ปัจจุบันตลาดอีคอมเมิร์ซทั่วโลกเติบโตเฉลี่ยเดือนละ 1% ในขณะที่ตลาดอาเซียนเติบโตเป็น 2 เท่า ในปีที่ผ่านมาประเทศไทยมีอัตราการเติบโตของตลาดอีคอมเมิร์ซอยู่ที่ 2% และมีอัตราการใช้สมาร์ทโฟนอยู่ที่ 61% ในจำนวนนี้มีการซื้อ-ขายบนสมาร์ทโฟนถึง 49% แสดงให้เห็นว่าผู้บริโภคส่วนใหญ่เริ่มหันมาซื้อสินค้าออนไลน์มากขึ้น ทำให้แบรนด์หรือผู้ประกอบการต่างๆ มองเห็นช่องทางการเติบโตในตลาดอีคอมเมิร์ซของไทย อันเนื่องมาจากสภาพเศรษฐกิจที่กำลังฟื้นตัว ผู้บริโภคกล้าใช้เงินมากขึ้น รวมถึงอัตราการใช้สมาร์ทโฟนของคนไทยที่เพิ่มขึ้น สอดรับกับการมาของ 4G
ล่าสุด แอสเซนด์ คอมเมิร์ซ หนึ่งในผู้นำธุรกิจอีคอมเมิร์ซในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เจ้าของเดียวกับ iTrueMart (ถ้าคุณเข้าเว็บ iTrueMART ตอนนี้ หน้าเว็บจะลิ้งก์มายัง http://www.wemall.com/itruemart/) และ WeLoveShopping ได้เปิดตัว “WeMall” ห้างออนไลน์สินค้าแบรนด์เนมระดับพรีเมี่ยม ภายใต้คอนเซ็ปต์ “Endless Aspiration: ช้อปออนไลน์ รู้ใจไม่รู้จบ” ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของนักช้อปออนไลน์ที่ชื่นชอบแบรนด์เนม และความสะดวกสบายในโลกยุคดิจิทัล ที่สำคัญต้องการซื้อสินค้าโดยตรงจากแบรนด์เพื่อความมั่นใจยิ่งขึ้น
คุณปุณณมาศ วิจิตรกุลวงศา กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานคณะผู้บริหาร บริษัท แอสเซนด์ กรุ๊ป จำกัด ได้เผยถึง 3 เทรนด์ของธุรกิจอีคอมเมิร์ซที่จะเกิดขึ้นในปี 2017 ดังนี้
1. Omni Channel
ปัจจุบันผู้บริโภคสามารถเข้าถึงแบรนด์ได้หลากหลายช่องทาง ทั้งเว็บไซต์ แอพฯ Social Media หรือหน้าร้าน ซึ่งด้วยความที่มีตัวเลือก ทำให้เส้นทางการซื้อสินค้าของผู้บริโภคเปลี่ยนไป เช่น มีความต้องการสินค้า จึงได้หาข้อมูลจากอินเตอร์เน็ตก่อน จึงเดินทางไปดูสินค้าจริงจากหน้าร้านได้สัมผัสได้ทดลองแล้ว แต่ก็ไม่ซื้อ เพราะจะซื้อออนไลน์แทน เนื่องจากมีบริการจัดส่งถึงที่
ยกตัวอย่างแบรนด์ที่ประสบความสำเร็จในการใช้ Omni Channel คือ IKEA ที่สร้างประสบการณ์การซื้อสินค้าให้ลูกค้าได้หลากหลายช่องทาง ทั้งเว็บไซต์ แอพฯ ร้านค้า ยกตัวอย่างเช่น ถ้าคุณเห็นโต๊ะตัวหนึ่งในแอพฯ และต้องการจะซื้อจึงเดินทางไปที่สาขาใกล้บ้าน แต่สาขานั้นกลับไม่มีสินค้า สิ่งที่ IKEA จะทำคือ ไม่ปฏิเสธลูกค้า หรือบอกให้กลับมาใหม่ในวันอื่น แต่จะเช็คว่าโต๊ะตัวนี้มีอยู่ในสาขาไหนบ้าง แล้วทำการจัดส่งสินค้าให้ถึงหน้าประตูบ้านของผู้บริโภค
2. Mass Personalization
เมื่อเราอยู่ในยุคที่ทุกอย่างออนไลน์ ผู้บริโภคสามารถค้นหาข้อมูลต่างๆ ได้ด้วยตัวเอง โดยไม่ต้องขอคำแนะนำจากแบรนด์ ทำให้การตลาดแบบ Mass Personalization เข้ามาเป็นส่วนสำคัญต่อการซื้อสินค้า แบรนด์ต้องใช้เทคโนโลยีเพื่อวิเคราะห์ข้อมูลของลูกค้าแต่ละคน ว่าพวกเขามีความชอบอย่างไร เพื่อที่จะได้แนะนำสินค้า/บริการที่ตรงกับการความต้องที่สุด เช่น การใช้ Recommendation แนะนำสินค้าที่อาจสนใจ สินค้าที่เหมาะกับผู้บริโภครายนั้นๆ โปรโมชั่นพิเศษ
มีผลสำรวจระบุว่า 52% ของผู้บริโภคชอบการแนะนำสินค้า, 77% บอกว่ามีประโยชน์มาก และ 33% สั่งซื้อสินค้าที่ได้รับการแนะนำ ในฝั่งแบรนด์/ร้านค้า 54% มียอดขายเพิ่มขึ้น และ 53% ของร้านค้าบอกว่า ลูกค้ากลับมาซื้ออีก
3. Real-Time Analytics Platform
การวิเคราะห์ข้อมูลแบบเรียลไทม์จะช่วยให้แบรนด์ปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ต่างๆ ได้เร็วขึ้น จากเดิมอาจต้องใช้เวลา 2-3 เดือน ปัจจุบันมี Big Data เข้ามาช่วยเก็บข้อมูล วิเคราะห์ลูกค้าได้เป็นรายบุคคล ทำให้แบรนด์ทราบถึงจุดบกพร่องต่างๆ เช่น ทำไมลูกค้าถึงไม่ซื้อสินค้าทั้งๆ ที่หยิบใส่ตะกร้าแล้ว ขั้นตอนไหนของการซื้อที่ทำให้พวกเขาออกจากหน้าเว็บ เป็นต้น
ซึ่งทั้ง 3 เทรนด์นี้เอง ที่เป็นจุดเริ่มต้นของการเปิดตัวเว็บไซต์ช้อปออนไลน์ “WeMall” ทางแอสเซนด์ คอมเมิร์ซ ได้นำทั้ง 3 เทรนด์นี้มาปรับใช้กับเว็บน้องใหม่ ที่ใช้เวลาพัฒนากว่า 1 ปี และเปิดให้ทดลองใช้มาแล้ว 1 เดือน WeMall มีจุดยืนที่ต้องการเชื่อมต่อผู้ผลิต แบรนด์ ซัพพลายเออร์ SME เข้ากับลูกค้าของพวกเขาผ่านแพลตฟอร์มของ แอสเซนด์ คอมเมิร์ซ WeMall ถือเป็นโมเดลต้นแบบในการปรับกลยุทธ์ธุรกิจเข้าสู่ตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
• สำหรับนักช้อปที่กำลังสงสัยว่า แล้ว iTrueMart กับ WeLoveShopping ยังมีอยู่หรือไม่ คำตอบคือ ยังมีอยู่ แต่อยู่ภายใต้ WeMall อีกที เปรียบเสมือนกับห้างขนาดย่อม ที่อยู่ภายใต้ห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่
• ส่วนกลุ่มเป้าหมายของ WeMall ก็เป็นคนละกลุ่มกับ 2 แพลตฟอร์มเดิม เพราะ WeMall เจาะกลุ่มผู้บริโภคที่ใช้สมาร์ทโฟน และอินเตอร์เน็ตเป็นประจำ ลูกค้าที่ใส่ใจในการเลือกซื้อสินค้า ให้ความสำคัญกับคุณภาพ แบรนด์ ต้องการบริการหลังการขาย และต้องการความเชื่อมั่นจากแบรนด์
• หลังจากเปิดให้ทดลองใช้ครบ 1 เดือน ปัจจุบัน WeMall มีลูกค้าแล้วกว่า 2 ล้านราย เฉลี่ยวันละ 1 แสนคน 60,000 ออเดอร์
• มีแบรนด์ที่อยู่ในเว็บแล้ว 120 แบรนด์ ทั้งนี้ 30% มาจาก iTrueMart
• สินค้ามากกว่า 30,000 รายการ
• ยอดการซื้อสินค้าต่อครั้งอยู่ที่ 3,000 บาท ภายในปีหน้าบริษัทฯ ตั้งเป้าไว้ที่ 2,000-3,000 บาท
• WeMall ใช้งบลงทุนทั้งสิ้น 300 ล้านบาท
• ปัจจุบันมีพันธมิตรที่เป็นสถาบันทางการเงิน 2 ราย คือ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา และธนาคารกรุงไทย
ทั้งนี้ WeMall จะเน้นการให้บริการแบบครบวงจร และสร้างการรับรู้แบรนด์ในฐานะห้างสรรพสินค้าออนไลน์ที่ขายเฉพาะสินค้าแบรนด์เนมแห่งแรก ด้วยการเน้นกลยุทธ์สร้างความมั่นใจจากการขายสินค้าจากแบรนด์โดยตรง ซึ่งมองกลุ่มเป้าหมายหลักคือนักช้อปออนไลน์ทั้งในปัจจุบันและที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคตจากความน่าเชื่อถือของ WeMall