มิตรสหายท่านหนึ่งเคยกล่าวกับผมว่า… ‘ความสำเร็จ’ ใครถึงก่อนย่อมได้ก่อน ไม่มีใครเป็นเจ้าของอย่างแท้จริง
ทุกความสำเร็จหรือชัยชนะที่มีอยู่บนโลกใบนี้ ล้วนแต่ต้องการการฝึกฝนและพัฒนาอย่างสม่ำเสมอ ใช่ว่า ‘สำเร็จ’ แล้วจะสำเร็จเลย…และใช่ว่าได้มาแล้ว จะอยู่กับเราไปตลอดกาล
แบรนด์ที่ดีที่ประสบความสำเร็จ ติดอันดับ Top ต่างๆมากมายนั้น ต่างก็พากันผ่านขั้นตอนนี้มาแล้วทั้งนั้น จะเห็นได้ว่าแบรนด์ที่ประสบความสำเร็จได้อย่างยาวนาน นั่นก็เพราะว่าเขาค้นพบ ‘ความสำเร็จ’ ของตนเองได้ในที่สุดนั่นเอง และหมั่นพัฒนาประสิทธิภาพของแบรนด์ตนเองอย่างเป็นประจำเสมอ และนี่คือหนึ่งในตัวอย่างของ ‘ความสำเร็จ’ นั้นๆ กับ 5 อันดับ แบรนด์ที่มีความ Innovative ของปี 2014 นี้ครับ
1. Xiaomi
ต้องขอบอกว่า…คงเป็นไปไม่ได้ที่เราจะมองข้ามแบรนด์นี้ไป Xiaomi แบรนด์จำหน่ายสมาร์ทโฟน ที่ได้รับการขนานนามว่าเป็น ‘The Apple of China’ หรือแอปเปิ้ลแห่งเมืองจีนนั่นเอง Xiaomi กลืนกินส่วนแบ่งตลาดของคู่แข่งไปอย่างหายวับ ด้วยการทำทุกอย่างที่ตรงข้ามกับ Apple – เชื้อเชิญให้ผู้ใช้มีส่วนร่วมกับการออกแบบสมาร์ทโฟนของแบรนด์ นอกจากนั้นยังประยุกต์ซอฟต์แวร์เข้ากับการพัฒนาฮาร์ดแวร์ของสมาร์ทโฟนอีกด้วย
ดูเหมือนว่า Lei Jun (CEO ของแบรนด์) จะพยายามทำทุกอย่างให้ดีเพื่อหยุดการตั้งข้อที่ว่า ตนพยายามจะหักล้างนาย Steve Jobs คนล่าสุดให้ได้ แต่ Xiaomi ก็ได้กระจายการจัดจำหน่ายไปยังประเทศอินเดียเมื่อเดือนกรกฎาคม และในประเทศอินโดนีเซียเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา ซึ่งยังคงยืนหยัดและจังก้าว่าพวกเขา คือแบรนด์เดียวจากประเทศจีนที่โชว์ถึง ‘นวัตกรรม’ อย่างแท้จริง และมี ‘ศักยภาพ’ ที่ไม่เป็นรองบ่อนแบรนด์ไหนๆ
2. Unilever
เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา Unilever ออกแคมเปญที่ใช้ชื่อว่า ‘The Foundry’ แพลตฟอร์มที่หลอมรวมและแผ่ขยายบริษัทที่มีอยู่ให้สามารถทำงานร่วมกับกลุ่ม Startup ได้ โดย Marc Mathieu (Senior Vice President of Global Marketing) กล่าวว่าแคมเปญนี้คือ ‘สิ่งจำเป็น’ เพื่อ ‘เปิดรับและเชื่อมโยงกับระบบความสัมพันธ์ของธุรกิจ Startup’ ถือเป็นการพัฒนาของแบรนด์ที่ดีอันนึง เพราะนอกจากจะเปิดโอกาสให้ธุรกิจเล็กๆได้ก้าวขึ้นมาเป็นธุรกิจใหญ่ๆได้แล้ว ยังเป็นการบ่งบอกถึงศักยภาพของ Unilever อีกด้วย
3. Mastercard
แบรนด์ให้บริการทางการเงินระดับโลกที่เรารู้จักกันดี ถือว่าโดดเด่นมากในปีนี้กับการผลักแบรนด์เข้าสู่โซเชียลมีเดียมากขึ้น ภายใต้แม่ทัพอย่าง Sam Ahmed (Head of Marketing) ที่รับบทบาทในการพัฒนาและปล่อยแคมเปญที่มีชื่อว่า ‘Priceless Engine’ เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา ซึ่งเป็นเครื่องมือในการตรวจจับและติดตามการซื้อขายและการติดต่อทางธุรกิจที่แปลกปลอมบนโซเชียลมีเดีย โดยมีเป้าประสงค์เพื่อขับเคลื่อนรายได้ให้กับธนาคาร และผู้จำหน่าย แสดงให้เห็นว่า…การตลาด คือส่วนผสมสำคัญในการทำธุรกิจนั่นเอง ถือเป็นแบรนด์ที่ ‘อยู่คู่’ กับเรื่องเงินๆของโลกเรามานาน แต่ก็ไม่เคยคิดที่จะ ‘อยู่นิ่ง’ เลยเชียวล่ะ
4. Scoot Airlines
Scoot สายการบินระหว่างประเทศราคาประหยัดของสิงคโปร์ ที่พิสูจน์ให้เห็นว่ายังคงเป็นแบรนด์ที่พัฒนาตนเองขึ้นเรื่อยๆอย่างไม่หยุดยั้ง และยังเพิ่มช่องทางบนออนไลน์มากขึ้นอีกด้วย ทำให้ Scoot มียอดขายและยอดจองที่เพิ่มมากขึ้นอีกเช่นกัน โดยจะเห็นได้ว่าประมาณ 70% ของยอดขายที่เพิ่มขึ้นนั้น มาจากช่องทางออนไลน์ล้วนๆ Scoot อยู่ภายใต้การนำทัพของ CEO คนปัจจุบัน Campbell Wilson และในปีนี้พวกเขาก็ตบเท้าออกโรงครั้งแรกบนสังเวียน Campaign’s Asia’s Top 1000 Brands อีกด้วย
5. Ichitan (อิชิตัน)
แบรนด์เครื่องดื่มเย็นฉ่ำสุดใจป้ำของ คุณตัน ภาสกรนที เซียนเจ้าพ่อแห่งการทำการตลาด…ที่คนไทยต่างก็พากันยอมรับ จนตอนนี้ชื่อเสียงเลื่องลือลามไปยังต่างประเทศแล้ว ทั้งการทำแคมเปญการตลาดบนออนไลน์ และ TVC คุณตันก็ยังคงทางมวยดี คุมสังเวียนมัดใจลูกค้ามาหลายต่อหลายยก นำพาแบรนด์ ‘อิชิตัน’ ของตนประสบความสำเร็จอย่างล้นหลาม
หลายคนอาจคุ้นตากันดีกับภาพของคุณตันที่บินร่อนไปมาในชุดยูนิฟอร์มซุปเปอร์ฮีโร่เจ้าเนื้อ จนฝรั่งต่างก็พากันตั้งฉายาให้คุณตันว่า ‘Fat Superhero in a Sailor Hat and Cape’ หรือ ‘ซุปเปอร์ฮีโร่ตุ๊ต๊ะ…ที่มาพร้อมหมวกนาวิกฯ และผ้าคลุมไหล่’ เรามักจะเห็นหน้าคุณตันไปปรากฏอยู่ในทุกๆแคมเปญของแบรนด์อิชิตัน ในคอนเทนต์มาร์เก็ตติ้ง และบนโซเชียลมีเดีย จนหลายคนสงสัยว่า…ที่คุณตันรวยเปรี้ยงปร้างขนาดนี้ อาจเป็นเพราะไม่เคยจ้างพรีเซนเตอร์เลยหรือเปล่า? แต่ไม่ว่าคุณตันจะจ้างหรือไม่จ้างนั้น เราก็เห็นๆกันอยู่ทนโท่ว่าเฟสบุ๊คของชายร่างตุ้ยนุ้ยคนนี้ มีคนติดตามกว่า 7 ล้านคนแล้วในตอนนี้ นับเป็นหนึ่งในบุคคลที่โด่งดังมากที่สุดของประเทศไทย ส่งผลให้แบรนด์ ‘อิชิตัน’ ของเขา ประสบความสำเร็จอย่างมากในปี 2014 นี้
เคล็ดลับความสำเร็จของแต่ละคน…ลอกเลียนแบบไม่ได้, เราต้องตัดรองเท้าให้เหมาะกับเท้าของเราเอง ครับ
อนึ่ง, 5 อันดับข้างต้นนี้ เป็นการจัดอันดับของเว็บไซต์ CampaignAsia