บทสรุปปี 2021 กับความเคลื่อนไหว ดีลใหญ่ และไวรัล ที่อยากชวนคุณมาดูไปด้วยกัน อีกครั้ง!

  • 680
  •  
  •  
  •  
  •  

บทสรุป 2021

ไม่ได้เป็นแค่ปีที่ท้าทายสำหรับภาคธุรกิจ แต่ปี 2021 ยังเป็นปีที่เต็มไปด้วยโอกาสและเรื่องราวที่น่าจับตา แน่นอนว่าช่วงเวลาส่งท้ายปีเช่นนี้ ก็เป็นธรรมเนียมที่ Marketing Oops! อยากชวนทุกท่านมาสรุปเรื่องราวในประเด็นที่น่าสนใจไปพร้อม ๆ กัน ก่อนจะผ่านปีนี้ไป โดยเราได้คัดสรรและรวบรวมเอาไว้หลายเรื่องด้วยกัน ดังนี้…

 

‘Meta’ อนาคต…อันใกล้ กับการเดินหน้าสู่ Metaverse

Credit - Joao Serafim - Shutterstock.com
Credit – Joao Serafim – Shutterstock.com

ช่วงปลายเดือน ต.ค. ที่ผ่านมากลายเป็นกระแสฮือฮาใหญ่ในวงการไอทีและโซเชียลมีเดีย หลังจากที่ CEO ‘มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก’ ได้ประกาศวิสัยทัศน์ในงานใหญ่ประจำปี Connect 2021 ต่อจากนี้ Facebook จะมุ่งหน้าสู่โลกแห่งความเสมือนจริงมากขึ้น หรือที่เรียกกันว่า Metaverse

นับว่าเป็นการรีแบรนด์ครั้งแรกของ Facebook โดยจะใช้ชื่อเรียกบริษัทว่า ‘Meta’ แทนชื่อเดิมคือ ‘Facebook’ นอกจากนี้ การีแบรนด์ในความหมายของ มาร์ก ยังหมายถึงรวมทั้งลูกเล่นใหม่ๆ ผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ที่ไม่ได้มีแค่ Facebook หรือให้ความสำคัญกับโซเชียลมีเดียอย่างเคย พูดง่ายๆ ก็คือ Facebook จะกลายเป็นแค่หนึ่งในโปรดักส์ของ Meta นั่นเอง

คำพูดหนึ่งของมาร์กที่พูดว่า “Metaverse-first not Facebook-first” ถือเป็นการอธิบาย vision ได้ชัดที่สุด ทั้งนี้ในปัจจุบัน Meta กำลังปรับปรุงพัฒนาโปรดักส์หลายประเภท เช่น แว่น AR, Oculus (อุปกรณ์ VR) รวมทั้งบริการต่างๆ ที่เป็น VR และ AR คาดการณ์ว่าในอีก 5 ปีข้างหน้าน่าจะเริ่มปล่อยโปรดักซ์ที่ไว้ซัพพอท Metaverse อย่างแน่นอน

 

SCBX การแปลงร่างของ SCB สู่ Tech company ที่มีมูลค่า 1 ล้านล้านบาท ใน 5 ปี

scbx

มาถึงอีกหนึ่งความเคลื่อนไหวใหญ่ที่สร้างแรงสั่นสะเทือนให้กับแวดวงธุรกิจ นั่นคือ การประกาศแปลงร่างปรับโครงสร้างครั้งใหญ่ของ ‘ธนาคารไทยพาณิชย์’ หรือ SCB ด้วยการตั้ง ‘SCBX’ ขึ้นมาเป็น ‘ยานแม่’ เพื่อจะพา SCB ก้าวสู่โลกใหม่ที่ไม่จำกัดตัวเองอยู่ที่ธุรกิจแบงก์ในรูปแบบเดิม ทว่าจะเป็น Tech Company ที่สามารถเร่งขยายธุรกิจและสร้าง Business Model ใหม่ ๆ  เพื่อสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนในระยะยาว

การดำเนินธุรกิจของ SCBX จะอยู่ในลักษณะ ‘บริษัทลงทุน’ ที่ไม่ได้ทำธุรกิจของตนเอง (Non-operating holding company) แต่จะเข้าไปถือหุ้นในบริษัทอื่น โดยการตั้งบริษัทในลักษณะนี้ จะเพิ่มความคล่องตัวในการขยายธุรกิจ เพิ่มความสามารถในการแข่งขันและความแข็งแกร่งให้กับกลุ่มไทยพาณิชย์ รวมถึงเพิ่มความชัดเจนในการทำธุรกิจให้ขยายแบบเข้าถึงกลุ่มได้ตรงและกว้างขึ้นกว่าเดิม

โครงสร้างใหม่นี้ จะแบ่งธุรกิจออกเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่ม Cash Cow อาทิ ธุรกิจธนาคาร , ธุรกิจประกันภัย และบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน เป็นต้น และ กลุ่ม Growth การขยายสู่ธุรกิจทางการเงินในรูปแบบใหม่  ๆ ที่ตลาดและผู้บริโภคต้องการทั้งในประเทศและต่างประเทศ อาทิ ธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล, การพัฒนาธุรกิจ digital asset ด้านต่างๆ ด้วยการสร้าง business model ใหม่เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับกลุ่มในระยะยาว

หลังจากการประกาศแปลงร่างเราได้เห็นความเคลื่อนไหวมากมายของ SCBX ที่สร้างความฮือฮาให้กับแวดวงธุรกิจ อาทิ การให้ ‘บริษัทหลักทรัพย์ ไทยพาณิชย์ จำกัด’ หรือ SCBS เข้าซื้อหุ้นใน Bitkub ด้วยสัดส่วน 51% มูลค่า 17,850 ล้านบาท เพื่อบุกธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล

การให้ SCB 1OX บริษัทย่อยของ SCB จับมือ บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด หรือ CP ตั้งกองทุน Venture Capital ขนาด 600-800 ล้านเหรียญสหรัฐ ลงทุนในธุรกิจเทคโนโลยีทางการเงินในด้านต่างๆ เช่น เทคโนโลยีบล็อกเชน Decentralized Finance และเทคโนโลยีที่เกิดใหม่อื่นๆ หรือการร่วมทุนกับ AIS ตั้งบริษัท AISCB ทำสินเชื่อดิจิทัล เป็นต้น

นี่เป็นแค่ตัวอย่างของการก้าวสู่โลกใหม่ของ SCBX ซึ่งแน่นอนว่า หลังจากนี้ต้องมีอีกหลายความเคลื่อนไหวที่ต้องจับตามองแบบไม่กระพริบ เพราะเป้าหมายของการตั้งยานแม่ SCBX ก็คือ การใช้โมเดลนี้ฝ่าทุกกระแสของการดิสรัป และเดินหน้าสู่ The Most Admire & Financial Technology Group in Asean ที่มีบริษัทมูลค่า 1 ล้านล้านบาท ภายใน 5 ปี เพื่อเดินหน้าสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยต่างประเทศจะโฟกัสไปที่อินโดนีเซีย เวียดนาม และฟิลิปปินส์

 

Crypto โตสวนกระแสเศรษฐกิจ กับพื้นที่แจ้งเกิด NFT

NFT

อีกหนึ่งเทรนด์ที่เกิดขึ้นในช่วงปีนี้และจะยาวต่อเนื่องไปจนถึงปี 2022 คือเรื่องของเงินดิจิทัล (Cryptocurrency) ซึ่งจริงๆ แล้วไม่ใช่เรื่องใหม่อะไร แต่เพราะสถานการณ์โรคระบาด ทำให้เกิดมาตรการต่างๆ จนส่งผลกระทบต่อหลายธุรกิจและกระทบต่อตลาดการลงทุน ทว่าการลงทุนในเงินดิจิทัลกลับไม่ได้รับผลกระทบใดๆ จะส่งผลให้นักลงทุนทั่วโลกหันไปลงทุนในเงินดิจิทัล

ส่งผลให้ค่าเงินดิจิทัลเติบโตทุกสกุลเงินดิจิทัลไม่ว่าจะเป็น Bitcoin Ethereum เป็นต้น ทำให้เกิดนักลงทุนรุ่นใหม่จำนานมากที่หันมาลงทุนในเงินดิจิทัล แต่หลายคนยังมองว่าเงินดิจิทัลนอกจากจะมีศักยภาพในด้านการลงทุนแล้ว เงินดิจิทัลยังอาจมีศักยภาพในการซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้าได้เสมือนเงินทั่วไป เห็นได้จากการที่ Facebook พยายามจะสร้างการซื้อขายผ่านสกุลเงิน Libra ของตัวเอง แต่ก็ไม่ได้รับการสนับสนุนจนไม่สามารถเดินหน้าโครงการที่เริ่มมาตั้งแต่ปี 2019 ได้

จนกระทั่งช่วงต้นปี Elon Musk เจ้าของ Tesla ก็เป็นรายแรกที่ประกาศสามารถใช้เงินดิจิทัลซื้อรถยนต์ไฟฟ้า Tesla ได้ ถือเป็นก้าวแรกของการนำเงินดิจิทัลมาสู่การซื้อขายสินค้าจริง และส่งผลให้เงินดิจิทัลได้รับความนิยมมากขึ้นทั่วโลก และในเวลาต่อมาก็เริ่มมีบางธุรกิจที่หันมารับเงินดิจิทัลควบคู่กับเงินสกุลปกติทั่วไป

ผลพวงจากการสามารถนำเงินดิจิทัลมาซื้อขายได้ ส่งผลให้เกิดปรากฎการณ์ที่ดังไปทั่วโลกกับภาพเด็กสาวถ่ายรูปยิ้มแย้ม โดยมีฉากหลังเป็นบ้านที่กำลังถูกไฟไหม้และกลายเป็นมีม Disaster Girl ซึ่งจะไม่น่าสนใจเลยถ้ารูปนี้ไม่ได้ถูกขายด้วยมูลค่าสูงถึง 14 ล้านบาท ในรูปแบบสินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Asset) และถูกขายผ่านเงินดิจิทัลในรูปแบบ NFT (Non-Fungible Token)

ส่งผลให้งานศิลปะที่อยู่ในรูปแบบดิจิทัลถูกขายผ่านรูปแบบ NFT ซึ่งมีระบบบล็อคเชน (Blockchain) อยู่เบื้องหลัง โดยระบบนี้จะเป็นการยืนยันว่าผลงานชิ้นนี้เป็นของแท้และสามารถระบุตัวตนเจ้าของจริงได้ ด้วยการขายผ่าน NFT ที่ง่ายสะดวกรวดเร็วและยังเชื่อมั่นได้ว่าเป็นของแท้มีการระบุตัวเจ้าของ ทำให้การขายสินทรัพย์ดิจิทัลผ่าน NFT ขยายวงกว้างไปยังงานเพลง วิดีโอ รวมไปถึงเกมต่างๆ

และเมื่อการขายผ่านรูปแบบ NFT เป็นที่ยอมรับ การใช้เงินดิจิทัลสกุลอื่นในการซื้อขายสินค้าทั่วไปก็น่าจะยอมรับได้ นั่งทำให้ Mastercard อาสาเป็นตัวกลางในการแลกเปลี่ยนเงินดิจิทัลเป็นเงินสกุลทั่วไป และช่วยให้สามารถนำเงินดิจิทัลไปใช้จับจ่ายได้ทุกที่ที่รับ Mastercard นั่นส่งผลให้ Bitcoin ทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ด้วยมูลค่ามากกว่า 68,000 ดอลลาร์ หรือราว 2.2 ล้านบาท เมื่อช่วงวันที่ 9 พ.ย. ที่ผ่านมา

ไม่เพียงเท่านี้บรรดาธุรกิจ Retail ยักษ์ใหญ่ของไทยอย่าง Central, The Mall และสยามพิวรรธน์ ต่างปรับกลยุทธ์รองรับการใช้จ่ายผ่านเงินดิจิทัลทั่วไปและเงินดิจิทัลที่สร้างขึ้นมาใหม่ รวมถึงการสร้างศูนย์กลางข้อมูลของสินทรัพย์ดิจิทัลและเป็นศูนย์กลางการซื้อขายผ่านรูปแบบ NFT ซึ่งจะเห็นเป็นรูปธรรมชัดเจนในช่วงปี 2022 (ถ้าไม่มีอะไรผิดพลาด)

แน่นอนว่า เทรนด์ของเงินดิจิทัลและ NFT จะยังคงกลายเป็นกระแสต่อไปในปีหน้า และแม้ว่าจะมีหน่วยงานภาครัฐออกมาไม่สนับสนุน แต่สุดท้ายแล้วเมื่อความต้องการผู้บริโภคสูงเกินรับมือ และภาคเอกชนมีความพร้อมเต็มอัตราในการรองรับการใช้จ่ายผ่านเงินดิจิทัล ภาครัฐก็ต้องออกมายอมรับและพร้อมรองรับการใช้จ่ายผ่านเงินดิจิทัลอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

 

ปีแห่งการ Synergy ธุรกิจเสริมความแข็งแกร่ง ทั้งใน – ข้ามอุตสาหกรรม

Synergy-Business

แน่นอนว่าปี 2021 เป็นอีกหนึ่งปีที่ยากลำบากของธุรกิจทุกอุตสาหกรรม มีธุรกิจจำนวนไม่น้อยต้องปิดตัวเพราะสู้ไม่ไหว แต่ก็มีอีกหลายต่อหลายธุรกิจที่เติบโตสวนกระแส นั่นอาจเป็นหนึ่งคำตอบสำคัญ ว่าทำไมตลอดปีนี้เราจึงได้เห็นการ Synergy เกิดขึ้นมากมายในหลายต่อหลายธุรกิจ โดยเฉพาะธุรกิจขนาดใหญ่แบรนด์ดังที่พากันต่อยอดโอกาสและความแข็งแกร่งด้วยกระบวนการดังกล่าว

เพราะแม้สถานการณ์ COVID-19 จะทำให้ภาคธุรกิจต้องปรับทัพสู่ออนไลน์ แต่นั่นก็ยังไม่สามารถสร้างความแข็งแกร่งได้ดีเท่ากับการสร้างทางลัดสู่ความสำเร็จด้วยการรวมความแข็งแกร่งขององค์กรเข้าด้วยกัน นั่นกลายเป็นสาเหตุที่เทรนด์ Synergy กลายเป็นทางลัดความสำเร็จและความแข็งแกร่งของธุรกิจ ก็เพราะสามารถเข้าถึงทรัพยากรระหว่างองค์กรได้ ทั้งแง่ของบุคลากร เทคโนโลยี จุดแข็งจากอีกองค์กร ไม่ว่าจะเกิดขึ้นในรูปแบบของ M&A (Mergers and Acquisitions) หรือการ Diversify ก็ล้วนกระตุ้นให้เกิดความแข็งแกร่งได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งในปี 2021 ก็มี Big Deal เกิดขึ้นในหลาย ๆ แวดวงธุรกิจ อาทิ

– ธนาคารทหารไทยธนชาต จำกัด (มหาชน) หรือ ttb

มีการประกาศรวมกิจการกันอย่างสมบูรณ์ไปเมื่อช่วงกลางปี ระหว่างธนาคารทหารไทยและธนาคารธนชาต พร้อมกับเปิดตัวชื่อแบรนด์ใหม่ ttb ก็ได้ประกาศจุดยืนกับภารกิจ Financial Well-being เพื่อสร้างชีวิตทางการเงินที่ดีขึ้นให้คนไทยทันที

– SCBX ยานแม่ กระแสแรงทั้งปี

นอกจากการปรับโครงสร้างองค์กรครั้งใหญ่สู่ยานแม่ผ่าน SCBX แล้ว ในปีนี้ ยังมีความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจต่อเนื่องตลอดปี โดยบริษัทในเครือได้ประกาศความร่วมมือกับธุรกิจหลากหลายอุตสาหกรม เช่น การลงทุนและเข้าเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ใน Bitkub เพื่อเป็นพันธมิตรทางธุรกิจและร่วมสร้าง Digital Asset Ecosystem ให้เติบโต หรือแม้แต่การร่วมทุนกับ Publicis Sapient ในเครือ Publicis Groupe Holdings B.V. เอเยนซียักษ์ใหญ่ระดับโลก เพื่อขยายขีดความสามารถในการประกอบธุรกิจด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ

– true & dtac

ดีลช็อกวงการโทรคมนาคม เมื่อ true และ dtac ประกาศความร่วมมือครั้งสำคัญในการเป็น Eco Partner นำเทคโนโลยีแห่งยุคอย่าง AI และ IoT เข้ามาพัฒนาบริการ เพิ่มศักยภาพทางการแข่งขัน และทำให้ความร่วมมือในครั้งนี้เกิดความสำเร็จมากกว่าการให้บริการเครือข่ายในรูปแบบเดิม

 

True ซื้อ dtac ดีลใหญ่ก่อนข้ามปี

dtac and true

หลังจากที่มีข่าวลือมาอย่างหนาหูถึงการเจรจาพูดคุยกันระหว่าง True กับ Telenor ในฐานะผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของ dtac ซึ่งทั้ง 2 รายต่างออกมาปฏิเสธทุกครั้ง แต่ดูเหมือนข่าวลือจะกลายเป็นเรื่องจริง เมื่อสำนักข่าวต่างประเทศอย่าง Reuters รายงานว่า Telenor ยื่นชี้แจงต่อตลาดหลักทรัพย์ในกรุงออสโล ประเทศนอร์เวย์ โดยระบุมีการหารือกับ True Corporation ในการดำเนินกิจการร่วมกัน

และในเวลาต่อมาก็มีการแจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ถึงการควบรวมบริษัทระหว่าง True และ dtac ซึ่งถือเป็นดีลยักษ์ใหญ่แห่งปีของอุตสาหกรรมโทรคมนาคม โดยกระบวนการควบรวมจะใช้ระยะเวลาไม่น้อยกว่า 1 ปี แน่นอนว่าการควบรวมในครั้งนี้ ส่งผลต่อความเชื่อมั่นของผู้ใช้บริการ dtac จะส่งผลให้เกิดปรากฏการณ์ย้ายค่าย และก็ไม่รอช้าที่ AIS ในฐานะคู่แข่งรายใหญ่จะรีบแข่งโปรโมทเพื่อดึงลูกค้าของดีแทคย้ายค่ายมาที่ AIS

โดยทาง True และ dtac ต่างเห็นร่วมกันว่า อุตสาหกรรมโทรคมนาคมเปลี่ยนรูปแบบไป โดยไม่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มจากบริการด้าน Voice และอุตสาหกรรมโทรคมนาคมเป็นเพียงเครือข่ายที่ถูกใช้เชื่อมโยงกับแพลตฟอร์มด้านดิจิทัล รวมไปถึงเทคโนโลยีใหม่ๆอย่าง 5G, IoT, Cloud และ AI จะเข้ามาเปลี่ยนแปลงธุรกิจโทรคมนาคมครั้งยิ่งใหญ่ ซึ่งการรับมือเพียงลำพังอาจไม่ใช่หนทางที่ถูกต้อง

ความร่วมมือกันของทั้ง True และ dtac จะช่วยลดช่องโหว่ของแต่ละฝ่าย และยังสามารถนำจุดเด่นของทั้ง 2 ค่ายมาสร้างความร่วมมือในรูปแบบ Ecosystem นอกจากนี้ยังมีการจัดตั้งบริษัทใหม่ที่จะจัดตั้งขึ้นในชื่อ ซิทริน โกลบอล (Citrine Global) และจะมีการตั้งกองทุนมูลค่าประมาณ 100-200 ล้านเหรียญสหรัฐ ขึ้นมาเพื่อสนับสนุนส่งเสริมผู้ประกอบการ และสตาร์ทอัพบนแพลตฟอร์มดิจิทัล เน้นการสร้างผลิตภัณฑ์ และบริการใหม่ๆ เพื่อประโยชน์แก่ผู้บริโภคในประเทศไทย

ซึ่งการควบรวมธุรกิจในครั้งนี้ถือเป็นการส่งสัญญาณถึงการแข่งขันในอุตสาหกรรมโทรคมนาคมของประเทศไทย ที่นับจากนี้ไปจะเหลือเพียง 2 รายใหญ่เท่านั้น และการแข่งขันนับจากนี้เป็นต้นไปจะเน้นไปที่เทคโนโลยีด้านดิจิทัลและความร่วมมือในรูปแบบพันธมิตร จนอาจลบภาพความเป็นธุรกิจเครือข่ายโทรศัพท์มือถือในอดีตจนหมดสิ้น

 

Flash Group ยูนิคอร์นรายแรกของไทย

Flash

หลังจากรอคอยมานาน ในที่สุดไทยก็มีสตาร์ทอัพระดับ ‘ยูนิคอร์น’ เป็นรายแรก นั่นก็คือ ‘แฟลช กรุ๊ป’ (Flash Group) ซึ่งใช้เวลาภายใน 3 ปี สามารถระดมทุนรวมได้มากที่สุด ทำให้เป็นสตาร์ทอัพรายแรกของไทยที่มีมูลค่ามากกว่า 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือกว่า 30,000 ล้านบาท

แฟลช กรุ๊ป เริ่มต้นมาจากผู้ให้บริการขนส่ง ‘แฟลช เอ็กซ์เพรส’ (Flash Express) โดยมี  ‘คมสันต์ ลี’ เป็นผู้ก่อตั้งที่เริ่มทำธุรกิจนี้ในช่วงปลายปี 2018 ก่อนในวันที่ 1 มิ.ย. 2021 ได้ประกาศปิดดีลระดมทุนครั้งใหญ่มูลค่ารวมกว่า 4,700 ล้านบาท จาก Buer Capital ,SCB 10X ,eWTP, OR, เดอเบล และกรุงศรี ฟินโนเวต จนขึ้นเป็นสตาร์ทอัพรายแรกของไทยที่อยู่ในระดับยูนิคอร์น

สำหรับทิศทางต่อจากนี้ของแฟลช กรุ๊ป จะเป็นผู้ให้บริการด้าน E-commerce แบบครบวงจร ด้วยการขยายบริการใหม่ ๆ ให้ตอบโจทย์และเป้าหมายที่วางไว้ อาทิ การเปิดตัว ‘แฟลช เอไอ’ (Flash AI) บริษัทพัฒนาด้านเทคโนโลยีอัจฉริยะเพื่อสนับสนุนการทำงาน และการใช้ชีวิตด้วยการนำระบบ AI เข้ามาจัดการกับการทำธุรกิจในรูปแบบต่างๆ เพื่อรองรับโลกยุค E-Commerce Ecosystem เป็นต้น

ขณะเดียวกันแฟลช กรุ๊ป ก็ไม่ได้ต้องการจะเติบโตในไทยเท่านั้น แต่ยังต้องการเดินหน้าให้บริการด้าน E-commerce แบบครบวงจรในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งปัจจุบันได้เปิดให้บริการ Flash Express ในประเทศลาว และฟิลิปปินส์ ซึ่งในช่วงไตรมาส 1-2 ของปี 2022 คาดว่า จะทยอยเปิดให้บริการในประเทศอื่น ๆ เพื่อขยายธุรกิจให้ครอบคลุมภูมิภาคอาเซียนมากขึ้นกว่าเดิม

 

ไวรัลแห่งยุค กับปรากฎการณ์ พส. สะเทือนโซเชียล

พระมหาไพรวัลย์ วรวณฺโณ และ พระมหาสมปอง ตาลปุตโต

ถ้าจะให้รวบเกี่ยวกับเหตุการณ์สำคัญแห่งปี 2021 ก็คงจะขาดปรากฏการณ์นี้คงไม่ได้ นั่นก็คือการ LIVE บันลือโลก กับ 2 พระสงฆ์ ได้แก่ พระมหาไพรวัลย์ วรวณฺโณ และ พระมหาสมปอง ตาลปุตโต (ซึ่งทั้ง 2 ท่านได้ลาสิกขาเป็นฆารวาสเรียบร้อยแล้ว) แต่ก็ถือเป็นครั้งแรกเลยที่การ LIVE ของพระภิกษุ 2 รูป ที่ทำยอดขณะ LIVE สูงสุดถึง 2.5 แสนวิวิ (บน Facebook) ซึ่งก็นับเป็นเรื่องใหม่และน่าตื่นเต้นเกี่ยวกับแวดวงสื่อทีเดียว

แต่ยังไม่พอ เมื่อปรากฏการณ์ LIVE ครั้งนี้ กลับมาบรรดา Brand, Media, เพจดัง และ Influencer ในวงการมากมาย แต่แห่กัน  ร่วมโหนกระแส comment กระหน่ำ กับ LIVE สดรสพระธรรม Battle พส. ระหว่าง พระมหาไพรวัลย์ วรวณฺโณ และ พระมหาสมปอง ตาลปุตโต ในครั้งนั้น และปรากฏการณ์นี้ ยังสะเทือนถึง Twitter ในคืนเดียวกันก็ติดเทรนด์ฮิตไทยแลนด์ 2 แฮชแท็กคู่ทั้ง #พระมหาสมปอง #พระมหาไพรวัลย์

ทั้งนี้ หากให้วิเคราะห์ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในเชิงการตลาดของ Brand ก็คือนอกเหนือจากได้เกาะกระแส Viral ที่เกิดขึ้น ที่สำคัญคือการได้แสดงตัวตนผ่านไลฟ์ที่มียอดชมากกว่า 2 แสน Brand จะได้ eyeball ได้ คนจะเข้ามาอ่านคอมเมนต์จากแบรน์ซึ่งสามารถแสดงความครีเอทีฟสุดฮาที่ Brand จะสามารถไชน์นิ่งออกมาได้ ซึ่ง Brand ที่กล้าเข้ามาก็ถือว่าได้ใจคนรุ่นใหม่ที่เข้ามาฟังด้วย ยิ่งถ้าหลวงพี่ทั้งสองเอ่ยชื่อแบรนด์ออกไปด้วยได้ฟรีมีเดียไปเลยเต็ม นับเป็นปรากฏการณ์ใหม่ที่น่าสนใจมากทีเดียวสำหรับการตลาดยุคใหม่

อย่างไรก็ตามปรากฏการณ์ดังกล่าว ก็เกิดดราม่ามากไม่แพ้กัน ซึ่งจากทีเป็นคอมเมนต์ของเพจต่างๆ ก็ทำให้คอมเมนต์ของแฟนคลับ โดยเฉพาะคนทั่วไปตกอยู่ด้านล่าง และไม่ได้ถูกพิกอัปมาพูด ซึ่งคนส่วนใหญ่ที่ติดตามฟังจะทราบดีว่าคอมเมนต์ของคนเหล่านี้คือความสนุกที่แท้จริงมากกว่าบรรดาเพจต่างๆ ทำให้เสียอรรถรสในการ LIVE ที่เคยสนุกเหมือนก่อน แถมมีหลายเสียงตำหนิแบรนด์ด้วยว่าหวังจะฝากร้านสร้างเอนเกจเมนต์ให้ตัวเองมากกว่า นอกจากนี้ ยังมีเสียงตำหนิว่าบางแบรนด์ก็มีการคอมเมนต์ที่ไม่เหมาะสม อย่างเพจของห้างสรรพสินค้าหนึ่งขอให้ พส. ช่วงครางเสียงเป็นชื่อห้าง หรือบางเพจขอให้ พส.ทั้งสองท่านไปเล่นซีรีส์วาย เป็นต้น ซึ่งในมุมของศาสนานับว่าไม่เหมาะสมอย่างยิ่ง และยังไม่นับดราม่าต่างๆ อีกมากมายตามมา จนถึงบีบคั้นทำให้ภิกษุทั้งสองท่านได้รับความกดดันจากสังคม

ถึงจะมีทั้งเสียงเชียร์และเสียงตำหนิ แต่ก็นับว่าเป็นปรากฏการณ์ที่สำคัญของปี 2021 ที่เกิดขึ้นบนแพล็ตฟอร์มออนไลน์ และเป็นบทเรียนของทั้งเพจ แบรนด์ และคอนเทนต์ครีเอเตอร์ที่ดีมากทีเดียว


  • 680
  •  
  •  
  •  
  •