ยุโรปขยับตัวแล้ว เตรียมผุดโรงงานแบตเตอรี่สำหรับรถยนต์ไฟฟ้ารองรับการเลิกใช้รถยนต์น้ำมันในปี 2035

  • 864
  •  
  •  
  •  
  •  

อย่างที่ทราบว่า ยุโรปเป็นกลุ่มประเทศแรกที่มีแนวคิดและออกกฎเกณฑ์ในการนำรถยนต์ไฟฟ้าเข้ามาทดแทนรถยนต์ใช้น้ำมันทั้งหมดแบบ 100% ในปี 2035 ซึ่งเป็นการชี้เทรนด์ของอุตสาหกรรมยานยนต์ในอนาคตทั่วโลก แต่รถยนต์ไฟฟ้าเองก็มีอุปกรณ์ส่วนควบที่สำคัญ ซึ่งแตกต่างจากรถยนต์ใช้น้ำมันทั่วไป โดยเฉพาะแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนขนาดใหญ่ ซึ่งถือเป็นแหล่งพลังงานหลักของรถยนต์ไฟฟ้า

โดยปัจจุบันแหล่งผลิตแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนขนาดใหญ่อยู่ในภูมิภาคเอเชียเป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นจีน เกาหลีใต้และญี่ปุ่น ซึ่งการนำเข้าแบตเตอรี่ดังกล่าวมาจากเอเชีย จะส่งผลให้ราคารถยนต์ไฟฟ้าในยุโรปที่ถือว่าเป็นฐานการผลิตมีราคาสูงมาก ทั้งจากน้ำหนักและรูปแบบการขนส่ง ส่งผลให้คณะกรรมาธิการยุโรปมีแนวคิดที่จะผลิตแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนของตัวเอง เพื่อลดการนำเข้าและลดต้นทุนในกระบวนการผลิต

สอดรับกับแนวคิดของผู้ผลิตหลายราย ไม่ว่าจะเป็น Daimler ของเยอรมนีที่เตรียมขยายแพลตฟอร์มสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าเท่านั้น โดยมีแผนเปลี่ยนเป็นรถยนต์ไฟฟ้าอย่างเต็มรูปแบบตั้งแต่ปี 2030 โดย Daimler มีแผนจะลงทุน 4 หมื่นล้านยูโร หรือ 4.7 หมื่นล้านดอลลาร์ในการสร้างโรงงาน 38 แห่งในยุโรปที่สามารถผลิตแบตเตอรี่ได้ 1,000 กิกะวัตต์ต่อชั่วโมงต่อปี ซึ่งเพียงพอที่จะใช้กับรถยนต์ได้ 16.7 ล้านคัน

นอกจากนี้ Daimler จะสร้างโรงงานแบตเตอรี่ 8 แห่งทั่วโลกสำหรับรถยนต์ Mercedes-Benz และ Smartcar ขณะที่ Volkswaken ผู้ผลิตรถยนต์สัญชาติเยอรมันอีกรายก็กำลังพยายามสร้างโรงงานผลิตแบตเตอรี่ 5 แห่ง ทางด้าน Northvolt ผู้ผลิตแบตเตอรี่ของสวีเดนกำลังก่อสร้างโรงงานเพื่อผลิตแบตเตอรี่ที่มีกำลังการผลิตรวม 150 กิกะวัตต์ชั่วโมงภายในปี 2030

ขณะที่กลุ่ม Stellantis ซึ่งประกอบไปด้วยค่ายรถยนต์ 12 แบรนด์ เช่น Fiat, Chrysler, Jeep และ Peugeot เป็นต้น วางแผนที่จะสร้างโรงงานแบตเตอรี่ 5 แห่งในยุโรปและอเมริกาเหนือ ด้าน Tesla คาดว่าจะเปิด “gigafactory” โรงงานประกอบแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนและรถยนต์ไฟฟ้าแห่งแรกในยุโรปใกล้กรุงเบอร์ลินในปลายปีนี้ ซึ่งมีกำลังการผลิต 250 กิกะวัตต์ชั่วโมงในปี 2030

ไม่เพียงเท่านี้ผู้ผลิตแบตเตอรี่จากภูมิภาคเอเชียก็พร้อมสร้างโรงงานแบตเตอรี่ในภูมิภาคยุโรปด้วยเช่นกัน อย่าง Envision AESC ของจีนกำลังร่วมมือกับ Nissan และ Renault เพื่อสร้างโรงงานผลิตแบตเตอรี่ในสหราชอาณาจักรและฝรั่งเศส ขณะที่บริษัทเกาหลีใต้อย่าง LG Chem และ SKI มีโรงงานผลิตแบตเตอรี่ในโปแลนด์และฮังการี ส่วน CATL ของจีนกำลังสร้างโรงงานผลิตแบตเตอรี่แห่งหนึ่งในเยอรมนี

สำหรับประเทศไทยอาจไม่จำเป็นต้องไปสร้าง โรงงานผลิตแบตเตอรี่ในยุโรป แต่ประเทศไทยสามารถส่งชิ้นส่วนอะไหล่อื่นๆ ที่เป็นส่วนควบในรถยนต์ไฟฟ้าเข้าไปขายในภูมิภาคยุโรปได้ ด้วยราคาที่ถูกกว่าและคุณภาพที่ใกล้เคียงกัน หรือจะเก็บไว้ขายในประเทศก็ได้เนื่องจากค่ายรถยนต์ในยุโรปหลายค่ายก็มีฐานการผลิตและประกอบในประเทศไทยด้วยเช่นกัน

 

Source: Japan Today


  • 864
  •  
  •  
  •  
  •  
Gigolo
เมื่อเทคโนโลยีอยู่ใกล้กับชีวิตทุกคน มารู้เท่าทันเทคโนโลยีเพื่อใช้มัน แต่อย่าให้เทคโนโลยีมันใช้เรา