เคทีซี เพิ่มความแรง Emotional Marketing ออกบัตรใหม่ล่อใจเหล่าไฮโซ กับ ‘เคทีซี รอยัล ออร์คิด พลัส เวิล์ด มาสเตอร์การ์ด’ ทั้งดีไซน์ด้วยเพชรและทอง พร้อมจำกัดผู้ถือบัตรไว้ที่ 500 ใบ
กรุงเทพธุรกิจ ออนไลน์ : พื้นฐานของมนุษย์ที่ต่างต้องการการยอมรับทางสังคม บวกกับความต้องการแสดงถึงอำนาจการจับจ่าย นอกจากบัตรเครดิต คลาสสิค บัตรทอง ไทเทเนียม แพลตินัม และเคทีซี วีซ่า อินฟินิท ที่ไล่เรียงความไฮ เอนท์ ทั้งวงเงินและอภิสิทธิ์พิเศษไว้ตามลำดับแล้ว
วันนี้ ธวัชชัย ธิติศักดิ์สกุล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารอาวุโส สายงานธุรกิจบัตรเครดิต บริษัท บัตรเครดิตกรุงไทย จำกัด(มหาชน) หรือเคทีซี เตรียมเข็น Emotional Market การตลาดเชิงอารมณ์มาเพิ่มดีกรีความแรง ผ่านบัตรเคทีซี รอยัล ออร์คิด พลัส เวิล์ด มาสเตอร์การ์ด
วางเป้าหมายเพื่อขยายฐานกลุ่มคนระดับสูงให้มากกว่าเดิม ซึ่งกลุ่มคนระดับสูงในที่นี้หมายถึง ผู้บริหารองค์กรขนาดใหญ่ที่มีการใช้จ่ายเดือนละ 1 ล้านบาทต่อเดือน หรือหากเป็นข้าราชการก็ต้องเป็นระดับอธิบดีขึ้นไป
“คนกลุ่มนี้เศรษฐกิจไม่ดีก็ไม่มีผลต่อการใช้จ่าย และยังไม่มีบัตรเครดิตรายใดจับชัดเจน อีกด้านหนึ่งเราจะได้อิมเมจ และตอกย้ำความเป็นผู้นำทางการตลาดที่มีการนำเสนอนวัตกรรมออกมา”
โดย Emotional Marketing ของบัตรดังกล่าว อันดับแรกจะเห็นได้ตั้งแต่รูปลักษณ์ภายนอกที่ถูกดีไซน์ออกมาให้หรูหรา ด้วยการนำทองและเพชร มาเป็นส่วนประกอบ
ซึ่งคอนเซปต์นี้ปัจจุบันมีใช้อยู่จริง 3 แห่ง ได้แก่ เกาหลี สำหรับกลุ่มคนระดับบนสุด ดูไบ ที่ออกให้เฉพาะราชวงศ์เท่านั้น และ ไทย เป็นแห่งที่ 3
ถัดมา เรื่องสิทธิประโยชน์ที่ผู้ถือบัตรจะได้รับ ธวัชชัย บอกว่า จะพิเศษมากกว่าบัตรที่มีอยู่ อาทิ การตั้งคอลล์เซ็นเตอร์ที่จะดูแลลูกค้ากลุ่มนี้โดยเฉพาะ หรือ หากเลือกเดินทางระดับเฟิร์สคลาสในทุกเส้นทางที่การบินไทยบิน จะมีวงเงินประกันการเดินทางมาถึง 40 ล้านบาท ฯลฯ
ที่สำคัญ บัตรใบนี้ใช่ว่าทุกคนจะมีไว้ในครอบครองได้ เพราะผู้ถือบัตรจะต้องถูกเชื้อเชิญจากทางเคทีซีให้มาสมัครเท่านั้น โดยตั้งเป้าผู้ถือบัตรไว้ที่ 500 ใบ
“กลุ่มนี้ไม่กระทบเรื่องเงิน และเราต้องการให้เป็นอีกบัตรที่คนกลุ่มนี้ควักมาใช้บ่อยๆ” เขาระบุ
ปัจจุบันมีผู้ถือบัตรเครดิตของเคทีซีทั้งหมด 1.6 ล้านใบ โดยภาพรวมของการจับจ่ายในปีนี้ยังมีเติบโตอยู่ที่ 18% แต่ในปีหน้าอัตราเติบโตน่าจะชะลอตัวตามสภาพเศรษฐกิจ ซึ่งทางเคทีซีเตรียมรับมือสถานการณ์ด้วยการหันมาดูแลเรื่องการบริหารหนี้ มากกว่าเน้นขยายฐานผู้ถือบัตร
Source: กรุงเทพธุรกิจ ออนไลน์