วิธีการหนึ่งที่สามารถใช้สังเกตได้ง่ายๆ ว่าสินค้าอะไรยี่ห้อใดกำลัง “รุ่ง” คือการมองไปในตลาดว่า สินค้านั้นกำลังมีผู้เล่นรายใหม่ๆ พยายามกระโดดเข้ามาแย่งมาร์เก็ตแชร์กันอย่างอุตลุด และมีการตั้งชื่อสินค้าเลียนแบบเจ้าตลาดหรือไม่ เหมือนสมัยหนึ่งที่ชาเขียว “โออิชิ” กำลังฮอต ก็มีแบรนด์อื่นๆ กระโดดเข้ามาเล่นตามนับสิบราย เป็นต้น แถมยังตั้งชื่อไปในโทนเดียวกันเป๊ะ
การมาของแบรนด์อย่าง “เถ้าแก่เนี้ย”, “ตี๋น้อย” และแบรนด์อื่นๆ อีกมากมาย ในช่วงเวลา 1-2 ปีที่ผ่านมา จึงเป็นดัชนีชี้วัดได้เป็นอย่างดีว่า อุณหภูมิการแข่งขันของตลาดสแน็กสาหร่ายในปี 2552 ที่มี “เถ้าแก่น้อย” เป็น “ตั้วเฮีย” ผู้นำในตลาดนั้น กำลัง “เร่าร้อน” และ “น่าเร้าใจ” เพียงใด
เพราะไม่ว่าใครที่เห็น Success Story ของเถ้าแก่น้อย ต่างก็น้ำลายสอจนต้องขอเดินตามเข้ามาเล่นกันเป็นแถว
อิทธิพัทธ์ กุลพงษ์วณิชย์” (ต๊อบ) ผู้ปลุกปั้นสาหร่าย “เถ้าแก่น่อย” จนมียอดขายเกือบพันล้าน
เปลี่ยน Passion เป็นโอกาส
แม้ในอดีต “อิทธิพัทธ์ กุลพงษ์วณิชย์” หรือ “ต๊อบ” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เถ้าแก่น้อย ฟู๊ดแอนด์มาร์เก็ตติ้ง จำกัด จะเคยเป็นหนุ่มน้อยหน้าตี๋ที่เกเร ย้อมผมทอง และติดเกมงอมแงม แต่เขาก็พิสูจน์ให้ทุกคนเห็นว่า ถ้าตั้งใจจะทำอะไรแล้ว เขาต้องทำให้ได้
จากเด็กน้อยที่อยากเป็นนักธุรกิจเหมือนคุณพ่อ เพราะรู้สึกว่า “เท่” เวลาที่พ่อเดินไปไหนมาไหนแล้วมีลูกน้องคอยยกมือไหว้สวัสดี แต่เมื่อเติบใหญ่ฝันนั้นก็ค่อยๆ เลือนลางไปพร้อมๆ กับความเกเรของตัวเอง
จนวันหนึ่งเมื่อพี่ชายมาชวนให้ต๊อบทดลองเล่นเกมออนไลน์ ชีวิตเขาก็เปลี่ยนไป
ด้วยความชอบและความมุ่งมั่น ไม่นานต๊อบก็กลายเป็นที่หนึ่งในเซิร์ฟเวอร์ที่มีผู้เล่น 4-5 แสนคน จนมีคนมาขอเสนอซื้อไอเท็มจากเขาพร้อมโอนเงินก้อนแรกมาให้ ประกายไฟที่เริ่มริบหรี่จึงถูกจุดขึ้นอีกครั้ง
“พอมาเล่นเกมแล้วหาเงินได้ก็เริ่มรู้สึกว่า เฮ้ย มันไม่ยากอย่างที่คิด ไม่จำเป็นต้องเรียนเก่งก็หาเงินได้ นั่นคือจุดเริ่มต้น”
สร้างธุรกิจจากคำถามง่ายๆ
เมื่อมีขึ้นก็ย่อมมีลง เกมออนไลน์ที่เคยเฟื่องฟูก็ไม่พ้นวัฏจักรของ Product Life Cycle ที่เมื่อถึงเวลาเสื่อมถอย รายได้ของต๊อบก็หดหาย ประกอบกับวิกฤตเศรษฐกิจ 2540 ได้ส่งผลกระทบกับธุรกิจด้านอสังหาริมทรัพย์ของครอบครัวเขาอย่างจัง
“มีอยู่วันหนึ่งผมไม่มีเงิน ก็เดินไปขอคุณแม่ คุณแม่เดินเข้าไปหยิบเงินในห้องนานมาก ประมาณ 10 กว่านาที ผมเลยเดินตามเข้าไป เห็นคุณแม่กำเงินไว้ทั้งน้ำตา จึงเกิดแรงบันดาลใจว่าต้องทำอะไรสักอย่าง”
สิ่งที่เคยวาดฝันไว้ในวัยเยาว์ว่าอยากเป็นนักธุรกิจที่ร่ำรวยจึงเริ่มผุดเข้ามาในสมองเขาอีกครั้ง
วันหนึ่งเขาไปเดินงานแฟร์และพบกับแฟรนไชส์เครื่องคั่วเกาลัดจากประเทศญี่ปุ่น ด้วยความที่ชอบกินเกาลัดเป็นทุนเดิม จึงเกิดคำถามง่ายๆ ขึ้นมาในใจว่า “ทำไมคนอยากกินเกาลัดต้องไปซื้อที่เยาวราช” และคำถามนั้นก็กลายเป็นที่มาของธุรกิจแฟรนไชส์เกาลัดแบรนด์ “เถ้าแก่น้อย” ที่เติบโตมาจากเงินทุนของตัวเขาเองได้ในเวลาไม่นานนัก
แม้ต้องล้มลุกคลุกคลานในระยะแรก แต่เขาก็ปลุกปั้นเกาลัด “เถ้าแก่น้อย” จนสามารถขยายสาขาได้กว่า 30 สาขา ในระยะเวลาเพียงปีเศษเท่านั้น
แล้วจุดเปลี่ยนที่สำคัญก็มาถึงอีกครั้ง เมื่อวันหนึ่งเขาไปเดินตรวจร้านของตัวเองตามห้างสรรพสินค้า ด้วยความหิวเขาจึงแวะเวียนไปที่ร้านไอศกรีมแดรี่ควีนเจ้าประจำ และสังเกตเห็นสิ่งง่ายๆ ที่ใครๆ ก็เห็นว่า นอกจากไอศกรีมแล้วภายในร้านยังมีไส้กรอกวางขายอยู่ด้วย
คำถามง่ายๆ ที่เกิดขึ้นว่า “ทำไมร้านเราไม่มีไส้กรอกขายบ้าง” จึงกลายเป็นไอเดียให้ต๊อบขยาย Product Line จากเกาลัด ไปสู่ลำไยอบแห้ง ลูกพลับแห้ง และขยายไปสู่ “สาหร่ายทอด” ซึ่งเป็นสินค้าที่ทำให้ฝันของเขากลายเป็นจริงในเวลาต่อมา
บุกตลาดด้วยกลยุทธ์ “ป่าล้อมเมือง”
หลังจากค้นพบเทรนด์ในตลาดว่าขนมขบเคี้ยวสาหร่ายกำลังมาแรง เพราะบางสาขาสามารถขายสาหร่ายได้มากกว่าสินค้าหลักอย่างเกาลัด ต๊อบจึงเริ่มหันมาทำตลาดสาหร่ายอย่างจริงจัง โดยแปลงหลังบ้านให้เป็นโรงงานผลิตสาหร่ายทอด และทดลองเจาะตลาดยี่ปั๊วเป็นอันดับแรก
แม้ไม่ประสบความสำเร็จในเบื้องต้น แต่แทนที่จะย่อท้อเขากลับคิดการใหญ่ขึ้นด้วยการใช้กลยุทธ์ “ป่าล้อมเมือง” ซึ่งเป็นกลยุทธ์การกระจายสินค้าให้ครอบคลุมกลุ่มผู้บริโภค ที่เขาได้ยินแว่วๆ มาจากในทีวี
“ผมคิดว่าป่าน่าจะเป็นร้านสะดวกซื้อ ร้านสะดวกซื้อต้องมีสินค้าของเรา”
Seven Eleven จึงกลายเป็นเป้าหมายต่อไปของต๊อบ เพราะเป็นร้านสะดวกซื้อที่มีสาขามากที่สุดในประเทศไทย ถึงแม้ต้องผ่านอุปสรรคนานัปการ แต่สุดท้ายเมื่อเขาสามารถเจาะเข้า Seven Eleven ได้สำเร็จ แบรนด์เถ้าแก่น้อยก็เริ่มแจ้งเกิด
หลังจากปลูกป่าบนร้านสะดวกซื้ออย่าง Seven Eleven ได้สมใจแล้ว เขาก็ดำเนินกลยุทธ์ป่าล้อมเมืองต่อไป ด้วยการรุกเจาะเข้าไปในโมเดิร์นเทรดและซูเปอร์มาร์เก็ตต่างๆ อย่างต่อเนื่อง อาทิ Jiffy, Family Mart, Watsons, The Malls, Tops, Big C, Tesco Lotus, Carrefour
ทั้งยังเจาะไปตลาดต่างประเทศด้วยกลยุทธ์เชิงรุก คือไม่รอไปออกงานแฟร์กับกรมส่งเสริมการส่งออกเพื่อให้ตัวเองเป็น “ผู้ถูกเลือก” แต่บุกไปถึงตัว Distributor ในต่างแดนโดยตรง เพื่อให้ตัวเองเป็น “ผู้เลือก”
วิธีการของเขาแสนจะง่ายและธรรมดา เพียงเดินไปตามห้างในประเทศที่ต้องการเจาะตลาด แล้วพลิกดูซองขนมว่าใครเป็นผู้จัดจำหน่ายในประเทศเหล่านั้นบ้าง จากนั้นก็เตรียมตัวนำสินค้าของเถ้าแก่น้อยไปเสนอเพื่อเปิดการเจรจาพร้อมด้วยข้อเสนอในการสนับสนุนการทำตลาด
ด้วยวิธีการนี้ทำให้สินค้าของเถ้าแก่น้อยมีวางจำหน่ายแล้วใน 16 ประเทศ ด้วยสัดส่วนการส่งออกที่สูงถึง 60% เมื่อต้นปี 2550 แม้จะปรับลดลงเหลือ 40% ในปัจจุบันแต่มูลค่าตลาดต่างประเทศกลับมิได้ลดลง หากเป็นเพราะเขาเลือกที่จะกลับมารักษาฐานที่มั่นของตลาดในประเทศพร้อมรุกตลาดตีกันคู่แข่งอย่างจริงจังในปีที่ผ่านมา
สาหร่าย = เถ้าแก่น้อย
“ผมไม่ใช่แบรนด์แรกที่เข้ามาในตลาด แต่ผมเป็นแบรนด์แรกที่เข้าไปอยู่ในใจผู้บริโภคได้”
คือคำกล่าวของต๊อบที่สะท้อนการทำตลาดของเถ้าแก่น้อยอย่างจริงจังในปี 2551 เนื่องจากตลาดต่างประเทศเริ่มมั่นคงในระดับหนึ่งแล้ว ด้วยยอดส่งออกกว่าเดือนละ 30 ล้านบาทเมื่อกลางปี 2550 ประกอบกับขณะนั้นค่าเงินบาทเริ่มแข็งตัว ทำให้ทิศทางการส่งออกเริ่มทำตลาดได้ยากขึ้น อีกทั้งตลาดในประเทศยังมีผู้เล่นหน้าใหม่ๆ ทยอยเปิดตัวเข้ามาแข่งขันทำตลาดอย่างต่อเนื่องมากกว่า 10 แบรนด์
“ตลาดสาหร่ายปี 2551 เติบโตสูงมากและผู้เล่นรายอื่นๆ พยายามสร้างแบรนด์ขึ้นมา เราจึงต้องพยายามสร้างแบรนด์เพื่อรักษาความเป็นที่หนึ่ง”
กลยุทธ์การทำตลาดของเถ้าแก่น้อยในปีที่ผ่านมาจึงมีท่วงทำนองที่ “ดุดัน” ด้วยการเพิ่มงบการตลาดขึ้นอีกเท่าตัว จาก 25 ล้านบาท เป็น 50 ล้านบาท เพื่อทำโฆษณาทีวีสื่อสารกับผู้บริโภคในวงกว้าง จากเดิมที่มุ่งเจาะแต่ช่องทาง Below the line ด้วยการโรดโชว์และทำโปรโมชั่น ณ จุดขาย
โฆษณาชิ้นแรกของ “เถ้าแก่น้อย” ที่เปิดตัวไปเมื่อต้นปี 2551 ด้วย Brand Concept ว่า “ถ้าเป็นสาหร่ายต้องเถ้าแก่น้อย” เพื่อตอกย้ำให้แบรนด์เถ้าแก่น้อยให้ติดปากผู้คนจนกลายเป็น Generic Name เหมือนบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปที่เรียกแทนด้วย “มาม่า” และผงซักฟอกที่คนนิยมเรียกกันว่า “แฟ้บ”
“ผมสร้างแบรนด์โดยใช้โฆษณาโทรทัศน์ที่ชูคอนเซ็ปต์ว่า “Seaweed is สาหร่ายเถ้าแก่น้อย” เพราะหลายคนไม่รู้ว่า Seaweed แปลว่า สาหร่าย การนำครูคริส (คริสโตเฟอร์ ไรท์) ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของครูสอนภาษาอังกฤษมาสอนคำนี้ แล้วพ่วงด้วยคำว่าเถ้าแก่น้อยลงไปด้วย ช่วยตอกย้ำว่าเถ้าแก่น้อยคือขนมสาหร่าย และขนมสาหร่ายคือเถ้าแก่น้อย”
ออก Sub-brand กินรวบตลาดสาหร่าย
หลังจากปล่อยโฆษณาออกมาตอนต้นปี เถ้าแก่น้อยก็รุกต่อไปด้วยกลยุทธ์การออก Sub-brand เพื่อเจาะตลาดคนรักสุขภาพโดยเฉพาะ
ซับแบรนด์ Curve ที่เปิดตัวออกมาเมื่อกลางปี 2551 จึงถูกวาง Positioning เพื่อเจาะเซ็กเมนต์วัยรุ่นผู้หญิงอายุ 18-28 ปี ที่ห่วงสุขภาพและกลัวอ้วน เพื่อให้แยกตลาดชัดเจนจากแบรนด์เถ้าแก่น้อยที่วาง Positioning ไว้ที่กลุ่มเด็กและวัยรุ่นทั่วไป
“เดี๋ยวนี้สินค้าเป็น Niche Market มากขึ้น จึงต้องมีการซอยย่อย Segment เพื่อเจาะให้ตรงกลุ่มเป้าหมาย สมัยนี้ไม่มีสินค้าที่ออกมาแล้วขายได้ครอบจักรวาลอีกต่อไปแล้ว Product จึงต้องเป็น Smart Product เพื่อแสดงความเป็นตัวตนของผู้บริโภคให้ได้ เหมือนมอเตอร์ไซค์ฟีโน่ที่ได้รับความนิยมเพราะบ่งบอกความเป็นตัวตนของผู้บริโภคได้”
ปี 2552 เถ้าแก่น้อยยังเตรียมออกซับแบรนด์ “ยากิโนริ” เพื่อเจาะตลาดสาหร่ายที่นำมาใช้ประกอบอาหาร จากการสำรวจพฤติกรรมผู้บริโภคที่พบว่า เทรนด์เกาหลีและญี่ปุ่นกำลังมาแรง ทำให้ร้านอาหารสไตล์เกาหลีและญี่ปุ่นเติบโตขึ้นนับสิบเท่าในเวลาไม่กี่ปีที่ผ่านมา
“ตอนนี้พฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนไปแล้ว จากเมื่อก่อนคนนิยมอาหารฝรั่ง แต่เดี๋ยวนี้ร้านอาหารสไตล์ญี่ปุ่นและเกาหลีมาแรง มีทั้งฟูจิ MK บาร์บีคิวพลาซ่า ยาโยอิ ฮาจิบัง ฯลฯ จากเมื่อก่อนมีประมาณ 2-3 ร้อยร้าน เดี๋ยวนี้มี 2-3 พันร้าน ปีนี้เราจึงเตรียมออกแบรนด์ “ยากิโนริ” เพื่อเจาะกลุ่มร้านอาหาร ด้วยการทำตัวเป็น Supplier สาหร่ายที่เราเป็นผู้นำเข้ามากที่สุดในขณะนี้”
แผนรุกตลาดปีวัว
นอกจากการออกซับแบรนด์เพื่อขยายสู่กลุ่มเป้าหมายใหม่ๆ ที่เถ้าแก่น้อยเตรียมไว้เล่นในปีนี้ ต๊อบยังเตรียมแผนเจาะตลาดปีวัวโดยตั้งเป้ายอดขายสวนกระแสเศรษฐกิจซบเซา ด้วยการเพิ่มช่องทางจัดจำหน่ายผ่าน Traditional Trade ที่เถ้าแก่น้อยยังกระจายสินค้าได้ไม่ครอบคลุม (เข้าถึงประมาณ 35%) ขณะที่ช่องทางโมเดิร์นเทรดอย่างซูเปอร์มาร์เก็ตและไฮเปอร์มาร์เก็ตก็ยังมีช่องว่างให้ชอนไชได้อยู่อีกประมาณ 14%
เพราะแม้ว่าจะดึงผู้จัดจำหน่ายที่มีเครือข่ายครอบคลุมทั่วประเทศอย่าง “ดีล์ทแฮม” มาช่วยกระจายสินค้าในปีที่ผ่านมา แต่ก็ยังมีช่องว่างในตลาดให้เล่นเพราะสินค้าบางชนิดที่เพิ่งเข้าตลาดใหม่ๆ อาจยังไม่เป็นที่แน่ใจของ Traditional Trade ทำให้ไม่กล้าสต็อกสินค้า ซึ่งเป็นโจทย์ของเถ้าแก่น้อย ต้องอุดช่องว่างด้วยการรุกประชาสัมพันธ์ให้หนักขึ้นในปี 2552
และยังมีแผนเปิดตัวหนังโฆษณาตัวใหม่เพื่อตอกย้ำแบรนด์ในใจผู้บริโภคไปอีกหนึ่งสเต็ป ด้วย Brand Positioning คือ เถ้าแก่น้อยเป็นแบรนด์ที่จะเข้าไปอยู่ในความทรงจำของผู้บริโภคอย่างถาวร และ Product Positioning ที่วางไว้ว่าสาหร่ายเถ้าแก่น้อยต้องเป็นสาหร่ายที่มีคุณค่าทางโภชนาการ มีคุณภาพ และมีราคาย่อมเยา
พร้อมด้วยการแตกโปรดักส์ไลน์ใหม่ๆ ภายใต้แบรนด์เถ้าแก่น้อย และซับแบรนด์อื่นๆ อย่างต่อเนื่อง เพราะเขาอ่านทิศทางตลาดว่า ตลาดขนมขบเคี้ยวสาหร่ายจะเติบโตแบบดับเบิลไปได้อีกอย่างน้อย 3 ปี ก่อนที่การเติบโตจะเริ่มชะลอตัวและเข้าสู่จุดอิ่มตัวในที่สุด
“การที่ผลิตภัณฑ์จะไปอิ่มตัวที่ตรงจุดไหน ขึ้นอยู่กับ Product Innovation ว่าจะพัฒนาไปได้ไกลแค่ไหนด้วย”
และนี่เองที่ทำให้เถ้าแก่น้อยวางเป้ายอดขายในประเทศปี 2552 ไว้ถึง 1,500 ล้านบาท หากรวมกับยอดส่งออกที่วางไว้อีกประมาณ 20% ก็คงเฉียดๆ 2,000 ล้านบาท ซึ่งคงไม่ใช่ตัวเลขที่เลื่อนลอย เพราะ 4 ปีที่ผ่านมา ต๊อบได้พิสูจน์ให้ทุกคนเห็นแล้วว่า เด็กหนุ่มหน้าตี๋ที่อายุยังไม่ครบเบญจเพสอย่างเขา “ทำได้จริงๆ”
ที่มาของแบรนด์
ชื่อแบรนด์เถ้าแก่น้อยมาจากพ่อของอิทธิพัทธ์พูดแซวกับเพื่อนในโทรศัพท์ เมื่อเห็นลูกชายกำลังเตรียมตัวออกไปเซ็นสัญญาตั้งบูธแฟรนไชส์เกาลัดในห้างแห่งหนึ่ง เมื่ออิทธิพัทธ์คิดไม่ออกว่าจะใช้ชื่ออะไรตอนที่กรอกแบบฟอร์มจึงกรอกไปว่า “ร้านเถ้าแก่น้อย”
ครั้งหนึ่งอิทธิพัทธ์เคยคิดจะเปลี่ยนแบรนด์ขนมสาหร่ายเป็น “เจโชว” เพราะไม่มั่นใจในชื่อแบรนด์ของตัวเอง แต่คนที่ช่วยออกแบบบรรจุภัณฑ์ทักท้วงไว้ ชื่อเถ้าแก่น้อยจึงฮิตติดตลาดสแน็กสาหร่ายมาจนทุกวันนี้
ส่วนแบ่งตลาดขนมขบเคี้ยวสาหร่ายประเภทต่างๆ (ต.ค. 2551)
ส่วนแบ่งตลาดขนมขบเคี้ยวสาหร่ายทอด
- เถ้าแก่น้อย 84.1%
- ทาเบรุ 3.6%
- คุณฟิล์ม 2.1%
- M ทาโร่ 2.0%
- MMM 1.5%
ส่วนแบ่งตลาดขนมขบเคี้ยวสาหร่ายอบ
- ซีลิโกะ 49.7%
- เถ้าแก่น้อย 22.9%
- Curve 7.7%
- โนริตะ 3.5%
- ยูกิจัง 3.1%
- Slimi 2.6%
- โกลิโกะ 1.3%
ส่วนแบ่งตลาดขนมขบเคี้ยวสาหร่ายเทมปุระ
- เถ้าแก่น้อย 52.2%
- ซีลิโกะ 46.3%
ที่มา AC Nielsen
ส่วนแบ่งตลาดขนมขบเคี้ยวรวมทุกประเภทมูลค่าตลาดประมาณ 15,000-18,000 ล้านบาท
- มันฝรั่ง 33%
- สแน็กขึ้นรูป (ทำจากแป้ง) 33%
- อื่นๆ เช่น ข้าวเกรียบ สาหร่าย ปลาหมึก ถั่ว ฯลฯ 34%
Target Group ของ Brand เถ้าแก่น้อย
- สาหร่ายทอด เจาะกลุ่ม วัยรุ่นมหาวิทยาลัย ถึงกลุ่ม First Jobber อายุ 15-25 ปี
- สาหร่ายอบ เจาะกลุ่ม นักเรียนวัย 4-17 ปี
- เทมปุระ เจาะกลุ่ม วัยรุ่นฮาร์ดคอร์ 4 -25 ปี
- Curve สาหร่ายอบ เจาะกลุ่ม วัยรุ่นผู้หญิง 18-28 ปี
ยอดขายผลิตภัณฑ์สาหร่ายรวมทุกประเภทของเถ้าแก่น้อย
- ปี 2548 75 ล้านบาท
- ปี 2549 243 ล้านบาท
- ปี 2550 497 ล้านบาท
- ปี 2551 800 ล้านบาท
อัตราส่วนการเข้าถึงช่องทางจัดจำหน่ายต่างๆ ของผลิตภัณฑ์เถ้าแก่น้อย
- Convenience Store 100%
- Supermarket + Hypermarket 86%
- Traditional Trade 35%
Source: Positioning Magazine