การเลือกตั้งของไทย ที่ถูกกำหนดให้มีขึ้นในวันที่ 24 มีนาคมนี้ ‘โซเชียล มีเดีย’ กลายเป็นสื่อที่ถูกจับตามองว่า จะเข้ามามีบทบาทสำคัญในการหาเสียงของพรรคการเมืองและผู้สมัครรับเลือกตั้งครั้งนี้ โดยเฉพาะการเข้าถึงคนรุ่นใหม่
สำหรับ ‘Fackbook’ ที่ปัจจุบันมีผู้ใช้ในบ้านเราถึง 52 ล้านคน ทาง เคธี ฮาร์บาธ ผู้อำนวยการฝ่ายการเมืองระดับโลกและการประสานงานภาครัฐ ได้ออกมาเปิดเผยว่า การปกป้องความโปร่งใสในการนำเสนอข่าวสารและข้อมูลในช่วงเลือกตั้ง พร้อมกับการให้ผู้คนสามารถแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการเลือกตั้งได้นั้นเป็นหนึ่งในสิ่งสำคัญอันดับแรกของ Facebook พร้อมกับแจงถึง 5 มาตรการที่จะมี เพื่อดูแลเนื้อหาช่วงเลือกตั้งของไทย ประกอบด้วย
1. กวาดล้างบัญชีผู้ใช้ปลอม (Cracking Down On Fake Accounts)
Facebook มีทีมงานกว่า 30,000 คนที่ทำหน้าที่ดูแลความปลอดภัยและการรักษาข้อมูลในทุกๆ ส่วนของบริษัท ซึ่งเป็นจำนวนที่มากกว่าปี 2560 ถึงสามเท่า นอกจากนี้ ยังได้พัฒนาความสามารถของระบบอัตโนมัติที่ใช้ในการตรวจสอบเนื้อหา (Machine Learning) ซึ่งทำให้ค้นหาและกำจัดพฤติกรรมที่ฝ่าฝืนนโยบายของเราได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
รวมถึงการดำเนินงานเพื่อต่อสู้กับพฤติกรรมที่มีการร่วมมือกันเพื่อหลอกลวง โดยได้ผสมผสานการใช้เทคโนโลยีและผู้เชี่ยวชาญในการตรวจสอบ เพื่อค้นหาและดำเนินการกับเครือข่ายที่ดำเนินการด้วยกลยุทธ์กลลวงต่างๆ ที่ซับซ้อน
แม้การดำเนินงานด้านนี้จะเป็นกรอบการทำงานระดับโลก แต่ได้ปรับการทำงานให้เหมาะสมกับแต่ละประเทศ ซึ่งเป็นไปตามการวิจัยและการประเมินภัยคุกคามที่เกิดขึ้นหลายเดือนก่อนที่การลงคะแนนเสียงเลือกตั้งจะเกิดขึ้น
2. ลดการแพร่กระจายของข่าวปลอม (Reducing The Distribution Of False News)
การดำเนินงานในส่วนนี้ จะใช้กรอบการทำงาน 3 ส่วนเพื่อพัฒนาคุณภาพและความจริงของเรื่องราวบน News Feed อันดับแรก คือ จะลบเนื้อหาที่ฝ่าฝืนนโยบายมาตรฐานชุมชนของเรา ซึ่งช่วยเสริมความปลอดภัยและปกป้องข้อมูลต่างๆ บนแพลตฟอร์ม
สำหรับเนื้อหาที่ไม่ได้ฝ่าฝืนนโยบายมาตรฐานชุมชนโดยตรง แต่ยังคงส่งผลกระทบในด้านความน่าเชื่อถือของเนื้อหาที่นำเสนอ เช่น เนื้อหาที่ล่อลวงให้คลิก (clickbait) หรือเนื้อหาเชิงกระตุ้นอารมณ์ความรู้สึก จะลดการเผยแพร่บน News Feed เพื่อให้ผู้คนเห็นเนื้อหาเหล่านั้นน้อยลง อันดับสุดท้าย เป็นการให้ข้อมูลกับผู้คน
โดยในไตรมาสที่ 3 ประจำปี 2018 Facebook ได้ปิดบัญชีปลอมจำนวน 754 ล้านบัญชี ซึ่งบัญชีส่วนใหญ่มาจากการโจมตีแบบสแปม ที่มีแรงจูงใจในการแสวงหาผลกำไร
3. ความโปร่งใสที่เพิ่มมากขึ้นสำหรับโฆษณาทุกประเภท (Making Advertising More Transparent)
ปัจจุบันผู้คนสามารถดูโฆษณาใดๆ ที่เพจกำลังดำเนินการอยู่ได้แล้ว ซึ่งจะอยู่ในแท็บ “ข้อมูลและโฆษณา” บนเพจนั้นๆ ไม่ว่าโฆษณาชิ้นนั้นจะเป็นโฆษณาประเภทใดก็ตาม รวมถึงโฆษณาที่เกี่ยวกับการเลือกตั้ง โดยสามารถรายงานโฆษณาด้วยการกดไปที่สัญลักษณ์สามจุดซึ่งอยู่ที่มุมขวาด้านบน และกดเลือก
“รายงานโฆษณา” แท็บดังกล่าวยังให้ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับเพจ เช่น วันที่เพจถูกก่อตั้งและชื่อเพจที่เคยใช้ก่อนหน้านี้ ช่วยให้ผู้คนเข้าใจถึงวัตถุประสงค์ในการก่อตั้งเพจนั้นๆ ได้ดียิ่งขึ้น
4. ยับยั้งการแสดงพฤติกรรมไม่เหมาะสมบนแพลตฟอร์ม (Disrupting Bad Actors)
ความพยายามในการตรวจสอบพฤติกรรมเสี่ยงและการแทรกแซงที่เกิดขึ้นจากต่างประเทศ เช่น เพจที่แสดงเนื้อหาเกี่ยวกับการเลือกตั้งในไทย แต่แอดมินกลับอยู่ในต่างประเทศ ฯลฯ นอกจากนี้ Facebook ยังได้มีการขยายข้อบังคับเป็นการชั่วคราวในการไม่อนุญาตให้มีการโฆษณาเกี่ยวกับการเลือกตั้งที่มาจากต่างประเทศมาแสดงในไทย ตั้งแต่ช่วงก่อนเลือกตั้งไปจนถึงวันเลือกตั้ง คาดว่า การควบคุมนี้จะมีผลตั้งแต่ช่วงกลางเดือนกุมภาพันธ์เป็นต้นไป
ข้อบังคับดังกล่าว จะบังคับใช้กับโฆษณาเกี่ยวกับการเลือกตั้งที่มาจากผู้โฆษณา ซึ่งอาศัยอยู่นอกไทย โดยการควบคุมในครั้งนี้ยังรวมถึงโฆษณาที่เราค้นพบว่ามีที่มาจากหน่วยงานต่างประเทศ ซึ่งมีลักษณะที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง เช่น การอ้างอิงถึงนักการเมืองหรือพรรคการเมือง คำพูดเชิญชวนให้ลงคะแนนเสียง การขัดขวางการเลือกตั้ง ตลอดจนโฆษณาสโลแกนทางการเมืองและโลโก้ของพรรคการเมืองอีกด้วย
5. สนับสนุนการให้ข้อมูลในช่วงเลือกตั้ง (Supporting An Informed Electorate)
มาตรการนี้ จะเป็นไปในรูปแบบการทำงานร่วมกันกับองค์กรอื่นๆ หรือเรียนรู้จากรัฐบาลในแต่ละประเทศ เพื่อช่วยให้ผู้ใช้รับข้อมูลข่าวสารอย่างมีวิจารณญาณมากขึ้น ก่อนจะกดแชร์ต่อหรือแสดงความคิดเห็น โดยการสนับสนุนของ Facebook ในช่วงเลือกตั้ง เช่น การให้ข้อมูลเกี่ยวกับการเลือกตั้ง , วันที่เลือกตั้ง รวมไปถึงการกระตุ้นให้คนออกไปใช้สิทธิ์และชวนเพื่อนออกไปเลือกตั้ง เป็นต้น