สืบเนื่องจากช่วงก่อนหน้านี้ ที่มีกระแสข่าวลืออย่างหนาหูในโลกโซเชียลถึงการอนุญาตให้ร้านสะดวกซื้อชื่อดังอย่าง เซเว่นอีเลฟเว่น (7-Eleven) ได้รับอนุญาตให้สามารถดำเนินธุรกิจด้านธนาคาร โดยล่าสุดธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ออกมายืนยันอย่างชัดเจนแล้วว่าธปท.ยังไม่มีแผนการแต่งตั้งหรืออนุญาตให้มีการจัดตั้งธนาคารแห่งใหม่แต่เป็นการออกกฎเกณฑ์ระเบียบใหม่สำหรับ Banking Agent หรือตัวแทนธนาคารในการดำเนินการธุรกรรมทางการเงิน
ทันทีที่มีการลือกันอย่างหนาหูว่า 7-Eleven ได้รับอนุญาตดำเนินธุรกิจด้านธนาคารซึ่งเป็นที่กังวลต่อสาธารณชนถึงอนาคตที่ 7-Eleven อาจทำให้ได้รับผลกระทบต่อระบบธนาคารโดย ธปท. ชี้แจงว่าการอนุญาตให้เอกชนดำเนินการธุรกิจด้านธนาคารจะเป็นในรูปแบบลักษณะของ Banking Agent หรือตัวแทนของธนาคารซึ่งมีการอนุญาตให้สามารถดำเนินการได้ตั้งแต่ประมาณปีพ.ศ. 2552– 2553
ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะความเข้าใจผิดในการสื่อสารที่ ธปท.มีการยกตัวอย่างถึง 7-Eleven ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้วธปท.กำลังยกตัวอย่างถึง “เคาน์เตอร์เซอร์วิส” ที่เป็นหน่วยงานหนึ่งของบริษัทในเครือ CP ซึ่งมีเจ้าของคนเดียวกับ 7-Eleven ประกอบกับเคาน์เตอร์เซอร์วิสให้บริการในร้านสะดวกซื้ออย่าง 7-Eleven เกือบทั่วประเทศ
ทั้งนี้การประกาศระเบียบกฎเกณฑ์ใหม่สำหรับ Banking Agency เพื่อให้ธนาคารสามารถดำเนินการกลยุทธ์ทางการตลาดเพื่อประโยชน์ต่อผู้บริโภคในการฝากจ่ายถอนเงินธปท.จึงได้อนุมัติให้ธนาคารพาณิชย์ต่างๆ สามารถเป็นผู้แต่งตั้ง Banking Agent ด้วยตัวเองโดยธนาคารจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบเสมือนหนึ่งเป็นการให้บริการของธนาคารเองนอกจากนี้ธนาคารยังต้องพิจารณาถึงความเหมาะสมในการแต่งตั้ง Banking Agent อีกด้วย
สำหรับเกณฑ์การคัดเลือก Banking Agent จะต้องเลือกจากบริษัทที่มีหลักแหล่ง การให้บริการที่ชัดเจนมีเครื่องมือและอุปกรณ์ที่พร้อมรวมถึงระบบต่างๆ รวมไปถึงเงินทุนในการดำเนินการและผู้บริหารต้องไม่มีประวัติคดีล้มละลายโดยกฎระเบียบใหม่นี้จะช่วยให้ Banking Agent สามารถให้บริการได้ถึง 4 รูปแบบประกอบไปด้วยการรับฝากเงิน, การถอนเงิน, การชำระเงินและการจ่ายเงินผู้ใช้บริการรายย่อยซึ่งจะสามารถให้บริการได้ไม่เกิน 5,000 บาทต่อรายการและไม่เกิน 20,000 บาทต่อวันทั้งนี้ให้เป็นไปตามข้อตกลงของธนาคารพาณิชย์รายนั้นๆ
นอกจากนี้ในเรื่องของค่าธรรมเนียมการให้บริการจะเป็นไปตามที่ธนาคารรายนั้นๆ เป็นผู้กำหนด ซึ่งข้อมูลทั้งหมดจะถูกรายงานส่งเข้ามาที่ ธปท.เพื่อแจ้งให้ทราบและเก็บรวบรวมข้อมูลโดยให้การดำเนินการของ Banking Agent ทุกอย่างเป็นไปตามดุลยพินิจของธนาคารพาณิชย์รายนั้นๆซึ่งหากเกิดข้อผิดพลาดขึ้นธนาคารพาณิชย์รายนั้นๆจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบหรือร่วมรับผิดชอบ
สำหรับกรณีบุคคลธรรมดาที่ต้องการเป็น Banking Agent ธนาคารพาณิชย์จะต้องส่งข้อมูลรายละเอียดของผู้ขอเป็น Banking Agent กลับมาที่ธปท.เพื่อทำการตรวจสอบและยืนยันถึงความพร้อมในการทำหน้าที่ Banking Agent เป็นรายกรณี ปัจจุบันมีการแต่งตั้ง Banking Agent แล้วจำนวน 4 รายประกอบไปด้วย บุญเติม, เติมสบาย, แอร์เพย์(AirPay) และเคาน์เตอร์เซอร์วิส
Copyright © MarketingOops.com