เปิดผลรางวัล ‘Brand Footprint’ ประจำปี 2021 จาก Kantar (คันทาร์) การจัดอันดับสุดยอดแบรนด์ที่ครองใจผู้บริโภค ทั้ง ‘แบรนด์ยืนหนึ่งที่ผู้บริโภคเลือกซื้อมากที่สุด’ (Most Chosen Brands), ‘แบรนด์ดาวรุ่งที่ผู้บริโภคเลือกซื้อที่เติบโตมากสุด’ (Top Growing Brands) และ ‘แบรนด์ม้ามืดที่โดดเด่นมากสุด’ (Top Outstanding Brands)
การจัดอันดับรางวัลดังกล่าว เป็นวิเคราะห์ Consumer Reach Point หรือ CRPs ซึ่งวัดความแข็งแกร่งของแบรนด์ในแง่ของจำนวนครั้งการเข้าถึงผู้บริโภคตลอดทั้งปี 2020 โดยวิเคราะห์จาก 572 แบรนด์ในกลุ่ม FMCG ครอบคลุมการจับจ่ายทั้งออฟไลน์และออนไลน์ ซึ่งรางวัล ‘Brand Footprint’ ประจำปี 2021 แบ่งออกเป็น 3 หมวดหลัก ประกอบด้วย
‘แบรนด์ยืนหนึ่งที่ผู้บริโภคเลือกซื้อมากที่สุด’ (Most Chosen Brands)
-Mama อันดับ 1 กลุ่ม Food อัตราการเข้าถึงผู้บริโภค 170 ล้านครั้ง
-Nescafe อันดับ 1 กลุ่ม Beverage อัตราการเข้าถึงผู้บริโภค 135 ล้านครั้ง
-Dutch Mill อันดับ 1 กลุ่ม Dairy อัตราการเข้าถึงผู้บริโภค 177 ล้านครั้ง
-Hygiene อันดับ 1 กลุ่ม Home care อัตราการเข้าถึงผู้บริโภค 112 ล้านครั้ง
-Colgate อันดับ 1 กลุ่ม Personal Care อัตราการเข้าถึงผู้บริโภค 117 ล้านครั้ง
-Garnier อันดับ 1 กลุ่ม Beauty อัตราการเข้าถึงผู้บริโภค 30 ล้านครั้ง
‘แบรนด์ดาวรุ่งที่ผู้บริโภคเลือกซื้อที่เติบโตมากสุด’ (Top Growing Brands)
-Aroy-D อันดับ 1 กลุ่ม Food อัตราการเข้าถึงผู้บริโภค 37 ล้านครั้ง เติบโต 9 ล้านครั้ง
-C-vitt อันดับ 1 กลุ่ม Beverage อัตราการเข้าถึงผู้บริโภค 22 ล้านครั้ง เติบโต 11 ล้านครั้ง
-Dmalt อันดับ 1 กลุ่ม Dairy อัตราการเข้าถึงผู้บริโภค 27 ล้านครั้ง เติบโต 6 ล้านครั้ง
-Omo อันดับ 1 กลุ่ม Home care อัตราการเข้าถึงผู้บริโภค 68 ล้านครั้ง เติบโต 4 ล้านครั้ง
-Bennett อันดับ 1 กลุ่ม Personal Care อัตราการเข้าถึงผู้บริโภค 37 ล้านครั้ง เติบโต 6 ล้านครั้ง
-Nivea อันดับ 1 กลุ่ม Beauty อัตราการเข้าถึงผู้บริโภค 15 ล้านครั้ง เติบโต 1 ล้านครั้ง
‘แบรนด์ม้ามืดที่โดดเด่นมากสุด’ (Top Outstanding Brands)
-Morakot อันดับ 1 Cooking Oil อัตราการเข้าถึงผู้บริโภค 70 ล้านครั้ง เติบโต 5 ล้านครั้ง
-Vitaday อันดับ 1 Water Plus อัตราการเข้าถึงผู้บริโภค 3 ล้านครั้ง (ในเขตเมือง)
-Shopee อันดับ 1 E-commerce อัตราการเข้าถึงผู้บริโภค 8 ล้านครั้ง เติบโต 4 ล้านครั้ง
สรุปเส้นทางเติบโตของแบรนด์ที่ชนะรางวัล Brand Footprint
- Dutch Mill ครองอันดับ 1 สินค้ากลุ่มนม และยังเป็นแบรนด์ที่ผู้บริโภคเลือกซื้อมากที่สุดในบรรดาแบรนด์ FMCG ทั้งหมด
- Mama ในฐานะแบรนด์บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปชั้นนำ ซึ่งไม่สูญเสีย CRPs ในช่วงโควิด จากโอกาสในการรับประทานอาหารที่บ้านเพิ่มขึ้น โดย 8 ใน 10 ครัวเรือนของประเทศไทยซื้อ Mama เมื่อปีที่แล้ว
- แน่นอนที่ Colgate จะคงเป็นผู้ชนะในกลุ่มผลิตภัณฑ์ของใช้ส่วนตัวอีกปี จากการครอง Penetration และ Consumer Choice ทิ้งห่างจากแบรนด์คู่แข่งในตลาด โดยแบรนด์ส่วนใหญ่สูญเสีย CRPs เนื่องจากผู้บริโภคลดความถี่ในการจับจ่ายในช่วง Covid-19
- ผู้บริโภคเลือกซื้อ Nescafe 135 ล้านครั้งในปี 2020 ทำให้แบรนด์สามารถครองอันดับ 1 ได้อีกในตลาดเครื่องดื่ม พร้อมความสามารถในการเจาะ Penetration ของผู้บริโภค
- Hygiene ยังคงรักษาอันดับ 1 ในสินค้ากลุ่มผลิตภัณฑ์ดูแลบ้าน โดยชนะ CRPs เทียบกับคู่แข่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหมวดน้ำยาปรับผ้านุ่ม
- การอยู่บ้านของผู้บริโภคส่งผลให้ตลาดความงามได้รับผลกระทบในเชิงลบ แต่ Garnier สามารถนำแบรนด์ขึ้นมาเป็นอันดับ 1 ที่ผู้บริโภคเลือกซื้อสูงสุดในกลุ่มสินค้าความงามได้
- Nivea แบรนด์กลุ่มสินค้าความงาม พยายามสร้างอัตราการเติบโตเพื่อไม่ให้สูญเสีย CRPs โดยครองแบรนด์อันดับ 1 กลุ่มสินค้าความงามที่โตสวนวิกฤติ Covid-19 มากที่สุด
- จากแบรนด์ทั้งหมด แบรนด์ที่เติบโตสูงที่สุดจะอยู่ใน ‘กลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม’ เนื่องจาก Covid-19 ทำให้การบริโภคเครื่องดื่ม ขนม และอาหารในบ้านเพิ่มขึ้น
- C-vitt พร้อมแผนการตลาดที่ชูคุณประโยชน์ต่อสุขภาพ มีการเติบโตมาตั้งแต่ก่อนการเกิดโรคระบาด และยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากผู้บริโภคให้ความสำคัญกับสุขภาพเพิ่มมากขึ้น
- การเติบโตของ Aroy-D แสดงถึงพฤติกรรมการปรุงอาหารที่บ้านเพิ่มขึ้นในช่วง Covid-19
- แบรนด์ท้องถิ่นจำนวนมากเป็นแบรนด์ที่เติบโตสูงกว่าแบรนด์ข้ามชาติ Bennett เป็นตัวอย่างที่ดีในการนำเสนอสมุนไพรไทยแบบดั้งเดิมในสบู่ก้อนและยังคงเติบโตทุกปี
FMCG ในไทยโตแค่ 2% แต่เป็นอัตราการเติบโตสูงสุดในรอบ 5 ปี
ฮาวเวิร์ด ชาง กรรมการผู้จัดการ Kantar Worldpanel ประเทศไทยและมาเลเซีย กล่าวว่า ปี 2020 เป็นปีที่คาดไม่ถึงสำหรับทุกคน สินค้ากลุ่ม FMCG ก็เช่นเดียวกัน โดยสังเกตเห็นการเปลี่ยนแปลงมากมายในพฤติกรรมของผู้บริโภค การไปจับจ่าย Physical Store ที่ลดลง แต่ใช้จ่ายมากขึ้นในการจับจ่ายแต่ละครั้ง ผู้บริโภคซื้อหมวดหมู่สินค้าเพิ่มเติมสำหรับครัวเรือน โดยเฉพาะจากกลุ่มอาหารและสุขอนามัย เนื่องจาก Movement Control ผู้บริโภคมีการอยู่บ้านมากขึ้น ซึ่งช่วยให้แบรนด์อาหารจำนวนมากเติบโตผ่านการบริโภคที่บ้านเพิ่มขึ้น
สำหรับตลาด FMCG ในไทยโตเพียง 2% สอดคล้องกับตลาดเอเชียที่โต 3% ขณะที่ Global โต 10% โดยโดดเด่นที่สุดคือตลาดอเมริกาที่เติบโต 14% และแม้อัตราการเติบโตของไทยแค่ 2% จะดูต่ำ แต่เป็นอัตราการเติบโตที่สูงสุดในรอบ 5 ปี ส่วนหนึ่งมาจากอานิสงค์โครงการเงินอุดหนุนจากทางภาครัฐ
จากการวิเคราะห์กลุ่มสินค้า FMCG ทั้งหมด กลุ่มที่เติบโตเด่นที่สุดในไทยคือ ‘เครื่องดื่ม’ ซึ่งขับเคลื่อนจาก Functional Drink รองลงมาคือ ‘กลุ่มอาหาร’ และ ‘กลุ่มผลิตภัณฑ์ดูแลบ้าน’ แต่กลุ่มสินค้าที่น่ากังวลคือ ‘กลุ่มนม’ และ ‘สินค้าสุขภาพและความงาม’