เทคโนโลยีเป็นสิ่งที่มีการพัฒนาอย่างไม่หยุดยั้งนับตั้งแต่มนุษย์สามารถจุดไฟได้เอง และยิ่งพัฒนาไปอย่างก้าวกระโดดเมื่อมนุษย์เข้าสู่โลกของอินเตอร์เน็ต พฤติกรรมของคนก็เริ่มเปลี่ยนไปโดยหันไปให้ความสำคัญกับความเร็ว ส่งผลให้หลายธุรกิจถูกเทคโนโลยี Disrupt เพราะตอบสนองความเร็วของผู้บริโภคไม่ได้ แม้จะมีเทคโนโลยีที่เรียกได้ว่าเร็วแล้วก็ตาม
นั่นจึงทำให้เทคโนโลยีถูกพัฒนาให้เร็วมากกว่าในปัจจุบันที่เรียกว่าอยู่ในยุค 4G แต่ดูเหมือนเร็วอย่างเดียวอาจจะยังไม่พอ ระยะเวลาความหน่วงของสัญญาณ (Latency) เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่ได้รับการพัฒนาเพื่อเสริมศักยภาพความเร็วของสัญญาณ ซึ่งการพัฒนาเทคโนโลยีในแนวทางดังกล่าว คือการหมุนโลกให้ก้าวเข้าสู่โลกของ 5G ที่กำลังกลายเป็นเทรนด์เทคโนโลยีของโลกในเวลานี้
ในหลายประเทศเริ่มมีการทดสอบระบบ 5G เพื่อให้เทคโนโลยีดังกล่าวสามารถใช้งานได้จริง เพื่อให้หลายธุรกิจสามารถเปลี่ยนตัวเองไปสู่ธุรกิจยุคดิจิทัลได้อย่างเต็มตัว ซึ่งประเทศไทยเองก็เช่นกันที่เล็งเห็นถึงศักยภาพและโอกาสเมื่อเทคโนโลยี 5G ใช้งานได้จริง โดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงการอภิโปรเจ็คอย่าง EEC (Economic East Corridor) ที่โครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีช่วงดึงดูดให้นักลงทุนเข้ามาใช้ประเทศไทยเป็นฐานการทำธุรกิจ
TOT ผู้นำการให้บริการโทรคมนาคมและดิจิทัลของประเทศ จึงได้รวมกับพันธมิตรที่มีศักยภาพอย่าง dtac และ CAT ในการทดสอบระบบ 5G ในประเทศไทย บริเวณมหาวิทยาลัยเกษตร วิทยาเขตศรีราชา เพื่อทดสอบระบบเครือข่ายงระยะเวลาความหน่วงของสัญญาณ (Latency)
โดย ดร.มนต์ชัย หนูสง กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทีโอที (จำกัด) มหาชน ชี้ว่านอกจากการทดสอบระบบ 5G เพื่อให้ประเทศไทยมีระบบโทรคมนาคมที่ทัดเทียมระดับโลก ซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญต่อการตัดสินใจเข้ามาลงทุนของนักลงทุนต่างประเทศแล้ว TOT ยังให้ความสำคัญกับความยั่งยืน (Sustainable) ในการให้บริการ 5G ซึ่งจะช่วยให้สามารถพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ โดยไม่ต้องเสียเวลาลงทุนโครงสร้างพื้นฐานอีก
ซึ่งผลที่จะได้จะเกิดกับผู้บริโภค เพราะเมื่อผู้ให้บริการไม่ต้องสนใจเรื่องของโครงสร้างพื้นฐาน ก็มีเวลาในการพัฒนารูปแบบการให้บริการ รวมไปถึงการพํมนาเทคโนโลยีต่างๆ โดยผ่านการ Shared Infrastructure เป็นรูปแบบที่ผู้ให้บริการโทรคมนาคมทั่วโลกนิยมใช้กัน
ยิ่งไปกว่านั้นการ Shared Infrastructure จะช่วยให้เกิดประโยชน์ 3 ด้าน ด้านแรกที่เห็นได้ชัดคือในด้านการลงทุนของประเทศตามที่ได้กล่าวไว้ว่า การ Shared Infrastructure ช่วยให้ไม่ต้องลงทุนไปกับโครงสร้างพื้นฐาน แต่หันไปลงทุนด้านการให้บริการและเทคโนโลยีใหม่ได้ ยิ่งไปกว่านั้นยังช่วยให้ค่าบริการถูกลง เป็นผลดีกับทั้งผู้ใช้บริการและผู้ให้บริการ ด้านต่อมาคือ ประเทศจะสวยงามขึ้น นั่นเพราะที่ผ่านมาผู้ให้บริการแต่ละรายมักจะลงทุนขึ้นเสาสัญญาณเอง เพราะอุปกรณ์ที่กระจายคลื่นความถี่ของแต่ละผู้ให้บริการสามารถอยู่บนเสาอัจฉริยะ (Smart pole) ต้นเดียวกันได้ ช่วยลดปริมาณเสาส่งสัญญาณ เนื่องจากทุกวันนี้เสาส่งสัญญาณถือเป็นมลภาวะทางสายตา (Vision Pollution) ในอนาคตหากการทำ Shared Infrastructure สำเร็จก็อาจจะขยายจากเสาสัญญาณสู่อุปกรณ์กระจายสัญญาณให้มาใช้ร่วมกัน ส่วนอีกด้านจะเป็นความเร็วในการให้บริการ เนื่องจากไม่ต้องเสียเวลาติดตั้งโครงสร้างพื้นฐานเอง ซึ่งการ Shared Infrastructure ช่วยให้สามารถเปิดตัว (Roll Out) บริการหรือแพ็คเกจใหม่ๆ ได้อย่างรวดเร็ว
นี่จึงทำให้ TOT มองว่าควรมีหน่วยงานกลางที่ดูแลเสาอัจฉริยะ (Smart pole) ซึ่งจะทำให้การขยายสัญญาณ 5G และโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลของประเทศไทยเกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว เปิดโอกาสส่งเสริมผู้ให้บริการรายใหม่ทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่สามารถเข้าสู่ตลาดได้อย่างเป็นธรรมและเท่าเทียมได้มากขึ้น รวมถึงเป็นการลดต้นทุนและเวลาของประเทศในการติดตั้งซ้ำซ้อน
ที่สำคัญสามารถทำให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลและเทคโนโลยีขั้นพื้นฐานได้ทั่วถึงมากยิ่งขึ้น โดย TOTพร้อมที่จะเป็นหน่วยงานกลางในการพัฒนาโครงข่าย 5G ของประเทศ ทั้งด้านเงินทุน ความพร้อมของโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมที่ครอบคลุมทั่วประเทศ และบุคลากรที่มีประสบการณ์ที่พร้อมจะร่วมเป็นกลไกหลักของรัฐบาลในการขับเคลื่อนเทคโนโลยี 5G