การแพทย์ไทยก้าวหน้าขึ้นอีกขั้น “บำรุงราษฎร์” จับมือสตาร์ทอัพสาย Healthcare ใช้ AI ยกระดับการรักษา

  • 72
  •  
  •  
  •  
  •  

ภาพหมู่ pic3_resize

ช่วงนี้เราอาจจะคุ้นกับคำว่า AI ปัญญาประดิษฐ์ จนแทบจะถูกขึ้นทะเบียนให้เป็นหนึ่งในคำฟุ่มเฟือย เพราะถึงแม้จะดูเป็นคำไฮเทคแต่เมื่อปรากฎอยู่ในทุกๆ แวดวงธุรกิจ ก็ทำให้รู้สึกตะหงิดใจเล็กๆ ว่าเจ้าเทคโนโลยี AI นี่เจ๋งขนาดไหน ถึงได้มีเอี่ยวอยู่แทบทุกอุตสาหกรรม

ถ้าคุณกำลังเอียนกับคำดังกล่าว วันนี้…เราอาจต้องขอให้คุณเปิดใจอีกนิด เพราะเราจะพูดถึงวิวัฒนาการอีกขั้นของโรงพยาบาลในประเทศไทย ที่นำความไฮเทคของระบบปัญญาประดิษฐ์เข้ามาใช้ เพื่อยกระดับวงการแพทย์และการตรวจรักษาให้มีประสิทธิภาพมากกว่าที่เคย!

ต้องเกริ่นก่อนว่า ปัจจุบัน ทั่วโลกมีคนเสียชีวิตจากการติดเชื้อดื้อยาถึงปีละ 700,000 คน ซึ่งมีการคาดการณ์ว่าหากยังไม่มีการแก้ปัญหาดังกล่าวอย่างจริงจัง ภายใน ค.ศ.2050 (อีกราวๆ 35 ปีข้างหน้า) ยอดการเสียชีวิตอาจพุ่งถึง 10 ล้านคน

หลายคนอาจสงสัยว่า “นี่คือเรื่องใหญ่ที่เราจำเป็นต้องใส่ใจรึเปล่า?”

คำตอบ คือ “จำเป็นอย่างยิ่ง” เพราะสัดส่วนการเสียชีวิตจากประเด็นการติดเชื้อดื้อยานั้น ในเอเชียและแอฟริกาเป็น 2 ทวีปที่มีสัดส่วนสูงสุด ทั้งยังอาจสร้างผลกระทบเชิงเศรษฐกิจกว่า 3,500 ล้านล้านบาททีเดียว

ดื้อยา อันตราย-สร้างความเสียหาย มากกว่าที่คิด!

องค์การอนามัยโลก (WHO) ถึงกับระบุว่า แนวโน้มของการดื้อยาที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้โลกเข้าสู่ยุคหลังยาปฏิชีวนะ (Post-antibiotic era) การติดเชื้อแบคทีเรียเพียงเล็กน้อยอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ และเข้าสู่การล่มสลายทางการแพทย์แผนปัจจุบัน (Collapse of modern medicine) เนื่องจากไม่สามารถทำหัตถการทางการแพทย์ เช่น การผ่าตัดทั่วไป การผ่าตัดเพื่อเปลี่ยนหรือเพื่อปลูกถ่ายอวัยวะ รวมทั้งการรักษามะเร็งด้วยเคมีบำบัดได้อีกต่อไป เพราะหัตถการทางการแพทย์เหล่านี้ล้วนแต่ต้องพึ่งพิงประสิทธิภาพของยาปฏิชีวนะในการป้องกันและรักษาการติดเชื้อ

ดร. ธีรเดช เวียงธีรวัฒน์ Director of Research & Development บำรุงราษฎร์_resize
ดร.ธีรเดช เวียงธีรวัฒน์ Director of Research & Development บำรุงราษฎร์ กับอุปกรณ์สุดไฮเทค

คนไทยตาย เพราะเชื้อดื้อยาหลายหมื่นคนต่อปี

สำหรับประเทศไทย มีการประมาณการณ์เบื้องต้นถึงจำนวนผู้ติดเชื้อดื้อยา ว่ามีจำนวนถึงปีละ 87,751 ครั้ง และมีจำนวนผู้เสียชีวิตจากเชื้อดื้อยาราว 38,481 ราย (ร้อยละ 40 ของผู้ติดเชื้อดื้อยา) อยู่รักษาตัวในโรงพยาบาลนานขึ้น 3.24 ล้านวัน มูลค่ายาต้านจุลชีพที่ใช้รักษาคิดเป็น 2,539-6,084 ล้านบาท สูญเสียทางเศรษฐกิจโดยรวมไม่ต่ำกว่า 40,000 ล้านบาท หรือประมาณร้อยละ 0.6 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ

จากสถิติต่างๆ สอดคล้องว่าการดื้อยาของจุลชีพกำลังเป็นปัญหาคุกคามทั่วโลกที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง WHO จึงเร่งรณรงค์ให้มีการคิดค้นนวัตกรรมการวินิจฉัยโรค พร้อมหาแนวทางใหม่ๆ ในการระบุชนิดของจุลชีพและการดื้อยาให้ได้อย่างรวดเร็ว เพื่อช่วยให้แพทย์สามารถรักษาการติดเชื้อตั้งแต่ในระยะเริ่มต้น รวมทั้งในรายที่เป็นมากได้อย่างเหมาะสมและทันท่วงที โดยเฉพาะการให้การรักษาในระยะเริ่มต้นที่ถูกต้อง จะช่วยให้การรักษามีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้น ซึ่งปัจจุบัน ได้มีการพัฒนาเทคโนโลยีการหาลำดับเบสในสารพันธุกรรมของจุลชีพก่อโรค ที่เรียกว่า Next-Generation Sequencing (NGS) ร่วมกับการสร้างนวัตกรรมซอฟต์แวร์ที่ช่วยให้สามารถระบุชนิด และลักษณะของจุลชีพได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำ โดยเทคโนโลยีดังกล่าวได้ถูกนำมาประยุกต์ใช้ในการวินิจฉัยโรคติดเชื้อ การประเมินผลลัพธ์ ตลอดจนการคัดกรองจุลชีพก่อโรคเพื่อเฝ้าระวัง และลดอัตราการติดเชื้อในโรงพยาบาล ซึ่งพบว่าเกิดขึ้นกับผู้ป่วยถึง 1 ใน 25 รายในปัจจุบัน (ข้อมูลจาก Centers for Disease Control and Prevention และ Healthcare Associated Infection สหรัฐอเมริกา)

“โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์” จับมือ “ไบโอเชีย” สตาร์ทอัพอเมริกา ใช้ AI ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ

นายแพทย์สมศักดิ์ เชาว์วิศิษฐ์เสรี ผู้อำนวยการด้านบริหารและผู้อำนวยการด้านการแพทย์ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ อธิบายว่า จากอุบัติการณ์โรคติดเชื้อดังกล่าวและความรุดหน้าของเทคโนโลยีทางการแพทย์ระดับโลกที่เกิดขึ้น โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ และบริษัทไบโอเชีย สตาร์ทอัพจากประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีความเชี่ยวชาญและคิดค้นเทคโนโลยี AI ซอฟต์แวร์ต่างๆ ด้านสุขภาพแก่โรงพยาบาลอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งในการวิเคราะห์ ตรวจหาเชื้อต่างๆ รวมถึงวินิจฉัยและประมวลผลอย่างแม่นยำและรวดเร็ว ร่วมเป็นพันธมิตรและดำเนินงานร่วมกัน เพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยและเพื่อนมนุษย์ได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ ถือเป็นการก้าวเข้าสู่ศักราชใหม่แห่งเทคโนโลยีทางการแพทย์ในการตรวจหาจุลชีพก่อโรค โดยการหาลำดับเบสในสารพันธุกรรมที่รวดเร็ว จากการเก็บตัวอย่างจากผู้ป่วย 1,000 ราย มาวิเคราะห์ และสร้างฐานเทคโนโลยีนี้ไว้ที่ศูนย์ห้องปฏิบัติการทางการแพทย์ของโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์

สำหรับความร่วมมือระหว่างโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์กับไบโอเชียในครั้งนี้ นับเป็นมิติใหม่ในการพลิกโฉมทางการแพทย์ ซึ่งมุ่งให้ความสำคัญในการนำ AI เข้ามาร่วมวิจัยค้นคว้าและพัฒนาเพื่อยกระดับนวัตกรรมทางการแพทย์ให้เกิดประสิทธิภาพ โดยได้นำเสนอถึงความก้าวหน้าของวิธีการตรวจหาชนิดจุลชีพ ด้วยเทคโนโลยีชนิดพกพาที่รายงานผลแบบเรียลไทม์ โดยใช้ร่วมกับซอฟต์แวร์ AI ของไบโอเชียเพื่อระบุชนิดจุลชีพก่อโรค โดยเทคโนโลยีใหม่ดังกล่าวมีความก้าวล้ำและมีจุดเด่น อาทิ ช่วยลดเวลาในการตรวจหาเชื้อก่อโรค ตัวบ่งชี้การดื้อยา และปัจจัยแสดงความรุนแรงของโรค ให้เหลือเพียงไม่กี่ชั่วโมง จากในอดีตผู้ปฏิบัติการต้องใช้เวลาดำเนินการหลายวัน หรือ หลายสัปดาห์ ขณะเดียวกัน ก็ช่วยให้ได้ข้อมูลที่แม่นยำยิ่งขึ้น ทำให้สามารถควบคุมและจัดการการติดเชื้อ ตลอดจนลดความเสี่ยงต่อการดื้อยาได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งการนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ครั้งนี้ ทำให้โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ถือเป็นหนึ่งในโรงพยาบาลแรกๆ ในการพัฒนาโครงการควบคุมการติดเชื้อในโรงพยาบาลขนาดใหญ่ด้วยเทคโนโลยี

ดร. นีม โอฮารา CEO - Biotia pic3_resize
ดร.นีม โอฮารา CEO Biotia

ดร.นีม โอฮารา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ไบโอเชีย ขยายความถึงการร่วมมือในครั้งนี้ว่า ไบโอเชียได้คิดค้นชุดวิธีการตรวจหาจุลชีพก่อโรค ตัวบ่งชี้การดื้อยา และปัจจัยแสดงความรุนแรงของเชื้อก่อโรคที่แม่นยำและรวดเร็วกว่าวิธีการโดยทั่วไปที่ใช้กัน รความร่วมมือระหว่างไบโอเชียและโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์นับเป็นโครงการในระยะยาว ซึ่งทางไบโอเชียจะได้ใช้วิธีการต่างๆ ประกอบด้วย วิธีการตรวจหาจุลชีพก่อโรคของไบโอเชีย เทคนิคทางห้องปฏิบัติการและการหาลำดับเบสฯ ซึ่งพัฒนาขึ้นโดย Oxford Nanopore ร่วมกับการใช้ซอฟท์แวร์ปัญญาประดิษฐ์เชลซีของไบโอเชีย (Biotia AI software, ChelseaTM) รวมถึง ฐานข้อมูลต่างๆ โดยจะมีการพิสูจน์ความถูกต้องด้วยการเพาะเชื้อตัวอย่างจุลชีพชุดย่อยประกอบกับการใช้เทคนิค PCR (Polymerase Chain Reaction) และ Illumina sequencing ซึ่งเป็นความเชี่ยวชาญของเราในการประยุกต์งานวิจัยด้านจุลชีพก่อโรคให้เป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้ได้จริงทางคลินิกสำหรับโรงพยาบาล ความร่วมมือในครั้งนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นครั้งสำคัญที่ขับเคลื่อนให้มีการใช้เทคโนโลยีนี้ทางการแพทย์ในวงกว้างต่อไป


  • 72
  •  
  •  
  •  
  •  
Ms.นกยูง
เมื่อโลกไม่เคยหยุดหมุน เราก็ไม่ควรหยุดเรียนรู้... ชวนคุณมาทำความรู้จักหลากหลายเรื่องราว ทั้งสาระและสีสันบนโลกดิจิทัลไปพร้อมกัน