ช่วงสุดสัปดาห์นี้ถือเป็นความวุ่นวายระดับน้องๆ น้ำท่วมกรุงเทพฯ เมื่อมีประกาศผู้ว่าฯ กทม. จนส่งผลกระทบทางด้านจิตวิทยาและก่อให้เกิดการกักตุนสินค้า ทั้งที่ประกาศของผู้ว่าฯ กทม.ชัดเจนว่า ส่วนที่เกี่ยวกับอาหาร ซูเปอร์มาร์เก็ตและร้านสะดวกซื้อไม่มีการปิดแต่อย่างใด แต่ขอให้ไม่มีการนั่งกินที่ร้านเท่านั้น สามารถเข้าไปที่ร้านซื้อกลับบ้านหรือสั่ง Delivery ได้
ไม่เพียงแค่เรื่องของการกักตุนสินค้าเท่านั้น แต่ข่าวลือต่างๆ ยังส่งผลต่อตลาดการเงิน โดยเฉพาะส่งผลต่อด้านจิตวิทยา ซึ่งนักลงทุนเองก็ตื่นตระหนกง่ายเช่นเดียวกัน ส่งผลให้เกิดการเทขายหน่วยลงทุนของธนาคารพาณิชย์ทิ้ง ทั้งที่ยังไม่มีสัญญาณความเสี่ยงหรือแนวโน้มที่หน่วยลงทุนจะลดลง แต่นักลงทุนเกรงว่าเมื่อถึงเวลาที่ขายหน่วยลงทุนคืนพร้อมกันทั้งตลาด ธนาคารจะไม่มีเงินจ่ายคืนนักลงทุน ส่งผลให้ตลาดหุ้นเกิดการผันผวน
ทำให้กระทรวงการคลัง, ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.), คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.), สมาคมธนาคารไทย และสมาคมบริษัทจัดการลงทุน สรุปมาตรการทางด้านการเงินเพื่อรองรับสถานการณ์ CoVID-19 โดยคาดว่าส่งผลกระทบต่อตลาดการเงินจะเกิดขึ้นในช่วงเปิดตลาดหลักทรัพย์วันจันทร์นี้ โดยทั้ง 4 หน่วยงานได้ออกมาตรการรองรับไว้ดังนี้
ธปท. เล็งเติมสภาพคล่อง พร้อมออก 3 มาตรการรองรับสร้างความเชื่อมั่น
โดย นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ยืนยันถึงความเชื่อมั่นทางด้านการเงินว่า ธนาคารพาณิชย์ในประเทศไทยมีเงินกองทุนที่มั่นคงและมีสภาพคล่องอยู่ในระดับสูงกว่าช่วงวิกฤตต้มยำกุ้งปี 2540 หากแต่ในช่วงที่ผ่านมากลไกของตลาดผิดพลาด ทำให้มูลค่าการเสนอซื้อและเสนอขายหุ้นไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง โดยในช่วงที่ผ่านมา ธนาคารแห่งประเทศไทยได้เข้าซื้อพันธบัตรกว่า 1 แสนล้านบาท เพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้ตลาดการเงิน
นอกจากนี้ธนาคารแห่งประเทศไทยยังได้ลดอัตราดอกเบี้ยเหลือ 0.75% ซึ่งต่ำสุดในประวัติศาสตร์ทางการเงินของไทย และธนาคารแห่งประเทศไทยยังเตรียมความพร้อมในการเข้าซื้อพันธบัตรเพิ่มเติม หากสถานการณ์ยังคงผันผวนอย่างต่อเนื่อง เพื่อเสริมสภาพคล่องเข้าไปในระบบการเงิน
ทั้งนี้ธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นห่วงในเรื่องของตราสารหนี้ภาคเอกชนและกองทุนรวมตราสารหนี้มากกว่า โดยในช่วงที่ผ่านมาปรากฏว่า มีนักลงทุนบางรายเร่งขายกองทุนรวมตราสารหนี้บางกองทุน ทั้งที่ยังเป็นกองทุนที่ดีและยังมีสินทรัพย์ดีอยู่ โดยไม่มีสัญญาณความเสี่ยงใดๆ ที่จะทำให้มูลค่าหรือสินทรัพย์ของกองทุนลดลงเกิดขึ้น
เพื่อเป็นการป้องกัน ธนาคารแห่งประเทศไทยจึงได้ออกมาตรการ 3 ด้าน เพื่อเฝ้าระวังการขายกองทุนไว้ดังนี้
– ธนาคารแห่งประเทศไทยจัดตั้งกลไกพิเศษผ่านธนาคารพาณิชย์ โดยให้ธนาคารพาณิชย์เข้าซื้อกองทุนรวมตราสารหนี้ที่เป็นสินทรัพย์คุณภาพดี ยังไม่มีสัญญาณความเสี่ยง สามารถนำหน่วยลงทุนดังกล่าวไปเป็นหลักประกันเพื่อขอสภาพคล่องกับธนาคารแห่งประเทศไทยได้ ซึ่งกองทุนตราสารหนี้ที่มีสินทรัพย์คุณภาพดีเหล่านี้จะมีมูลค่ารวมกันทั้งหมดกว่า 1 ล้านล้านบาท
– ธนาคารแห่งประเทศไทยจะช่วยเหลือตราสารหนี้ภาคเอกชนที่ครบกำหนด และต้องการต่ออายุ (Rollover) โดยจะมีการจัดตั้ง “กองทุนเสริมสภาพคล่อง” ที่มีสมาคมธนาคารไทย, ธนาคารออมสิน, บริษัทประกันชีวิตต่างๆ และกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) เป็นผู้จัดตั้งกองทุน โดยให้กองทุนฯ นี้เข้าซื้อตราสารหนี้ในมูลค่า 70,000-100,000 ล้านบาท หากบริษัทเอกชนไม่สามารถต่ออายุ (Rollover) ได้ กองทุนฯ นี้จะเข้าไปช่วยเติมสภาพคล่องเพื่อสร้างความมั่นใจว่า บริษัทเอกชนเหล่านี้สามารถต่ออายุหุ้นกู้ได้
– ตลาดพันธบัตรรัฐบาล ซึ่งปกติจะเป็นตัวกำหนดอัตราดอกเบี้ยอ้างอิง แต่จากสถานการณ์ในปัจจุบันสภาพคล่องในระบบการเงินโลกมีความผันผวนมาก ธนาคารแห่งประเทศไทยจึงดูแลให้ตลาดพันธบัตรสามารถดำเนินการได้ตามกลไกตลาดอย่างมีประสิทธิภาพ หากมีสภาพคล่องไม่เพียงพอ ธนาคารแห่งประเทศไทยจะเข้าไปเพิ่มสภาพคล่องทันที หากอัตราดอกเบี้ยพันธบัตรมีความผันผวน จะส่งผลกระทบต่อหุ้นกู้ประเภทอื่นๆ ด้วย
ก.ล.ต.หนุน Work from Home อนุญาตใช้เทคโนโลยีการประชุม
ในส่วนของ นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ชี้ว่า การจัดประชุมผู้ถือหุ้นช่วงสถานการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ หากบริษัทจดทะเบียนไม่สามารถจัดประชุมผู้ถือหุ้นสามัญประจำปีได้ตามกำหนดเวลา สามารถทำหนังสือขอผ่อนผันมาที่ กลต.ได้ หรือหากสามารถประชุมทางไกล ผ่าน Video Conference ในช่วงตอนโหวตลงคะแนนสามารถใช้วิธีการขานเสียงผ่านหน้าจอได้
สำหรับการจัดทำงบการเงิน กลต.ได้ขอความร่วมมือให้ทางสภาวิชาชีพบัญชีผ่อนผันมาตรการทางบัญชีให้กับบริษัทจดทะเบียน นอกจากนี้ยังพบว่าบริษัทจดทะเบียนส่วนใหญ่ได้ดำเนินการมาตรการ Work from Home ทำให้ไม่มีปัญหาในเรื่องความต่อเนื่องในการทำธุรกิจ
คนแห่ขายหน่วยลงทุนตื่นสถานการณ์ แนะแบกรับความเสี่ยงถ้าคิดจะเทขาย
โดย นายปรีดี ดาวฉาย ประธานกรรมการสมาคมธนาคารไทย เห็นว่า ในสถานการณ์เช่นนี้ ผู้ซื้อกองทุนไม่จำเป็นต้องตระหนกตกใจรีบขายกองทุนทิ้ง เนื่องจากมีมาตรการที่ช่วยให้ธนาคารพาณิชย์รับซื้อหน่วยลงทุน และสามารถซื้อคืนได้ทั้งหมดโดยไม่เกิดปัญหา แต่หากธนาคารพาณิชย์ใดที่ยังมีเงินไม่พอซื้อหน่วยลงทุนคืน สามารถกู้เงินจากธนาคารแห่งประเทศไทยเพื่อมาซื้อหน่วยลงทุนคืนได้ แต่ในเรื่องของราคาที่มาขายคืนนั้น นักลงทุนต้องยอมรับถึงการด้อยค่าลงในช่วงสถานการณ์ที่ไม่ปกติ
โดยในปัจจุบันกองทุนที่มีสินทรัพย์คุณภาพดียังไม่เกิดปัญหาใดๆ หรือพบสัญญาณความเสี่ยงใดๆ หากแต่ในช่วงที่ผ่านมามีความตระหนกลของนักลงทุน จนส่งผลให้เกิดการเทขายหน่วยลงทุนของนักลงทุนพร้อมๆ กัน ส่งผลให้ราคาหน่วยลงทุนตกลง
ย้ำนักลงทุนอย่าตื่นเทขาย ยังไม่ปรากฎสัญญาณความเสี่ยง
นายวศิน วณิชย์วรนันต์ นายกสมาคมบริษัทจัดการลงทุน มั่นใจว่า ผู้จัดการกองทุนในปัจจุบันมีมาตรฐานที่ดี สินทรัพย์ที่อยู่ในกองทุนรวมทั้งหมดก็เป็นรูปแบบการลงทุน ไม่มีปัญหาเรื่องคุณภาพใดๆ หากแต่ตอนนี้ผู้ถือหน่วยลงทุนอาจจะตกใจว่า จะมีการผิดนัดชำระหนี้จากการขายคืนหน่วยลงทุน จริงๆ แล้วยังไม่มีสัญญาณในการติดค้างชำระใดๆ มีแค่ว่าตอนนี้ทุกคนมาแย่งกันขายพร้อมๆ กันเท่านั้น จนก่อให้เกิดความตระหนกระแวงว่าจะผิดนัดชำระหนี้จากการขายคืนหน่วยลงทุน