หากจะบอกว่าช่วงเวลานี้เป็นยุคทองของการทำธุรกิจคงไม่ผิด เพราะในช่วงที่ผ่านมาเรามักจะคุ้นเคยกับคำว่า Startup การเริ่มต้นธุรกิจด้วยตัวเอง เมื่อพูดถึงต้นแบบของสตาร์อัพคงหนีไม่พ้น Steve Jobs, Mark Zuckerberh หรือ Elon Musk ซึ่งพวกเขาเหล่านี้เป็นผู้ที่เปลี่ยนแปลงโลกด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยี ด้วยเหตุนี้ทำให้ธนาคารหลายแห่งเริ่มก่อตั้ง Venture Capital เพื่อลงทุนในธุรกิจสตาร์ทอัพ
ซึ่งการลงทุนของธนาคารจึงมาในรูปแบบที่เรียกว่า FinTech หรือ Financial Technology คือ การนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ในธุรกิจการเงิน ซึ่งเป็นเรื่องที่อยู่ใกล้ตัวเราทั้งสิ้น อาทิ การใช้ตู้ ATM, Mobile Payment, การโอนเงิน, ระดมทุน, การจัดการทรัพย์สิน ฯลฯ
FinTech จึงเป็นการประยุกต์เทคโนโลยีเข้าสู่การทำธุรกิจและธุรกรรมทางการเงิน เป็นความร่วมมือระหว่างผู้ประกอบการ และสถาบันการเงินที่ได้ทำข้อตกลงร่วมกันไว้ จุดเด่นของ FinTech อยู่ที่ความง่าย สะดวก รวดเร็ว ไม่ยุ่งยาก ไม่ซับซ้อน และไม่ผูกขาด ทำให้ FinTech ได้รับความนิยมอย่างมากในต่างประเทศ สำหรับในประเทศไทยสตาร์ทอัพที่ทำเรื่องนี้ถือว่ายังน้อย และเป็นเรื่องใหม่สำหรับผู้บริโภคชาวไทย
เมื่อเริ่มมีกระแสของ FinTech เข้ามา สถาบันการเงินต่างๆ ก็อยู่นิ่งไม่ได้ ล่าสุด ธนาคารไทยพาณิชย์ หรือ SCB ได้ประกาศเปิดตัว บริษัท ดิจิทัล เวนเจอร์ จำกัด (Digital Ventures) อย่างเป็นทางการ ภายใต้แนวคิด “Forwarding FinTech” โดยต้องการเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมธนาคารผ่านการลงทุนและการค้นคว้านวัตกรรมใหม่ๆ รวมถึงการสนับสนุนผู้ประกอบการไทยที่มีความสามารถให้เติบโตร่วมไปกับธนาคารไทยพาณิชย์ โดยเริ่มความพร้อมด้วยการลงทุนในบริษัท Startup ระดับโลก การเปิดตัว DV Accelerator และการเปิด Bank Simulation Platform สำหรับทดลองไอเดียใหม่ๆ จากสามหน่วยงานหลักของบริษัท
การเปิดตัวบริษัทใหม่ในครั้งนี้ ได้ คุณธนา เธียรอัจฉริยะ มาดำรงตำแหน่งประธานกรรมการบริหาร บริษัท ดิจิทัล เวนเจอร์ส จำกัด โดยมีภารกิจสำคัญ คือการเข้าไปมีส่วนร่วมในโลกแห่ง FinTech ในรูปแบบต่างๆ เพื่อสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ที่จะตอบสนองธนาคารและผลักดันผู้ประกอบการรายใหม่ที่จะเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้ดีขึ้น ผ่าน 3 สิ่งที่บริษัทฯ จะมอบให้สตาร์ทอัพไทย คือ เงินลงทุน ความรู้ และเทคโนโลยี
นอกจากนี้ ภายในงานยังได้เปิดตัว 3 ผู้บริหารที่จะเข้ามาดูแล 3 ส่วนธุรกิจหลักของดิจิทัล เวนเจอร์ส
หน่วยงานทุนองค์กร (Corporate Venture Capital)
หน่วยงานทุนองค์กร โดยมี คุณพลภัทร อัครปรีดี Managing Director, Corporate Venture Capital ที่จะทำหน้าที่เป็นผู้ดูแล ศึกษาและทำความเข้าใจเทคโนโลยี และตัดสินใจในการลงทุน โดยมีเงินทุนตั้งต้น 50 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 1,700 ล้านบาท โดยได้เริ่มการลงทุนครั้งแรกในกองทุน “โกลเดนเกต เวนเจอร์ส” (Golden Gate Ventures) ซึ่งเป็นกองทุนสตาร์ทอัพที่ประสบความสำเร็จมากในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
และในสัปดาห์ที่ผ่านมา ดิจิทัล เวนเจอร์ส ได้ลงนามบันทึกความเข้าใจ หรือ MOU ร่วมกับ Life.SREDA ที่เป็น Venture Capital ระดับโลกด้าน FinTenh ซึ่งมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่สิงคโปร์ การร่วมมือกับ Life.SREDA จะเอื้อให้บริษัทฯ ได้รับประโยชน์ในเชิงกลยุทธ์ทั้งด้านงานวิจัย องค์ความรู้ และด้านลงทุน ซึ่งจะช่วยขับเคลื่อนการให้บริการทางการเงินในอนาคตได้
หน่วยงานพัฒนาผลิตภัณฑ์ดิจิทัล (Digital Products)
หน่วยงานพัฒนาผลิตภัณฑ์ดิจิทัล นำโดย คุณสุวิชชา สุดใจ Managing Director, Digital Products จะดำเนินการด้านงานวิจัย ทดลองสร้างสรรค์ พัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการด้าน Financial Technology ในรูปแบบต่างๆ เป็นเสมือนห้องทดลองในธนาคารไทยพาณิชย์ในการหาโซลูชั่นใหม่ๆ เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคในด้านต่างๆ
โดยหลักๆ จะดูแลใน 4 เทคโนโลยี ได้แก่ Blockchain เป็นเทคโนโลยีใหม่ที่จะเข้ามาช่วยในการตัดสินใจ, Internet of Things (IoT), Machine Learning (AI) การรู้จักลูกค้าให้มากขึ้น เก็บรวบรวม Data ที่จำเป็นในการพัฒนาสินค้าให้ตรงกับความต้องการของลูกค้า และ Biometrics โดยทำการทดลองผ่าน SCB SIMLAB ที่จะเปิดให้บริการในเดือนสิงหาคมนี้
ทำให้ผู้ประกอบการที่มีผลิตภัณฑ์ทางด้านเทคโนโลยีการเงินเข้ามาทดลองใช้ได้เหมือนของจริง และได้เห็นภาพรวมของกลไกการทำงานของธนาคาร เพื่อประเมินว่าผลิตภัณฑ์นั้นๆ พร้อมออกสู่ตลาดแล้วหรือยัง โดยผู้ประกอบการที่ต้องการเข้ามาใช้งานแล็บไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด
นอกจากนี้ ดิจิทัล เวนเจอร์ส ยังเป็นบริษัทแรกที่จะเปิด API ให้ผู้ประกอบการถึงข้อมูลของ SCB ไปใช้ได้บางส่วน เพื่อพัฒนาและทดลองผลิตภัณฑ์โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเช่นกัน
ทั้งหมดนี้หากดำเนินการโดยธนาคารเอง อาจต้องเจอกับความเสี่ยงต่างๆ นานา ซึ่งเป็นสิ่งที่ธนาคารหลายแห่งไม่ยอมรับ การที่ SCB สร้างแล็บขึ้นมา และแยกดำเนินการโดยบริษัท ดิจิทัล เวนเจอร์ส จะทำให้ดำเนินงานได้รวดเร็ว ไม่ต้องผ่านกระบวนการหลายขั้นตอน ในส่วนของระบบต่างๆ ยังได้ IBM เป็นพาร์ทเนอร์อีกด้วย ตอนนี้อยู่ในขั้นตอนของการทดสอบ ทดลอง และได้เปิดให้กลุ่มทดลองบางส่วนเข้ามาร่วมด้วย ว่าง่ายๆ คือ แล็บนี้เหมือนเป็นการจำลองระบบจาก SCB มาใช้ โดยไม่เกี่ยวกับลูกค้าของธนาคาร
หน่วยงานศูนย์บ่มเพาะสตาร์ทอัพ (Accelerator)
หน่วยงานศูนย์บ่มเพาะสตาร์ทอัพ นำทัพโดย คุณชาล เจริญพันธ์ Head of Accelerator เป็นหน่วยงานที่จะเข้ามาเติมเต็มสิ่งที่สตาร์ทอัพไทยกำลังขาด เปรียบได้กับ MBA for Startup ที่จะมอบความรู้ คำปรึกษา ประสบการณ์ต่างๆ เพื่อช่วยให้เติบโตได้ แต่ละรุ่นจะใช้เวลา 9-12 สัปดาห์ และมี Mentor 1 คน และที่สำคัญผู้ที่เข้าร่วมจะได้รับเงินทุกนให้เปล่า 300,000 บาท และถ้าโครงการเข้าตา มองเห็นว่าต่อยอดได้ บริษัทฯ อาจร่วมลงทุนด้วย หรือมอบเงินทุนขั้นต่ำเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ต่อไปกว่า 1 ล้านบาท
ขณะนี้บริษัท เตรียมเปิดรับสตาร์ทอัพรุ่นที่ 1 ภายใต้ชื่อ Digital Ventures Accelerator (DVA) โดยทางโครงการจะคัดเลือกสตาร์ทอัพที่เกี่ยวข้องกับ FinTech 50% และสตาร์ทอัพทางด้านอื่น 50% เพื่อสร้างสรรค์นวัตกรรมที่หลากหลาย ตอบโจทย์ได้ทั้ง SCB และลูกค้าของ SCB เปิดรับสมัครถึงสิ้นเดือนสิงหาคมนี้เท่านั้น