จากงาน “Digital Intelligent Nation 2018” หรือก็คืองานแสดวิสัยทัศน์ AIS Vision ที่จัดขึ้นเป็นประจำปีโดยในปีนี้ได้รับเกียรติจาก “บอย โกสิยพงษ์” นักร้องนักแต่งเพลงชื่อดังที่ครั้งหนึ่งเคยประสบความสำเร็จจากการสร้างค่ายเพลง Bakery Music และค่ายเพลง LOVEiS ขึ้นมากล่าวถึงประสบการณ์ที่ผ่านมาหลังจากธุรกิจเสียงเพลงและดนตรีถูก Disrupt ด้วยเทคโนโลยีดิจิตอล
“ต้องอยู่กับสิ่งที่มี ไม่ใช่อยู่กับสิ่งที่ฝัน”
นี่คือประโยคแรกที่ บอย โกสิยพงษ์ กล่าวตอนขึ้นเวที แม้จะเป็นคำพูดสั้นๆ ที่ทำให้มีเสียงฮาทั้งห้องสัมมนา แต่ประโยคนี้ก็มีความหมายลึกซึ้งสะท้อนอะไรหลายๆ อย่าง โดย บอย โกสิยพงษ์ ได้อธิบายความหมายของคำนี้ว่าในอดีตธุรกิจเพลงได้กำไรหรือขายได้ด้วยตัวบทเพลง เพลงยิ่งเป็นที่ชื่นชอบของคนฟังก็จะมีรายได้จากการขายเพลงนอกเหนือจากนั้นอย่างคอนเสิร์ตหรือกิจกรรมด้านอื่นเป็นเพียงแค่รายได้เสริมไม่ได้กำไรหรือเงินเป็นกอบเป็นกำ
เมื่อเทคโนโลยีเข้ามาแจม
หลังจากที่ประสบความสำเร็จจากการทำธุริจเพลงไม่นาน บอย โกสิยพงษ์ ก็ตระหนักดีว่า “ซวยแน่” เพราะสิ่งที่เรียกว่า mp3 ซึ่ง บอย โกสิยพงษ์ เปรียบเทียบว่า “เหมือนเรามองท้องฟ้าแล้วเห็นเมฆดำๆ ก็รุ้ว่าฝนต้องตกแน่ๆ เราก็ต้องเตรียมตัวหาร่มหรือเตรียมอะไร็แล้วแต่เพื่อกันฝน”(นี่ยังไม่นับรวมไปถึงการดาวน์โหลด BitTorrent) แน่นอนว่า mp3ทำให้ผู้ฟังสามารถเข้าถึงเพลงได้ง่ายขึ้นสะดวกมากกว่าเดิมแต่นั่นคือหายานะสำหรับผู้ผลิตเพลง
นั่นจึงทำให้ บอย โกสิยพงษ์ ต้องเริ่มเข้าสู่โลกเทคโนโลยีด้วยการชักชวนกึ่งบังคับของน้องชายแน่นอนว่าไม่ใช่เรื่องง่ายแต่เทคโนโลยีคืออนาคตหากไม่เท่าทันเทคโนโลยีก็ไม่สามารถเท่าทันอนาคตบอย โกสิยพงษ์ จึงเริ่มศึกษาเทคโนโลยีอย่างชัดเจนและลงลึกในรายละเอียด จนทำให้พบว่าธุรกิจเพลงต้องปรับตัวไปสู่การขายแบบ B2B ด้วยการขายผ่านค่ายมือถือ ซึ่งได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี
เทคโนโลยีช่วยธุรกิจเพลงกลับมาตั้งตัวได้อีกครั้ง กระทั่งโลกโซเชียลเข้ามาถึงการเข้าถึงของเพลงยิ่งง่ายกว่าในยุค mp3 บอย โกสิยพงษ์ จึงเริ่มเรียนรู้โซเชียลมีเดียและพบว่า โซเชียลมีเดียเป็นเครื่องมือที่ดีมากสำหรับธุรกิจเพลง หากแต่เป็นการพลิกโฉมใหม่ของธุรกิจเพลงจากเดิมที่เพลงมีมูลค่ามหาศาลส่วนใหญ่คนยอมจ่ายเงินเพื่อซื้อเพลงฟัง ส่วนคอนเสิร์ตนี่เป็นกิจกรรสำหรับคนที่ชอบศิลปินจริงๆ เท่านั้นจึงเป็นแค่รายได้เสริม
ในปัจจุบันเพลงเป็นเพียงแค่มีเดียช่องทางหนึ่งเท่านั้น ขณะที่เราได้รายได้จากคอนเสิร์ตแบบมากมาย เพราะเพลงในอดีตมีมูลค่า แต่ตอนนี้เพลงแทบจะไม่สร้างรายได้หรือมีมูลค่าอะไรเลย ซึ่งเพลงจะทำให้ศิลปินเป็นที่รู้จักของตลาด หากเพลงที่ปล่อยออกไปมันโดน มันใช่ คนก็พร้อมจะมาดูคอนเสิร์ตเพื่อใกล้ชิดกับศิลปินที่ชอบ นั่นจึงไม่แปลกที่ปัจจุบันศิลปินจึงนิยมออกซิงเกิ้ลมากกว่าการทำเพลงทั้งอัลบั้ม แต่จะไปให้ความสำคัญกับกิจกรรมและคอนเสิร์ตมากกว่า
ทว่าในช่วงที่ผ่านมา บอย โกสิยพงษ์ เริ่มตระหนักถึงการใช้แพลตฟอร์มของต่างประเทศอย่าง Facebook ที่แม้จะสามารถสร้าง Engagement ให้กับศิลปินและค่ายรวมไปถึงเป็นจุดเริ่มต้นสร้างรายได้อย่างมหาศาลแต่ Facebook ก็คือแพลตฟอร์มของคนอื่นโดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่ผ่านมาเมื่อมีการปรับ Algorithm ของ Facebook อยู่อย่างต่อเนื่องส่งผลให้รูปแบบของธุรกิจเพลงที่พึ่งพา Facebook เริ่มได้รับผลกระทบ
Platform ของเราเองที่ควบคุมได้เอง
นี่จึงเป็นที่มาของการเปิดแอพฯ “Fanster” แอพพลิเคชั่นที่ให้เหล่าบรรดาแฟนคลับสามารถเข้าถึงและติดตามศิลปินที่ตัวเองชื่นชอบโดยลักษณะของแอพฯ จะมีรูปแบบคล้ายๆ Facebook ตั้งแต่การกดถูกใจแชร์และแสดงความเห็นโดยทุกๆ การถูกใจแชร์และแสดงความเห็นจะได้รับเหรียญเป็นรางวัลและหากสะสมเหรียญได้จำนวนมากพอก็สามารถนำเหรียญเหล่านั้นไปแลกเพื่อเข้าร่วมกิจกรรมสุดเอ็กซ์คลูซีฟชนิดที่แฟนคลับยิ้มบานจนหุบไม่ลง
ซึ่ง บอย โกสิยพงษ์ ยกตัวอย่างกิจกรรมว่าในแอพฯ จะมีกิจกรรมที่เอ็กซ์คลูซีฟสุดๆ อย่างเช่น การให้ศิลปินที่ชื่นชอบขับรถมาส่งที่ทำงาน การให้ศิลปินมาส่งดอกไม้ให้ที่ทำงาน การได้ทานอาหารร่วมกับศิลปินที่ชื่นชอบแบบสองต่อสอง เป็นต้นก็สามารถนำเหรียญเหล่านี้ไปแลกกิจกรรมเหล่านั้นได้
ไม่เพียงเท่านี้เหล่าศิลปินยังสามารถใช้แอพฯ Fanster เพื่อเข้ามาเช็คระบบหลังบ้านได้ โดยสามารถดูได้ว่าสมาชิกคนไหนเป็นแฟนคลับแบบคลั่งไคล้ซึ่งแอพฯ จะมีการเช็คจำนวนระยะเวลาที่ใช้ไปในแอพฯ กับศิลปินนั้นๆในแอพพลิเคชั่นและจะมี Level ที่บอกถึงระดับความคลั่งไคล้ในศิลปินนั้นๆ ระบบดังกล่่าวจะช่วยให้ศิลปินทราบว่ามีแฟนคลับจำนวนมากเท่าไหร่ที่ติดตามและมีใครบ้างที่เป็นแฟนคลับแบบคลั่งไคล้สุดๆช่วยให้ศิลปินสามารถต่อยอดด้วยกิจกรรมเพื่อแทนคำขอบคุณกับเหล่าบรรดาแฟนคลับสุดคลั่งไคล้เหล่านั้นได้
บอย โกสิยพงษ์ ยังย้ำว่า ปัจจุบันไม่ได้มีเพียงแค่ศิลปินในค่าย LVEiS เท่านั้นในแอพฯ Fanster แต่ยังรวมไปถึงศิลปินอื่นจากค่ายเล็กต่างๆ อีกด้วย เพื่อให้เป็นแพลตฟอร์มศูนย์กลางระหว่างศิลปินกับผู้ฟังเพลง นอกจากนี้บอย โกสิยพงษ์ ยังมีความปรารถนาที่อยากจะให้แอพฯFanster ขยายตัวไปนอกประเทศโดยเฉพาะประเทศจีนเนื่องจากในช่วงที่ผ่านมาศิลปินกลุ่ม SBFIVE มีการเดินทางไปพบแฟนคลับที่ประเทศจีน
นั่นทำให้ บอย โกสิยพงษ์ เห็นว่าที่ประเทศจีนก็มีกลุ่มแฟนคลับศิลปินไทยจำนวนไม่น้อยเช่นกันถึงขนาดที่มีการจัดงาน Meet & Greet Mini Consert ซึ่งได้รับการตอบรับที่ดีอย่างมหาศาลจากเหล่าบรรดาแฟนคลับชาวจีน ที่ลงทุนซื้อตั๋วเข้าร่วมงานทั้งที่ตั๋วมีมูลค่าใบละ 5,000 หยวนหรือราว 25,000 บาทเพื่อมาร้องเพลงให้เหล่าศิลปิน SBFIVE ฟัง
ซึ่ง บอย โกสิยพงษ์ ให้ความเห็นว่าหากทำให้แอพฯFanster สามารถเข้าไปถึงที่ประเทศจีนได้ก็จะช่วยให้ธุรกิจเพลงและธุรกิจ Entertainment อื่นๆ ของไทยก้าวไกลโกอินเตอร์ได้มากกว่าในปัจจุบันที่สำคัญยังสามารถตอบสนองต่อแฟนคลับต่างประเทศได้อย่างตรงกลุ่มและตรงเป้าหมาย เพื่อสร้าง Engagement กับดาราและแฟนคลับเหล่านั้น
บอย โกสิยพงษ์ ยังนึกถึงคำสอนของคุณพ่อเสมอที่ว่า
“ต้นไม้เมื่อถูกตัดใบออกทั้งหมด สักพักใบมันจะกลับมางอกใหม่ และจะเติบโตงอกงามสวยเหมือนเดิม ธุรกิจเองก็เช่นกันเมื่อไหร่ที่เราหมดหนทางหรือถึงทางตัน หากเราฝ่าฟันหรือค้นพบวิธีที่จะไปต่อให้ได้ธุรกิจก็จะอยู่รอดและเจริญเติบโตได้อีกครั้ง ซึ่งเหมือนกับถูกบีบให้เราต้องหาทางออกให้ได้และเมื่อเราออกมาได้ก็จะพบกับเส้นทางนำไปสู่ความรุ่งเรือง”
ก่อนที่ บอย โกสิยพงษ์ จะลงจากเวที ยังได้ฝากคำทิ้งท้ายไว้ว่า
“อดทนเวลาที่ฝนพรำอย่างน้อยก็ทำให้เราได้เห็นถึงความแตกต่างเมื่อวันเวลาที่ฝนจางฟ้าก็คงสว่างและทําให้เราได้เข้าใจว่ามันคุ้มค่าแค่ไหนที่เฝ้ารอ”
Copyright © MarketingOops.com