ดูเหมือนว่ามาตรการ Social Distancing กำลังกลายเป็นเทรนด์ในปัจจุบัน โดยเฉพาะการทิ้งระยะห่างอย่างน้อย 2 เมตร เพื่อความปลอดภัยและช่วยป้องกันการแพร่ระบาด COVID-19 แต่ดูเหมือนมาตรการดังกล่าวจะไม่เพียงพอ เพราะแม้จะอยู่กันแต่เมื่อถึงเวลาบางช่วงจังหวะก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องสัมผัสหรืออยู๋ใกล้กัน โดยเฉพาะบริการ Delivery
GrabFood ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มการสั่งอาหารผ่านแอปพลิเคชั่น Food Delivery รายใหญ่ เปิดตัวบริการการส่งอาหารรูปแบบใหม่ “ไร้การสัมผัส (Contactless Delivery)” ในช่วงการระบาด COVID-19 เพื่อลดความเสี่ยงจากการสัมผัสระหว่างลูกค้าและผู้ขับขี่ พร้อมจับมือกับร้านอาหารยกระดับการดูแลความสะอาดในทุกขั้นตอนตั้งแต่การเตรียมอาหารและภาชนะในการบรรจุอาหาร ชี้ GrabPay ช่องทางชำระเงินลดความเสี่ยงสัมผัสเชื้อโรค
ด้าน นายธรินทร์ ธนียวัน กรรมการผู้จัดการใหญ่ แกร็บ ประเทศไทย ชี้ว่า Grab ติดตามและเฝ้าระวังสถานการณ์ COVID-19 อย่างใกล้ชิด เพื่อสร้างความมั่นใจท่ามกลางสถานการณ์ดังกล่าว Grab จึงเปิดตัวบริการแบบไร้การสัมผัส (Contactless Delivery) ด้วยการเว้นระยะห่างที่เหมาะสม (Social Distancing) สอดคล้องกับการควบคุมโรคระบาดตามมาตรฐานสากล
สำหรับข้อปฏิบัติสำหรับมาตรการไร้การสัมผัสของ Grab Food โดยสรุปมีดังนี้
- ลูกค้าระบุจุดรับ–ส่งอาหาร ผ่านการส่งข้อความทางแชท
- ผู้ขับขี่ GrabFood ต้องแจ้งลูกค้าเมื่อมาถึง โดยผู้ขับขี่จะวางอาหารไว้บนกระเป๋าส่งอาหารและรอให้ลูกค้าออกมารับ โดยทิ้งระยะห่างระหว่างผู้ขับและลูกค้าอย่างน้อย 2 เมตร ซึ่งผู้ขับขี่ต้องหมั่นทำความสะอาดหรือล้างมือก่อนสัมผัสบรรจุภัณฑ์เสมอ
- ลูกค้าต้องระบุไว้ในข้อความแชท กรณีที่ลูกค้าต้องการให้ผู้ขับฝากอาหารไว้ที่หน้าประตูบ้านหรือสถานที่อื่น เช่น ล็อบบี้
- แนะนำลูกค้าเลือกวิธีชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์ ผ่าน GrabPay เพื่อลดความเสี่ยงจากการสัมผัสธนบัตร
- หากต้องชำระด้วยเงินสด แนะนำให้ลูกค้านำเงินใส่ซองและวางไว้บนกระเป๋าส่งอาหาร โดยเว้นระยะห่างอย่างน้อย 2 เมตร
นอกจากนี้ GrabFood ยังย้ำให้ร้านค้าประกอบอาหารที่สดใหม่ สะอาด และถูกสุขอนามัยในทุกขั้นตอน โดยผู้ปรุงอาหารจะต้องสวมใส่หน้ากากอนามัยทุกครั้งขณะประกอบอาหาร หมั่นล้างมือและไม่สัมผัสวัตถุดิบหรืออาหารด้วยมือเปล่า ตลอดถึงมีการดูแลรักษาความสะอาดบริการห้องครัวและพื้นที่ให้บริการอย่างสม่ำเสมอ
ไม่เพียงแต่ Grab เท่านั้นที่มีบริการแบบไร้การสัมผัส (Contactless Delivery) KFC เองมีการออกมาตรการใหม่ Contactless Delivery เช่นกัน เพื่อสร้างความมั่นใจในความปลอดภัยของอาหารและคลายความกังวลในเรื่องของการแพร่ระบาดของเชื้อโรคจากการสัมผัสกัน อีกทั้งยังช่วยอำนวยความสะดวกให้แก่ลูกค้าไม่ต้องเดินทางออกนอกบ้านหรือที่พักอาศัย
โดย นายเศกไชย ชูหมื่นไวย รองกรรมการผู้จัดการ ฝ่าย Brand Strategy and Integration เคเอฟซี ประเทศไทย บริษัท ยัม เรสเทอรองตส์ อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด ชี้ว่า สถานการณ์ COVID-19 ทำให้คนไทยระมัดระวังตัวในการดำเนินชีวิตประจำวัน KFC ร่วมเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยคลายความกังวลให้แก่ผู้บริโภค จึงได้ออกมาตรการใหม่ “Contactless Delivery” หรือบริการส่งอาหารแบบไร้สัมผัส
สำหรับข้อปฏิบัติสำหรับมาตรการไร้การสัมผัสของ KFC โดยสรุปมีดังนี้
- ขั้นตอนการสั่ง – เมื่อสั่งอาหารผ่านเว็บไซต์ kfc.co.th หรือแอปพลิเคชัน KFC Thailand ลูกค้าต้องระบุความต้องการใช้บริการ Contactless และชำระเงินด้วยบัตรเครดิตหรือ Rabbit Line Pay เท่านั้น
- ขั้นตอนการบรรจุ – พนักงานร้านผู้ดูแลออร์เดอร์เป็นคนจัดอาหาร บรรจุและตรวจคุณภาพอาหาร ก่อนผูกมัดถุง และนำอาหารจัดใส่กระเป๋าขนส่งของพนักงานจัดส่ง
- ขั้นตอนการส่ง – พนักงานส่งอาหารเมื่อเดินทางถึงจุดหมาย พนักงานจะโทรหาลูกค้าแล้วเรียนเชิญลูกค้าหยิบถุงบรรจุอาหารออกจากกระเป๋าจัดส่งเอง โดยพนักงานส่งจะยืนเว้นระยะห่างอย่างน้อย 2 เมตร
ทั้งนี้ การปรุงอาหารของ KFC มีความปลอดภัยสูงและเป็นมาตราฐานปฏิบัติทั่วโลก โดยไก่ทอดต้องผ่านความร้อนสูงกว่า 100 องศา โดยมีการจัดเก็บในตู้ที่อุณภูมิ 60 องศาขึ้นไป และใช้ที่คีบในการหยิบอาหารทุกชิ้น และบรรจุอาหารโดยพนักงานที่ผ่านการคัดกรองแล้ว จึงมั่นใจได้ว่าอาหารจาก KFC จะส่งตรงจากครัวถึงลูกค้า โดยไม่ผ่านมือพนักงานส่งแม้แต่น้อย
แม้จะเป็นมาตรการที่ดูเหมือนจะยุ่งยาก เพราะต้องมีการวางสินค้าแล้วให้ลูกค้าเดินมาหยิบเอง ฉะนั้นการขอให้พนักงานขึ้นไปส่งถึงบนห้องพักอาจทำไม่ได้แล้ว และจะโทษว่าพนักงานให้บริการไม่ดีเหมือนที่ผ่านๆ มาไม่ได้เช่นกัน แต่ก็จำเป็นต้องทำเพื่อความปลอดภัยทั้งลูกค้าและพนักงาน