หากพูดถึงสมาร์ทโฟนคงมีไม่กี่แบรนด์ที่อยู่ในใจอย่าง iPhone, Samsung หรือแม้แต่ Huawei แต่ย้อนกลับไปเกือบ 10 ปี ก่อนที่ iPhone จะกลายเป็นสมาร์ทโฟนยอดนิยม ยังมีสมาร์ทโฟนอีกรุ่นที่มีชื่อเสียงไปทั่วโลกในนาม “BlackBerry” หรือเรียกสั้นๆ ว่า BB ซึ่งความสำเร็จของ BlackBerry คือการสร้างความแตกต่างให้กับโทรศัพท์ในยุคนั้น ด้วยการใส่คีย์บอร์ดขนาดเล็กที่เรียกว่า Qwerty ลงไปในสมาร์ทโฟน
BB ถูกนำไปใช้อย่างแพร่หลายในแวดวงนักธุรกิจชั้นนำ เนื่องจากเรียกได้ว่าเป็นสมาร์ทโฟนรุ่นไฮเอนต์ยุคแรกๆ ที่สร้างความแตกต่างด้วยคีย์บอร์ด Qwerty ขณะที่โทรศัพท์ในยุคนั้นจะพิมพ์ข้อความผ่านปุ่มตัวเลข และ BB ยังเป็นสมาร์ทโฟนที่มีระบบปฏิบัติการเป็นของตัวเอง (ขณะที่มือถือยุคนั้นใช้ระบบปฏิบัติการ Symbian ของ Nokia) และมีโปรแกรมสำหรับแชทกับอุปกรณ์ในระบบ BB ด้วยกันเป็นรายแรกของโลกแบบไม่เสียเงินค่าโทรศัพท์
พีคที่สุดคือการที่ อดีตประธานาธิบดี บารัค โอบาม่า (Barack Obama) เป็นผู้นำสหรัฐฯ ที่ใช้ BB ในการติดต่อสื่อสารพูดคุยกับรัฐมนตรีต่างๆ รวมถึงใช้ในการสื่อสารกับครอบครัว และนั่นทำให้ BB กลายเป็นที่ต้องการของตลาด ทั้งในเรื่องของการแชทและการพิมพ์ข้อความ ก่อนที่ สตีฟ จ็อบส์ (Steve Jobs) จะเปิดตัว iPhone รุ่นแรกที่เป็นทัชสกรีน และการเปิดตัวแอปพลิเคชัน LI์NE โปรแกรมสำหรับการแชทในเวลาต่อมา
แต่ด้วยความเชื่อที่ว่า “โทรศัพท์พื้นฐานการใช้งานมีไว้เพื่อกดหมายเลขแล้วสนทนา” BB จึงยังคงรูปแบบของแป้ยคีย์บอร์ดโดยไม่สนใจเรื่องของทัชสกรีน จนกระทั่งความต้องการ iPhone เพิ่มขึ้นจนส่วนแบ่งตลาดของ BB ลดลง แนวคิดการทำหน้าจอทัชสกรีนจึงเริ่มขึ้น แต่นั่นมันสายไปซะแล้ว เมื่อตลาดเทใจไปให้กับ iPhone ในฐานะสมาร์ทโฟนรุ่นไฮเอนต์
BB ยังคงพัฒนาทั้งระบบปฏิบัติการและตัวสมาร์ทโฟน แต่มันสายไปแล้วจริงๆ เพราะนอกจาก iPhone จะมีทัชสกรีนแล้ว ยังสามารถติดตั้งแอปพลิเคชันได้ง่ายผ่าน App Store ตามมาด้วยการเปิดตัวสมาร์ทโฟนทัชกรีนของอีกหลายๆ แบรนด์ รวมไปถึงการเปิดตัวระบบปฏิบัติการ Android ที่สามารถติดตั้งแอปพลิเคชันได้ง่ายผ่าน Play Store เช่นกัน
BlackBerry เดินซ้ำรอยประวัติศาสตร์ยักษ์ใหญ่ด้านมือถืออย่าง Nokia แบบเหมือนกันเด๊ะๆ ด้วยวิสัยทัศน์ที่ผิดพลาดและความเชื่องช้าในการดำเนินการ BlackBerry จึงต้องยุติบทบาทตัวเองลงในตลาดสมาร์ทโฟนแล้วหันไปพัฒนาระบบเชื่อมต่อแทน
ในช่วงปี 2559 BlackBerry มีการอนุญาตให้ TLC บริษัทในกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ของจีนได้รับสิทธิ์ในการออกแบบสมาร์ทโฟน รวมถึงการจำหน่ายสมาร์ทโฟนแบรนด์ BlackBerry ซึ่งตลอดช่วงระยะเวลาที่ผ่านมาไม่มีความคืบหน้าใดๆ เกี่ยวกับ BlackBerry จาก TLC อีกทั้งเมื่อสหรัฐฯ ขอความร่วมมือจากพันธมิตรในการตัดความสัมพันธ์กับธุรกิจสัญชาติจีน BB จึงเตรียมระงับสิทธิ์ของ TLC ในสิ้นเดือนสิงหาคมนี้
โดยมอบสิทธิ์ทั้งหมดที่ TLC เคยได้รับให้กับ บริษัท OnwardMobility ที่อยู่ในเท็กซัส ซึ่งทาง OnwardMobility ก็รับแอคชั่นทันทีด้วยการร่วมกับ บริษัทในเครือ Foxconn Technology Group ในการพัฒนาสมาร์ทโฟน BlackBerry บนระบบปฏิบัติการ Android พร้อมพัฒนาระบบให้สามารถรองรับเครือข่าย 5G สำหรับ BlackBerry รุ่น 5G มีแผนจะวางจำหน่ายในปี 2564 ประเดิมก่อนที่ตลาดยุโรปและอเมริกาเหนือ
ซึ่ง BlackBerry Android รุ่นรองรับ 5G จะเป็นหน้าจอแบบทัชสกรีน โดยยังคงเอกลักษณ์แป้นคีย์บอร์ดแบบ Qwerty ที่ช่วยให้พิมพ์ง่ายขึ้น และอีกจุดเด่นคือระบบความปลอดภัย ที่ช่วยปกป้องการสื่อสารความเป็นส่วนตัวและข้อมูลด้วยเทคโนโลยีที่ BlackBerry พัฒนามาอย่างต่อเนื่อง ที่ในปัจจุบันตลาดกำลังต้องการระบบความปลอดภัยในการปกป้องข้อมูลส่วนบุคคล
ต้องมาดูกันว่า BlackBerry การกลับมาครั้งนี้จะสามารถหาพื้นที่ยืนในตลาดสมาร์ทโฟนได้หรือไม่ แต่สำหรับคนที่เคยใช้ BlackBerry บอกได้เลยว่า เป็นสมาร์ทโฟนที่มีเสน่ห์และเป้นสมาร์ทโฟนที่นิ้วหัวแม่มือต้องทำงานหนักมาก ซึ่งการกลับมาครั้งนี้แน่นอนว่าไม่ต้องหวังเรื่องการขึ้นไปเกาะกลุ่มผู้นำตลาดคงเป็นเรื่องยาก แต่ถ้าเป็นสมาร์ทโฟนทางเลือกที่มอบประสบการณ์ใช้งานที่เปลี่ยนไปบนระบบความปลอดภัยที่ดี (ตามที่อ้าง) ผสานกับแผนการตลาดดิจิทัลที่ดีเยี่ยม โอกาสที่เครื่องของ BlackBerry ไปวางอยู่ในร้านชั้นนำก็มีโอกาสเป็นไปได้
Source: Japan Today, Breaking Asia