สรุปให้แบบไม่ต้องรีรออะไรอีกแล้ว เพราะ Google ประกาศแล้วว่า ผู้ช่วยอัจฉริยะอย่าง Google Assistant จะพร้อมให้ใช้งานในภาษาไทย ได้ทั่วกันตั้งแต่ปลายสัปดาห์หน้า และสามารถยังใช้งานได้กับสมาร์ทโฟนทั้ง Android และ iOS แตกต่างกันก็เพียงผู้ใช้ Android สามารถกดปุ่มโฮมค้างไว้ แต่ iOS จะต้องดาวน์โหลดแอปใหม่ที่ชื่อเดียวกับฟีเจอร์ซะก่อน
คุณศารณีย์ บุญฤทธิ์ธงไชย หัวหน้าฝ่ายการตลาด ผลิตภัณฑ์สำหรับผู้บริโภค Google ประเทศไทย เล่าถึงการเปิดตัว Google Assistant เวอร์ชั่นภาษาไทยว่า “ตั้งแต่ให้บริการ Google Assistant ในปี 2016 มีอุปกรณ์มากกว่า 500 ล้านเครื่องที่สามารถใช้งานได้ ตอนนี้ Google Assistant จะพร้อมให้บริการในเวอร์ชั่นภาษาไทยแล้ว โดยจะเริ่มเปิดให้ใช้งานได้ทั้งบนระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์และไอโอเอส”
ทำไม Google เลือกพัฒนาผู้ช่วยภาษาไทย
เรื่องนี้ คุณศารณีย์ อธิบายว่า เพราะไทยเป็นประเทศที่น่าจับตามอง จากความนิยมในการใช้งานสมาร์ทโฟน จนทำให้เกิดพฤติกรรมที่เรียกว่า Mobile First และมีสัดส่วนการใช้สมาร์ทโฟนกว่า 54 ล้านเครื่อง นี่คือเหตุผลว่าทำไม Google จึงเลือกพัฒนาเวอร์ชั่นภาษาไทยออกมาเป็นเวอร์ชั่นที่ 10 หลังจากก่อนหน้านี้ได้พัฒนาภาษาอื่นๆ ไปแล้ว
ส่วนอีก 9 ภาษาที่เปิดให้บริการไปก่อนหน้านี้ ได้แก่ ภาษาอังกฤษ, อินโดนีเซีย, ฝรั่งเศส, เยอรมัน, อิตาลี, ฮินดู, ญี่ปุ่น, เกาหลี และโปรตุเกส
ใครบ้างที่จะใช้ Google Assistant ได้
สำหรับผู้ที่จะใช้งานฟีเจอร์ดังกล่าวได้ คือ ผู้ใช้สมาร์ทโฟนทั้งระบบ Android (ที่ใช้เวอร์ชั่น Lolipop หรือสูงกว่านั้น) และ iOS (ที่ใช้เวอร์ชั่น 9.1 หรือสูงกว่านั้น) แต่อย่างที่บอกไปแล้วว่าผู้ใช้สมาร์ทโฟน Android สามารถใช้งานได้ทันทีเพียงกดปุ่มโฮมค้างไว้ แต่ผู้ใช้ iOS จะต้องดาวน์โหลดแอปที่ชื่อ Google Assistant เพื่อใช้งาน
โดย Google ระบุว่าผู้ใช้สมาร์ทโฟน Android ชาวไทยกว่า 85% อยู่ในกลุ่มที่สามารถใช้งาน Google Assistant ได้อยู่แล้ว
Google Assistant รองรับกับบริการใดบ้าง
ต้องบอกว่าฟีเจอร์ดังกล่าวเป็นการพัฒนาจาก Machine Learning ภายใต้ 3 วัตถุประสงค์ คือ เข้าใจคนไทย เข้าถึงคนไทย และทำให้ชีวิตคนไทยง่าย โดยมีจุดเด่นเรื่อง Context Awareness ทำให้ Google Assistant สามารถเข้าใจภาษาไทยได้ดีขึ้น ไม่จำเป็นต้องพูดช้าๆ พูดชัดๆ หรือแม้แต่จะมีสำเนียงท้องถิ่นติดมาในประโยคก็สามารถใช้งานโต้ตอบกับผู้ช่วยสั่งงานด้วยเสียงนี้ได้ เพราะมีคนไทยเป็นส่วนหนึ่งในทีมพัฒนา เพื่อดูแลเรื่อง Grammar และ Copy Writer
ฟีเจอร์ Google Assistant ลิงก์กับบริการต่างๆ เช่น ความบันเทิงผ่าน YouTube, การเดินทางกับ Maps, การตั้งนาฬิกาปลุกและตั้งแจ้งเตือน, คุยเล่น ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นพฤติกรรมของคนไทยที่ Google สำรวจมาแล้ว พบว่าชื่นชอบและนิยมใช้เป็นอย่างมาก
ตัวอย่างประโยคที่สามารถพูดคุย/สั่งงาน Google Assistant
“อยากฟังเพลงลูกทุ่งใน YouTube” (Google Assistant ลิงก์กับแอปพลิเคชันเพลง 3 แอป คือ Google Play, YouTube, Spotify)
“ไปเยาวราชทางไหนเร็วที่สุด”
“เดินไปตลาดสามย่านยังไง”
“โดนัทมีกี่แคลอรี่” , “แล้วถั่วลิสงล่ะ”
“จับเวลา 3 นาที”
“เป้าหมายของ Google คือ เราจะพัฒนาบริการไปเรื่อยๆ ตามความต้องการของผู้บริโภค ซึ่งปีนี้ตั้งเป้าเปิดตัวให้ได้ 30 ภาษาใน 80 ประเทศ เราไม่ได้มองเรื่องของการใช้บริการข้ามค่าย ไม่ได้ตั้งเป้าหมายผู้ใช้งาน แต่เราอยากให้คนไทยได้ใช้บริการฟีเจอร์ที่เป็นประโยชน์แก่พวกเขา”
แบรนด์ที่สนใจ Google Assistant ต้องทำอย่างไร
สำหรับแบรนด์หรือนักพัฒนาที่สนใจ Google Assistant สามารถเข้าไปที่แพลทฟอร์ม Actions on Google เพื่อค้นหารายละเอียดและบริการของฟีเจอร์ดังกล่าวได้โดยตรง
ส่วนใครที่ลุ้นว่า Google Assistant จะมีเสียงให้เลือกหลากหลายหรือไม่ คงต้องบอกเลยว่า ณ ตอนนี้ Google ยังไม่มีแผนพัฒนาเสียงอื่นๆ หรือให้ศิลปิน นักแสดง มาพากษ์เสียงให้ รวมถึงใครที่ยังว่า Google จะนำฮาร์ดแวร์อย่าง Google Home หรือสมาร์ทโฟน Pixel เข้ามาจำหน่ายหรือไม่ บอกเลยว่าให้ทำใจ เพราะ Google ประเทศไทยบอกชัดๆ แล้วว่ายังไม่มีแผนการเกี่ยวกับการจำหน่ายฮาร์ดแวร์เลยจ้า
Copyright © MarketingOops.com