Cryptocurrency หรือเงินดิจิทัล ที่ก่อนหน้านี้กลายเป็น Talk of the Town เมื่อเงินดิจิทัลสกุลเงินใหญ่ที่สุดอย่าง Bitcoin มีมูลค่าสูงจนนักลงทุนเริ่มหันมาสนใจ จนตามมาด้วยการเปิดตัวการระดมทุนในรูปแบบ ICO กับสกุลเงินดิจิทัลต่างๆ มากมาย จนหน่วยงานที่กำกับและดูแลด้านการเงินอย่าง ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ “แบงค์ชาติ” ต้องออกมาตรการในการไม่ให้ธนาคารสนับสนุน Cryptocurrency
นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ชี้ว่า กำลังอยู่ในช่วงศึกษาทดลองการนำเงินดิจิทัล (Cryptocurrency) ที่อ้างอิงจากค่าเงินบาทหรือ คริปโตบาท (CryptoBaht) บนเทคโนโลยี Blockchain ในโครงการจัดตั้งสกุลเงินดิจิทัล “อินทนนท์” มาใช้ในการทำธุรกรรมระหว่างธนาคารกลางและธนาคารพาณิชย์ใหญ่รวม 5 แห่ง เพื่อชำระราคาหรือ เซ็ทเทิลเม้นท์ ระหว่างแบงก์ชาติกับธนาคารพาณิชย์ และระหว่างธนาคารพาณิชย์ด้วยกันเท่านั้น เพื่อลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพระบบชำระเงิน โดยเฉพาะธุรกรรมชำระเงินข้ามประเทศ (Cross Border)
ด้าน นายปรีดี ดาวฉาย ประธานธนาคารไทย ออกมายืนยันว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หรือแบงก์ชาติและธนาคารพาณิชย์ 14 แห่ง ประกาศความร่วมมือภายใต้โครงการ Blockchain Community Initiative เพื่อให้บริการออกหนังสือค้ำประกันอิเล็กทรอนิกส์ หรือ “L/G” บนเทคโนโลยีบล็อกเชนเป็นรายแรกของโลก ช่วยลดขั้นตอนและระยะเวลาดำเนินการ
โครงการดังกล่าวได้รับความร่วมมือจากธนาคารพาณิชย์ทั้ง 14 แห่งประกอบไปด้วย ธนาคารกรุงเทพ, ธนาคารกรุงไทย, ธนาคารกรุงศรีอยุธยา, ธนาคารกสิกรไทย, ธนาคารเกียรตินาคิน, ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย, ธนาคารทหารไทย, ธนาคารทิสโก้, ธนาคารไทยพาณิชย์, ธนาคารธนชาต, ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร, ธนาคารยูโอบี, ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด(ไทย) และธนาคารออมสิน
สำหรับ คริปโตบาท (CryptoBaht) จัดเป็นสกุลเงินดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารแห่งประทศไทย โดยจะเน้นใช้ในเฉพาะองค์กรธนาคาร ซึ่งไม่มีการขายออกสู่ประชาชน และธนาคารแห่งประเทศไทยยังคงขอความร่วมมือธนาคารพาณิชย์ในการไม่สนับสนุนการซื้อขายเงินดิจิทัล