หากพูดถึงแบรนด์เทคโนโลยีที่มีภาพลักษณ์ทันสมัย แถมยังเข้าถึงและครองใจวัยมิลเลนเนียลชาวไทยได้ น่าจะมีชื่อของ เสียวหมี่ (Xiaomi) ติดอันดับด้วย เพราะตั้งแต่ปี 2018 แบรนด์นี้ก็เคยติด Top 10 ของ 2018 Millennial Word of Mouth Rankings ที่ค้นหา Word of Mouth เชิงบวกของแบรนด์ที่ผู้บริโภคเกิดการรับรู้ภายในช่วงเวลาทำสำรวจ ซึ่งผลการสำรวจดังกล่าว เสียวหมี่ เป็นแบรนด์สมาร์ทโฟนและอุปกรณ์ IoT เพียงรายเดียวที่ติดอันดับ แถมยังเป็นหนึ่งในแบรนด์ที่กลุ่มมิลเลนเนียลพูดถึงมากขึ้นในปีเดียวกันนั้น
สถานการณ์ของเสียวหมี่ในปีนี้ยังส่งสัญญาณดีอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุด…
ติดทำเนียบ Fortune Global 500 โดยอยู่ในอันดับที่ 468 ของการจัดอันดับบริษัทที่มั่งคั่งระดับโลก
แถมยังติดอันดับ 7 ประเภทบริษัทที่ให้บริการอินเทอร์เน็ตและการค้าปลีก
ต้องบอกก่อนว่า เสียวหมี่ ถือเป็นบริษัทที่มีอายุการก่อตั้งและระยะเวลาในการดำเนินกิจการน้อยที่สุดในบรรดาบริษัททั้งหมดที่อยู่ในการจัดอันดับ Global 500 ประจำปี 2019 ซึ่งถือว่าใช้ระยะเวลาประสบความสำเร็จครั้งนี้หลังจากดำเนินธุรกิจเพียง 9 ปี โดยความสำเร็จของแบรนด์ Mi ดังกล่าว เกิดขึ้นภายใต้รายได้รวม 26,443.50 ล้านเหรียญสหรัฐ กับกำไรสุทธิที่ 2,049.10 ล้านเหรียญสหรัฐ เมื่อปีก่อน
เรื่องนี้ทำเอา เหลย จวิน ผู้ก่อตั้ง ประธานกรรมการ และ CEO เสียวหมี่ ถึงกับยกความดีความชอบให้กับลูกค้า โดยกล่าวว่า “การเดินทาง 9 ปีของเสียวหมี่ ต้องขอบคุณบรรดา Mi Fans และผู้ใช้งานทั่วโลกที่สนับสนุนแบรนด์อย่างเหนียวแน่น นี่จะเป็นความภูมิใจที่เราจะเก็บไว้ย้ำเตือนอยู่เสมอ สู่จุดหมายการขยายธุรกิจให้ครอบคลุมทั่วโลก”
ปีที่ผ่านมา เสี่ยวหมี่ได้พัฒนายุทธศาสตร์และปรับกลยุทธ์หลักหลายด้าน ทั้งโครงการสร้างการบริหารงาน ระบบการศึกษาวิจัยและพัฒนาสายการผลิต การพัฒนาแบรนด์ เป็นต้น ท่ามกลางภาวะการแข่งขันอย่างดุเดือดทั้งภายในประเทศและทั่วโลก ภายใต้ทิศทางของแบรนด์ที่ประกาศว่า เป็นแบรนด์ที่เต็มเปี่ยมด้วยคุณภาพ นวัตกรรม ราคาที่จริงใจ และซื่อสัตย์ต่อผู้บริโภค ซึ่งก่อนหน้านี้ เสียวหมี่ก็เคยได้รับการจัดอันดับให้เป็นหนึ่งใน 500 บริษัทที่ให้ที่สุดในประเทศจีน หรือ Fortune’s China 500 มาแล้ว สะท้อนถึงความแข็งแกร่งพอตัวในการต่อสู้กับสารพัดคู่แข่ง
ในแง่เทคโนโลยี เสียวหมี่ก็เป็นแบรนด์หนึ่งที่ทุ่มงบประมาณเพื่อพัฒนาเรื่อง AI และ AIoT ซึ่งแบรนด์มีเป้าหมายในการพัฒนาแพลตฟอร์มที่เรียกว่า All in AIoT สำหรับ 5 ปีข้างหน้า ด้วยงบประมาณราว 1,500 ล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อสนับสนุนแพลตฟอร์มสำหรับสมาร์ทโฟนและอุปกรณ์ IoT
ความสำเร็จที่ผ่านมาของเสียวหมี่ ก็ถือเป็นการเติบโตอย่างก้าวกระโดดและน่าสนใจ เพราะในปี 2012 แบรนด์เพิ่งมีรายได้จากการขาย 1,453.72 ล้านเหรียญสหรัฐ แต่ในปี 2017 สามารถเป็น 14,537.21 ล้านเหรียญสหรัฐ ภายในระยะเวลา 5 ปี กับตัวเลขที่เพิ่มขึ้นมากกว่า 13,000 ล้านเหรียญสหรัฐ และหากพูดถึงความสำเร็จในตลาดสมาร์ทโฟน เมื่อเดือนมีนาคมปีนี้ IDC ยังเคยระบุว่า เสียวหมี่คือแบรนด์อันดับ 4 ในตลาดสมาร์ทโฟนโลก จากความสำเร็จด้านรายได้ที่เพิ่มขึ้นถึง 32.2% ทั่วโลก โดยบริษัทได้ร่วมลงทุนกับบริษัทพัฒนาผลิตภัณฑ์กลุ่ม Ecosystem มากกว่า 200 บริษัท ส่งผลให้แพลตฟอร์ม IoT ของเสียวหมี่แข็งแกร่งและมีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกแบรนด์หนึ่ง กับจำนวนสมาร์ทดีไวซ์กว่า 171 ล้านผลิตภัณฑ์ ที่วางจำหน่ายอยู่ใน 80 ประเทศทั่วโลก ภายใต้กลยุทธ์ที่แบรนด์พยายามขยายร้านค้าที่เรียกว่า Mi Home Store ไปทั่วโลก ซึ่งขณะนี้มีทั้งสิ้นกว่า 480 ร้านทั่วโลก โดยตลาดใหญ่อยู่ที่ยุโรป 110 ร้าน และอินเดีย ประมาณ 79 ร้าน