2 ปีทีวีดิจิตอล อัปเดตเรตติ้งช่องไหนแรงสุด แซงหน้าทีวีอนาล็อกได้หรือยัง

  •  
  •  
  •  
  •  
  •  

dv1396001

ทราบหรือไม่ว่าเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่าน เป็นการครบรอบ 2 ปีของทีวีดิจิตอล หากใครได้ติดตามข่าวคงทราบกันดีว่าการแข่งขันในเรื่องเรตติ้งมีความสำคัญมากแค่ไหน ซึ่งหลายฝ่ายต่างจับตามองว่าเรตติ้งสูงสุดจะตกอยู่ในมือใคร ทีวีอนาล็อกเดิมที่มีอยู่ หรือทีวีดิจิตอล หลังจากที่ผู้ผลิตต่างก็งัดกลยุทธ์คอนเทนต์เด็ดๆ ออกมานำเสนอ เพื่อเรียกเรตติ้งให้มากขึ้น

ล่าสุด บริษัท เอจีบี นีลเส็น มีเดีย รีเสิร์ช (ประเทศไทย) จำกัด ได้เปิดเผยเรตติ้งทีวีล่าสุด ที่มีขึ้นระหว่างวันที่ 1-25 เมษายนที่ผ่านมาพบว่า ช่องทีวีที่มีเรตติ้งสูงสุดเป็นอันดับ 1 คือ ช่อง 7 HD โดยมีเรตติ้งเฉลี่ย 3.340 ตามมาด้วย ช่อง 3HD เรตติ้ง 2.177, เวิร์คพอยท์ 1.198 และช่องโมโน 29 มีเรตติ้ง 0.735
o6a8ov1u2bXfuyHcsfv-o
จากที่เห็นในด้านภาพบน 5 อันดับแรกที่มีเรตติ้งสูงสุดในเดือนเมษายน 2559 มีช่องดิจิตอลทีวีถึง 3 อันดับ แม้ว่าช่อง 7 และช่อง 3 จะยังคงรักษาตำแหน่งไว้ได้ แต่ทั้งสองช่องนี้เป็นช่องที่มีความแมส เข้าถึงผู้ชมได้ทั่วประเทศ และมีคอนเทนต์ที่หลากหลายเหมาะกับผู้ชมทุกเพศทุกวัย แตกต่างจากดิจิตอลทีวีที่ค่อยๆ ไต่ระดับเพิ่มเรตติ้งให้สูงขึ้นจนแซงหน้าทีวีช่องหลักมาได้ จุดเด่นของดิจิตอลทีวีอยู่ที่ “คอนเทนต์” รายการ หรือละครต่างๆ นั่นเอง

เม็ดเงินโฆษณาเดือนเมษายน 2559

บริษัท นีลเส็น (ประเทศไทย) จำกัด เผยว่า ในเดือนเมษายน 2559 มีมูลค่ารวมการใช้งบโฆษณารวมกันทั้งสิ้น 9,700 ล้านบาท ลดลงจากเดือนเมษายนปีที่แล้ว 8.07% โดย 3 อันดับแรกของสื่อที่ใช้งบโฆษณามากที่สุดยังคงเป็น ทีวีอนาล็อก 4,505 ล้านบาท คิดเป็น 47.11% ตามมาด้วยทีวีดิจิทัล 1,641 ล้านบาท และหนังสือพิมพ์ 775 ล้านบาท

media
แม้ภาพรวมเม็ดเงินโฆษณาในตลาดดิจิตอลทีวีจะเป็นรองช่องฟรีทีวีตลอด ในขณะที่ผู้ประกอบการต้องแย่งชิงเม็ดเงินโฆษณาก้อนเดียวกัน นอกจากสื่อโทรทัศน์ การใช้สื่อออนไลน์ก็จะช่วยเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้ ด้วยเหตุนี้ทำให้ผู้ประกอบการต้องลงทุนด้านการผลิตคอนเทนต์ให้มากขึ้น เพื่อดึงดูดเม็ดเงินโฆษณาจากฟรีทีวี และการที่ช่องมีคอนเทนต์ดีๆ ไม่เหมือนใคร จะช่วยดึงดูดกลุ่มคนรุ่นใหม่ได้ เพราะผู้ชมส่วนใหญ่จะไม่ยึดติดอยู่กับช่อง แต่จะจำได้แต่คอนเทนต์ หรือชื่อรายการเท่านั้น

เมื่อดูจากทั้ง 3 ช่องที่มีเรตติ้งสูง ในช่วงต้นปี Workpoint ได้เผยงบผลิตรายการสำหรับปีนี้อยู่ที่ 600-700 ล้านบาท เสริมผังรายการใหม่ในทุกช่วงเวลา ทั้งละคร รายการวาไรตี้-เกมส์โชว์ เพื่อเพิ่มเรตติ้งและขยายฐานผู้ชม ส่วนช่อง Mono วางแผนใช้งบลงทุนกว่า 800 ล้านบาท ในการซื้อและผลิตคอนเทนต์ และทางฝั่งอาร์เอส ทุ่มงบ 2 พันล้าน เพื่อผลิตคอนเทนต์และละคร โดยตั้งเป้าสิ้นปียอดผู้ชม 7-8 แสนคนต่อนาที นอกจากนี้ ด้วยแนวโน้มงบโฆษณาที่ลดลง ทำให้ช่อง 8 ตัดสินใจลดงบการลงทุนช่วงไตรมาสแรกเพื่อรอจังหวะ เพราะทิศทางการบริหารของอาร์เอสไม่ได้วัดจากเรตติ้งเพียงอย่างเดียว ต้องพิจารณาจากผลประกอบการด้วย

และอีกช่องที่มองข้ามไม่ได้ GMM ที่เพิ่งแถลงผลประกอบการไตรมาสแรกของปีนี้ไปหมาดๆ โดยมีรายได้รวม 1,990 ล้านบาท ซึ่งมาจากรายได้ช่องดิจิตอลทีวีทั้ง 2 ช่อง (ช่อง ONE31 และช่อง GMM25) ที่เติบโตมากกว่าเท่าตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อนด้วยคอนเทนต์กระแสแรงและผังรายการที่มีความแข็งแกร่ง

ปัจจุบันพฤติกรรมผู้ชมไม่สนใจว่าช่องไหน แต่จะให้ความสนใจกับเรื่องของคอนเทนต์มากกว่า ไม่เปิดทีวีแช่ไว้ทั้งวันเหมือนแต่ก่อน ช่องไหนมีรายการที่ชอบก็พร้อมจะเปลี่ยนไปดูช่องนั้นทันที ผู้ประกอบการจึงต้องมองให้รอบด้าน ทั้งกระแส ความชอบ และความต้องการของผู้ชม


  •  
  •  
  •  
  •  
  •