easy Taxi,Uber, All Thai Taxi  หรือ GrabTaxi ที่เราจะเล่าถึงกันในวันนี้ หลายคนอาจพอรู้ที่มาที่ไปของ GrabTaxi กันมาบ้างแล้ว แต่เราขอปูพื้นด้วยเรื่องราวการกำเนิด GrabTaxi ให้เข้าใจกันง่ายๆ ก่อนนะคะ

2 StartUp กรุยทาง GrabTaxi ปักหมุดในเอเชีย

GrabTaxi ก่อตั้งโดย 2 นักศึกษาชาวมาเลเซียที่เป็นเพื่อนร่วมชั้นกันจาก Harvard Business School สหรัฐอเมริกา คือ Anthony Tan (แอนโธนี ตัน) และ Hooi Ling Tan (โฮย หลิง ตัน) ไอเดียของทั้งคู่ เริ่มจุดประกายเมื่อตอนที่เรียนอยู่ที่ Harvard Business School แล้วได้รับรู้ถึงปัญหาจากเพื่อนของเขาที่มักบ่นอยู่เสมอว่า มาเลเซียเรียกแท็กซี่ยาก ปัญหาของเพื่อนถูกนำไปคิดต่อยอด จนเกิดเป็น MyTeksi ซึ่งเดิมทียังเป็นเพียงแผนธุรกิจที่ชนะการประกวดอันดับ 2 จาก business plan competition 2011 ของ Harvard Business School ก่อนจะพัฒนาให้เป็นแอพเรียกแท็กซี่ที่มีประสิทธิภาพบนสมาร์ทโฟนภายใต้แนวคิดการช่วยเหลือสังคม  ซึ่งทุนก้อนแรกที่ได้มาจากการชนะการประกวด ในปีเดียวกันที่จบการศึกษาจาก Harvard ทั้งคู่ได้ต่อยอดแผนธุรกิจและพัฒนาให้ใช้งานได้จริง จนกระทั่งเปิดตัว MyTeksi หรือ GrabTaxi อย่างเป็นทางการในมาเลเซียเมื่อเดือนกรกฎาคมปี 2012 ซึ่งได้รับความนิยมและกระแสตอบรับเป็นอย่างดี นำไปสู่การขยายสาขาไปยังต่างแดน ดูได้จาก localization timeline ของ GrabTaxi ในอินโฟกราฟฟิคด้านล่าง จะเห็นได้ชัดเจนว่าขยายสาขาไวมาก และมีเงินทุนสนับสนุนเข้ามาอย่างต่อเนื่อง

grabtaxi-timeline

*ในเดือนมีนาคม 2015 มีคนขับที่ลงทะเบียนกับ GrabTaxi แล้วมากกว่า 75,000 คน และจะมีการเรียกรถเฉลี่ย 7 ครั้งต่อ 1 วินาที

GrabTaxi ในไทย

อินไซด์ของคนกรุงเทพที่มีต่อแท็กซี่ในเมืองค่อนข้างจะเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ในกรณีที่เรียกรถแล้วถูกแท็กซี่ปฏิเสธด้วยเหตุผลใดก็ตาม ถ้าไม่อยากมีเรื่องมีราวหรือเสียเวลาไปมากกว่าเดิม เราจำต้องยอมปิดประตูแล้วโบกเรียกคันใหม่ ซึ่งไม่มีอะไรรับประกันได้เลยว่าคันถัดไปจะไม่ปฏิเสธเราเหมือนคันก่อนหน้านี้ การเรียกแท็กซี่จึงเหมือนเป็นชาเลนจ์หนึ่งในชีวิตประจำวันของคนเมืองไปโดยปริยาย ซึ่งเรามองว่าการเข้ามาของ GrabTaxi ไม่ได้กีดกันฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งออกไป แต่เป็นการเอื้อประโยชน์ให้ทุกฝ่าย ซึ่งแน่นอนว่าผู้โดยสารก็จะได้รับความสะดวกและปลอดภัยมากขึ้น คนขับเองก็สามารถเลือกรับผู้โดยสารได้ตามเส้นทางที่ต้องการ ไม่ต้องวิ่งหาผู้โดยสารให้สิ้นเปลืองพลังงานและเวลา จุดนี้เองที่เราคิดว่า GrabTaxi เข้ามาช่วยยกระดับระบบการคมนาคมในเมืองให้ดีขึ้นกว่าเดิม

คนขับ กับ ผู้โดยสาร ความวิน-วิน ที่ GrabTaxi จัดให้

คนขับได้อะไร? ผู้โดยสารได้อะไร? จากการที่ทั้ง 2 ฝ่ายได้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในระบบของ GrabTaxi สิ่งที่คนขับจะได้รับนอกเหนือจากค่าโดยสารตามมิเตอร์คือ ค่าเรียกแท็กซี่ผ่านแอพครั้งละ 25 บาทซึ่งใน 25 บาทนี้จะมีแบ่งเป็นสองส่วนคือส่วนของคนขับเอง และส่วนของ GrabTaxi และรายได้พิเศษจากการวิ่งตามจำนวนเที่ยวที่กำหนด นับเป็นรายได้สองส่วนที่คนขับจะได้รับนอกเหนือจากค่าโดยสารตามมิเตอร์ (รายได้สองส่วนหลังนี้ GrabTaxi จะโอนเข้าบัญชีธนาคารของคนขับทุกสัปดาห์) นอกจากรายได้ทั้งหมดที่กล่าวไป ยังมีสิทธิประโยชน์และสวัสดิการต่างๆที่คนขับจะได้รับจากการได้เลื่อนขั้นเป็น VIP และ SVIP การเลื่อนตำแหน่งจะขึ้นอยู่กับจำนวนเที่ยวที่วิ่งในแต่ละเดือน และการให้คะแนนจากผู้โดยสารตามความพึงพอใจ ส่วนสวัสดิการและสิทธิประโยชน์ที่คนขับจะได้รับจากการเลื่อนขั้นได้แก่ ประกันชีวิต แผนชดเชยกรณีบาดเจ็บ ฯลฯ ผ่านโครงการ GrabLife มูลค่า 60 ล้านบาท เป็นโครงการที่ร่วมมือกันระหว่าง GrabTaxi ธนาคารกสิกรไทย และ บมจ.เมืองไทยประกันชีวิต เหล่านี้คือสิ่งที่คนขับจะได้รับ และแน่นอนว่าคนขับสามารถเลือกรับผู้โดยสารได้ตามความสะดวก ไม่ต้องคอยวิ่งรถหาผู้โดยสาร หรือต้องจำใจปฏิเสธผู้โดยสารให้อารมณ์ขุ่นมัวกันเหมือนแต่ก่อน

แล้วผู้โดยสารจะได้อะไรจากการเรียกใช้บริการ GrabTaxi ? ค่าบริการที่เพิ่มมา 25 บาทสำหรับค่าเรียกรถ ถ้าเราสะดวกที่จะจ่าย ก็เสมือนการซื้อความสะดวกในการเรียกรถ อย่างเช่นบริเวณจุดที่จะเรียกแท็กซี่เป็นที่เปลี่ยวหรือไม่ค่อยมีรถผ่าน อีกหนึ่งสิ่งที่ผู้โดยสารจะได้รับคือความปลอดภัย ด้วยการคัดกรองและตรวจสอบประวัติคนขับจาก GrabTaxi และด้วยระบบ GPS ที่จะทำการค้นหาตำแหน่งของผู้โดยสารอัตโนมัติ จากนั้นข้อมูลของคนขับแท็กซี่จะถูกแสดงให้เรารับรู้ล่วงหน้าทั้ง ชื่อจริง นามสกุล รูปถ่าย เบอร์โทรศัพท์ และเลขทะเบียนรถ อีกทั้งยังสามารถแชร์ข้อมูลขณะเดินทางแบบเรียลไทม์ให้คนที่บ้านหรือเพื่อนๆขณะโดยสารจนถึงจุดหมายได้อีกด้วย GrabTaxi เสมือนระบบที่เข้ามาจูน demand และ supply ของผู้โดยสารและคนขับให้สอดคล้องกันมากขึ้น

คนขับที่มีพฤติกรรมไม่เหมาะสมจะถูกกรองออกจากระบบไปเอง

นอกจากความสะดวกแล้ว ความปลอดภัยเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ GrabTaxi สร้างความมั่นใจให้ผู้ใช้บริการด้วยการระบุตัวตนของคนขับด้วย ชื่อจริง นามสกุล เลขทะเบียนรถ และรูปถ่าย ซึ่งการกวดขันคัดเลือกคนขับต้องผ่านการคัดกรองประวัติอย่างละเอียด อันนั้นก็เป็นส่วนแรกที่ GrabTaxi ได้คัดกรองคนขับมาแล้ว ส่วนในเรื่องพฤติกรรมระหว่างการให้บริการ หากคนขับมีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมหรือปฏิเสธผู้โดยสาร การร้องเรียนไปตามเหตุผลเป็นสิ่งที่ผู้โดยสารพึงกระทำ เพื่อรักษาผลประโยชน์ของตนเองและผู้โดยสารคนอื่นๆ การลงโทษจะมีหลายขั้น เริ่มจากตักเตือน สูงสุดของ GrabTaxi คือให้ออกจากระบบ ระบบเช่นนี้จะคัดกรองคนขับที่มีพฤติกรรมไม่เหมาะสมให้ออกจากระบบไปเอง

ซึ่ง GrabTaxi เป็นระบบที่ไม่เพียงแต่จะเพิ่มรายได้ แต่ยังช่วยประหยัดแก๊ซและเวลาให้แก่คนขับอีกด้วย แต่หากต้องการจะเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในระบบ คนขับจะต้องผ่านการคัดกรองประวัติและพฤติกรรมภายนอกอย่างละเอียดเสียก่อนตามที่กล่าวไว้ข้างต้น การแข่งขันมันเกิดขึ้นตรงจุดนี้ ใบเบิกทางที่จะนำพาคนขับไปสู่ระบบที่ช่วยเพิ่มรายได้ให้เขาได้ คือการประพฤติตนอย่างเหมาะสมในวิชาชีพ และมีหัวใจการให้บริการ ส่วนความเสมอต้นเสมอปลายก็จะทำให้คนขับอยู่ในระบบที่เอื้อประโยชน์ให้ตนเองแบบนี้ไปได้อีกนาน หากระบบเช่นนี้ถูกวางเป็นเมนหลักของแท็กซี่ไทยได้ทั้งหมด เหตุการณ์ที่ผู้โดยสารต้องง้อขอการบริการจากแท็กซี่ก็คงจะมีให้เห็นน้อยลงไปเรื่อยๆ

แอพเรียกรถมีหลายเจ้า แต่ทำไม GrabTaxi ถึงมาวิน?

อย่างที่ทราบกันดีว่า GrabTaxi ไม่ใช่แอพเจ้าแรกเจ้าเดียวในไทย ย้อนไปเมื่อปี 2013  Easy Taxi แอพเรียกรถจากบราซิลได้มาปักธงและเริ่มทำตลาดในไทย ซึ่งในปีเดียวกันนี้ GrabTaxi ก็เข้ามาเปิดสำนักงานใหญ่ในไทยเช่นกัน ตามมาติดๆกับ Uber ที่เปิดตัวในไทยอย่างเป็นทางการไปเมื่อปี 2014  และล่าสุดแอพสัญชาติไทย All Thai Taxi จากนครชัยแอร์ ซึ่งแต่ละค่ายก็ไม่ธรรมดาทั้ง Easy Taxi และ Uber ต่างก็ตีตลาดไปได้แล้วในหลายประเทศ แต่ ณ ขณะนี้ปฏิเสธไม่ได้ว่า GrabTaxi ตีตลาดไปแล้วในหลายประเทศแถบอาเซียนรวมทั้งในไทยที่กำลังได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่อง จากที่เราติดตามข่าวสารเกี่ยวกับ GrabTaxi มาโดยตลอด รวมทั้งสอบถามความคิดเห็นและข้อมูลจากผู้ใช้บริการและคนขับ แน่นอนว่าเป็นผู้ใช้บริการเองอยู่หลายครั้งเช่นกัน จึงวิเคราะห์และสรุปเหตุผลหลักที่ทำให้ GrabTaxi เติบโตอย่างรวดเร็วได้ดังนี้

  • เข้ามาแก้ปัญหาที่ชาวเมืองกำลังเผชิญได้อย่างตรงจุดพอดิบพอดี
  • ใส่ใจและให้ความสำคัญกับคนขับซึ่งเป็นฟันเฟืองของในองค์กร
  • เข้ามาอย่างถูกกฏหมายทั้งหน้าบ้านและหลังบ้าน
  • ปรับเปลี่ยนบริการให้สอดคล้องกับพฤติกรรมของผู้ใช้งานตามท้องถิ่น
  • แอพใช้งานง่าย ระบบไม่ยุ่งยากซับซ้อน และจ่ายค่าโดยสารด้วยเงินสดได้เลย
  • ออกโปรโมชั่นสม่ำเสมอทั้งรหัสส่วนลด และรหัสใช้บริการฟรี
  • สร้าง awareness อย่างต่อเนื่องด้วยการเชื่อมโยง Touch Point เข้ากับผู้บริโภค
  • การเข้ามาของ GrabTaxi ไม่ได้กีดกันฝ่ายใดออกจากระบบแต่เป็นการเอื้อประโยชน์ให้ทั้งสองฝ่าย
  • การบอกกันปากต่อปากของผู้ใช้บริการ และในหมู่คนขับ
  • วิสัยทัศน์และพันธกิจที่ชัดเจน รวมถึงการบริหารงานที่มีศักยภาพ ทำให้นักลงทุนต่างให้ความสนใจ

เหล่านี้เป็นเหตุผลหลักที่ทำให้ GrabTaxi เติบโตได้อย่างรวดเร็วในไทย และในต่างประเทศแถบอาเซียน  localization และ awareness เป็นเรื่องสำคัญในการเข้าไปปักธงในตลาดต่างแดน ซึ่งเราคิดว่า GrabTaxi ทำได้ดีมากสำหรับตลาดแอพเรียกรถไทย แม้จะยังไม่เฉียดเข้าใกล้กำไรและอยู่ในช่วงระดมทุน แต่การพุ่งเป้าไปที่การพัฒนาและขยายการเติบโตจะช่วยสร้างรากฐานที่แข็งแกร่งให้กับ GrabTaxi  ผลดีที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ไม่ใช่เพียงแค่สร้างผลประโยชน์ให้องค์กร แต่จะช่วยพัฒนาการคมนาคมในประเทศให้ดีขึ้นได้อีกด้วย ซึ่งจะส่งผลไปถึง ความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของคนในอาชีพ การเดินทางที่สะดวกปลอดภัยสำหรับผู้โดยสาร ไม่ใช่แค่คนในประเทศ แต่นักท่องเที่ยวจะได้รับประโยชน์ไปด้วย แน่นอนว่าส่งผลดีต่อภาพลักษณ์ของประเทศแน่นอนในแง่ของความสะดวกปลอดภัยในการคมนาคม

สำหรับ Startup ที่ประสบความสำเร็จ หลายคนเริ่มดำเนินธุรกิจจากความมุ่งมั่นในการพัฒนาสิ่งที่อยู่ในมือเพื่อตอบโจทย์ตัวเองหรือสังคมโดยไม่ได้เอาเงินหรือผลกำไรมาเป็นตัวตั้ง อย่างเช่น Facebook ก็เป็นแบรนด์ที่ไม่ทำกำไรในช่วงหลายปีแรกเช่นกัน แต่โฟกัสไปที่การพัฒนาแพลตฟอร์มของตนเองให้ดีกว่าเดิมอยู่ตลอดเวลา ซึ่งปีนี้ก็เป็นปีที่ Facebook ครองอันดับที่ 12 จากการจัดอันดับ Top 100 Most Valuable Global Brands

grab type

GrabTaxi Thailand ภายใต้การบริหารของ Director สาวชาวไทย

จากที่มาที่ไปของ GrabTaxi ตามที่ได้เล่าไปในตอนต้น Anthony Tan และ Hooi Ling Tan สองนักศึกษาจาก Harvard Business School เป็นผู้ริเริ่มและช่วยกันพัฒนาแอพบนสมาร์ทโฟนให้มีประสิทธิภาพในการเรียกรถแท็กซี่ จนสามารถไปปักธงใน 24 เมืองผ่าน 6 ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และสามารถดึงนักลงทุนให้มาร่วมขับเคลื่อนศักยภาพนี้ ด้วยตัวเลขเงินทุนมากกว่า 340 ล้านเหรียญสหรัฐ สำหรับ GrabTaxi Thailand เปิดตัวไปแล้วใน 4 หัวเมืองใหญ่ กรุงเทพฯ พัทยา เชียงราย และภูเก็ต ภายใต้การบริหารของ Director สาวไทยคนเก่ง วัย 32 ปี “จุฑาศรี คูวินิชกุล” ซึ่งเป็นเพื่อนร่วมชั้นของ Anthony ที่ Harvard Business School

3 ppl grab

บริษัท แกร็บแท็กซี่ (ประเทศไทย) จำกัด ก่อตั้งเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2013 * ด้วยทุนจดทะเบียน 15 ล้านบาท สัดส่วนการถือหุ้น 50.9993% บริษัท แกร็บแท็กซี่ โฮลดิ้ง พีทีอี จำกัด ที่บริถือหุ้น 49% (ปัจจุบันโครงสร้างการถือหุ้นมีการเปลี่ยนแปลง เนื่องจากมีการระดมทุนจำนวนมากเพื่อขยายการเติบโตของบริษัท)
* ข้อมูลจากนิตยสาร Forbes Thailand ฉบับ June 2015

นับจากนี้เรายังคงจับตาดูการเติบโตของ GrabTaxi  ในไทยอยู่อย่างต่อเนื่อง การผนวกเอาเทคโนโลยีที่อยู่ในมือ เข้าไปรวมกับระบบคมนาคมซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของผู้คนเป็นเรื่องที่เราสนใจเป็นอย่างมาก เรามองว่านี่คือการพัฒนาที่เปลี่ยนแปลงความเป็นอยู่ของคน และพัฒนาสังคมให้มีคุณภาพมากขึ้นกว่าเดิมได้ มองอีกมุมหนึ่งยังถือเป็นการสร้างความแข่งแกร่งให้ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้อีกด้วย เราเชื่อว่า GrabTaxi จะโตและไปได้อีกไกลอย่างแน่นอน

622

Source: Copyright © MarketingOops.com


  • 6
  •  
  •  
  •  
  •