ในปี 2561 ที่ใกล้จะจบสิ้นลงนี้ถือเป็นปีของการเปลี่ยนแปลงจากสิ่งที่เรียกว่า Digital Disruption มาสู่การเป็น Digital Transformation โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคธุรกิจการเงินการธนาคาร ที่เรียกได้ว่าเป็นภาคธุรกิจที่การเข้ามาสู่โลกดิจิทัล มีทั้งเรื่องของความเสี่ยงที่ต้องพบเจอและความเชื่อมั่นที่ท้าทายธุรกิจภาคการเงินอย่างมาก แต่ก็ผ่านพ้นมาได้ด้วยดี
ส่วนหนึ่งนั่นเป็นเพราะผู้คนทั่วไปเริ่มเข้าใจและเรียนรู้เรื่องของเทคโนโลยีดิจิทัลมากขึ้น ประกอบกับเทคโนโลยีที่มีการพัฒนาอย่างรวดเร็วและพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป ปัจจัยเหล่านี้ล้วนแต่เป็นตัวที่ช่วยให้ธุรกิจภาคการเงินถูกเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาปรับเปลี่ยนรูปแบบธุรกิจ
ซิสโก้ (Cisco) ผู้ให้บริการเทคโนโลยีเชื่อมต่อข้อมูลดิจิทัลรายใหญ่ระดับโลก มองว่าในปี 2020 ธุรกิจจะเข้าสู่การใช้เทคโนโลยีดิจิทัล (Digitalization) ในการดำเนินธุรกิจถึง 75% แต่จะมีธุรกิจที่เข้าใจและนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้จนประสบความสำเร็จเพียง 30% เท่านั้น
นอกจากนี้ซิสโก้ยังเห็น 3 ปัจจัยสำคัญที่จะทำให้องค์กรสามารถทำเทคโนโลยีไปใช้จนสำเร็จ ประกอบไปด้วย Hyper-Aware ด้วยเทคโนโลยีที่ช่วยให้รับรู้ข้อมูลมหาศาล องค์กรจึงต้องสามารถแปลงข้อมูลเหล่านั้นเพื่อให้เข้าใจและรับรู้พฤติกรรมต่างๆ ของลูกค้า เมื่อมีข้อมูลมากพอแล้วแล้วองค์กรจะต้อง Predictive ด้วยการนำข้อมูลเหล่านั้นผ่านเทคโนโลยีอย่าง AI หรือ Machine Learning เพื่อทำการวิเคราะห์และคาดการณ์ความต้องการในอนาคต
และสุดท้ายองค์กรจะต้อง Agile หรือการปรับเปลี่ยนองค์กรให้สามารถดำเนินกิจการไปตามความเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะพฤติกรรมลูกค้าที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้หลายภาคธุรกิจมีมูลค่าที่เพิ่มขึ้นจากาการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล เช่น ภาคการผลิตทั่วโลกที่จะมีมูลค่าเพิ่มขึ้นถึง 6.4 ล้านล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อปรับเปลี่ยนมาใช้เทคโนโลยี เป็นต้น
ไม่เพียงเท่านี้ คุณวัตสัน ถิรภัทรพงศ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซิสโก้ ประจำประเทศไทยและภูมิภาคอินโดจีน ยังชี้ว่าปี 2562 ภาคส่วนที่โดดเด่นในเรื่องการปรับตัวสู่เทคโนโลยีดิจิทัลที่เห็นชัดเจนมี 3 ภาคส่วนด้วยกัน ทั้งภาคธุรกิจการเงิน, ภาคอุตสาหกรรมการผลิตและภาครัฐ ซึ่งแม้ว่าภาคธุรกิจการเงินจะมีการใช้เทคโนโลยีอย่างมาก แต่เนื่องจากในปีนี้มีการปรับเปลี่ยนอย่างเห็นได้ชัด ปี 2562 ภาคการผลิตจึงเป็นภาคส่วนที่น่าจับตามองอย่างมาก
“โดย 52% มีการนำงบประมาณมาใช้ในภาคของเทคโนโลยีดิจิทัล ซึ่งในอดีตงบประมาณส่วนใหญ่จะถูกลงไปที่เครื่องจักรการผลิตจึงเป็นสิ่งที่ชี้ให้เห็นว่าภาคการผลิตเริ่มให้ความสำคัญกับเรื่องของเทคโนโลยีดิจิทัล ปัจจุบันภาคธุรกิจการผลิตมีการจัดตั้งหน่วยงานด้าน OT (Operation Technology) และหน่วยงานดังกล่าวจะต้องทำงานร่วมกับฝ่าย IT”
สำหรับเทคโนโลยีส่วนใหญ่ในภาคการผลิต จะถูกนำมาใช้กับเครื่องจักรเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการผลิต โดยเทคโนโลยีจะช่วยตรวจสอบการบำรุงดูแลรักษา เพื่อช่วยลดต้นทุนการดูแลรักษาโดยที่ยังคงประสิทธิภาพการผลิต เทคโนโลยียังถูกนำมาใช้กับพนักงานเพื่อให้พนักงานสามารถทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพและตรงกับความสามารถของพนักงาน
รวมไปถึงสร้างความปลอดภัยให้กับพนักงาน ในกรณีที่งานมีความเสี่ยงสูง เช่น แท่นขุดเจาะน้ำมัน เป็นต้น ไม่เพียงเท่านี้นวัตกรรมยังช่วยให้พนักงานสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น การใช้เทคโนโลยี AR ช่วยให้สามารถทำงานร่วมกับผู้เชี่ยวชาญได้
ในส่วนของภาคการเงิน ยังคงมีการใช้เทคโนโลยีเข้ามาเสริมอย่างต่อเนื่องช่วยให้เห็นได้ชัดถึงความเปลี่ยนแปลงเมื่อมีการใช้เทคโนโลยีในภาคการเงิน จากผลวิจัยพบว่าในอดีตยุค Cyber Banking หรือการทำธุรกรรมผ่านอินเตอร์เน็ต จะมีการทำธุรกรรมการเงินราว 1-2 ครั้งต่อคนต่อเดือน เมื่อเข้าสู่ยุค Mobile Banking การทำธุรกรรมการเงินขยับเพิ่มขึ้นเป็น 4-5 ครั้งต่อคนต่อเดือนและเมื่อมีการลดค่าธรรมเนียมส่งผลให้การทำธุรกรรมการเงินเพิ่มสูงถึง 13 ครั้งต่อคนต่อเดือน
เมื่อเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาสู่อุตสาหกรรมการเงินมากขึ้น ในอนาคตรูปแบบของธนาคารก็จะถูกปรับเปลี่ยน โดยคุณวัตสันมองว่า ธนาคารในอนาคตจะกลายเป็น“Bionic Bank” ธนาคารจะให้บริการผ่านเทคโนโลยีที่สามารถให้บริการได้คล้ายมนุษย์มากขึ้น นอกจากนี้ธนาคารจะต้องให้บริการไปตามช่องทางผ่านสื่อต่างๆ ใหม่ๆ จนกลายเป็น “Invisible Bank” เช่น การให้บริการผ่านสมาร์ทโฟนหรือผ่านเคาน์เซอร์ร้านค้าสะดวกซื้อในรูปแบบ Bank Agent และสาขาธนาคารจะค่อยๆ หายไป
และธนาคารต้องเป็นOpen Bankที่จะต้องไปจับมือกับหน่วยงานต่างๆ ที่ต้องมีการทำธุรกรรมการเงิน ในรูปแบบการแลกเปลี่ยนข้อมูล และธนาคารต้องพัฒนารูปแบบเทคโนโลยีใหม่ เช่น VR, AR หรือการทำธุรกรรมผ่านเครื่องให้คำปรึกษาผ่าน Tele-Conference รวมไปถึงระบบ Automation ในการแจ้งเตือน เช่น สัญญาต่างๆ เป็นต้น
ภาครัฐ เป็นอีกส่วนที่กำลังต้องนำเทคโนโลยีมาใช้ เนื่องจากพฤติกรรมคนเปลี่ยนไป ซึ่งภาครัฐเป็นงานบริการประชาชน เมื่อประชาชนมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมรัฐจึงต้องปรับเปลี่ยนด้วยเช่นกัน อีกทั้งเมื่อธุรกิจจากต่างประเทศที่ใช้เทคโนโลยีในการขับเคลื่อนเตรียมลงทุน มักจะมองหาการสนับสนุนจากภาครัฐโดยมีเทคโนโลยีเป็นส่วนสนับสนุนในการให้บริการ
“สำหรับในส่วนของ Prop Tech และ Health Tech ที่กำลังพูดถึงอยู่ในขณะนี้ ผมมองว่าตลาดยังมีขนาดเล็กอยู่ เนื่องจากในตลาดมีผู้เล่นที่นำเทคโนโลยีเข้ามาใช้เพียง 1-2 รายเท่านั้น ซึ่งยังสามารถไม่กลายเป็น Digital Transformation ในอุตสาหกรรมนั้นๆ ได้ แต่สามารถนำไปใช้ในแง่ของการสร้างความแตกต่างได้ ซึ่งซิสโก้เองก็คอยจับตาดูทั้ง 2 ตลาดนี้ไว้อยู่ด้วย”