Smart City หลายคนได้ยินคำนี้อาจจะเบื่อหน่ายเพราะมีการพูดคุยกันมาหลายปี แต่ดูเหมือนจะยังไม่เห็นรูปร่างอย่างชัดเจน ยิ่งไปกว่านั้นหลายโครงการก่อนหน้านี้ที่เกี่ยวกับ Smart City กลับไม่ประสบผลสำเร็จอันเนื่องมาจากความรู้ความเข้าใจของชาวบ้านต่อเทคโนโลยีที่เกี่ยวกับ Smart City ยังน้อยมาก นั่นเพราะยังไม่มีการเห็นผลจากการดำเนินโครงการ Smart City อย่างเป็นรูปธรรม
นี่จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้ Smart City กลายเป็นเรื่องเพ้อฝันหรือไกลเกินความจริง หรือเป็นเรื่องสร้างวิมานในอากาศสำหรับใครหลายๆ คน แต่ใช่ว่า Smart City จะกลายเป็นเรื่องราวที่เงียบหายไปในอดีต ด้วยนโยบายที่ภาครัฐต้องการส่งเสริมให้เศรษฐกิจควบคู่กับเทคโนโลยี โครงการ Smart City จึงเกิดขึ้นพร้อมความร่วมมือของสถาบันการศึกษาระดับภูมิภาค ประกอบไปด้วยภาคเหนือ (มหาวิทยาลัยเชียงใหม่), ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (มหาวิทยาลัยขอนแก่น), ภาคกลางและภาคตะวันออก (มหาวิทยาลัยบูรพา) และภาคใต้ (มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์)
ยิ่งเอกชนรายใหญ่อย่าง Cisco ผู้นำด้านเทคโนโลยีและเครือข่ายอินเตอร์เน็ตระดับโลก จับมือกับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (มอ.) ร่วมพัฒนาโครงการ Smart City ภายใต้แนวคิด “PSU Smart and Green Campus 2022 เพื่อสังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิตและ Happy Workplace” เพื่อเป็นต้นแบบสู่การนำเทคโนโลยีเข้ามาผสานกับเมืองจนก่อให้เกิดเป็น Smart City อย่างยั่งยืน เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาชุมชนและรายได้จากทรัพยากรที่มีอยู่
สำหรับโครงการ Smart City จะแบ่งออกเป็น 7 กลุ่ม Smart ด้วยกัน ประกอบไปด้วย Smart People เพื่อช่วยให้ผู้คนมีความรู้ความสามารถทางด้านเทคโนโลยีและเครือข่ายอินเตอร์เน็ต, Smart Environment เทคโนโลยีที่ช่วยเฝ้าระวังด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 ที่ประเทศไทยกำลังประสบอยู่ รวมไปถึงพื้นที่จังหวัดภาคใต้ที่มักจะประสบปัญหาหมอกควันจากประเทศเพื่อนบ้านอยู่เป็นประจำ
Smart Energy เทคโนโลยีที่ช่วยให้เกิดการใช้งานด้านพลังงานอย่างเต็มประสิทธิภาพ เพื่อลดการใช้พลังงานอย่างสิ้นเปลือง โดยเฉพาะภาคใต้ที่ประสบปัญหาด้านพลังงานไม่เพียงพอต่อความต้องการ, Smart Mobility กับเทคโนโลยีที่ช่วยให้ประหยัดเวลาในการจราจร โดยเฉพาะการหาที่จอดรถ
Smart Living เทคโนโลยีที่ช่วยให้เกิดความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในจังหวัดที่มีความเสี่ยงสูงด้านความมั่นคง เทคโนโลยีจะช่วยให้จำแนกคนได้อย่างชัดเจนผ่านระบบการจดจำใบหน้า รวมไปถึงการใช้เทคโนโลยีเพื่อเชื่อมต่อการสื่อสารไปยังพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูง, Smart Economy หรือเทคโนโลยีที่ช่วยสร้างรายได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ประเทศไทยเป็นดินแดนเกษตรกรรม นั่นจึงก่อให้เกิดเทคโนโลยี Smart Farming และ Smart Utility เทคโนโลยีที่ช่วยควบคุมสั่งการโดยเฉพาะระบบ Data Center เพื่อใช้ในการเก็บข้อมูลและควบคุมสั่งการเทคโนโลยีต่างๆ ได้จากศูนย์กลางเพียงแห่งเดียว
นายวัตสัน ถิรภัทรพงศ์ กรรมการผู้จัดการประจำประเทศไทยและภูมิภาคอินโดจีน ของ Cisco ชี้ว่า การพัฒนาไปสู่ Smart City จำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีที่ชาญฉลาด ซึ่งมีบทบาทสำคัญมากต่อการยกระดับให้กลายเป็นเมืองอัจฉริยะ อย่างไรก็ตามเทคโนโลยีจะต้องสอดคล้องกับเอกลักษณ์ วิถีพื้นถิ่นและแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาเมืองนั้นๆ ซึ่ง Cisco เป็นผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของสมาชิกที่อยู่ในหลายๆ ประเทศ พร้อมเชื่อมโยงระบบโครงสร้างพื้นฐานเพื่อให้สามารถทำงานร่วมกันเป็นหนึ่งเดียวได้
จากการทดสอบระบบที่ผ่านมาชี้ให้เห็นว่า ทางมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (มอ.) ให้ความสำคัญกับเรื่องของ Smart Living โดยเฉพาะการตรวจสอบบุคคล ซึ่งที่ผ่านมามีการใช้เทคโนโลยีในการตรวจสอบใบหน้าเพื่อจัดเก็บข้อมูล รวมไปถึงเทคโนโลยี License Plate ที่ช่วยตรวจสอบทะเบียนรถ ซึ่งหากมีการแจ้งเตือนจากทางการ ระบบนี้จะสามารถแจ้งเตือนไปยังเจ้าหน้าที่ เมื่อตรวจสอบพบรถต้องสงสัย และหากพบรถที่ทะเบียนไม่ตรงกับรูปพรรณของรถยนต์ เจ้าหน้าที่จะดำเนินการประสานงานกับเจ้าหน้าที่รัฐในการตรวจสอบอย่างละเอียด
รวมไปถึงระบบ Smart Parking ที่ช่วยให้สามารถลดเวลาการหาที่จอดรถได้อย่างมาก, Smart Bus Stop ที่จะช่วยให้นักศึกษาภายในมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (มอ.) ตรวจสอบได้ว่ารถบัสที่ต้องการโดยสารอยู่ ณ จุดใด และจะต้องรอรถบัสอีกกี่นาที Smart Environment ที่จะช่วยตรวจสอบความดังของเสียง ค่าฝุ่นละออง อุณหภูมิ ความเร็วลม ทิศทางลมผ่านอุปกรณ์ตรวจสอบ และในอนาคตจะมีการติดตั้งจุดชาร์จไฟฟ้าของรถ EV ภายในมหาวิทยาลัยอีกด้วย
นอกจากนี้มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ยังให้ความสำคัญกับเรื่องของ Smart Economy โดยเฉพาะในส่วนของ Smart Farming ที่จะช่วยเก็บข้อมูลที่สำคัญในการเพาะปลูก เพื่อให้เกษตรกรสามารถนำความรู้ที่ได้ไปช่วยในการปลูกพืชได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจากการทดสอบสามารถปลูกพืชนอกพื้นที่ จนได้ผลผลิตตามที่ตลาดต้องการ
ด้าน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นิวัติ แก้วประดับ อธิการบดี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เสริมว่า การได้ Cisco มาเป็นพันธมิตรและช่วยผลักดัน รวมถึงร่วมพัฒนาเทคโนโลยีที่สำคัญในการพัฒนาเมือง Smart City ซึ่งมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์เป็นศูนย์กลางในการให้คำปรึกษากับ 14 จังหวัดภาคใต้ เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีนำไปปรับใช้ในพื้นที่ของแต่ละเมืองอย่างเหมาะสม