เปิดเส้นทาง “Wishbeer” สตาร์ทอัพ “Omni-channel คราฟท์เบียร์” ยอดขายร้อยล้าน!

  • 3.8K
  •  
  •  
  •  
  •  

 

Resize wishbeer

ใครที่เป็นคอเบียร์ และชอบที่จะแสวงหาประสบการณ์ใหม่จากการดื่ม “คราฟท์เบียร์” (Craft Beer) เชื่อว่าหลายคนน่าจะรู้จัก และได้ใช้บริการร้าน “Wishbeer” ซึ่งเป็น Craft Beer Bar หรือ เคยสั่งซื้อเบียร์ทางอีคอมเมิร์ซกับผู้ให้บริการรายนี้กันมาบ้างแล้ว ซึ่งถือเป็นหนึ่งในผู้จุดกระแสวัฒนธรรมการดื่ม “คราฟท์เบียร์” ในไทยให้แพร่ขยาย

เส้นทางของ “Wishbeer” เริ่มต้นเมื่อ 5 ปีที่แล้ว ด้วยการเป็น “Tech Startup” สร้างแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซจำหน่าย “เบียร์นำเข้า” มีทั้งเบียร์ของผู้ผลิตรายใหญ่ – คราฟท์เบียร์ และต่อมาได้เปิดธุรกิจร้านอาหาร ประเภท Craft Beer Bar เพื่อเชื่อมต่อให้เป็น “Omni-channel” หรือ “O2O” ทั้งในด้านช่องทางการขาย และการสร้างประสบการณ์ ที่จะทำให้มีสร้าง “รายได้” เข้ามาจากทั้งสองช่องทาง

มาวันนี้ “Wishbeer” ต้องการขยับขยายธุรกิจไปสู่การเป็น “บริษัทเทคโนโลยีที่เชี่ยวชาญด้านเครื่องดื่มนำเข้าระดับพรีเมียม” โดยจะนำเข้าทั้งกลุ่มแอลกอฮอล์ และไม่มีแอลกอฮอล์ พร้อมทั้งมีแผนสร้างร้านอาหาร-เบียร์ ในรูปแบบ “Micro-Brewery” โดยเวลานี้กลายเป็นหนึ่งใน Startup ที่บรรดากลุ่มทุนใหญ่ในธุรกิจ Food & Beverage จับตามองมากที่สุด !!

IMG_6422

จากขายเบียร์ออนไลน์ สู่การเปิดหน้าร้าน เชื่อมต่อประสบการณ์ “ออนไลน์-ออฟไลน์”

โมเดลธุรกิจของ “Wishbeer” คือ Tech Startup ที่สร้างแพลตฟอร์มจำหน่ายเครื่องดื่มนำเข้าระดับพรีเมียม ในรูปแบบ “Omni-channel” มีทั้งอีคอมเมิร์ซ และเปิดหน้าร้าน รวมทั้งสร้างแอปพลิเคชันบน Smart Device เช่น การทำ Loyalty Program เพื่อเชื่อมต่อประสบการณ์ออนไลน์ – ออฟไลน์เข้าด้วยกัน

เครื่องดื่มนำเข้าที่ “Wishbeer” เลือกทำตลาดก่อน เพื่อแจ้งเกิดธุรกิจ คือ “เบียร์” เพราะมองเห็นช่องว่างตลาดในเวลานั้นว่า คนไทยมีรายได้ดีขึ้น เริ่มมองหาเบียร์คุณภาพดีกว่าเบียร์โลคัล ทำให้ Demand เบียร์นำเข้าเติบโต แต่กลับพบว่าหาซื้อยาก ถ้าในกรุงเทพฯ จะมีตามซูเปอร์มาร์เก็ตใหญ่ใจกลางเมือง ขณะที่ต่างจังหวัด สินค้ากลุ่มนี้ยังกระจายไม่ครอบคลุม ขณะเดียวกันผู้บริโภคก็ยังไม่มีข้อมูลเบียร์นำเข้าให้ศึกษามากนัก

ส่วนทางฝั่ง Distributor นำเข้าเบียร์ในไทย ก็ไม่รู้ consumer insight ว่าต้องการเบียร์แบบไหน อย่างไร จาก Market Insight นี้เอง เป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างแพลตฟอร์มจำหน่ายเบียร์ออนไลน์

ต่อมาได้เงินลงทุนจากกองทุน 500 TukTuks สำหรับต่อยอดธุรกิจ และขยายไปเปิด “หน้าร้าน” (Brick and mortar) ในรูปแบบ Bar & Restaurant สาขาแรกที่พระโขนง และเมื่อปีที่แล้วได้เปิดเพิ่มอีก 3 สาขา ที่เดอะสตรีท รัชดา, ทองหล่อ และเจริญนคร 13

Resize wishbeer_presentation_01

คุณเจโรม เลอ ลูแอร์ ผู้ก่อตั้ง และผู้บริหารของ บริษัท วิชเบียร์ จำกัด (Wishbeer) เล่าว่า “ธุรกิจเบียร์ เป็นตลาดที่มีการเติบโตต่อเนื่อง โดยมีมูลค่าตลาดสูงถึง 20,000 ล้านเหรียญสหรัฐในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งถือเป็นตลาดที่มีขนาดใหญ่ และเติบโตเร็วที่สุดเมื่อเทียบกับตลาดเครื่องดื่มทั่วโลก และหลังจากที่ Wishbeer เปิดตัวได้ 5 ปี เราประสบความสำเร็จจากการจับตลาดคราฟท์เบียร์ ทั้งช่องทางออนไลน์ และออฟไลน์

เหตุผลที่เราเปิดหน้าร้าน ควบคู่กับการขายผ่านออนไลน์ เพราะเวลานั้นอีคอมเมิร์ซในไทย ยังไม่เติบโตเช่นเดียวกับอเมริกา และยุโรป ขณะเดียวกันคนไทยยังไม่ได้ซื้อของผ่านออนไลน์มากนัก และยังเป็นเทรนด์ของผู้ให้บริการแพลตฟอร์มออนไลน์ ที่มาเปิดหน้าร้านควบคู่กัน เช่น Amazon.com, Pomelo ที่ขยายไปเปิด Physical Store เราจึงเห็นว่าการเปิดทั้ง 2 ช่องทางด้วยกัน จะทำให้ Business Model ของ Wishbeer แข็งแรงกว่า”

ในช่วง 5 ปีนี้ รายได้ “Wishbeer” เติบโต 50 – 100% ต่อปี โดยปี 2561 ตั้งเป้ายอดขาย 100 ล้านบาท โตขึ้นจากปีที่แล้ว 50% โดยสัดส่วนยอดขาย 50% มาจากออนไลน์ และ 50% มาจากธุรกิจ Bar & Restaurant

Resize wishbeer_presentation_02

ก้าวต่อไป ยกระดับสู่การเป็น “Specialist เครื่องดื่มนำเข้าแอลกอฮอล์ – ไม่มีแอลกอฮอล์”

ก้าวต่อไปของ “Wishbeer” ต้องการขยายธุรกิจให้เติบโตไปสู่การเป็น “บริษัทเทคโนโลยีที่เชี่ยวชาญด้านเครื่องดื่มนำเข้าระดับพรีเมียม” โดยจะนำเข้า ทั้งเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และไม่มีแอลกอฮอล์ ที่พัฒนาตั้งแต่ช่องทางการขายออนไลน์ – ออฟไลน์ ระบบการขาย ระบบการจัดเก็บคลังข้อมูล (Big Data) ระบบการตลาด ระบบ Loyalty Program ฯลฯ ที่จะเดินไปใน 4 แกนธุรกิจ คือ

1. สร้าง “Omni-channel Ecosystem” (O2O)

2. สร้างการเติบโตในอีคอมเมิร์ซ โดยต้องการขยายแพลตฟอร์มนี้ ไปยังกลุ่มเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ เช่น การนำเข้าน้ำดื่ม กาแฟพรีเมียมจากต่างประเทศ ซึ่งหาซื้อยากในเมืองไทย

3. พัฒนาระบบการขาย Wholesale จากที่ผ่านมามีร้านอาหารสั่งซื้อเบียร์นำเข้าจาก Wishbeer อยู่แล้ว แต่เมื่อก่อนไม่ไดโฟกัสมากนัก แต่จากนี้จะสร้างฐานตลาดกลุ่มนี้มากขึ้น

4. เปิดแฟรนไชส์ เนื่องจากมีผู้สนใจติดต่อเข้ามาอยากเปิดร้าน Wishbeer ทำให้มองเห็นโอกาสว่าหากขยายธุรกิจด้วยโมเดลดังกล่าว จะช่วยทำให้ร้าน Wishbeer สามารถขยายออกต่างจังหวัด ในหัวเมืองใหญ่ โดยตั้งเป้าหมายเปิดเพิ่มอีก 10 สาขาทั่วประเทศภายใน 12 เดือนข้างหน้า

Resize wishbeer_presentation_04

อย่างไรก็ตาม เพื่อให้เป็นไปตามแผนธุรกิจที่วางไว้ จำเป็นอย่างยิ่งต้องมี “เงินลงทุน” ด้วยเหตุนี้เอง “Wishbeer” จึงเข้าร่วมโปรแกรม “LIVE” ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ตั้งเป้าระดมทุนให้ได้อย่างน้อย 20 ล้านบาท แบ่งเป็น 7,290 หุ้นๆ ละ 2,743 บาท (LIVE เป็นโปรแกรมที่มีจุดประสงค์ทำหน้าที่ให้บริการระดมุทุนที่มีมาตรฐาน และสร้างโอกาสในการขยายธุรกิจให้กับผู้ประกอบการ Startup และ SME เพื่อสนับสนุนให้เกิดการเติบโต)

“การขยายจากเบียร์ ไปยังเครื่องดื่มประเภทอื่นๆ ทั้งแอลกอฮอล์ เช่น ไวน์ และไม่มีแอลกอฮอล์ เราต้องสร้าง sub-brand ของ Wishbeer ตามประเภทสินค้า เช่น ถ้าเป็นกลุ่มไวน์ อาจเป็น Wish wine และสำหรับ Soft Drink ที่ไม่มีแอลกอฮอล์ อาจเป็นอีกแบรนด์หนึ่ง โดยขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างพิจารณา sub-brand สินค้าแต่ละกลุ่ม

สำหรับการเปิดแฟรนไชส์ ค่าแรกเข้าอยู่ที่ 700,000 บาท ส่วน Royalty Fee 4% และ Marketing Fee 2% โมเดลแฟรนไชส์ร้าน Wishbeer เราไม่ต้องการให้ Copy Paste จากสิ่งที่มีในปัจจุบัน แต่อยากได้บรรยากาศของเจ้าของร้านนั้นๆ ด้วย เพื่อทำให้ลูกค้าเข้ามาใช้บริการ ได้รับประสบการณ์บรรยากาศใหม่ๆ ที่แตกต่างกันในแต่ละสาขา โดยที่เราจะช่วยเข้าไปดูการตกแต่ง อาหาร เครื่องดื่ม เพื่อรักษามาตรฐานความเป็น Wishbeer รวมทั้งสนับสนุนด้านการตลาด แพลตฟอร์มการขายผ่านแอปพลิเคชัน – หน้าเว็บไซต์ การทำโปรโมชั่น ระบบ POS และระบบจัดเก็บสินค้า”

Resize wishbeer_presentation_03

เตรียมเปิด “Micro-Brewery” ในกรุงเทพฯ ใช้โมเดลร่วมทุนกับกลุ่มทุนใหญ่

เป้าหมายใหญ่ของ Wishbeer คือ สร้างการเติบโตธุรกิจ และขยายฐานธุรกิจไปยังตลาดอาเซียน แต่หัวใจสำคัญที่จะนำพาไปถึงจุดหมายนั้นได้ จำเป็นอย่างยิ่งต้องมีเงินทุน เพราะฉะนั้นนอกจากเข้าร่วมโปรแกรม LIVE แล้ว จึงต้องการ Strategic Investor เข้ามาร่วมลงทุน

เช่น การเปิด Micro-Brewery ซึ่งปัจจุบันในไทยยังมีให้บริการไม่กี่ราย เช่น โรงเบียร์ตะวันแดง, EST 33, Londoner จึงมองเห็นว่าเป็นช่องทางที่มีโอกาส และยังเป็น Lab ทดลองตลาดสำหรับต่อยอดธุรกิจในอนาคต

“Strategic Investor ที่เข้ามาร่วมทุน อาจอยู่ในกลุ่ม Hospitality หรืออยู่ในกลุ่ม Food & Beverage ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างพูดคุยกับหลายบริษัท อย่างแผนการเปิด “Micro-Brewery” ในกรุงเทพฯ ส่วนนี้ไม่ได้อยู่ในโปรแกรม LIVE เราจะใช้โมเดลร่วมทุนกับ Strategic Investor ที่เป็นบริษัทใหญ่ เพราะเรามองว่าการเปิด Micro-Brewery ถือเป็น Lab ทดลองสินค้าเช่นกัน เพื่อดู Demand ในตลาด และต่อยอดไปสู่การผลิตในรูปแบบขวด ภายใต้แบรนด์ของเราเอง” คุณเจโรม เลอ ลูแอร์ สรุปทิ้งท้าย

เชื่อว่าการที่กลุ่มทุนในธุรกิจที่เกี่ยวข้องอาหารและเครื่องดื่มสนใจร่วมทุน เพราะต้องการนำเอาเทคโนโลยี และแพลตฟอร์มที่ Wishbeer พัฒนาขึ้น ไม่ว่าจะเป็นช่องทางการขายบนออนไลน์ และออฟไลน์ ระบบจัดเก็บ Big Data และระบบ Loyalty Program ไปต่อยอดเข้ากับ “ธุรกิจหลัก” ของกลุ่มทุนนั้นๆ เพื่อเข้าถึง และเข้าใจพฤติกรรมผู้บริโภคกลุ่มใหม่ที่เป็นฐานลูกค้า Wishbeer ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนรุ่นใหม่

IMG_6410

 


  • 3.8K
  •  
  •  
  •  
  •  
WP
อยู่ในแวดวงนิตยสารธุรกิจการตลาดกว่าสิบปี สนุกและชอบติตตามเทรนด์ ไลฟ์สไตล์ใหม่ๆ และอยากเรียนรู้เพิ่มเติมในแพลตฟอร์มดิจิทัล มาร่วมแบ่งปันประสบการณ์การตลาดและดิจิทัลร่วมกันนะคะ