ไม่ใช่แค่ไลฟ์สไตล์ของผู้คนที่เข้าสู่ความเป็นดิจิทัล ภาคธุรกิจก็เช่นกันและไม่ใช่แค่ธุรกิจใดธุรกิจหนึ่ง หากแต่เป็นทุกอุตสาหกรรม ทั้งหมดก็เพื่อรับเทคโนโลยีที่พัฒนาอย่างต่อเนื่อง และหลีกหนีการ Disruption ทางธุรกิจ ซึ่งการปรับเปลี่ยนที่เกิดขึ้นนั้น เริ่มตั้งแต่ทิศทางธุรกิจ สายผลิตภัณฑ์และบริการ ไม่เว้นแต่แม้แต่การปรับวัฒนธรรมองค์กร
ทำไม “วัฒนธรรมองค์กร” สำคัญกับยุค Digital Transformation
ที่จริงแล้วอาจไม่ใช่เรื่องวัฒนธรรมองค์กรโดยตรง เพราะสิ่งที่ทุกธุรกิจควรให้ความสำคัญไม่แพ้ด้านอื่นก็คือบุคลากร ลองคิดดูว่า…หากองค์กรลงทุนกับเทคโนโลยีเพื่อวางระบบขับเคลื่อนธุรกิจ แต่ทักษะและแนวคิดของบุคลากรที่เป็นฟันเฟืองยังติดอยู่กับสิ่งเดิมที่เคยชิน การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีก็ไม่สามารถเรียกว่า ประโยชน์ ได้เลย
แม้ว่างบประมาณในการอบรมหรือวางหลักสูตรพัฒนาทักษะให้บุคลากร จะไม่ถูกแยกออกมาเป็นส่วนงบประมาณหลักแต่มักถูกมัดรวมอยู่ในงบการพัฒนาและวิจัย ไม่ว่าจะหลักสูตรเพิ่มทักษะในสายงานหรือแม้แต่โครงการอบรมทักษะตามความสนใจ ไลฟ์สไตล์ ให้พนักงาน แต่รวมแล้วก็ไม่ใช่เม็ดเงินน้อยๆ ที่องค์กรทุ่มทุน เพื่อเติมศักยภาพบุคลากรสู่ Digital Workforce
ทุกอุตสาหกรรมตบเท้า อัดงบหลักล้าน-หลายสิบล้าน เติม Digital Skills
อย่างที่บอกไปแล้วว่า นอกจากการใช้เทคโนโลยีเพื่อพลิกธุรกิจให้พ้นการ Disruption ทุกๆ อุตสาหกรรมต่างมีเป้าหมายเสริมศักยภาพพนักงานเป็น Workforce 4.0 เพื่อรับกับแนวทางและเทคโนโลยีที่จะเกิดขึ้น
ในปีนี้ มีธุรกิจไหน อุตสาหกรรมใดบ้าง ที่ออกมาเน้นย้ำและให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนสู่ Digital Workforce อย่างชัดเจน…
KBank เติมทักษะพนักงาน กับเป้าหมาย Beyond Banking
ภายใต้เป้าหมายที่ KBank ประกาศตัวสู่การเป็น Beyond Banking กับความท้าทายที่ต้องการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในผลิตภัณฑ์และบริการโดยยืนยันว่าธนาคารจะไม่ปรับลดคน ถือเป็นภารกิจที่ผลักดันให้เกิดความร่วมมือกับ SkillLane สตาร์ทอัพผู้พัฒนาคอร์สเรียนออนไลน์ ให้พนักงานสามารถเลือกและเรียนผ่านอินเทอร์เน็ตได้จาก 400 หลักสูตร ช่วยประหยัดต้นทุนองค์กรและเวลาในการจัดอบรมไปได้หลายเท่าตัว ซึ่งในอดีต KBank ระบุว่า ใช้งบประมาณมหาศาลกว่า 400-500 ล้านบาทต่อปี กับการอบรมพนักงานทั่วประเทศกว่า 20,000 คน
SCB ตั้ง Academy หนุนภารกิจ Tech Bank
เป็นอีกหนึ่งธนาคารที่ประกาศก้าวสู่ภาพลักษณ์ เน้นเทคโนโลยีตอบโจทย์การใช้งานลูกค้าพร้อมกับกลยุทธ์ Going Upside Down ใช้เทคโนโลยีและแอปพลิเคชันเข้ามาตอบโจทย์ลูกค้าแทนพนักงานสาขาที่จะถูกกระจายไปให้บริการด้านอื่นมากขึ้น ซึ่งการตั้ง SCB Academy ก็เป็นส่วนหนึ่งในภารกิจก้าวสู่ Tech Bank ของ SCB ด้วยการเสริมขีดความสามารถและสร้างความเชื่อมั่นแก่พนักงานเพื่อเป็นพลังใหม่ขององค์กร ภายใต้ภาพสถาบันบ่มเพาะวิชาความรู้ด้านการเงินการธนาคารและทักษะทางเทคโนโลยีแก่บุคลากร เป็นประโยชน์ทั้งการทำงานและการดำรงชีวิตประจำวัน โดยงบประมาณที่ใช้ในโครงการนี้ก็ใกล้เคียงกับงบการลงทุนด้านเทคโนโลยีทีเดียว
Tesco Lotus ดีไซน์ Learning Dollars โครงการ Personalised Learning
ดำเนินธุรกิจ Hypermarket ก็ต้องทันสมัยไม่ล้าหลัง นอกจากแนวคิดทางธุรกิจที่ต้องปรับปรุง Tesco Lotus ขยายแนวคิดสู่การเสริมทักษะให้พนักงานทั่วประเทศกว่า 50,000 ราย กับแนวคิด Personalised Learning เลือกเรียนรู้ในหลักสูตรที่ตนเองสนใจด้วยงบประมาณที่บริษัทมอบให้ กับมหาวิทยาลัยชั้นนำของแต่ละภูมิภาค หากต้องการเรียนหลักสูตรอื่นเพิ่มเติมก็แจ้งความประสงค์ผ่านผู้บังคับบัญชาในสายงานเพื่อขอพิจารณางบประมาณได้ ทั้งหมดก็เพื่อพัฒนาศักยภาพบุคลากรภายใต้เป้าหมาย Workforce 4.0 ที่องค์กรต้องการเห็น
dtac รีสตาร์ท Mindset พนักงาน
ก่อนหน้านี้ dtac ก็เป็นอีกหนึ่งองค์กรที่ลุกขึ้นมาประกาศก้าวสู่ความเป็นดิจิทัล ทั้งแง่การให้บริการลูกค้าและวัฒนธรรมองค์กร กระทั่งล่าสุด ยังประกาศทิ้ง KPIs ปรับรูปแบบการประเมินผลงานโดยโฟกัสที่จุดแข็งของพนักงานแทน Rating ซึ่งจะใช้การอบรมและประเมินผลแบบใหม่กับพนักงานกว่า 2,000 คน และหัวหน้างานอีก 500 คน ขณะเดียวกัน พนักงานกว่า 3,600 คน ได้ผ่านการอบรม Clifton Strengths การประเมินและรับทราบถึงจุดแข็งของตัวเอง โดยทาง dtac วางระบบใหม่เข้ามาใช้ในการทำงาน ตั้งแต่แคมเปญ Flip It Challenge ระดมความคิดใหม่ๆ และนำเครื่องมือดิจิทัลเข้ามาใช้แก้ปัญหาของลูกค้าและพนักงาน รวมถึงโครงการ 40-hour Challenge เพื่อสนับสนุนให้พนักงานได้พัฒนาทักษะด้านดิจิทัลผ่านระบบออนไลน์ เช่น dtac Academy และ Telenor Campus พร้อมกับยกเลิกการประเมินแบบ Performance rating เพื่อสอดคล้องกับทิศทางองค์กรอีกด้วย
แต่ละธุรกิจ แต่ละอุตสาหกรรมที่หยิบยกมาเล่านี้ ถือเป็นแค่ส่วนหนึ่งกับภารกิจใช้เทคโนโลยีเติมทักษะ เพิ่มศักยภาพให้บุคลากรและองค์กร หนียุค Disruption และเตรียมรับเทคโนโลยีที่จะเข้ามา Transformation อย่างแท้จริง
Copyright © MarketingOops.com