ใกล้วันสิ้นสุดระยะสัมปทานคลื่นความถี่ 850 MHz เข้าไปเรื่อยๆ ในขณะที่การประมูลคลื่นความถี่ 900 MHz ก็ยังไม่มีวี่แววจะประมูลได้ประสบผลสำเร็จ อันเนื่องมาจากข้อกำหนดของผู้ชนะที่ดูเหมือนจะได้คลื่นใหม่มาแบบทุกขลาภ ขณะที่มาตรการเยียวยาลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากการสิ้นสุดสัมปทาน โดย dtac ในฐานะผู้รับสัมปทานและ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือ CAT ในฐานะเจ้าของคลื่นความถี่ ได้เสนอให้กับคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) แต่ยังไม่มีความชัดเจน
เพราะการสื่อสารเป็นสิ่งสำคัญทั้งในรูปแบบเสียง (Voice) และในรูปแบบดาต้า (Non-Voice) ซึ่งการสื่อสารในปัจจุบันจำเป็นต้องใช้คลื่นความถี่ ในขณะที่ผู้ให้บริการอย่าง dtac กำลังจะสิ้นสุดระยะเวลาสัมปทานคลื่นความถี่ 850 MHz ที่เป็นคลื่นในกลุ่ม Low Band มีขอบเขตการกระจายสัญญาณครอบคลุมพื้นที่เป็นบริเวณกว้าง การสิ้นสุดระยะเวลาสัมปทานหมายความว่า ผู้ที่ใช้งานคลื่นความถี่ดังกล่าวจะไม่มีคลื่นความถี่ที่ใช้ในการสื่อสารซึ่งจะได้รับผลกระทบไปเต็มๆ
เพื่อให้การสื่อสารยังคงสามารถดำเนินต่อไปได้อย่างต่อเนื่องแบบไม่มีสะดุด dtac จึงได้ออกประกาศมาตรการคุ้มครองลูกค้าเพื่อบรรเทาผลกระทบหลังสิ้นสุดสัมปทาน โดยขั้นแรก dtac ได้จัดเตรียมเจ้าหน้าที่ Call Center เพื่อทำการติดต่อไปยังผู้ใช้บริการของ dtac ที่ได้รับผลกระทบตรง เพื่อให้ดำเนินการแก้ไขตามที่ dtac ได้วางมาตรการมาตรการคุ้มครองลูกค้าเพื่อบรรเทาผลกระทบหลังสิ้นสุดสัมปทานไว้
ซึ่งจะแบ่งผู้ใช้บริการที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ครั้งนี้ไว้ 3 ระดับ ทั้งในกลุ่มที่ใช้ซิมจดทะเบียนกับ dtac ภายใต้สัญญาสัมปทานหากใช้งานไม่ได้ dtac จะติดต่อผู้ใช้บริการให้มาเปลี่ยนเป็นซิม DTN เพื่อให้สามารถยังคงใช้งานคลื่นความถี่ High Band ได้ โดยสามารถเช็คสถานะซิมที่ใช้งานอยู่ว่ายังเป็นซิมในระบบสัมปทานหรือไม่ด้วยการกด *444# แล้วโทรออก และสามารถเปลี่ยนซิมใหม่ฟรีพร้อมข้อเสนอมือถือราคาพิเศษ
กลุ่มที่ใช้มือถือปุ่มกดหรือฟีเจอร์โฟนที่รองรับคลื่น 1800MHz และจดทะเบียนซิมของ DTN โดยกลุ่มนี้จะได้รับข้อเสนอมือถือราคาพิเศษที่รองรับการใช้งานคลื่นดีแทคเทอร์โบ 2300MHz และกลุ่มที่อยู่บางพื้นที่ที่คลื่น 850MHz ครอบคลุมและจะเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการซิมดับ โดยจะได้รับข้อเสนอการใช้งานดาต้าและโทรฟรีทั้งลูกค้าพรีเพดและโพสต์เพด
เนื่องจากใกล้สิ้นสุดการอนุญาตสัมปทาน แต่ยังไม่มีความชัดเจนจาก กสทช. ดังนั้น dtac จึงจำเป็นต้องดำเนินการโดยยึดถือผลประโยชน์ของผู้ใช้บริการเป็นหลัก ด้วยการยื่นคำฟ้องต่อศาลปกครอง เพื่อขอให้ศาลพิจารณาคุ้มครองเพื่อให้ผู้ใช้บริการในเครือข่าย dtac ยังคงสามารถใช้งานได้อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ใช้งานโรมมิ่งบนคลื่นความถี่ 850 MHz
ปัจจุบัน dtac เหลือลูกค้าในระบบสัมปทานกับ CAT จำนวน 340,000 ราย และกลุ่มลูกค้าดีแทค ไตรเน็ตที่ใช้งานโรมมิ่งบนคลื่นความถี่ 850 MHz อีกมากกว่า 1 ล้านราย
สำหรับแผนแก้ปัญหาระยะยาว dtac ได้เร่งขยายพื้นที่ให้บริการคลื่นดีแทคเทอร์โบ 2300MHz อย่างต่อเนื่อง รวมไปถึงยังได้เร่งขยายโครงข่าย 2100MHz เพื่อทดแทนการใช้งานคลื่น 850MHz นอกจากนี้มาตรการเยียวยาฯ ของทาง dtac ยังได้รวมถึงการเพิ่มระยะเวลาชำระค่าบริการให้ยาวนานมากขึ้น และลดราคาค่าบริการในกรณีที่ผู้ใช้บริการได้รับผลกระทบครั้งนี้ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ผู้ใช้งาน รวมไปถึงการเพิ่มสิทธิประโยชน์ในส่วนของ dtac reward ให้มากขึ้น
ทั้งหมดนี้คือมาตรการที่ dtac เตรียมออกมาเพื่อรองรับกับวิกฤติการณที่จะเกิดขึ้น เมื่อถึงระยะเวลาสิ้นสุดสัมปทานโดยที่ยังไม่มีการกำหนดระยะเวลาในการเยียวยาจากหน่วยงานราชการ dtac ได้ตระหนักถึงผลเสียหาย หากปล่อยให้เกิดวิกฤติการณ์ “ซิมดับ” ขึ้น โดยเฉพาะในแง่ธุรกิจ เศรษฐกิจที่ในปัจจุบันที่การนำซิมไปใส่ในเครื่องจักรขนาดใหญ่ เพื่อให้สามารถทำงานได้ในแบบอัตโนมัติผ่านคลื่นความถี่ 850 MHz