การไม่มีโรคเป็นลาภอันประเสริฐ์… แต่โรคภัยบางประเภทก็ไม่ได้แสดงอาการให้เรารู้ล่วงหน้า หลายต่อหลายครั้ง เราจึงต้องสูญเสียบุคคลผู้เป็นที่รักไปอย่างไม่ทันเตรียมใจ ทำให้หลายฝ่ายเริ่มเล็งเห็นความสำคัญในการรณรงค์ให้คนไทยมีความรู้ความเข้าใจ เพื่อปฐมพยาบาลหรือสามารถรับมือกับสถานการณ์กู้ชีพขั้นพื้นฐาน ซึ่ง AP Thailand ก็เห็นเช่นนั้น…
และแม้จะยังไม่มีหน่วยงานใดออกมาเป็นหลัก ในการส่งเสริมความรู้เพื่อช่วยชีวิตผู้ที่ประสบ “ภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน” ซึ่งเป็นภาวะอันตรายที่คร่าชีวิตคนไทยเฉลี่ยถึง 6 คนต่อชั่วโมง หรือกว่า 54,000 คนต่อปี เรียกว่าเป็นสาเหตุการเสียชีวิตสูงสุดเป็นอันดับที่ 3 รองจากโรคมะเร็งและอุบัติเหตุ แต่อย่างที่บอกไปข้างต้น ว่า “บริษัท เอพี (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน)” หรือ AP เห็นความสำคัญของประเด็นดังกล่าว จึงมีแคมเปญ “ขอพื้นที่เล็กๆ ให้หัวใจได้เต้นต่อ” (The Smallest Space to Save Lives) ด้วยการติดตั้ง “เครื่องช็อกไฟฟ้าหัวใจอัตโนมัติ” (AED) เพื่อช่วยชีวิตคนไทยและโดยเฉพาะผู้อยู่อาศัยโครงการในคอนโดมิเนียมเครือ AP เรียกว่าต่อยอดแนวคิดในการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์สู่คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นในสังคม AP และสังคมภายนอกไปพร้อมกัน
ภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน คือ ภาวะที่หัวใจไม่สามารถส่งเลือดไปเลี้ยงอวัยวะส่วนต่างๆ ของร่างกายอย่างทันที ซึ่งภาวะนี้เกิดได้กับทุกคน โดยไม่จำเป็นต้องเป็นโรคหัวใจหรือมีโรคประจำตัวอื่น และไม่มีอาการเตือนล่วงหน้า เมื่อหัวใจหยุดเต้นลงจะไม่มีเลือดไปเลี้ยงอวัยวะใดๆ ในร่างกาย เมื่อสมองขาดเลือดมาเลี้ยงก็จะหยุดทำงานในทันที ดังนั้นผู้ที่สมองขาดเลือดจากภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันจะหมดสติลงในเวลาเพียง 10 วินาที ซึ่งผู้ป่วยที่หมดสติควรได้รับการช่วยเหลือภายในระยะเวลา 4 นาที หากไม่ได้รับการช่วยเหลือ เนื้อสมองจะเริ่มเสียหาย หากผู้ที่อยู่ใกล้เคียงมีประสบการณ์การใช้เครื่องช็อกไฟฟ้าหัวใจอัตโนมัติ AED สลับกับการทำ CPR จะสามารถลดอัตราการเสียชีวิตของผู้มีภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันได้ ซึ่งจากสถิติในประเทศญี่ปุ่นและสหรัฐอเมริกา พบว่าผู้ที่ประสบภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันหากได้รับการช่วยชีวิตภายในระยะเวลา 4 นาทีหลังเกิดเหตุด้วยการทำ CPR (การช่วยฟื้นคืนชีพ หรือปั้มหัวใจด้วยมือ) สลับกับการใช้เครื่องช็อกไฟฟ้าหัวใจอัตโนมัติ ก็จะสามารถเพิ่มโอกาสในรอดชีวิตได้มากถึง 50% แต่หากได้รับการช่วยชีวิตด้วยการทำ CPR เพียงอย่างเดียวจะมีโอกาสรอดชีวิตเพียง 27%
เนื่องจากภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันสามารถเกิดขึ้นกับคนทุกเพศทุกวัย โดยไม่มีสัญญาณเตือน ผู้ประสบภาวะดังกล่าวจึงควรได้รับการช่วยเหลืออย่างทันท่วงทีเพื่อป้องกันอันตรายถึงแก่ชีวิต ซึ่งในประเทศญี่ปุ่นนั้น มีการติดตั้งเครื่องช็อกไฟฟ้าหัวใจอัตโนมัติในพื้นที่ที่มีคนหนาแน่น ทั้งพื้นที่สาธารณะและพื้นที่อยู่อาศัย โดยมีข้อมูลระบุว่าญี่ปุ่นมีเครื่องช็อกไฟฟ้าหัวใจอัตโนมัติติดตั้งมากที่สุดในโลก มากกว่า 6 แสนเครื่อง!
สำหรับการติดตั้งเครื่อง AED นี้ ทาง AP ได้ทยอยดำเนินการติดตั้งในคอนโดมิเนียมที่ได้ส่งมอบไปแล้ว รวมถึงคอนโดมิเนียมในโครงการอื่นที่บริหารจัดการโดยบริษัท สมาร์ท เซอร์วิส แอนด์ แมนเนจเมนท์ จำกัด บริษัทบริหารจัดการอสังหาริมทรัพย์ในเครือ AP รวมทั้งสิ้นกว่า 40 โครงการ คิดเป็นผู้อยู่อาศัยกว่า 25,000 ครอบครัว ซึ่งจะมีเจ้าหน้าที่รวมกว่า 300 คน ซึ่งผ่านการฝึกอบรมหลักสูตรการช่วยชีวิตขั้นพื้นฐาน (Basic Life Support) ที่ได้การรับรองจากบริษัทรักษาความปลอดภัย ไทยซีคอม และคณะกรรมการช่วยชีวิต สมาคมแพทย์โรคหัวใจแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ประจำการและพร้อมให้ความช่วยเหลือลูกบ้านของ AP ที่ประสบภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันตลอด 24 ชม. ขณะที่ คอนโดมิเนียมที่กำลังก่อสร้างแล้วเสร็จตั้งแต่ปี 2560 ทาง AP ก็จะมีการจัดเตรียมพื้นที่สำหรับติดตั้งเครื่องช็อกไฟฟ้าหัวใจอัตโนมัติ AED ไว้เช่นกัน
นอกจากนี้การติดตั้งเครื่อง AED ตามแนวคิดการสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืนให้กับสังคมไทย โดยเริ่มต้นที่สังคมเล็กๆ ในโครงการต่างๆ ของ AP ยังมีความร่วมมือกับมูลนิธิสอนช่วยชีวิต สมาคมแพทย์โรคหัวใจแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ บริษัท รักษาความปลอดภัยไทยซีคอม จำกัด และพันธมิตรทางธุรกิจอย่าง มิตซูบิชิ เอสเตท กรุ๊ป เพื่อรณรงค์และถ่ายทอดความรู้การช่วยชีวิตขั้นพื้นฐานสู่สังคม ซึ่งทาง AP ยังมอบเครื่องช็อกไฟฟ้าหัวใจอัตโนมัติ ให้กับศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุบ้านบางแค ท่าเรือสาทร และศูนย์ประสานงาน อาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน เขตธนบุรี เพื่อติดตั้งเป็นสาธารณะประโยชน์ในการช่วยกู้ชีพอีกด้วย.