รายงานดัชนีช่องว่างระหว่างเพศ ประจำปี 2566 โดยสภาเศรษฐกิจโลกหรือ World Economic Forum ระบุว่า จากการจ้างงานทั้งหมดในกลุ่มอาชีพ STEM มีเพียงร้อยละ 29.2 เท่านั้นที่เป็นแรงงานหญิง ต่างจากการจ้างงานในสายอาชีพนอกกลุ่ม STEM ซึ่งมีแรงงานหญิงมากถึงร้อยละ 49.3 หรือเกือบครึ่งของการจ้างงานทั้งหมด
นอกจากนี้ การศึกษาและงานวิจัยอีกหลายชิ้นยังพบว่าเด็กผู้หญิงในระดับประถมศึกษาและมัธยมต้นมักจะมีความสนใจด้าน STEM ในระดับเดียวกับเด็กผู้ชายวัยเดียวกัน แต่จะค่อย ๆ ลดลงเมื่อเข้าสู่ช่วงวัยรุ่น เนื่องจากพบความท้าทายในระดับปัจเจกและสังคม ที่อาจจะทำให้การจินตนาการถึงอนาคตสาย STEM เป็นไปได้ยากสำหรับเด็กผู้หญิง
ด้วยเหตุนี้ Sea (ประเทศไทย) ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตแพลตฟอร์มชั้นนำ อาทิ การีนา ช้อปปี้ และซีมันนี่ เห็นถึงความต้องการส่งเสริมความหลากหลายทางเพศในโลกของ STEM จึงเดินหน้าโครงการ Women Made: Girl in STEM เพื่อเปิดมุมมองและสร้างแรงบันดาลใจให้กับเด็กผู้หญิงระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ซึ่งอยู่ในช่วงวัยที่กำลังค้นหาตัวเองในการเลือกเส้นทางการศึกษาต่อสาขาอาชีพ STEM
เปิดมุมมองใหม่–สร้างแรงบันดาลใจ
กลุ่มเป้าหมายของ Sea (ประเทศไทย) ในโครงการ Women Made: Girl in STEM คือเด็กผู้หญิงที่กำลังศึกษาอยู่ในระดับมัธยมศึกษาตอนต้น รวมทั้งคุณครู
โครงการนี้มุ่งสร้างแรงบันดาลใจให้เยาวชนหญิงที่มีความสนใจศึกษาต่อหรือทำงานในสาขา STEM ซึ่งเป็นหนึ่งในกลุ่มอาชีพสำคัญที่มีอัตราการเติบโตสูงและทวีความสำคัญมากขึ้นเรื่อย ๆ แต่ยังมีสัดส่วนของผู้หญิงที่ประกอบอาชีพในสาขานี้ค่อนข้างน้อย
แน่นอนว่า Sea (ประเทศไทย) ไม่ได้มาคนเดียว แต่ร่วมกับ InsKru และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เปิดตัวโครงการนี้โดยมีนักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนต้นและครู รวมกว่า 90 คนเข้าร่วม เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2567 ที่ผ่านมา
ความพิเศษของโปรเจ็กต์นี้ อยู่ที่พลังการสร้างสรรค์กิจกรรมในงาน ซึ่งต้องยอมรับว่าลงไปเล่นกับทุกปัจจัยสำคัญที่สามารถส่งผลต่อการเลือกอาชีพของเด็กหญิงได้อย่างน่าประทับใจ กิจกรรมแรกคือเวทีเสวนากับรุ่นพี่ที่ประสบความสำเร็จในอาชีพ STEM ทั้ง “ปริพรรษ ไพรัตน์” วิศวกรฝ่ายพัฒนาและสร้างดาวเทียมแห่งชาติ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) “จักรพงศ์ พุ่มไพจิตร” เจ้าของเพจ ‘ท็อฟฟี่ เป็นตุ๊ดซ่อมคอม’ และ “ภวิษย์พร เจียรประเสริฐ” ผู้จัดการอาวุโส บริษัท การีนา ออนไลน์ (ประเทศไทย) ซึ่งเป็นบริษัทพัฒนาและให้บริการเกมออนไลน์ชั้นนำ อาทิ Free Fire และ Arena of Valor (RoV)
นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรม “ห้องสมุดมนุษย์” (Human Library) ซึ่งเปิดโอกาสให้นักเรียนได้พูดคุยกับพี่ต้นแบบ ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญ ในสาขา STEM ตรงนี้เป็นการถ่ายทอดประสบการณ์จริงของคนทำงานจริงผู้คร่ำหวอดในแวดวง STEM รวม 9 อาชีพ ได้แก่ โปรแกรมเมอร์ นักวิทยาศาสตร์ข้อมูล วิศวกรด้านความมั่นคงและปลอดภัยทางไซเบอร์ นักวิจัยนาโนเทคโนโลยี วิศวกรเสียง นักนิติวิทยาศาสตร์ นักวิทยาศาสตร์เภสัชวิทยาภูมิคุ้มกัน วิศวกรการบินและอวกาศ และนักวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการอาหาร
ซึ่งกิจกรรมพูดคุยบอกเล่าประสบการณ์การเรียนและการทำงานจากเหล่าพี่ต้นแบบในสายงานนี้ จะเป็นข้อมูลให้นักเรียนใช้ประกอบการวางแผนอนาคต ทั้งเส้นทางอาชีพและการเรียนต่อ และเป็นแนวทางให้คุณครูนำไปใช้ในการสนับสนุนให้เด็กผู้หญิงมีความมั่นใจที่จะเรียนต่อและประกอบอาชีพในสาขานี้
พร้อมกันนี้ ยังมีกิจกรรมให้ความรู้และเวิร์กช้อปสำหรับคุณครู เพื่อแนะแนวทางการสอน STEM ในโรงเรียน ทั้งหมดนี้ช่วยสร้างพื้นที่การเรียนรู้ในโรงเรียน ที่จะส่งเสริมให้เด็กผู้หญิงมีมุมมองด้านโอกาสทางอาชีพที่กว้างขึ้น และมีความมั่นใจที่จะต่อยอดความสนใจด้าน STEM ต่อไปในอนาคต
ตีแผ่ความท้าทาย
สิ่งที่ควรศึกษาจากโปรเจ็กต์นี้ คือการที่แบรนด์ไม่กลัวที่จะตีแผ่ถึงความท้าทายในอุตสาหกรรมของตน ซึ่งในที่นี้คืออุตสาหกรรมเทคโนโลยีดิจิทัล ซึ่งในกรณีของ Women Made: Girl in STEM คือเรื่องของการเพิ่มความหลากหลายของแรงงานในอุตสาหกรรมฯ ทั้งนี้ โครงการฯ ก็ไม่ได้จำกัดความรู้ทางอาชีพไว้เพียงแค่สายเทคโนโลยี (Technology) แต่ยังมีเนื้อหาครอบคลุมกลุ่มอาชีพ STEM ทั้งหมด
การดึงเด็กหญิงและครูให้มาทำความรู้จักกับการทำงานในแต่ละสายอาชีพ ทั้งเส้นทางการศึกษา แนวทางการทำงาน และทักษะที่จำเป็นต่าง ๆ ในการประกอบอาชีพนั้นเป็นเรื่องจำเป็น เพราะการสำรวจพบว่าสาเหตุหลักของปัญหาผู้หญิงทำงานสาย STEM น้อย คือการที่ผู้หญิงต้องพบกับความท้าทายทั้งในระดับปัจเจกและสังคม ซึ่งส่งผลให้เด็กผู้หญิงขาด Role Model ที่ทำให้พวกเธอมองเห็นภาพความสำเร็จของผู้หญิงในสายอาชีพเหล่านี้ได้ชัดเจน และหมดความสนใจไปในที่สุด ยังไม่รวมถึงปัจจัยภายนอกอื่น ๆ ที่อาจมีผลต่อความมั่นใจที่จะเรียนและทำงานในอนาคต
ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง ภาพจำเกี่ยวกับเพศและอาชีพ และการเหมารวมว่า STEM เป็นเรื่องของผู้ชาย ทั้งหมดถือเป็นความท้าทายที่ล้วนส่งผลกับความมั่นใจของผู้หญิงที่จะก้าวเข้าสู่การเรียนและการทำงานในวงการ STEM ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ทำให้โครงการวาง 3 จุดมุ่งหมายไว้อย่างเหมาะสม ได้แก่
- เพื่อเปิดมุมมองให้กับเด็กผู้หญิงในวัยค้นพบตัวเอง
- เป็นแบบอย่างเพื่อช่วยลบล้างอคติทางเพศในอาชีพ และ
- สร้างเครือข่ายที่ให้การสนับสนุนสำหรับผู้หญิงใน STEM
ความน่าชื่นชมของโครงการนี้ ยังอยู่ที่การเน้นย้ำถึงความสำคัญของการศึกษา STEM
โดยเน้นย้ำว่าครูมีบทบาทสำคัญในการให้คำแนะนำด้านอาชีพ และบูรณาการ STEM เข้ากับกิจกรรมแก้ปัญหา ซึ่งการวางโฟกัสเช่นนี้ทำให้ Women Made: Girl in STEM ถือเป็นต้นแบบโครงการ ที่เพิ่มการมีส่วนร่วมได้ดี เรียกได้ว่าเป็นแนวทางการทำโปรเจ็กต์ที่ครอบคลุม เรื่องการสร้างแรงบันดาลใจและสนับสนุนผู้หญิงรุ่นต่อไปในอาชีพ STEM
ในส่วนนี้ คุณพุทธวรรณ สุภัทรนันท์ ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารองค์กร Sea (ประเทศไทย) กล่าวว่า ในฐานะผู้ให้บริการอินเทอร์เนตแพลตฟอร์ม Sea (ประเทศไทย) เห็นถึงความต้องการของการส่งเสริมความหลากหลายทางเพศในโลกสาขาอาชีพ STEM (Science, Technology, Engineering, Mathematics) ซึ่งเป็นกลุ่มอาชีพที่ทวีความสำคัญขึ้นเรื่อย ๆ และยังมีความต้องการบุคคลากรอีกเป็นจำนวนมากเพื่อร่วมกันเป็นแรงขับเคลื่อนและพัฒนานวัตกรรมด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
ขณะที่ คุณภวิษย์พร เจียรประเสริฐ ผู้จัดการอาวุโส บริษัท การีนา ออนไลน์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ในฐานะผู้หญิงคนหนึ่งซึ่งทำงานอยู่ในบริษัทเทคโนโลยี เชื่อว่าสิ่งสำคัญคือทุกคนจะต้องมีวิธีคิด (Mindset) ที่เชื่อมั่นในศักยภาพของตนเองและพากเพียรที่จะพัฒนาตัวเองไปสู่จุดหมาย ในขณะเดียวกันก็จะต้องร่วมมือกันขับเคลื่อนให้สังคมและโลกของการทำงานเป็นพื้นที่ที่เป็นมิตรกับทุก ๆ คนมากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเพศใดก็ตาม
“การสร้างเครือข่ายสนับสนุนผู้หญิงมีความสำคัญมาก เนื่องจากสังคมไทยเรายังขาดคนต้นแบบ (Role Model) ที่จะมาช่วยชะล้างภาพจำในอดีตว่าอาชีพนี้เหมาะกับผู้หญิงหรือผู้ชาย เพราะไม่ว่าเพศใดก็มีสิทธิที่จะค้นหาความก้าวหน้าทางอาชีพในแบบที่ตัวเองต้องการ”
ที่สุดแล้ว Women Made: Girl in STEM 2024 ถือเป็นอีกหนึ่งโปรเจ็กต์สำคัญของ Sea (ประเทศไทย) ที่ตอกย้ำได้ถึงความมุ่งมั่นของบริษัท ในการขับเคลื่อนอนาคตที่ยั่งยืนและเท่าเทียมในสาขา STEM โดยการเน้นที่แรงบันดาลใจ ประสบการณ์จริง และบุคคลต้นแบบ ซึ่งผลลัพท์ของโครงการนี้จะไม่หยุดที่เพียงแต่เป็นประโยชน์ต่อนักเรียนที่เข้าร่วมเท่านั้น แต่ยังมีส่วนช่วยในการสร้างกำลังคนด้าน STEM ที่มีความหลากหลายและสร้างสรรค์มากขึ้นสำหรับอนาคตอีกด้วย.