ช่วงที่ผ่านมา เราพูดกันถึงเรื่อง Cashless Society ซึ่งเป็นรูปแบบหนึ่งของ FinTech ช่วยให้การใช้จ่ายสะดวกมากยิ่งขึ้นโดยเฉพาะการชำระผ่าน QR Code แต่หากมองดูให้ดีรูปแบบ QR Code เข้ามาช่วยพัฒนาธุรกิจในรูปแบบ C2C หรือ Peer 2 Peer โดยเป็นการชำระเงินระหว่างคน 2 คนแต่ระบบดังกล่าวดูเหมือนจะยังไม่ช่วยให้แบรนด์เจ้าของผลิตภภัณฑ์ช่วยพัฒนาการขายได้เลย
เนื่องจากประเทศไทยมีธุรกิจหลายขนาดตั้งแต่องค์กรขนาดใหญ่ธุรกิจขนาดกลางธุรกิจขนาดเล็กและธุรกิจรายย่อยซึ่งเทคโนโลยี QR Code จะช่วยสนับสนุนและส่งเสริมการขายให้กับธุรกิจขนาดเล็กเช่นร้านขายสินค้าขนาดเล็กและธุรกิจรายย่อยอย่างร้านค้ารถเข็นมอเตอร์ไซค์รับจ้างเป็นต้นขณะที่แบรนด์ไปผูกกับธุรกิจ Retail อย่างร้านค้าสะดวกซื้อห้างสรรพสินค้าเป็นต้น
ซึ่งกลุ่ม Retail ในปัจจุบันเองก็มีการเปลี่ยนแปลงไปสู่ยุคดิจิทัลผ่านรูปแบบการขายออนไลน์ โดยบริษัท aCommerce ผู้ให้บริการด้านอีคอมเมิร์ซชั้นนำของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และผู้จัดจำหน่ายสินค้าทางออนไลน์ชี้ว่า ธุรกิจแบบ B2C (Business to Consumer) เติบโตอย่างรวดเร็วส่งผลให้แบรนด์ต่างๆ มองหาวิธีการทำธุรกิจหลากหลายช่องทางทั้งออนไลน์และออฟไลน์ เพื่อเข้าถึงลูกค้ากลุ่มใหม่ อย่างกลุ่ม B2B (Business to Business) เช่น ร้านค้าที่ขายของต่อรัฐบาล(B2G– Business to Government)
คุณพอล ศรีวรกุล ผู้ร่วมก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัท aCommerce ชี้ว่า “ดิจิทัลกำลังขับเคลื่อนประพฤติกรรมการใช้จ่ายส่วนใหญ่ของผู้บริโภค เราจึงได้ลงทุนสร้างระบบนิเวศน์ของอุตสาหกรรมการค้าปลีก ทั้งในประเทศไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โลกออนไลน์ไม่เพียงแต่จะเปลี่ยนแปลงการค้าปลีกแต่จะเปลี่ยนภูมิทัศน์ (Landscape) ทั้งหมด ซึ่งรวมถึงการรวมเอาโฆษณา สื่อ และความบันเทิงเข้าไว้ด้วยกัน เราต้องการช่วยแบรนด์บริหารคอนเทนท์ ช่องทางจัดจำหน่าย และสร้างประสบการณ์ของผู้บริโภค ผ่านทางข้อมูลที่ครบวงจร (Data End-to-End)”
แน่นอนว่าเมื่อ Retail เข้าสู่โลกของดิจิทัล จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของกลุ่ม Retail สิ่งที่เห็นได้ชัดคือ ลูกค้าสามารถค้นหาสินค้ารวมถึงราคาของสินค้านั้นได้อย่างง่ายดาย ซึ่งรูปแบบของการซื้อขายผ่านดิจิตอลออนไลน์ ผู้บริโภคส่วนใหญ่จะหาข้อมูลผ่านระบบอินเตอร์เน็ตรวมไปถึงรีวิวการใช้งานในสินค้าทุกประเภท เพื่อช่วยให้ลูกค้ามีความมั่นใจในการซื้อสินค้ามากขึ้น
นั่นจึงทำให้แบรนด์ต้องปรับวิธีคิดใหม่ ซึ่งทุกๆ วันสำหรับแบรนด์ เรียกได้ว่าคือการเริ่มต้นใหม่ในการหาวิธีเข้าถึงผู้บริโภค และต้องหาวิธีที่จะทำอย่างไรให้ผู้บริโภคสามารถเข้าหาแบรนด์ได้ทุกที่ทุกเวลาที่ต้องการ แม้โซเชียล มีเดียและเทคโนโลยีจะทำให้ผู้บริโภคเข้าถึงข้อมูลและสั่งสินค้าได้ง่าย แต่ต้องอย่าลืมว่ายอดขายกว่า 85% ของยอดขายทั้งหมดยังคงมาจากช่องทางการค้าแบบปกติ (Offline) จึงไม่แปลกที่ e-Commerce รายใหญ่อย่าง Alibaba และ Amazon จึงพยายามสร้างช่องทางด้าน Offline เพื่อสร้างประสบการณ์การซื้อขายที่ไร้รอยต่อระหว่างออนไลน์และออฟไลน์ (Omni Channel)
“นอกจากเรื่องของการขายแล้ว จำเป็นที่แบรนด์จะต้องให้บริการที่ครบวงจร การเป็นผู้ให้บริการครบวงจรทำให้สามารถเก็บข้อมูลจากทุกช่องทางการบริการ ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลจากผู้บริโภค การขนส่งหรือสินค้า ซึ่งข้อมูลเหล่านี้ทำให้แบรนด์สามารถเข้าใจผู้บริโภคได้อย่างตรงจุด และสามารถวางแผนเพื่อให้เข้าถึงเป้าหมายได้ดีขึ้น aCommerce เพราะช่วยเหลือแบรนด์ จากการที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนา3 ด้านทั้ง การสร้างประสบการณ์ของผู้บริโภค, ระบบและเทคโนโลยีต่างๆ และการขนส่งสำหรับทุกรูปแบบธุรกิจ” คุณพอล ชี้แจง
สำหรับทิศทาง e-Commerce ในประเทศไทย aCommerce เห็นว่า กลุ่มผู้หญิงเริ่มเข้ามามีบทบาทกับตลาด e-Commerce มากขึ้น โดยเห็นได้จากผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับเด็กและสตรีมีมูลค่าการซื้อขายผ่าน e-Commerce สูงขึ้น สอดคล้องกับผลวิจัยที่ชี้ว่า ผู้หญิงเริ่มเข้าหาสินค้าออนไลน์มากขึ้น เนื่องจากผู้หญิงมีตำแหน่งหน้าที่รวมถึงเงินเดือนที่สูงกว่าผู้ชายมากขึ้น นั่นทำให้สินค้าในหมวดแฟชั่น รวมถึงแม่และเด็กได้รับความนิยมมากขึ้น ในขณะที่กลุ่มอิเล็กทรอนิกส์และสินค้าไอทีที่มีฐานลูกค้าเป็นผู้ชายส่วนใหญ่เริ่มมีอัตราที่ลดลง
นอกจากนี้ในปีหน้าจะมีผู้เล่นรายใหญ่อย่าง Amazon ที่เตรียมแผนจะเข้ามาในประเทศไทยและ JD.com บริษัทด้าน e-Commerce จากจีนมาร่วมลงทุนกับกลุ่มเซ็นทรัลในประเทศไทย นอกจากนี้รูปแบบของ Cross-Border มีแนวโน้มเติบโตขึ้นด้วย เนื่องจากมีทิศทางของราคาที่ถูกลงแต่ก็ต้องขึ้นกับนโยบายภาครัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีของภาษีและกฎหมายเกี่ยวกับการซื้อของจากต่างประเทศ
การเข้ามาของกลุ่มธุรกิจ e-Commerce รายใหญ่ระดับโลก แน่นอนว่าต้องมีผลกระทบกับผู้เล่นรายเล็กที่อยู่ในตลาดมาก่อน เนื่องจากรายใหญ่เหล่านี้มีเงินทุนพร้อมที่จะเล่นตลาดด้วยราคา ซึ่งผู้เล่นรายเล็กจำเป็นต้องปรับตัวครั้งใหญ่เพื่อเน้นขายสินค้าเฉพาะกลุ่ม (Niche Market) จะช่วยสร้างความแตกต่างและสามารถสร้างรายได้ในยุคที่คู่แข่งรายใหญ่ระดับโลกรุกตลาดประเทศไทย
สำหรับ aCommerce ประเทศไทยมีรายได้เติบโต 250% เมื่อเทียบปีต่อปี นอกจากนี้ยังได้เปิดโกดังเก็บสินค้าในขนาด 21,000 ตรม.ใหม่เพื่อเพิ่มความเร็วและประสิทธิภาพสำหรับลูกค้าทั้ง B2B และ B2C เนื่องจาก aCommerce ให้ความสำคัญกับการใช้เทคโนโลยีที่ดีที่สุดนอกจากนี้ aCommerce ยังได้สร้างยอดขายที่เพิ่มขึ้นถึง 335% จาก 70,000 รายการสินค้าเฉพาะช่วง 24 ชั่วโมงในมหกรรม 11.11 Online Shopping Festival ที่ผ่านมา
Copyright © MarketingOops.com