‘ซีพี’ (CP) ชี้แจงการเข้าร่วมระดมทุนใน ‘ซิโนแวค ไลฟ์ ไซเอนซ์’ (Sinovac Life Sciences) บริษัทผลิตวัคซีนโควิด-19 ที่ชื่อว่า CoronaVac จากประเทศจีน ในจำนวนเงิน 515 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 15,427.85 ล้านบาท แลกกับการเข้าไปถือหุ้น 15.03% เป็นเรื่องปกติของธุรกิจกลุ่มเวชภัณฑ์ และเป็นเวลาที่เหมาะสม เพื่อขยายกำลังการผลิตให้ประชากรโลกและคนไทยได้เข้าถึงวัคซีนดังกล่าวได้มากขึ้น
การเข้าซื้อหุ้นในครั้งนี้กลุ่มซีพี ได้ซื้อหุ้นในนามของกลุ่ม CP Pharmaceutical Group ดำเนินธุรกิจยาในประเทศจีนที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหุ้นฮ่องกง ซึ่งนอกจากกลุ่มซีพีแล้ว ยังมีกองทุนของจีน ‘แอดวานซ์เทค แคปปิตอล’ และ กองทุนของสหรัฐ ‘วีโว่ แคปปิตอล’ ได้ร่วมลงทุนกับทางซิโนแวค โดยเข้าผู้หุ้นส่วนบริษัทละ 6.3%
ขณะที่ซิโนแวคระบุว่า การระดมทุนเพิ่มในครั้งนี้สำหรับสร้างโรงงานผลิตแห่งที่ 2 ให้แล้วเสร็จภายในปีนี้เพื่อเพิ่มกำลังการผลิตวัคซีนให้ได้ปีละ 600 ล้านโดส จากเดิมสามารถผลิตวัคซีนได้ปีละ 300 ล้านโดส เพื่อเพิ่มโอกาสการเข้าถึงวัคซีนให้กับประชากรโลก โดยปัจจุบัน CoronaVac เป็นวัคซีนทดลอง 1 ใน 3 ตัวของจีนที่ฉีดให้ประชาชนราว 1 ล้านคนตามโครงการเร่งด่วน และนอกจากประเทศจีนแล้ว CoronaVac ยังเป็นวัคซีนที่นำมาฉีดให้กับประเทศต่างๆ เช่น อินโดนีเซีย ตุรกี บราซิล และชิลี เป็นต้น
ส่วนประเด็นที่ภาครัฐได้สั่งซื้อวัคซีนจากซิโนแวคจำนวน 2 ล้านโดสว่า จะมีความเชื่อมโยงกับการลงทุนของกลุ่มซีพีในบริษัทซิโนแวคหรือไม่ ทางกลุ่มซีพีชี้แจงว่า หากดูจากยอดการผลิต 600 ล้านโดสต่อปีกระจายไปทั่วโลก กับยอดการสั่งซื้อ 2 ล้านโดสของประเทศไทยเทียบได้กับ 0.33% ของกำลังการผลิต คงไม่ใช่เป็นเหตุผลที่ซีพีไปลงทุนในครั้งนี้
ปัจจุบันซิโนแวคทำสัญญาจัดหาวัคซีนโคโรนาแวคให้กับหลายประเทศ เช่น อินโดนีเซีย ตุรกี บราซิล ชิลี และกำลังเจรจากับฟิลิปปินส์ หากพูดถึงกำลังการผลิต 600 ล้านโดสต่อปี จะเท่ากับครอบคลุมประชากรประมาณ 300 ล้านคน หรือเท่ากับประมาณ 3.94% ของประชากรโลกเท่านั้น จึงถือเป็นภารกิจของทุกประเทศในโลกในการขยายการผลิต การสร้างโอกาสในการเข้าถึงยาและวัคซีน และถือเป็นเรื่องของสุขภาพและความมั่นคงในชีวิตอีกด้วย เพื่อตอบเป้าหมายความยั่งยืนของสหประชาชาติในด้านสุขภาพ (Health & Well Being)
โดยองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย เปิดเผยว่า รัฐบาลไทยจะจัดซื้อวัคซีนป้องกันเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือ โควิด-19 ที่พัฒนาโดยบริษัท ซิโนแวค ไบโอเทค จำนวน 2 ล้านโดส และกระทรวงสาธารณสุขของไทยคาดการณ์ว่า วัคซีนของบริษัท ซิโนแวค จะมาถึงไทย
-ชุดแรก 200,000 โดส จะขนส่งมาถึงไทยช่วงสิ้นเดือนกุมภาพันธ์
-ชุดที่สอง 800,000 โดส จะมาถึงช่วงสิ้นเดือนมีนาคม
-อีก 1 ล้านโดส จะมาถึงช่วงสิ้นเดือนเมษายน
ขณะที่การสั่งจองซื้อวัคซีน จำนวน 61 ล้านโดสจากบริษัท Astra Zeneca คาดว่า ชุดแรกจะนำเข้ามาได้เพื่อให้คนไทยได้ใช้ประมาณกลางปี 2564 จำนวน 26 ล้านโดสไปแล้ว และวันที่ 5 มกราคมที่ผ่านมาทางนายกรัฐมนตรีได้อนุมัติเพิ่มเติมจัดหาซื้อวัคซีนอีก 35 ล้านโดส เพื่อคุ้มครองคนไทยได้อย่างน้อยครึ่งหนึ่งของประชากรทั้งหมด
สาเหตุที่เลือกสองรายนี้เพราะวัคซีนสามารถเก็บได้ในตู้เย็นมาตรฐานที่อุณหภูมิ 2-8 องศาเซลเซียสเป็นเวลาอย่างต่ำ 6 เดือน ทำให้ง่ายต่อการขนส่งและกระจายวัคซีนในประเทศกำลังพัฒนา
กลุ่มซีพีย้ำว่า ธุรกิจกลุ่มเวชภัณฑ์ของกลุ่มซีพีกว่า 20 ปี อาจไม่เป็นที่รับรู้ในวงกว้างในประเทศไทย เช่น กลุ่มเวชภัณฑ์ที่ครอบคลุมกลุ่มธุรกิจของซิโนไบโอฟาร์มามีการก่อตั้งในปี 2000 และติดอันดับท็อป 50 บริษัทในธุรกิจยาของโลก จัดอันดับโดยนิตยสาร Pharm Exe ของประเทศสหรัฐอเมริกาในปี 2019 จึงไม่ใช่เรื่องใหม่ในการเข้าสู่ธุรกิจเวชภัณฑ์ของกลุ่มซีพี ซึ่งได้ดำเนินการมาแล้วกว่า 22 ปี ในการผลิต และทำการตลาดยารักษาโรคไวรัสตับอักเสบ และโรคที่เกี่ยวข้องกับระบบหัวใจและสมองในประเทศจีน
ทั้งนี้บริษัทชิโนไบโอฟาร์มา ในปี 2019 ทำรายได้ไป 4200 ล้านหยวน หรือประมาณ 112,000 ล้านบาท และการลงทุนในบริษัทชิโนแวค ถือเป็นการลงทุนปกติของกลุ่มซิโนไบโอฟาร์มาเองที่ดำเนินการเป็นประจำในอุตสาหกรรมยาที่ต้องเน้นการลงทุนในบริษัททำการวิจัยและพัฒนาในเทคโนโลยีทั่วโลก โดยดีลนี้เกิดขึ้นหลังจากซิโนแวคขยายข้อตกลงจัดหาวัคซีน CoronaVac และทดลองกับหลายประเทศเพิ่มขึ้น เนื่องจากผลการทดลองทางคลินิกเฟส 2 เป็นไปด้วยดี ทำให้การลงทุนเป็นไปตามเวลาที่เหมาะสม