หลังจาก Grab (แกร็บ) ประกาศควบรวมกิจการ Uber ในตะวันออกเฉียงใต้ในช่วงเดือนมีนาคม 2561 ที่เป็นข้อตกลงซื้อธุรกิจออนไลน์ที่มีมูลค่าสูงสุดใน SEA คุณธนินทร์ ธรียวัน กรรมการผู้จัดการใหญ่ แกร็บ ประเทศไทย ได้อัปเดทสถานการณ์ของ Grab หลังจากรวมกิจการกับ Uber ให้ฟังสั้นๆ ว่า ผลตอบรับค่อนข้างดี เพราะผู้ขับ Uber ก็ขับ Grab ด้วย ทำให้ทำงานได้สะดวกขึ้น ไม่ต้องสลับเปลี่ยนแอปฯ ไปมา
สำหรับผู้ที่เคยใช้บริการ Uber อาจคุ้นเคย UberEats บริการจัดส่งอาหารที่มีร้านอาหารอยู่ในแพลตฟอร์กว่า 1,000 ร้านทั่วกรุงเทพฯ แม้ปัจจุบันจะไม่มี UberEats แล้ว หลังจากควบรวมกิจการแกร็บได้นำร้านอาหารทั้งหมด มารวมกับร้านอาหารที่แกร็บดีลใหม่กว่า 3,000 ร้าน เปิดตัว “GrabFood” ที่รวบรวมร้านอาหารในกรุงเทพฯ เกือบ 4,000 ร้าน
GrabFood เปิดทดลองในกรุงเทพฯ ตั้งแต่ปีที่แล้ว โดยไม่มีข้อกำหนดขั้นต่ำการสั่งซื้อ โดยในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ มียอดการสั่งอาหารต่อวันเพิ่มขึ้น 4.4 เท่า หากถามว่า Grab Food เอื้อประโยชน์กับใครที่สุด แบ่งเป็น 3 ส่วน ได้แก่ พาร์ทเนอร์ผู้ขับขี่แกร็บ ที่มีรายได้เพิ่มเติมจากการส่งอาหาร จากเดิมที่แค่รับ-ส่งคน หรือเอกสาร, ร้านอาหาร ที่มีช่องทางการขายเพิ่มขึ้น เข้าถึงลูกค้ากลุ่มใหม่ๆ และได้รับประโยชน์จากการจัดโปรโมชั่นบนแอปฯ ของแกร็บ และส่วนสุดท้าย ผู้บริโภคที่มีตัวเลือกมากขึ้น
อย่างที่ทราบกันว่า ตอนนี้ธุรกิจอาหารเดลิเวอรี่ในกรุงเทพฯ มีการแข่งขันสูง การลงมาเล่นในเกมนี้จะมาตัวเปล่าไม่ได้ คุณธนินทร์ เผยว่า ด้วยความที่แกร็บทำธุรกิจในไทยมานาน ทำให้มีฐานลูกค้าอยู่แล้ว จึงเชื่อมั่นว่าแกร็บเป็นแบรนด์แข็งแกร่งในระดับหนึ่ง ซึ่งเพียงพอในการตอบสนองความต้องการในชีวิตประจำวันของผู้บริโภค ปัจจุบันแกร็บกำลังขยายพื้นที่การส่งอาหารให้ครอบคลุมทั่วทุกพื้นที่ในกรุงเทพฯ รวมถึงขยายจำนวนพันธมิตรร้านอาหารเพื่อเพิ่มเมนูในแพลตฟอร์มแกร็บฟู้ดให้มีความหลากหลายมากขึ้น
ข้อมูลที่น่าสนใจของ GrabFood
• ผู้ใช้สามารถเลือกสั่งอาหารจากร้านที่อยู่ในรัศมี 5 กิโลเมตรจากจุดที่ตนเองอยู่ได้ เพื่อความรวดเร็วในการจัดส่ง
• ในเปิดตัวทางแกร็บมีโปรโมชั่นส่งฟรีจนถึงเดือนมิถุนายน ส่วนค่าจังส่งหลังจากนี้ทางแกร็บยังไม่เปิดเผย
• มีระบบเรียลไทม์เพื่อติดตามพิกัดของผู้ขับแกร็บผ่านแอปฯ
• ในแอปฯ มีฟีเจอร์แชทเพื่อแจ้งรายละเอียดของอาหารที่ต้องการได้ท เช่น ส้มตำใส่พริก 3 เม็ด หรือข้อความอื่นๆ
• เบื้องต้นผู้ใช้ต้องชำระเงินโดยตรงกับผู้ส่ง โดยไม่มีการกำหนดมูลค่าขั้นต่ำต่อการสั่ง 1 ครั้ง
• คาดว่าในอนาคตแกร็บ จะนำฟีเจอร์ Grab Pay มาเป็นตัวช่วยในการชำระเงิน และใช้ Grab Reward ในการสะสมแต้ม
• ตั้งแต่วันที่ 21 พฤษภาคม 2561 เป็นต้นไป GrabFood จะเข้าไปอยู่ในแอปฯ ของทุกคน
• เร็วๆ นี้จะมีแอปฯ สำหรับร้านอาหารโดยเฉพาะ สำหรับให้บริการลูกค้า
เมื่อตอนฉลองการให้บริการรับส่งผู้โดยสารในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ครบ 1 พันล้านในเดือนตุลาคมปีที่แล้ว แกร็บได้ทำแบบสอบถามกับผู้บริโภคเพื่อค้นหาสิ่งที่ผู้บริโภคอยากให้แกร็บเป็นในอีก 10 ปีข้างหน้า ผู้บริโภคส่วนใหญ่ต้องการให้แกร็บเป็นแอปฯ ที่ให้บริการแบบเบ็ดเสร็จในแอปฯ เดียว เพื่ออำนวยความสะดวกในการใช้ชีวิตประจำวัน ทำให้แกร็บประกาศวิสัยทัศน์เกี่ยวกับอนาคตของเมืองอัจฉริยะ และระบบการให้บริการแบบไร้รอยต่อที่มุ่งยกระดับการใช้ชีวิตในทุกวันของผู้บริโภคผ่านเทคโนโลยี
การมาของ Grab Food เป็นหนึ่งในเป้าหมายของแกร็บที่ต้องการเป็น Everyday Apps หรือเป็น One Stop Service ที่ให้บริการครบในแอปฯ เดียว ซึ่งสอดคล้องกับวิสัยทัศน์เมืองอัจฉริยะ สร้างอนาคตสังคมแบบไร้รอยต่อ ยกตัวอย่างเช่น การใช้บริการแกร็บคาร์เพื่อเดินทางไปทำงาน สั่งอาหารเช้าพร้อมรับประทานอย่างสะดวกสบายที่บริษัทด้วยแกร็บฟู้ด ไปประชุมนอกบริษัทด้วยความรวดเร็วด้วยแกร็บไบค์ (วินมอเตอร์ไซค์) และส่งของขวัญให้คนที่รักด้วยแกร็บไบค์ (รับส่งพัสดุ เอกสาร)
ผ่าน 3 ส่วนหลัก ได้แก่
1. Transport Solutions (GrabTaxi, GrabCar, GrabBike (Win), GrabXL, GrabRent และ GrabRoddaeng)
2. Delivery Solutions (GrabBike และ GrabFood)
3. Payments/ Financial Solutions (GrabPay และ Grab Rewards)
อีกประเด็นที่น่าสนใจของแกร็บในปีนี้ เป็นเรื่องการขยายบริการ Payments/ Financial Solutions เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้ขับแกร็บ ด้วยการปล่อยเงินกู้ เนื่องจากผู้ขับแกร็บส่วนใหญ่ไม่มี Statement เงินเดือน ทำให้ไม่สามารถยื่นกู้กับธนาคารได้ แกร็บในฐานะเจ้าของแพลตฟอร์มที่รู้รายละเอียดสภาพคล่องรายได้ของผู้ขับ จึงตัดสินใจเปิดบริการดังกล่าว ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นตอนของการรออนุมัติจากแบงก์ชาติ
ข้อมูลของ Grab ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
• Grab มียอดดาวน์โหลด 95 ล้านครั้งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
• มีการให้บริการ 6 ล้านเที่ยวต่อวัน
• เปิดบริการ 209 เมือง ใน 8 ประเทศ ได้แก่ เวียดนาม, เมียร์มาร์, ฟิลิปปินส์, กัมพูชา, มาเลเซีย, อินโดนีเซีย, สิงคโปร์ และไทย
• สำหรับในประเทศไทย Grab ให้บริการใน 16 จังหวัด และในเร็วๆ นี้จะเปิดให้บริการในหัวหิน และบุรีรัมย์
• สำนักงาน Grab ในไทย มีพนักงานประมาณ 400 คน ในจำนวนนี้มีต่างชาติเพียง 3 คนเท่านั้น